สรุปเสวนา “เจริญกรุง เจริญนคร … เจริญธนฯ”
แวดวงเสวนา

สรุปเสวนา “เจริญกรุง เจริญนคร … เจริญธนฯ”

 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ภายในงาน “เปิดบ้านหลังคาแดง” ที่จัดขึ้น ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน  ได้มีการเสวนาเรื่อง “เจริญกรุง เจริญนคร … เจริญธนฯ” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของย่านเจริญนครและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน “รฦกธนบุรี 250+” ซึ่งจะมีขึ้นตลอดทั้งปี 2560 เนื่องในวาระครบรอบ 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี  

 

วิทยากรที่ร่วมเสวนา ได้แก่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เมธีอาวุโส ผู้มีพื้นเพอยู่ที่ย่านบางลำภูล่าง อีกทั้งที่ทำการของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปที่อาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ก็ตั้งอยู่บนถนนเจริญนครอีกด้วย อีกท่านหนึ่งคือ คุณอาภรณ์ กุลวัฒโฑ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตคลองสาน ผู้อาวุโสที่เติบโตขึ้นมาในย่านถนนลาดหญ้า วงเวียนใหญ่ โดยมี คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต จากศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ถนนเจริญนครตัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2483 เชื่อมต่อกับถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ไปถึงราษฎร์บูรณะริเริ่มโดย พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) นายกเทศมนตรีนครธนบุรีขณะนั้น โดยตัดผ่านเรือกสวนที่มีอยู่หนาแน่นตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนชื่อ “เจริญนคร” นั้น ตั้งขึ้นเพื่อให้ล้อกับชื่อถนน “เจริญกรุง” ที่อยู่ในแนวขนานกันทางฝั่งพระนคร  ถนนเจริญกรุงตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบตะวันตกและถือว่าเป็นถนนสายสำคัญที่สร้างความเจริญให้แก่พระนคร ซึ่งการสร้างถนนเจริญนครก็เพื่อต้องการให้เกิดความเจริญขึ้นในฝั่งธนบุรีด้วยเช่นเดียวกัน

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์

 

คุณอาภรณ์ กุลวัฒโฑ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตคลองสาน

 

ขุนนาง พระ เจ้าสัว และชาวสวน

ในอดีตบริเวณแถบย่านคลองสานไปจนถึงบางลำภูล่าง เป็นถิ่นฐานบ้านเจ้าพระยา ขุนนาง เจ้าสัว และชาวสวน การตัดถนนเจริญนคร นอกจากจะได้ที่ดินจากการเวนคืนที่รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว ก็มีผู้มอบที่ดินให้เพื่อเป็นสาธารณกุศล เช่น ตระกูลสมันตรัฐ ของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ บุตรหลวงโกชาอิศหาก ขุนนางกรมท่าขวา  เช่นเดียวกับ “ยายเงิน” คุณยายของอาจารย์สุลักษณ์ก็ได้มอบที่ดินเพื่อการนี้ด้วย

 

“ยายของผมก็ยกที่ดินให้ ท่านมีที่ดินอยู่ทั้งสองฝั่งถนน พอเขาจะมาตัดถนน แล้วจะชดใช้ค่าที่ให้ แต่ยายบอกว่า ‘อย่าไปเอาเลย ถือว่าเป็นบุญ’ ยายของผมชื่อ เงิน มี 3 พี่น้องอยู่ด้วยกัน คือ ยายเงิน ยายมี และยายมา เดิมทีเดียวที่ดินผืนนี้เป็นของท่านล้อม เหมชะญาติ ซึ่งเป็นคหปตานี เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ดินนี้ท่านล้อมซื้อไว้ในราคา 6,000 บาท ติดแม่น้ำ ต่อมาท่านขายที่ดินให้ยายของผม ภายหลังได้แบ่งให้ญาติพี่น้อง ซึ่งส่วนที่แม่ของผมได้มานั้น เมื่อผมได้รับมรดกมาก็ยกให้เป็นที่ดินของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-  นาคะประทีป เลขที่ 666 ถนนเจริญนคร”  

