วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน
หนังสือหนังหา

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน

 

“อย่าเหมาเอาเองว่าโน่น นี่ นั่น ล้วนของไทย  เพราะของเขาก็มี แล้วต่างมีมาแต่ดั้งเดิม ไม่ได้มีเฉพาะไทย”

คำโปรยบนปกหลัง “วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน”

 

ภาพปกรูปกบสำริดประดับอยู่บนกลองมโหระทึก ซึ่งกบ-คางคกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ มีนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ 

 

หนังสือ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ปรับปรุงขึ้นจากบทความที่ตีพิมพ์เป็นตอนสั้นๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ 2 มกราคม – 2 ตุลาคม  2558 โดยนำมาปรับแก้ให้สั้นกระชับ ไม่ซับซ้อน เพื่อให้อ่านง่าย เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการทำความเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ที่ปัจจุบันต่างมีความสัมพันธ์กันในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ภายใต้หลังคาของ “ประชาคมอาเซียน” ร่วมกัน

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวไว้ในบทคำนำว่า “ประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์ต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ ตามหลักฐานมานุษยวิทยาโบราณคดีที่พบกว้างขวางมากกว่าเดิม แล้วอธิบายได้มากกว่าและน่าเชื่อถือมากกว่าแต่ก่อน (มิได้หมายความว่าถูกต้องหรือเป็นที่ยุติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนับถือศาสนาผี อันเป็นช่วงก่อนรับศาสนาพราหมณ์กับพุทธจากอินเดีย”

 

การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมของผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์ ย่อมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นย้ำว่า “ไม่มีสิ่งใดเป็นไทยแท้” แต่ล้วนมีที่มาที่ไปสืบย้อนได้ว่ามีรากเป็นวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการรับวัฒนธรรมอื่นๆ จากภายนอก ซึ่งภายในเล่มแบ่งการอธิบาย วัฒนธรรมร่วม ออกเป็น 2 ภาค คือ “ก่อนอินเดีย” และ “หลังอินเดีย”

 

วัฒนธรรมร่วม ก่อนอินเดีย หมายถึง ช่วงก่อนรับอารยธรรมอินเดียคือ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนถึงราว 1,000 ปีมาแล้ว ในยุคที่คนน้อย พื้นที่มาก และยังไม่มีพรมแดน ผู้คนสามารถเคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่ใดก็ได้ ซึ่งคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีรูปแบบวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการนับถือผีฟ้าผีแถน การให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่เป็นผู้สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติและถือว่ามีฐานะทางสังคมสูง ความเชื่อเรื่องขวัญ พิธีศพ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น กบ คางคก หมา แลน ตะกวด งูหรือนาค เป็นต้น นอกจากนี้มีรูปแบบวิถีชีวิต อาหารการกินและการละเล่นต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วม เช่น บ้านเรือนเสาสูง การระบำรำฟ้อน  มวย ตระกร้อ กรรมวิธีการทำอาหารให้เน่าเพื่อถนอมอาหาร  เป็นต้น

 

วัฒนธรรมร่วม หลังอินเดีย” หมายถึง ช่วงหลังรับอารยธรรมอินเดีย เมื่อราว พ.ศ. 1,000 เป็นต้นมา และนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่  (1) รับศาสนาพราหมณ์-พุทธ (2) รับศาสนาอิสลามและอื่นๆ และ (3) รับอาณานิคม ในส่วนนี้จะกล่าวถึงตั้งแต่การรับวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์และพุทธจากอินเดีย ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการทางวัฒนธรรมในดินแดนแถบนี้ และปรับบทบาทของเพศชายให้มีความสำคัญสูงขึ้น เช่นเดียวกัน “ตัวอักษร” ที่มีรากฐานมาจากอินเดียใต้ ก่อนที่จะมีพัฒนาการปรับเปลี่ยนเป็นอักษรพื้นเมืองที่แบ่งแยกตามท้องถิ่นต่างๆและในเวลาต่อมามีศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ผสมผสานและสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้ดินแดนแถบนี้ ส่วนท้ายของภาค “หลังอินเดีย” ปิดท้ายด้วยเรื่องสมัยอาณานิคม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการแบ่งเขตเส้นพรมแดนและรัฐชาติ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อระบบการผลิตและเศรษฐกิจ ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยแนวคิดชาตินิยมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้พวกเจ้าอาณานิคม

 

หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นเพียงการให้ภาพกว้างและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมของผู้คนและสังคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้อ่านเป็นพื้นฐานสำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปที่อาจไม่มีความรู้ทางด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีมาก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเหล่านี้และต้องการข้อมูลที่มีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือหลากหลายเล่มในชุด “... มาจากไหน?” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ  อาทิ คนไทยมาจากไหน ?  อักษรไทยมาจากไหน? เป็นต้น ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นให้เห็นถึงที่มาของ "วัฒนธรรมไทย" อันเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ ก่อนถูกบรรจุอยู่ภายใต้กรอบความเป็นไทย อันเป็นผลมาจากแนวคิดชาตินิยม  นอกจากนี้ในเว็บไซต์ http://www.sujitwongthes.com/ ก็เป็นแหล่งรวบรวมบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจของสุจิตต์ วงษ์เทศอีกด้วย


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