เมืองโบราณที่วันชาติ

 

 

วารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์เริ่มวางจำหน่ายในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ออกสู่สายตาท่านผู้อ่าน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การนำเสนอของวารสารเมืองโบราณยังดำรงแนวทางหลักในการนำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี งานศิลปะ และประเพณีวัฒนธรรม ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ แต่กระนั้นมิได้หยุดนิ่งอยู่กับเรื่องหรือเนื้อหาเดิมๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขบริบทของแต่ละมิติเวลา

 

วารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์ กันยายน 2517

(อ่านได้ที่ วารสารเมืองโบราณปีที่ 1 ฉบับที่ 1 )

 

ในช่วงสามทศวรรษก่อน ขณะแผ่นดินถิ่นฐานอันกว้างใหญ่ของประเทศถูกบุกเบิกแผ้วถางเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม คณะผู้จัดทำและกองบรรณาธิการช่วงแรกๆ ได้มุ่งเน้นสำรวจและรายงานเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบใหม่ เชื่อมโยงกับการอ่านและอธิบายประวัติศาสตร์จากเอกสารประเภทจารึก ตำนานเป็นหลัก ต่อมาได้เพิ่มเนื้อหาให้กับการศึกษาเฉพาะเรื่อง โดยเน้นการอธิบายจากมุมมองและทัศนะที่แตกต่างกันของผู้เขียนจำนวนมาก

 

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ (ขวา) ผู้ก่อตั้งวารสารเมืองโบราณ ขณะร่วมสำรวจกับ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม (ซ้าย) 

 

ครั้นในช่วงต้นทศวรรษ 2530 จึงหันมาสนใจที่จะอธิบายและให้ความหมายกับชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบันในมุมมองของกลุ่มที่ร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน อันเป็นความพยายามที่จะนำเสนอความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดและลึกลงไปกว่าที่มีอยู่ในกระแสการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ซึ่งเริ่มเฟื่องฟูขึ้นแล้วในเวลานั้น โดยให้ความสำคัญกับการเฝ้าสังเกต รายงาน และอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น ที่แสดงออกผ่านทางประเพณีพิธีกรรม วิธีคิด ตลอดจนการสร้างอัตลักษณ์ใหม่บนพื้นฐานเดิม ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก

 

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ นำโดย อ.ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ขณะสำรวจเมืองตะกั่วป่า จ.พังงา ราว พ.ศ. 2520  

 

วารสารเมืองโบราณในทศวรรษที่ 4 ซึ่งจัดทำโดยกองบรรณาธิการจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของคุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มูลนิธิฯ ทำงานการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี ตลอดจนงานเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มที่  ในยุคสมัยนี้เมื่อปรากฏหลักฐานใหม่ๆ ด้านโบราณคดีมากขึ้น จึงมีการตีความและนำเสนอเรื่องราวของบ้านเมืองโบราณต่างๆ ออกมาเป็นภาพวาดเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงและเรียนรู้ได้อย่างกระจ่างชัด ถือเป็นงานบุกเบิกด้านแผนที่ภาพวาดเมืองโบราณที่ยังไม่มีใครนำเสนอได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพราะได้สั่งสมข้อมูลมาอย่างยาวนาน

 

แผนที่ภาพวาดเมืองโบราณ "สงขลาหัวเขาแดง" ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561)

 

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับชีวิตวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่รุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยที่บางท้องถิ่นสามารถปรับตัวและจัดการวิถีวัฒนธรรมเก่า-ใหม่ได้อย่างลงตัว ขณะที่หลายแห่งต้องการรับรู้บทเรียนจากถิ่นอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้ภายในเกิดการขับเคลื่อน ซึ่งวารสารเมืองโบราณได้เป็นสื่อกลางที่เปิดเวทีให้คนท้องถิ่นได้เขียนและบอกกล่าวผ่านตัวหนังสือและงานเสวนาในพื้นที่

 

โครงการคืนความรู้สู่ท้องถิ่นกับวารสารเมืองโบราณ ณ ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2561 

 

วารสารเมืองโบราณที่ (สะพาน) วันชาติ จึงยินดีที่จะเปิดรับบทความ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ผ่านคณะกองบรรณาธิการโดยตรง หรือผ่านทางเว็ปไซต์ www.muangboranjournal.com และที่ Facebook : MuangBoranJournal ได้ทุกเวลา