 

ท่านล้อม เหมชะญาติ มารดาชื่อ “เปี่ยม” ส่วนพ่อเป็นเจ้าสัวชาวจีน ต่อมาท่านเองก็สมรสกับเจ้าสัวชาวจีนเช่นกัน จึงร่ำรวยมาก ส่วนคุณยาย เงิน มี และมา เป็นลูกสาวของนายอากรบุญสิน ซึ่งเป็นพี่ชายของท่านเปี่ยม ท่านล้อมเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ 5 ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน ก็มีเอ่ยถึงท่านล้อมได้ถวายส้ม 2 ผลให้รัชกาลที่ 5 และเมื่อมีการสร้างวัดเบญจมบพิตร ท่านล้อมได้สั่งกระเบื้องมาจากเมืองจีน และยังได้สร้างกุฏิไว้หลังหนึ่งที่วัดเบญจมบพิตรด้วย ชื่อ กุฏิล้อมกุศลภาค

 

ส่วน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เดิมเป็น บ้านเจ้าคุณทหาร หรือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)   อ.สุลักษณ์ เล่าว่า 

 

"เจ้าคุณทหาร ท่านเป็นลูกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และลูกสาวของท่านเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 คือ เจ้าคุณจอมมารดาแพ ภายหลังเป็นท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ นอกจากนี้ท่านยังมีลูกสาวคนอื่นๆ อีก ซึ่งคนที่สำคัญชื่อ ท่านเลี่ยม ... 

ท่านเลี่ยมถือเป็นลูกรักของท่านเจ้าคุณทหาร ได้ไปเรียนถึงที่ปีนัง และท่านมีความผูกพันกับวัดทองนพคุณเป็นพิเศษ ท่านเลี่ยมได้สมรสกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และได้เป็นท่านผู้หญิงสุรศักดิ์มนตรี ต่อมาเลิกรากัน ภายหลังได้สมรสกับคุณหลวงพรตพิทยพยัต คณบดีคนแรกของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่แต่งงานกันได้ไม่ทันไร คุณหลวงท่านก็ตาย ท่านเลี่ยมจึงได้ปลูกกุฏิคณะ 7 ที่วัดทองนพคุณ แล้วนำศพคุณหลวงพรตฯ มาไว้ที่ข้างล่าง แล้วท่านทำว่างไว้อีกช่องหนึ่งเพื่อให้นำศพของท่านมาไว้ด้วย เมื่อท่านตายแล้ว จะได้เผาพร้อมกัน... 

ท่านผู้หญิงเลี่ยมยังได้ยกที่ดินที่ลาดกระบังทั้งหมด เพื่อสร้างสถาบันการศึกษา ปัจจุบันเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมัยก่อนที่ดินแถบลาดกระบังเป็นทุ่งนา เศรษฐีในกรุงเทพฯ มักจะไปซื้อที่ดินแถบนั้นทิ้งไว้ เช่น คุณหญิงหรั่ง กันตารัติ บ้านอยู่ติดวัดทองนพคุณ สามีชื่อ นายช่วง เป็นช่างทอง ก็ร่ำรวยขึ้นมาได้เพราะมีที่ดินแถวลาดกระบัง”

 

วัดทองนพคุณ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของย่านนี้  มีพระสงฆ์องค์สำคัญคือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี)  อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ท่านเคยเป็นเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีลำดับที่ 3  ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีคนแรกคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) แห่งวัดอนงคาราม และต่อมาลำดับที่ 2 คือเจ้าคุณมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี) แห่งวัดอนงคาราม ซึ่ง อ.สุลักษณ์ก็เคยบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดทองนพคุณ

“ผมบวชเณรอยู่วัดทองนพคุณ ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2  เมื่อถึงวันพระ ที่ถนนลาดหญ้าคนออกมาใส่บาตรกันเต็มสองข้างถนน ปูเสื่อใส่บาตรกัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าคนศรัทธา ตอนผมบวชใหม่ตกใจมาก ยังไม่ทันไรบาตรก็เต็มแล้ว ต้องกลับมาใหม่  แล้วเมื่อเดินเข้าไปสวน  ชาวสวนทั้งใส่บาตรและผูกปิ่นโตถวาย คือ เมื่อก่อนเขาจะส่งปิ่นโตมาด้วย ผมอยู่ที่กุฏิท่านเจ้าคุณ ก็จะเห็นว่ามีปิ่นโต มีสำรับจากบ้านนั้น บ้านนี้มาส่งตอนเพล”

“ชาวสวนที่นี่เขาปลูกทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด จนเมื่อขุดสันดอนที่ปากน้ำ น้ำเค็มขึ้น พวกนี้เขาจะเห็นเลยว่าทุเรียนของเขาจะอยู่ไม่ได้ มีคนหนึ่งคือ ครูสังวาล เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดทองนพคุณ พอสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนจากชื่อเดิมที่คล้ายผู้หญิงเป็น นายโชติ ภูรินันทน์ ภายหลังท่านไปปลูกทุเรียนที่จันทบูร ร่ำรวยมาก ซึ่งคนในสวนแถวนี้ก็ร่ำรวยกันมาก”  

 

ทางด้าน คุณอาภรณ์ กุลวัฒโฑ ได้บอกเล่าสภาพสังคมชาวสวนในอดีตให้ฟังเพิ่มเติมว่า

เดิมถนนเจริญนครเป็นสวนทั้งนั้น เขตคลองสานก็เป็นสวน ที่เรียกว่า สวนใน มีผลไม้ที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเงาะสีชมพู เงาะแดง แล้วก็ที่ติดตลาดมากคือ ลางสาด  ปลูกที่คลองสาน เขาว่าดินดี ลางสาดหวาน แต่ว่ายางมีเยอะ ต่อมาเมื่อปลูกลองกองกันมาก พันธุ์ลางสาดก็ค่อยๆ หายไป … แถวลาดหญ้า-คลองสาน เป็นชาวสวน แทบทุกบ้านจะรู้จักกัน เพราะเป็นญาติกัน บ้านนี้ลูกหลานเดินผ่านกันก็จะทักทายปราศรัย สังคมเป็นแบบครอบครัว เมื่อมีงานบวชนาค งานแต่งงาน ชาวบ้านจะมาตั้งโรงครัว ทำอาหาร ช่วยเหลือกันหมด

สวนเงาะที่มีบริเวณกว้าง เขาจะไปสร้างกระท่อมเล็กๆ แล้วจะผูก ‘ตะขาบ’ ไว้รอบๆ สวน ตอนหน้าที่เงาะออกผล พวกค้างคาวจะมาลง จึงต้องมีคนไปคอยเฝ้าสวน นอนที่กระต๊อบ แล้วคอยชักตะขาบไล่ค้างคาว โดยกระตุกหวายที่จะผูกเชื่อมไปยังตะขาบแต่ละอัน … ‘ตะขาบ’ ที่ว่านี้ เป็นอุปกรณ์ทำด้วยลำไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 วา ผ่าครึ่ง เอาลวดมัดไว้ ซึ่งมันจะยังพะงาบๆ ได้ แล้วผูกเข้ากับหวาย เวลาเฝ้าสวนก็จะกระตุกหวายให้ไม้ไผ่ที่แยกเป็น 2 ซีกนั้น กระทบกันจนเกิดเสียงดังเพื่อไล่ค้างคาว” 

 

อาจารย์สุลักษณ์ยังกล่าวว่า ถึงแม้จะมีถนนเจริญนครแล้ว แต่ผู้คนในอดีตยังนิยมที่จะเดินลัดเลาะผ่านทางในเรือกสวนเพราะสงบร่มรื่นมากกว่า กระทั่งไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้

