วัฒนธรรมการเล่นหนังหรือละครเงา (Shadow Plays) ปรากฏอยู่ในแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลกมาแต่โบราณ เช่น อียิปต์ จีน อินเดีย และเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปหนังที่ใช้เล่นมี 2 แบบ คือ ชนิดที่ส่วนแขนติดกับลำตัวและมีขนาดใหญ่ เช่น หนังใหญ่ของไทยและหนังสเบก (Nang Sbek) ของเขมร และชนิดที่ส่วนแขนฉลุแยกจากส่วนลำตัว แต่ร้อยหมุดให้ติดกัน เคลื่อนไหวได้ เช่น หนังอยอง (Nang Ayoug) ของเขมร วายังกุลิต (Wayang Kulit) วายังยาวอ (Wayany Jawa) ของชวา และหนังตะลุงของไทย
หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงละครของชาวบ้านที่ใช้รูปซึ่งแกะจากหนังสัตว์แทนตัวละคร เป็นมหรสพที่นิยมชมชอบและเป็นชีวิตจิตใจของชาวไทยภาคใต้ ได้รับความนิยมชมชอบสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แพร่หลายกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ตลอดไปจนถึงรัฐต่างๆ ทาง ภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย หนังตะลุงเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจึงไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานต่างกันหลายกระแส เช่นรับมาจากมาเลเซีย หรือชวา อินโดนีเซีย หรืออีกทางหนึ่งกล่าวว่ารับมาจากประเทศอินเดียผ่านมาทางมลายู และมาเริ่มขึ้นในภาคใต้ที่บ้านควนพร้าว จังหวัดพัทลุง อนึ่ง เหตุที่ได้ชื่อว่าหนังตะลุงมีข้อสันนิษฐานได้ 3 ทาง คือ
1. มาจาก “หนังไทลุง” (ไทลุง คือไทยที่อพยพมาอยู่ทางภาคใต้)
2. มาจาก “หนังฉะลุง” ฉะลุง หมายถึง เสาผูกช้างครั้งแรกที่หนังแขกมาแสดงได้จึงจอ กับเสาผูกช้าง ต่อมาเพี้ยนเสียง “ฉะลุง” เป็น “ตะลุง”
3. มาจาก “หนังพัทลุง” คือเมื่อ พ.ศ. 2415 เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุญนาค) นำหนังจากพัทลุงไปแสดงถวายทอดพระเนตรที่บางปะอิน ชาวภาคกลางทราบว่าหนังไปจากพัทลุงจึงเรียกว่า “หนังพัทลุง” แล้วต่อมาเพี้ยนเป็นหนังตะลุง
หนังตะลุงจากอินเดีย จีน ตุรกี และหลายประเทศทั่วโลก จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน
ดร.จำรูญ วงศ์กระจ่าง นักไทยคดีศึกษา อาจารย์พิเศษวิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช ศูนย์สงขลา ให้ความเห็นว่าหนังตะลุงได้รับการสืบทอดมาจากวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่ยุคสมัยที่ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองในภาคใต้ โดยแรกเริ่มแสดงเหมือนหนังใหญ่ในภาคกลาง ถือเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน เพียงแต่ผู้แสดงหนังตะลุงในภาคใต้ได้นำแนวทางการแสดงดังกล่าวมาปรับปรุงให้เข้ากับพื้นที่และสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยปรับเปลี่ยนเรื่องแสดงจากเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น อิเหนา พระอภัยมณี