'ปิดหัวลำโพง' พัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชน
แวดวงเสวนา

'ปิดหัวลำโพง' พัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชน

 

สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้กล่าวกับสื่อมวลชลหลังเป็นประธานประชุมติดตามนโยบายแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง และแนวทางการพัฒนาตลอดเส้นทางรถไฟบางซื่อ-หัวลำโพง ว่าหลังจากที่ได้มีการเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่ออย่างเต็มระบบแล้ว ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟที่สถานีหัวลำโพงโดยเร็วเพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานี ซึ่งทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยอธิบายถึงเหตุผลอยู่ในเอกสารคำแถลงการณ์ เรื่อง “ขอคัดค้านนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง” ว่าหากเป็นเช่นนั้นจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก ทั้งเห็นว่าการเดินรถไฟเข้าสู่สถานีหัวลำโพงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้รถติด การหยุดเดินรถก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาของสถานการณ์รถติดในกรุงเทพฯ ด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าการใช้พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟหัวลำโพงมาพัฒนาเชิงพาณิชย์สามารถทำควบคู่กับการเดินรถได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเสวนา “ปิดหัวลำโพงเพื่อการพัฒนา หรือผลักภาระให้ประชาชน” ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง (สถานีรถไฟกรุงเทพ) เมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

 

ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ก่อนเริ่มกิจกรรมเสวนา

 

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยส่วนลงทะเบียนและจุดจัดแสดงแผ่นป้ายข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของสถานีรถไฟหัวลำโพง จุดวาดภาพและแสดงความคิดเห็นลงบนผืนผ้า อันเป็นความร่วมมือจากเหล่านักศึกษาสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มทางรถไฟสายโบราณคดี รวมถึงการแสดงดนตรีสดเกี่ยวกับเพลงเพื่อชีวิต สำหรับเวทีเสวนาจัดขึ้นที่บริเวณลานด้านในติดกับทางเข้าทิศใต้ วิทยากรประกอบด้วย ผศ. ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คุณรสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค, ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ นักวิชาการด้านขนส่งและจราจร และ ดร.ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดนมีคุณสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และที่ปรึกษาสหภาพรถไฟ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

บริเวณด้านหน้าจุดลงทะเบียน มีการแจกแผ่นโปสเตอร์และจำหน่ายของที่ระลึก

เกี่ยวกับการคัดค้านการหยุดเดินรถไฟที่สถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)

 

ผศ. ดร.ประภัสสร์ กล่าวถึงคุณค่าของสถานีรถไฟหัวลำโพงว่ามีหลากหลายแง่มุม เช่น ด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งอาคารหลังนี้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2453 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2459 จนถึงวันนี้มีอายุได้ 105 ปี หากว่ากันตามกฎหมายแล้ว อาคารแห่งนี้สามารถประกาศเป็นโบราณสถานได้ โดยสถาปัตยกรรมประกอบด้วยตัวอาคารผังสี่เหลี่ยมอยู่ด้านหน้า หัวเสามีปูนปั้นขมวดกลม ตามราวบันไดประดับด้วยปูนปั้นถ้วยรางวัล เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) ซึ่งแพร่หลายเข้ามาในสยามขณะนั้น นอกจากนี้อาคารอีกส่วนหนึ่งยังมีลักษณะเป็นวงโค้งหรือโดมขนาดใหญ่ไม่มีเสาค้ำยัน นับเป็นสิ่งก่อสร้างรูปแบบใหม่ที่ต่างจากอาคารทรงไทยประเพณีที่มีมาแต่เดิม ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ในความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามายังสยามในช่วงรอยต่อสมัยรัชกาลที่ 5-6 นอกจากนี้สถานีหัวลำโพงยังเป็นหมุดหมายแรกของการคมนาคม ซึ่งเปิดให้พื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออกมีความเจริญขึ้นมาตามลำดับ คุณค่าอีกประการหนึ่งคือความเป็นสถานที่อันเก่าแก่นับร้อยปีที่ยังคงรับใช้สังคมด้วยหน้าที่หลักคือการเป็นขนส่งสาธารณะ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมาโดยตลอดจึงควรเก็บรักษาไว้ 