“สมัยก่อนจะเดินจากบางลำภูล่างมาคลองสานจะต้องเดินในสวน เขาจะทำสะพานไม้ให้เดิน ร่มรื่นมาก แต่บางทีในช่วงหน้าทุเรียน ต้องระวังทุเรียนอาจจะหล่นใส่หัว ไม่มีใครเดินตามถนนเพราะว่ามันร้อน … ราว พ.ศ. 2505 ผมกลับจากอังกฤษแล้ว ยังต้องมาค้างบ้านแม่ที่คลองต้นไทรทุกอาทิตย์ เพื่อมาสอนภาษาอังกฤษให้พระมหาเสฐียรพงษ์ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) ที่วัดทองนพคุณ เพื่อจะส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  และตอนนั้นกำลังจะเขียนบทนำให้วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เดินไป เดินมา จากบางลำภูล่างถึงคลองสาน จากวัดเศวตฉัตรถึงวัดทองนพคุณ ยังไม่เห็นมีรถสักคันหนึ่ง เพิ่งมาเปลี่ยนทีหลังที่ความเจริญมาอย่างไม่หยุดยั้ง สวนก็หมดไป ทางเดินในสวนก็หมดไปด้วย”

“เมื่อผมเด็กๆ เกิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าแล้ว แถวนี้ (สมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน) ถึงจะมีไฟฟ้า แต่บ้านผมแถวบางลำภูล่างยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เคยถามพ่อว่าทำไมบ้านเรายังไม่มีไฟฟ้า ท่านบอกว่า ชาวสวนไม่ยอมให้สายไฟฟ้าผ่านตอนนั้นผมก็นึกว่าชาวสวนเป็นคนโบราณ เร่อร่า แต่จริงแล้วชาวสวนมีสติปัญญามากที่ไม่ยอมให้สายไฟฟ้าผ่าน เพราะสวนของเขาจะพังหมด เราก็เลยต้องจุดตะเกียงกัน”

 

วงเสวนา “เจริญกรุง เจริญนคร… เจริญธนฯ”

 

ผู้เข้าฟังเสวนาร่วมเปิดประเด็นซักถามเรื่องย่านเจริญนครและฝั่งธนบุรี

 

สะพานพุทธ  วงเวียนใหญ่  รถไฟสายคลองสาน

สะพานพระพุทธยอดฟ้าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และเพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 อาจารย์สุลักษณ์กล่าวว่า แนวความคิดการสร้างสะพานเพื่อเป็นปฐมราชานุสรณ์นั้นมีที่มาจาก คุณพระประมณฑ์ปัญญา ซึ่งรับราชการอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขานุการของนายฝรั่งชื่อ มิสเตอร์เลอเมย์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้น โดยได้บอกความคิดเห็นเรื่องนี้ผ่านมิสเตอร์เลอเมย์เพื่อให้ไปทูลบอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในสมัยนั้นมีความเชื่อที่เล่าลือกันอย่างหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินสาปแช่งไว้ว่าถ้ากรุงเทพกับกรุงธนบุรีมาเชื่อมกันเมื่อไหร่ ความหายนะของราชวงศ์จะมาถึง ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ เป็นเพียงคำเล่าลือที่แม้แต่พระราชวงศ์ก็ทรงเชื่อกันด้วย

 

ด้วยเหตุนี้จึงสร้างให้เป็นสะพานที่เปิด-ปิดได้ เพื่ออ้างได้ว่าไม่ได้เป็นสะพานที่เชื่อมต่อกันโดยตลอด และทำเป็นรูปลูกศรยิงมาทางฝั่งธนบุรี เพราะ “ลูกศร” มีความหมายถึง “ประชาธิปกศักดิเดชน์” (เดชน์ แปลว่า ลูกศร) ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งพระราชลัญจกรเป็นรูปลูกศรด้วยเช่นกัน แต่หลังจากเปิดสะพานพุทธได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ขึ้น ภายหลังจากที่สะพานพุทธเปิดใช้งาน ส่งผลให้เกิดการขยายเมืองมายังฝั่งธนบุรีมากขึ้น มีถนนตัดใหม่หลายสาย เช่น ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนอิสรภาพ ถนนอินทรพิทักษ์ ถนนลาดหญ้า และมีวงเวียนใหญ่เป็นจุดเชื่อมการจราจรที่สำคัญ

 