นานวันเข้าคนดูเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย นายหนังก็จะแต่งเรื่องเปลี่ยนเรื่องแสดงไปเรื่อยๆ และมีการปรับเพิ่มตัวละคร เช่น ไปแสดงที่ไหนมีคนดังๆ เป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาของคนในชุมชนที่ไปแสดงก็มักตัดรูปล้อเลียนเพื่อให้เข้ากับสังคมนั้นๆ ทำให้เกิดความประทับใจกับผู้ชมและผู้ถูกล้อเลียน เช่น การตัดรูปนายเท่งของหนังจ้วนคูขุด การตัดรูปบังสะหม้อของหนังเลื่อนพานยาว เป็นต้น หนังตะลุงในภาคใต้จึงได้รับความนิยมมากกว่าหนังใหญ่ที่เล่นอยู่เฉพาะเรื่องรามเกียรติ์
พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่รวบรวมความรู้เรื่องหนังตะลุงอันทรงคุณค่าของไทย ก่อตั้งโดยนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ (สาขาการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง พ.ศ. 2539) ผู้อุทิศตนให้งานที่รัก และเปิดบ้านส่วนตัวของครอบครัวเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลจัดแสดงหนังตะลุงของภาคใต้และจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหนังตะลุงในประเทศไทยและการละเล่นหุ่นและแสงเงาจากทั่วโลกก็สามารถมาหาความรู้ได้ที่นี่ ถึงแม้ว่านายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน เสียชีวิตด้วยโรคชราไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังคงเปิดให้เข้าเยี่ยมชม ภายในจัดแสดงผลงานหนังตะลุงฝีมือนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน และตัวหนังที่ใช้แสดงจริง รวมถึงหนังตะลุงที่ท่านสะสมไว้และที่มีผู้นำมาบริจาคให้ โดยมีลูกหลานของท่านเป็นผู้นำชมและตอบคำถามให้กับผู้สนใจโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ทั้งนี้ผู้เข้าชมสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ได้ที่ตู้บริจาคที่อยู่ในห้องจัดแสดง
คุณเสนีย์ ทรัพย์สิน บุตรชายของนายหนังสุชาติ
คุณเสนีย์ ทรัพย์สิน บุตรชายของนายหนังสุชาติ ผู้สืบต่องานทำหนังตะลุง เล่าความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ว่า คุณพ่อได้แรงบันดาลใจในการทำพิพิธภัณฑ์หลังจากได้มีโอกาสแสดงหนังตะลุงต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2527 พระองค์ท่านได้มีรับสั่งว่า “ขอบใจที่รักษาของเก่าไว้ให้ อย่าหวงวิชา ช่วยเผยแพร่ ช่วยถ่ายทอด” จากพระกระแสรับสั่งในวันนั้น ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สินและครอบครัวในการจัดทำพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์เรื่องราวของการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้ด้วยความสุข ทั้งสอนคนรุ่นใหม่ที่สนใจจนสามารถทำเป็นอาชีพได้
“ผมถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก หนังตะลุงตัวแรกที่ผมทำคือตอน 5 ขวบ เป็นเด็กเล็กที่ไปกวนพ่อตอนตอกหนัง พ่อเลยเอาเศษหนังชิ้นเล็กๆ มาเขียนหัวตัวตลกให้ แล้วให้เราฝึกตอก เป็นการฝึกสมาธิที่ดีมาก พออายุได้ 7 ขวบ ตอนนั้นขายตัวหนังตะลุงได้ มีฝรั่งขอซื้อ 20 บาท จำได้ ดีใจมากเลย” คุณเสนีย์เล่าถึงความทรงจำสมัยเด็กที่นายหนังสุชาติ สอนให้ทำหนังตะลุง ค่อยๆ ซึมซับจนสามารถจดจำและทำได้ จนเป็นทายาทผู้สืบทอดงานทำหนังตะลุงต่อจากคุณพ่อ
คุณเสนีย์ ทรัพย์สิน นำชมภายในพิพิธภัณฑ์
หากใครมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตรงกับจังหวะที่คุณเสนีย์ได้หนังวัวใหม่ๆ มาพอดีก็จะได้เห็นขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเตรียมหนังวัวก่อนทำเป็นตัวหนัง เป็นปกติของประเพณีภาคใต้เมื่อมีงานเลี้ยงในหมู่บ้านจะมีการล้มวัวเพื่อทำอาหาร 1 ตัว คนเชือดวัวจะมาตามช่างทำหนังตะลุงให้ไปเลาะเอาหนังวัวทั้งตัวเพื่อมาใช้ทำหนังตะลุง เมื่อได้หนังสดๆ มาแล้วช่างจะฟอกหนังด้วยกรดน้ำส้ม เพื่อกัดไขมันออกจากหนังให้หมด แล้วใช้มีดเลาะเอาชั้นไขมันออกจนเกลี้ยงเกลา จากนั้นนำไปขึงตากให้แห้งดีแล้วจึงนำลวดลายมาทาบเพื่อพ่นสีดำและตอกตามลายที่กำหนด การทำหนังตะลุงมี 2 เทคนิคคือการตอกและฉลุลาย การตอกจะใช้ตุ๊ดตู่ (เครื่องมือเหล็กสำหรับตอกหรือเจาะรู) ที่มีหัวขนาดต่างๆ เจาะรูให้เป็นแนวเส้นแบบจุดต่อจุดโดยใช้ไม้หยีเป็นเขียงสำหรับตอกเพราะเป็นไม้เนื้อแข็งมาก ตอกแล้วไม่กร่อน ส่วนการฉลุลายจะใช้ไม้ทังซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนเป็นเขียงรองแกะ ทำเป็นลวดลายไทยแบบพริ้วไหวที่ฉลุด้วยมีดปลายแหลมที่ทำเฉพาะของช่างแต่ละคน
คุณเสนีย์ ทรัพย์สิน สาธิตการทำลวดลายบนหนัง ด้วยการตอก และฉลุลาย
การทำหนัง 1 ตัวจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน ถ้าหนังใหญ่ก็จะไม่เกิน 1 เดือน หรือแล้วแต่ขนาดและความประณีต ปัจจุบันมีหนังวัวที่ฟอกจากโรงงานแล้วซึ่งจะบางและตอกง่ายกว่าหนังที่ทำแบบโบราณแต่ไม่คงทนเท่า เมื่อแกะตัวหนังเสร็จช่างทำหนังตะลุงจะนำมาลงสีโดยใช้สีผสมอาหารมาระบาย สีที่ใช้หลักๆ จะเป็นแม่สี ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง และสีดำ ส่วนตัวครูและตัวตลกจะใช้หมึกจีนถมดำ เทคนิคพิเศษคือใช้ไม้หวายแทนพู่กันเพราะแข็งกว่า เหลาปลายหวายเหมือนดินสอแล้วตีให้เป็นพู่กัน บนหนังบางครั้งยังมีชั้นไขมันเกาะอยู่ การใช้ปลายหวายขยี้สีลงจะจะช่วยให้ติดดีขึ้น เมื่อทาสีครบสองด้าน ปล่อยให้แห้ง แล้วจึงทาน้ำมันวานิชทับเพื่อเคลือบตัวหนังตะลุง แล้วจึงใส่ไม้ไผ่สีสุกเหลาสำหรับเชิดตัวหนัง ผูกด้วยด้ายไนลอน
สีผสมอาหารที่ละลายไว้แล้ว นำมาลงที่ตัวหนัง โดยใช้หวายเหลาเป็นพู่กัน