 

บริเวณด้านหน้าจุดลงทะเบียน มีการแจกแผ่นโปสเตอร์และจำหน่ายของที่ระลึก 

เกี่ยวกับการคัดค้านการหยุดเดินรถไฟที่สถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)

 

ลำดับต่อมา ผศ. ปริญญา ได้กล่าวถึงกรณียุติการเดินรถไฟที่หัวลำโพง รวมถึงการรื้อสถานีขนาดเล็กต่างๆ นับแต่มีการสร้างทางรถไฟรางคู่  ที่ผ่านมามีความสนใจและได้ศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ชุมชนตามรายทางรถไฟเมื่อหลายปีก่อน กระทั่งเกิดกรณีการสร้างรถไฟรางคู่ จิระ-ขอนแก่น ที่มีการรื้ออาคารสถานีต่างๆ ซึ่งเห็นว่าอาคารเหล่านั้นมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ชุมชน จึงแจ้งไปยังผู้ว่าการรถไฟฯ และนายกรัฐมนตรีในหลายสมัยที่ผ่านมาว่าควรอนุรักษ์ไว้ อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือคนท้องถิ่นมีความรักและหวงแหนสถานีรถไฟในชุมชนของเขาเพียงแต่ทางการรถไฟฯ ไม่เปิดโอกาสให้เข้ามาช่วยดูแล ที่ผ่านมามีหลายแห่งที่ประชาชนอยากจะช่วยกันดูแลรักษา เช่น กรณีสถานีรถไฟสูงเนิน (อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)  ซึ่งเราก็ได้ช่วยกันเรียกร้องจนรักษาอาคารเก่าเอาไว้ได้ แต่บางแห่งที่ทำการรื้อและจะสร้างเป็นสถานีรถไฟสมัยใหม่ขนาดใหญ่ มักพบปัญหาว่าไม่มีงบประมาณและกำลังคนเพียงพอในการดูแล ซึ่งหากเป็นอาคารสถานีหลังเดิมที่ชาวบ้านมีความผูกพัน ผลตอบกลับมาอาจตรงข้ามกันก็ได้

 

เช่นเดียวกับสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดเหมือนกันว่าหากสถานีหัวลำโพงถูกยุบไปประชาชนจะรู้สึกอย่างไรและวันนี้ก็มาถึง ที่ผ่านมาสถาบันอาศรมศิลป์ได้ทำการศึกษาว่าหากสถานีรถไฟหัวลำโพงปิดตัวไปจะสามารถพัฒนาอย่างไรได้บ้าง แต่ตัวเองมองว่ายังไม่ควรมองถึงจุดนั้น เพราะอยากให้มองที่ความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งคงมีจำนวนไม่น้อยที่รักและหวงแหนสถานีรถไฟเก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งทางการรถไฟฯ ที่อาจไม่มีงบประมาณในการดูแลเพียงพอ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการดูแลรักษาสถานีแห่งนี้ด้วยกัน

 

ประชาชนร่วมกันเขียนป้ายผ้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

 

ทางด้านคุณรสนาได้กล่าวถึงกระแสของสื่อต่างๆ โน้มเอียงไปที่การร่ำลาสถานีรถไฟแห่งนี้ ทั้งที่ควรจะช่วยกันลุกขึ้นมาคัดค้านในเรื่องนี้มากกว่า ด้วยเพราะการเป็นสถานีที่ทรงคุณค่าที่อยู่รับใช้ประชาชนมากว่า 105 ปี อีกทั้งยังมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่เป็นรูปแบบสมัยใหม่ เช่นเดียวกับการเป็นเครือข่ายการเดินทางรูปแบบใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาตั้งแต่แรกสร้าง ดังปรากฏในเพลงมาร์ชรถไฟว่า “รถไฟของชาติ รับใช้ประชาราษฎร์อย่างภักดี โดยสารทั่วทั้งธานี ขนส่งอย่างนี้ ทั่วทั้งขัณฑสีมา” บ่งบอกถึงพันธกิจหลักของการรถไฟฯ ที่ยืนหยัดมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นสถานีรถไฟหัวลำโพงจึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดหมายของประชาชนทั่วทั้งประเทศในการเดินทางมุ่งสู่จุดหมายในชีวิตและการพัฒนาประเทศ

