เมืองท่า การค้า และศรัทธาพื้นถิ่น
หนังสือหนังหา

เมืองท่า การค้า และศรัทธาพื้นถิ่น

 

 

ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทีมงานยุววิจัยประวัติศาสตร์ภาคใต้ จังหวัดตรัง มีคณะยุววิจัยจากโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมมากมาย ในหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอผลงานที่ถูกคัดสรรมาทั้งหมด 6 เรื่องของนักเรียน ซึ่งเป็นดั่งตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดตรัง ดังนี้

 

ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ เล่ม 3 จังหวัดตรัง เมืองท่า การค้า และศรัทธาพื้นถิ่น

เลิศชาย ศิริชัย บรรณาธิการ

กรุงเทพฯ : สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2555

 

 

[1]

ตำนานตาหมอช่องกับวิถีชีวิตบ้านช่อง

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

ชาวบ้านตำบลบ้านช่อง อำเภอนาโยง มีความเชื่อเกี่ยวกับตาหมอช่องสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมานานแล้ว แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คืบคลานเข้ามายังสังคมหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่ประเด็นศึกษาของคณะวิจัยว่าความเชื่อเรื่องตาหมอช่อง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นแห่งนี้มีความเป็นมา การดำรงอยู่ และกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นับเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการสำรวจ สืบค้น และเก็บข้อมูลโดยนักวิจัยกลุ่มเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อนี้ ในบทความสรุปผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น คือ

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. บริบทชุมชน
  3. ความเป็นมา ความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับตาหมอช่องในอดีต
  4. ความเชื่อเรื่องตาหมอช่องในยุคสมัยใหม่
  5. บทสรุป            

ตาหมอช่องถือว่าเป็นความเชื่อสำคัญของท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับฐานทรัพยากรทางธรรมชาติหลายๆ อย่าง แต่ความเชื่อเรื่องตาหมอช่องรวมถึงพิธีกรรมที่เคยถือปฏิบัติกันมาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อมีการพัฒนาแบบสมัยใหม่เข้ามา ดังคำกล่าวที่ว่า “พอมีหนน มีรถ มีไฟฟ้า ผีก็หายไป

 

[2]

นายขุกมิ่ง เค้กขุกมิ่ง และลำภูรา

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนลำภูราเรืองวิทย์ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง  

ของฝากขึ้นชื่อของเมืองตรัง นอกจากหมูย่างก็คงจะเป็น “เค้กขุกมิ่ง” ซึ่งเป็นที่รู้กันมานานหลายทศวรรษ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศที่มาเยือนเมืองตรังจะต้องลองลิ้มรสขนมเค้กขุกมิ่งสักครั้ง และซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไปให้คนที่บ้าน เหตุนี้เค้กขุกมิ่งขึงกลายเป็นสินค้าที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของเมืองตรังไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม น้อยคนที่จะรู้ว่าแต่เดิมร้านเค้กขุกมิ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองตรัง แต่ถือกำเนิดขึ้นที่หมู่บ้านลำภูรา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองตรังราว 28 กิโลเมตร ชื่อร้านเค้กแห่งนี้ตั้งขึ้นตามชื่อของผู้ก่อตั้งคือ นายขุกมิ่ง ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านลำภูรา เปิดร้านขายกาแฟและขนมอยู่ที่นี่ ในบทความนี้คณะยุววิจัยพาเราไปทำความรู้จักกับเค้กขุกมิ่งในหลายมิติด้วยกัน ดังนี้

  1. บทนำ
  2. ความเป็นมาของตลาดลำภูรา
  3. ปฐมบทของนายขุกมิ่ง
  4. นายขุกมิ่งและเค้กขุกมิ่ง
  5. เค้กขุกมิ่งกับชุมชนตลาดลำภูรา
  6. บทส่งท้าย

จากชาวจีนโพ้นทะเลสู่พ่อค้าที่ลำภูรา โดยเปิดร้านขายกาแฟและขนมเค้กเล็กๆ ที่ตำบลแห่งนี้ ก่อร่างสร้างตัว สร้างรากฐานชีวิตและสานสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ ทั้งในระดับหมู่บ้าน เมือง และต่างเมือง จนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ร้านเค้กขุกมิ่งกลายเป็นร้านที่มีชื่อเสียงและถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตรังที่ไม่อาจมองข้าม

 

[3]

วัฒนธรรมและการผลิตของชุมชนบ้านหินคอกควาย

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนบ้านหินคอกควาย อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

บ้านหินคอกควายมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี และมีวัฒนธรรมย่อยเป็นของตัวเอง โดยมีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนต่างศาสนาและเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันมา ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และชาวจีน รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ทำให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้อย่างบริบูรณ์ไปด้วย ในงานวิจัยนี้บอกเล่าเรื่องราวของบ้านหินคอกควาย ดังนี้

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. รู้จักชุมชนบ้านหินคอกควาย
  3. การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  4. ทรัพยากรและการผลิต
  5. สรุป

ทั้ง 5 ส่วนนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและรู้จักกับหมู่บ้านแห่งนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าบ้านคอกควายที่มีประวัติความเป็นมากว่า 300 ปีนั้น มีการสร้างรากฐานของหมู่บ้านให้มั่นคงด้วยการพึ่งพาอาศัยกันบนความหลากหลาย