คุณอาภรณ์ได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตขึ้นในแถบถนนลาดหญ้า และได้เห็นวงเวียนใหญ่ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า

“ผมเกิดที่ถนนลาดหญ้า บ้านเลขที่ 2480 ตอนนี้อายุย่าง 84 ปี เมื่อถนนประชาธิปกตัดมาจากสะพานพุทธ แล้วมาเชื่อมกับถนนลาดหญ้า กลายเป็นสี่แยก จึงทำเป็นวงเวียนใหญ่ ส่วนถนนช่วงสั้นๆ จากวงเวียนใหญ่ถึงสะพานเนาวจำเนียรที่สร้างข้ามคลองบางหลวง ตั้งชื่อว่า ถนนอินทรพิทักษ์... วงเวียนใหญ่เดิมที่ยังไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีลักษณะเป็นลานกว้าง ปลูกต้นสนไว้โดยรอบ คนสามารถมาจัดงานมหรสพต่างๆ ได้ ครั้งหนึ่งเคยมีการจัดเวทีชกมวย โดยมีนักมวยชื่อดังคือ สมพงษ์ เวชสิทธิ์  (ชื่อจริงว่า ดวง ทองคำดี เกิดปี  2455) ซึ่งเป็นแชมป์มวยสากลคนแรกๆ มาขึ้นชก เขาจะมาตั้งวิกมวย ต้องเสียเงินเข้าไปดู ตอนเด็กๆ เราไม่มีเงิน ก็จะแอบปีนต้นสนขึ้นไปดูกันบนนั้น ก่อนมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อ พ.ศ. 2497”

 

เช่นเดียวกับ สถานีรถไฟคลองสาน ซึ่งเคยเป็นที่ภาคภูมิใจของคนคลองสาน แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อาจหลงลืมไป

“เส้นทางรถไฟสายคลองสาน-มหาชัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ขออนุญาตทำสัมปทานโดยพระยาพิพัฒน์โกษา (เซเรสติโน ซาเวียร์) ร่วมกับชาวต่างประเทศอีกหลายคน โดยตั้งชื่อบริษัทที่ขอสัมปทานว่า ท่าจีนเรวเวกัมปนีลิมิเต็ต ตัดเส้นทางรถไฟจากคลองสานไปเชื่อมกับท่าจีน มหาชัย ระยะทางราว 33.3 กิโลเมตร... รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดสถานีเมื่อวัน 29 ธันวาคม 2447 เมื่อก่อนยังไม่มีสะพานพุทธ พระองค์ท่านต้องเสด็จทางรถยนต์มาที่ท่าราชวรดิฐ แล้วเสด็จต่อมาทางเรือ มาขึ้นที่ท่าเรือคลองสาน และทรงทำพิธีเปิดโดยการตอกหมุดตัวสุดท้ายที่ทางรถไฟคลองสาน ก่อนจะเปิดเพื่อการพาณิชย์ให้ประชาชนได้ใช้งานในเดือนมกราคม 2448

"เมื่อก่อนนี้รถไฟใช้วิธีการต้มน้ำให้เดือดเป็นไอ เพื่อดันให้รถจักรวิ่ง จึงต้องใช้ฟืนและน้ำจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนที่สถานีคลองสานจะมีบ่อน้ำใหญ่ๆ และกองฟืน เมื่อรถจักรเข้ามาจะขนฟืนขึ้นหัวรถจักร แล้วแล่นไปเทียบกับบ่อน้ำ จากนั้นก็จะปล่อยน้ำตามท่อลงมา…สถานีคลองสานไม่กว้างมากนัก จึงไม่สามารถวางรางอ้อมเพื่อใช้กลับหัวรถจักรได้ จึงต้องสร้างเป็นวงเวียนที่มีลูกล้ออยู่ข้างล่าง แล้วต่อรางเข้า เมื่อหัวรถจักรเข้ามาเทียบก็จะตัดตู้ขบวนออกก่อน แล้วใช้คนเข็นหมุนให้หัวรถจักรเข้ามาอยู่อีกรางหนึ่งข้างๆ กัน แล้วจึงนำตู้ขบวนมาต่อท้าย ลากกลับไปยังมหาชัยได้”