 

ดังนั้น การที่รัฐมนตรีจะใช้อำนาจปิดสถานที่แห่งนี้ คงเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนและไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เพราะหากไปเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อจะทำให้ประชาชนเดินทางลำบากมากขึ้นเพราะต้องต่อรถโดยสารหลายทอด ทั้งยังมีสัมภาระจำนวนมากที่มากับการเดินทาง สถานีรถไฟหัวลำโพงจึงควรต้องรักษาไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ต้องการใช้บริการขนส่งสาธารณะราคาถูก ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้ที่ต่างดิ้นรนทำมาหากิน เราจึงควรคัดค้านการหยุดเดินรถสถานีรถไฟหัวลำโพงเพราะหากมีการใช้ประโยชน์เพื่อแสวงหามูลค่าทางธุรกิจ ที่นี่จะแปรเปลี่ยนเป็นเพียงประตูสู่ศูนย์การค้าของเหล่าเจ้าสัวนายทุนเท่านั้น ทั้งยังเป็นช่องทางให้ถูกเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำเงิน (พื้นที่สาธารณูปการ) ไปเป็นพื้นที่สีแดง (พื้นที่พานิชยกรรม) อันประกอบด้วยศูนย์การค้าใหญ่โตของเหล่าเจ้าสัวนายทุน นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการรถไฟฯ ที่ให้รถไฟชานเมืองเข้ามายังสถานีหัวลำโพงเพียงบางขบวนเท่านั้น เพราะเห็นว่าควรจะมีรถไฟสายไกลจากทุกภูมิภาคมุ่งสู่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ แห่งนี้มากกว่า

 

ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ก่อนเริ่มกิจกรรมเสวนา

 

ดร. สามารถ แสดงความคิดเห็นว่าหากปิดสถานีหัวลำโพง ผลเสียจะตกอยู่กับประชาชนอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่นประชาชนที่อยู่ชานเมืองมีจำนวนมากที่ต้องเดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ โดยอาศัยรถไฟชานเมืองเข้ามายังสถานีหัวลำโพง เพราะใกล้ที่ทำงานหรือเป็นพื้นที่มีแหล่งงานจำนวนมากซึ่งต่างจากบางซื่อ หากรถไฟไม่เข้ามายังสถานีหัวลำโพงแล้ว เขาต้องนั่งรถโดยสารประเภทอื่นมา เช่น รถไฟฟ้า MRT เพื่อให้ทันมาทำงาน จากค่าโดยสารต่อวันเพียงไม่กี่บาทจะทวีเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักร้อยบาทต่อวัน ประชาชนคงอยู่อย่างปรกติสุขไม่ได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับผู้เดินทางมาจากต่างจังหวัด หากต้องมาต่อรถที่สถานีชุมทางบางซื่อและประสงค์จะมายังหัวลำโพงพร้อมกับมีสัมภาระจำนวนมาก เขาเหล่านั้นจะได้รับความยากลำบากเช่นกัน

 

สื่อมวลชนให้ความสนใจในประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก 

 