 

[4]

การเปลี่ยนแปลงการผลิตในชุมชนบ้านทุ่งค่าย

จากยุคบุกเบิกผืนป่าเป็นนาถึงยุคสวนยางพารา

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนตรังรังสฤษฎ์ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

บ้านทุ่งค่ายตั้งอยู่ในเขตอำเภอย่านตาขาว ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับการเจริญเติบโตของเมืองตรัง เมื่อถนนตรัง-ปะเหลียนถูกสร้างขึ้น ชุมชนบ้านทุ่งค่ายที่ตั้งขนาบสองข้างทางก็ค่อยๆ เจริญขึ้นตามมา บทความวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 6 ส่วนเพื่ออธิบายให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของบ้านทุ่งค่าย ดังนี้

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. รู้จักชุมชนบ้านทุ่งค่าย
  3. ชุมชนบ้านทุ่งค่ายยุคบุกเบิกผืนป่าเป็นนา
  4. บ้านทุ่งค่ายยุคชาวนา และบุกเบิกป่าเป็น “ป่ายาง”
  5. บ้านทุ่งค่ายยุคทิ้งนาพึ่งพาสวนยางพารา
  6. บทสรุป

การสืบค้นข้อมูลและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านทุ่งค่ายโดยใช้เส้นเวลา (Timeline) แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านทุ่งค่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการพึ่งพาตนเองภายในหมู่บ้านสู่ชุมชนเมือง การทำมาหากินของชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนจากผืนป่าสู่นาข้าว ก่อนจะกลายเป็นสวนยางพาราในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่าการใช้พื้นที่ของชาวบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีการทำมาหากิน

 

[5]

ท่าเรือกะลาเสนุ้ยในอดีต  ชุมทางชีวิตของชาวกะลาเส

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนกมลศรี อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอสิเกาจึงมีชื่อเรียกว่า “กะลาเสน้อย” ส่วนท่าเรือของหมู่บ้านชื่อว่า “กะลาเสนุ้ย” ในบทความนี้ได้ไขข้อข้องใจของภูมินามที่สะดุดหู ทั้งยังพาไปรู้จักกับชุมชนท่าเรือเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ในอดีตท่าเรือกะลาเสนุ้ยแห่งบ้านกะลาเสน้อยถือเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นท่าเรือขึ้นสินค้าทั้งของภายในท้องถิ่นและจากต่างถิ่นที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าท่าเรือแห่งนี้เป็นที่นิยมเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะเมื่อเริ่มมีถนนหนทางเข้ามา วิถีชีวิตของชาวท่าเรือก็เปลี่ยนแปลงไป บทความนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้ 

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. ท่าเรือกะลาเสนุ้ยและบ้านกะลาเสน้อยจากอดีตถึงปัจจุบัน
  3. ยุครุ่งเรืองของท่าเรือกะลาเสนุ้ย
  4. ยุคความถดถอยของท่าเรือกะลาเสนุ้ย
  5. บทส่งท้าย

ความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ ทั้งบทบาทหน้าที่และความหมายของพื้นที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย การทำความเข้าใจอดีต-ปัจจุบันของชุมชนจะทำให้สามารถมองเห็นและสร้างความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้

 

[6]

โรงเรียนวิเชียรมาตุ พัฒนาการสู่ 1 ศตวรรษ

โดยคณะยุววิจัยฯ โรงเรียนวิเชียรมาตุ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

โรงเรียนวิเชียรมาตุถือกำเนิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานมาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2459 ถือเป็นโรงเรียนที่มีความเก่าแก่และประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับกุลบุตรกุลธิดาชาวเมืองตรังมาหลายรุ่น เหตุที่คณะวิจัยหยิบยกเรื่องราวของโรงเรียนวิเชียรมาตุขึ้นมาเป็นประเด็นศึกษานั้น เพราะโรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นแหล่งสร้างทรัพยากรบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่เมืองตรังมากมาย งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งหัวข้อออกเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. บริบทจังหวัดตรังที่เกี่ยวข้อง
  3. วิเชียรมาตุภายใต้พระมหากรุณาธิคุณ (พ.ศ.2459-2475)
  4. วิเชียรมาตุยุคขยายตัวของอำนาจรัฐแบบใหม่ (พ.ศ.2475-2521)
  5. วิเชียรมาตุยุคสร้างคนสำหรับสังคมสมัยใหม่ (พ.ศ.2521-ปัจจุบัน)
  6. บทสรุป

เมื่อได้อ่านงานวิจัยชุดนี้จนถึงบรรทัดสุดท้าย จะทำให้เราเห็นถึงคุณูปการมากมายของโรงเรียนแห่งนี้ที่ดำรงฐานะเป็นโรงเรียนสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตรังมากว่า 100 ปี

 

ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ในหอสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (https://koha.library.tu.ac.th/punsarn/opac/main/) สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร (http://www.l.su.ac.th/) หอสมุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (http://opac.library.mju.ac.th/) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ (http://www.lib.tsu.ac.th/) เป็นต้น

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