'วัดสามแก้ว' ในนิราศของนาวาเอก หลวงสำรวจวิถีสมุทร
หนังสือหนังหา

'วัดสามแก้ว' ในนิราศของนาวาเอก หลวงสำรวจวิถีสมุทร

 

 

“นิราศวัดสามแก้ว” แต่งขึ้นโดยนาวาเอก หลวงสำรวจวิถีสมุทร (ฟุ้ง พร้อมสัมพันธ์) เมื่อครั้งเดินทางมางานทอดกฐินที่วัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร เมื่อ พ.ศ. 2507  ซึ่งจัดขึ้นโดยพระธรรมปาโมกข์ (วิน ธมมฺสารเถร) วัดราชผาติการาม กรุงเทพฯ กับบรรดาสานุศิษย์

 

 

“นิราศวัดสามแก้ว” ถูกนำมาตีพิมพ์รวบรวมลงในหนังสือ “ประชุมนิราศภาคที่ 2” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ

 

เนื้อความในนิราศเรื่องนี้บอกเล่าถึงการนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรี กรุงเทพฯ ไปยังสถานีรถไฟชุมพร ระหว่างทางได้ผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนเมื่อถึงสถานีรถไฟชุมพร พระสงฆ์และเหล่าทายกทายิกาที่ชุมพรต่างพากันมารอรับองค์กฐินและตั้งขบวนแห่แหนอัญเชิญไปยังวัดสามแก้ว ในช่วงค่ำที่วัดสามแก้วมีการฉลององค์กฐินและมีหนังตะลุงแสดงในยามค่ำคืน พอรุ่งเช้าจึงทำพิธีถวายองค์กฐิน โดยมีชาวบ้านจากปากน้ำชุมพรมาร่วมด้วย

 

“พอรุ่งเช้าชาวปากน้ำนำผ้าป่า  แห่กันมาพร้อมเพรียงเรียงสลอน

ได้เงินตรามาหลายเป็นรายจร  ร่วมทุนรอนบูรณะพระอาราม” 

 

นอกจากรายละเอียดในพิธีการต่างๆ แล้ว ใน “นิราศวัดสามแก้ว” ยังกล่าวถึงประวัติและที่มาของชื่อ “วัดสามแก้ว” ว่ามาจากพระรัตนตรัยหรือแก้วสามประการ รวมถึงลักษณะของอุโบสถที่แปลกตากว่าวัดอื่นๆ เพราะทำหลังคาเรียบ ไม่ทำหลังคาทรงจั่ว มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อย่างงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ดังความตอนหนึ่งว่า

 

“อุโบสถงดงามตามนิยม  เพราะเกรงลมพัดพังทำหลังคา 

เป็นพื้นเรียบเปรียบดาดฟ้าสถาปัตย์   สมส่วนสัดดัดแปลงใช่แกล้งว่า

ทรวดทรงแปลกแหวกแนวเพริศแพรวตา   ทุกวัดวาหาไหนเป็นไม่มี”  

 

อาคารอุโบสถวัดสามแก้ว (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

ภายในอุโบสมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วาดขึ้นในรูปแบบศิลปะสมัยใหม่โดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 ประกอบไปด้วยภาพพุทธประวัติและทวยเทพในศาสนาพราหมณ์ ฤๅษี พระโพธิสัตว์ในคติพุทธศาสนามหายาน

 

“ข้างภายในได้ลิขิตพิพิธภาพ  เป็นรูปราพณ์เทวาทุกราศี

พุทธ์ประวัติจัดวางไว้อย่างดี  ระบายสีสวยสดดูงดงาม”

 


จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดสามแก้ว เขียนรูปทวยเทพในศาสนาพราหมณ์

 

ภาพพุทธประวัติฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)



“นิราศวัดสามแก้ว” ถูกนำมาตีพิมพ์รวบรวมลงในหนังสือ “ประชุมนิราศภาคที่ 2” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2553 ภายในเล่มยังมีนิราศเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ นิราศเขาพระวิหาร นิราศเกาะจาน นิราศเมืองปะเหลียน และนิราศเมืองเชียงใหม่ 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