ส่วนข้ออ้างที่ว่ารถไฟทำให้รถติดนั้นดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะท่านรัฐมนตรีต้องทราบอยู่แล้วว่าการรถไฟฯ มีโครงการจะสร้างอุโมงค์ลอดจากบริเวณถนนประดิพัทธ์มายังแยกยมราช เพื่อให้รถไฟดีเซลสามารถวิ่งไป-มาได้ ปัญหาจุดตัดก็จะไม่มี ส่วนเรื่องของการรถไฟฯ เป็นหนี้สินนั้น เหตุเพราะรถไฟต้องให้บริการแก่ประชาชนในราคาถูก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนชดเชย แต่รัฐบาลสมัยต่างๆ ที่ผ่านมาไม่สามารถชดเชยรายได้ส่วนต่างได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด จนการรถไฟฯ ต้องไปกู้เงินเพื่อมารักษาสภาพคล่อง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลมากกว่าที่ต้องสนับสนุนให้ตรงตามเวลาที่ตกลงกันไว้ แต่สำหรับข้ออ้างที่ว่าต้องการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้เข้ามาจุนเจือค่าโดยสารที่มีราคาถูกนั้น ตัวเองเห็นด้วย แต่ต้องพิจารณาถึงพื้นที่ต่างๆ ของการรถไฟฯ ที่มีอยู่กว่า 240,000 ไร่ ในจำนวนนั้นมีหลายหมื่นไร่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา อย่ามองเพียงบริเวณหัวลำโพงแห่งนี้เท่านั้น และทุกพื้นที่ก็สามารถพัฒนาควบคู่กับไปกับการให้บริการแบบบูรณาการ โดยไม่จำเป็นต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น

 

บนเวทีเสวนา 

 

สุดท้าย ดร. ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการบริหารรถไฟไทยอย่างใกล้ชิด ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สถานีหัวลำโพงถือเป็นหมุดหมายแรกของการเดินทางระบบรางในสยาม เมื่อเข้ามายังสถานีจะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ทำให้เราซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงวางรากฐานการคมนาคมอันทันสมัยให้กับประชาชนชาวไทยนับแต่นั้นมา แต่ตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงจะทำลายสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งการสร้างรถไฟฟ้าที่ผ่านมาก็ผิดหลักการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของประชาชนด้วยคำว่า “ขนส่งมวลชน” แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นการรองรับการเดินทางของผู้มีรายได้เท่านั้น ต่างจากรถไฟซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า จึงไม่เห็นด้วยกับการลดทอนเส้นทางรถไฟที่จะทำให้เกิดความลำบากกับประชาชนผู้ใช้บริการ

 

ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มทางรถไฟสายโบราณคดี กล่าวคัดค้านการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)

 

นอกจากนี้ ดร. ประภัสร์ ยังกล่าวถึงสถานีรถไฟบางซื่อที่สร้างขึ้นใหม่ว่าเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงที่ตนเองยังรับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ อยู่ แต่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีแนวคิดว่าจะต้องหยุดเดินรถที่สถานีหัวลำโพง แต่ต้องการให้รถไฟสายไกลทุกสายเข้ามาที่หัวลำโพง เพื่อรองรับผู้คนจากที่ห่างไกลที่ต้องการเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ทั้งยังมีสัมภาระที่ต้องขนถ่ายเป็นจำนวนมาก หากรถไฟหยุดแค่ที่สถานีบางซื่อ พวกเขาเหล่านั้นจะขนสัมภาระจำนวนมากและเดินทางเข้ามาได้อย่างไร

 

บทสรุปจากการเสวนาครั้งนี้ ต่างมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือสถานีกรุงเทพฯ  ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการที่สถานีหัวลำโพง ตราบใดที่ยังไม่มีวิธีการที่ดีพอในการรองรับผู้คนจำนวนมากเหล่านี้ อีกทั้งยังมีความเห็นว่าการพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้นั้นสามารถทำควบคู่ไปกับการเดินรถไฟ  เช่นเดียวกับการอนุรักษ์อาคารสถานีเก่าแก่แห่งนี้เสมือนเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” โดยไม่ต้องไปทำลายแล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นเลียนแบบของเก่า หลังจบการเสวนาในช่วงเย็น มีกิจกรรมร่วมกันจุดเทียน ณ จุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตอกหมุดตรึงรางรถไฟเป็นจุดแรก แสงสว่างจากเทียนเป็นสัญลักษณ์ถึงโอกาสในการคลี่คลายปมปัญหาอันมืดมนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้     

 

ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ก่อนเริ่มกิจกรรมเสวนา


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