 

เส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างคลองสานและมหาชัย จะบรรทุกอาหารทะเลจากมหาชัยมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีเรือมารอรับที่ท่าเรือคลองสาน เพื่อนำไปจำหน่ายตามตลาดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ส่วนพ่อค้าแม่ค้าทางมหาชัยจะนำผลไม้ของชาวสวนแถบนี้ไปจำหน่ายที่มหาชัยหรือท่าจีนด้วย อ.สุลักษณ์เล่าว่า “สมัยที่รถไฟเข้ามาถึงที่คลองสาน จะมีพวกคนจีนมารับจ้างหาบปลาทู ไปลงเรือแจวไปฝั่งขะนู้น พวกปลาทูที่ตกเรี่ยเสียหาย เราไปเก็บกินได้สบาย เขาไม่ว่าอะไร ปลาทูเยอะแยะไปหมด คนแต่ก่อนเขาถือว่าปลาทูเป็นของธรรมดา ‘ปลาทูอยู่ทะเล ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี’ เมื่อผมเป็นเด็กๆ ยังทันเห็น”

 

สถานีรถไฟคลองสานยุติการเดินรถไฟตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 ในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทางรถไฟสายแม่กลองจะมาสุดแค่ที่สถานีตลาดพลู แต่ด้วยชาวบ้านเรียกร้องว่าไม่สามารถนำสินค้าเข้ามายังพระนครได้ จึงให้ทำการเดินรถไฟสายแม่กลองมาจนถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ส่วนทางรถไฟจากสถานีคลองสานนั้น ปัจจุบันเป็นแนวถนนเจริญรัถ เดิมยังไม่ได้รื้อรางรถไฟและไม้หมอนออก แต่ใช้วิธีการถมถนนและราดยางมะตอยทับลงไป ทำให้เมื่อรถยนต์วิ่งกันมากเข้า ยางมะตอยทรุดตัวลงไปตามแนวไม้หมอนรถไฟเดิม จึงต้องบูรณะใหม่ รื้อรางรถไฟเก่าออก แล้วสร้างเป็นถนนคอนกรีต

 

เทศบาลนครธนบุรี-นครหลวงกรุงเทพธนบุรี-กรุงเทพมหานคร

เทศบาลนครธนบุรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งเทศบาลธนบุรี พ.ศ. 2479 โดยมีพระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเทศบาลนครธนบุรีคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีคนแรก (พ.ศ. 2476-2480)

 

“ผมทันได้ฟังนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส.จังหวัดธนบุรี หาเสียง เขาภาคภูมิใจมากที่ต่อสู้จนสามารถตั้ง ‘เทศบาลนครธนบุรี’ ได้ …ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำการรวมกรุงเทพกับธนบุรีเข้าด้วยกัน ในครั้งนั้น พระองค์วรรณ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ท่านรับสั่งกับผมเองเลยว่า อยากให้ใช้ชื่อ ‘กรุงเทพกรุงธนบุรีมหานคร’ แต่ในที่สุดก็ตกไปเพราะจอมพลถนอมว่าชื่อยาวเกินไป”  อ.สุลักษณ์กล่าว

 

รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2514 เรียกว่า “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ “กรุงเทพมหานคร” โดยตัดคำว่า “ธนบุรี” ออกไปเพื่อให้สั้นกระชับมากขึ้น นอกจากนี้ คุณธีรนันท์ยังได้เล่าเสริมถึงเรื่องนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ว่า ท่านเคยสร้างโรงเรียนอยู่แถววัดเครือวัลย์ ชื่อโรงเรียนพุฒพัฒน์วิทยา ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าคุณทองอยู่จะนุ่งผ้าม่วงยืนรอรับนักเรียนอยู่ที่หน้าโรงเรียนทุกเช้า ท่านยังมีบทบาทในการผลักดันให้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกด้วย ต่อมาท่านได้ดำรงอยู่ในสมณเพศในช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านอยู่ที่วัดทองธรรมชาตินี่เอง


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น