ทักษะของช่างทำหนังตะลุงและนายหนังหรือศิลปินเล่นหนังตะลุงต้องพึ่งพาอาศัยกัน คนเล่นหนังตะลุงส่วนใหญ่จะไม่ใช่ช่างทำหนัง ช่างทำหนังก็มีไม่กี่คนที่เล่นหนังตะลุงได้ ด้วยเหตุนี้ นายหนังจึงต้องมีช่างคู่ใจที่สามารถสร้างสรรค์ตัวละครให้กับคณะหนังตะลุงของตัวเองได้ถูกยุคถูกสมัย ในฐานะช่างผู้ผลิตงานศิลปะเพื่อการแสดงก็ต้องทำตามความต้องการของคนเล่นหนังตะลุง นอกจากการทำหนังตะลุงด้วยการสืบทอดจากบรรพบุรุษแล้ว ยังมีช่างทำหนังตะลุงที่เกิดจากความรักและหลงใหลในตัวหนังตะลุงจนหัดทำและศึกษาด้วยตนเองก็มี อย่างเช่นช่างสุขหัวไทร หรือนายบุญสุข สุขแก้ว ผู้ซึ่งมีความสนใจด้วยตนเองจากการไปดูหนังตะลุงแล้วชอบตั้งแต่อายุ 13 ปี หากเป็นคนอื่นดูแล้วอาจจะดูแค่ความบันเทิงใจ แต่สำหรับช่างสุขกลับอยากรู้ว่าตัวหนังตะลุงทำอย่างไร จึงเดินทางไปเรียนรู้วิธีการทำตัวหนังตะลุงที่บ้านช่างเอียดซึ่งอยู่คนละตำบลในอำเภอหัวไทร โดยเดินเท้าไปกลับทุกวันเมื่อมีเวลาว่าง แล้วกลับมาทำด้วยตนเอง เริ่มจากหากระดาษลังตอกเป็นตัวต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มทำด้วยหนังจริงๆ จนมั่นใจในความสวยงามแล้วจึงนำไปฝากขายที่ร้านขายของที่ระลึกหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ในตอนนั้นช่างสุขอายุได้ 25 ปี ถือว่าสามารถทำหนังตะลุงจนเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้สืบมาถึงปัจจุบัน ช่างสุขหัวไทรมีชื่อเสียงในการทำหนังตะลุงตัวใหญ่ สามารถทำตามคำสั่งนายหนังหรือเจ้าของคณะหนังตะลุงจนเป็นที่พอใจ อีกทั้งยังสามารถซ่อมตัวหนังเก่าได้อีกด้วย จึงทำให้มีงานต่อเนื่องตลอดทั้งปีจนลูกค้าต้องรอคิว
ช่างสุข หรือนายบุญสุข สุขแก้ว สร้างสรรค์งานได้หลากหลาย จนลูกค้าต้องต่อคิว
ผลงานแกะตัวหนังตะลุงของช่างสุขหัวไทร
หนังตะลุงสำหรับเล่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ หนังตะลุงแบบแผนประเพณี ประกอบด้วยตัวพระฤๅษี ลิงขาวลิงดำ พระอิศวร ปรายหน้าบท เจ้าเมือง มเหสี และตัวยักษ์ สำหรับเล่นเปิดโรงไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคลและขับไล่สิ่งชั่วร้ายก่อนที่จะเริ่มเข้าเนื้อเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ ประเภทที่ 2 เป็นหุ่นตัวพระนางหรือตัวตลกที่ใช้แสดงเพื่อความบันเทิงใจ ช่างทำหนังตะลุงจะตอกลวดลายจากบริเวณรอบตัวและรอบหน้าก่อน แล้วค่อยไล่ๆ ลงไป ส่วนที่ต้องใช้มีดแกะจะเว้นไว้ก่อน อย่างพวกตาและปากจะเว้นไว้แกะทีหลัง ถ้าเป็นหนังที่จะใช้แสดงต้องมีคาถาเบิกเนตรโดยนายหนังจะเป็นผู้ว่าคาถา อย่างไรก็ตาม หากเป็นตัวหนังตะลุงที่เอาไว้ใส่ตู้หรือกรอบรูปโชว์ก็จะไม่ลงคาถาเพราะบางคนจะกลัว นอกจากนี้การตอกตัวหนังตะลุงยังมีความเชื่อต่างๆ ที่ยึดถือกันมา เช่น ถ้าเป็นตัวศักดิ์สิทธิ์ ช่างผู้ทำจะต้องรักษาศีลและเลือกวันดี เช่น วันอังคาร วันพระจันทร์เต็มดวง วันราหู วันเสาร์ 5 ถ้าเป็นตัวตลกเอกก็ต้องเป็นวันดีเช่นกัน แต่จะเลือกหนังวัวที่ตายแปลกๆ เช่น ตายฟ้าผ่า ตายทั้งกลม หรือบางคนจะใช้หนังเท้าของครูบาอาจารย์ที่เคารพหรือเป็นผู้มีวิชา เมื่อท่านเสียชีวิตแล้วจะไปขอจากญาติ นำหนังเท้าชิ้นเล็กๆ มาทำตรงปากที่ตัวครูพระฤๅษี บ้างเชื่อว่าถ้านำหนังตะโพนวัดมาทำตัวตลกจะมีชื่อเสียง ส่วนตัวพระฤๅษีถ้าเอาหนังเสือมาทำจะขลัง และมีคาถาป้องกันตัว โดยนายหนังมีความเชื่อว่าก่อนเล่นจะต้องบริกรรมคาถาให้ท่านมาป้องกันตัวเวลาเล่น
หนังตะลุงจัดเรียงตามลำดับการเล่นและความสำคัญจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
หนังตะลุงตัวตลก ลงแค่สีดำเท่านั้น
ขนาดหรือตัวหนังตะลุงก็มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและเทคโนโลยีเช่นกัน เช่น หนังตะลุงในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีขนาดเล็กไม่เกินศอกของคนเชิด และมีลักษณะหัวโตตัวเล็ก เพราะในยุคนั้นเป็นการเล่นโดยใช้แสงจากตะเกียงเจ้าพายุที่วางไว้กับพื้นหน้าจอ ทำให้เงาส่วนล่างจะขยายไปพอดีกับหัวบนจอ อีกทั้งนายหนังหรือคนเล่นหนังก็มีเพียงคนเดียว การเชิดหุ่นตัวเล็กๆ สามารถทำได้ต่อเนื่อง ขนาดโรงเล่นเองก็มีขนาดไม่เกินวาหรือความยาวสุดแขนของผู้เล่น อีกทั้งยังต้องคอยระวังการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบ ไม่ให้เห็นแสงไฟจากด้านล่างอีกด้วย
ยุคต่อมาเมื่อมีเครื่องปั่นไฟและหลอดไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องขยายเสียง ตัวหนังตะลุงจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับโรงหนังตะลุงที่ขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ทำให้ต้องเพิ่มผู้ช่วยในการเชิดหนังตะลุง ส่วนเครื่องดนตรีหลักๆ ที่สำคัญของการแสดงหนังตะลุงคือดนตรี เรียกว่า “เครื่อง 5” เป็นเครื่องดนตรีทั้งหมด 5 ชิ้น ได้แก่ ฉิ่ง โหม่ง ทับ ปี่ กลอง ช่วงหลังมีซออู้และซอด้วงเพิ่มเข้าไป ยุคปัจจุบันมีวงปี่พาทย์และเครื่องดนตรีสากล เช่น ออร์แกน เพิ่มเข้ามา เนื่องจากปัจจุบันนิยมร้องเพลงเหมือนวงดนตรีลูกทุ่ง แต่คณะนายหนังสุชาติยังคงอนุรักษ์การใช้ดนตรีเครื่อง 5 แบบดั้งเดิมไว้ โดยไม่นำเครื่องดนตรีอื่นมาผสมตามยุคตามสมัยแบบที่ถูกใจผู้ชม
ตัวหนังตะลุงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาดตัวไม่เกินศอก มีลักษณะหัวใหญ่ตัวเล็ก
หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสาน
ปัจจุบันลูกหลานของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ยังคงช่วยกันรักษาและสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณพ่อไว้ ด้วยการเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลให้ผู้สนใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างหนังตะลุงได้เข้าเยี่ยมชมและสามารถจัดเวิร์กชอปให้แก่ผู้สนใจที่อยากลองลงมือทำหนังตะลุงด้วยตัวเอง
“เข้ามาที่พิพิธภัณฑ์ได้เลย ทุกคนในบ้านมีความรู้เกี่ยวกับหนังตะลุงทั้งหมด สามารถจัดเวิร์กชอปให้ได้ เพียงแต่ต้องแจ้งล่วงหน้า เราทำพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล แล้วบ้านเราดูแลเองหมด จริงๆ ที่เรารักษาไว้เพราะว่าพ่อได้คำมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า หนังสุชาติขอบใจนะ ที่รักษาของเก่าไว้ให้ พยายามอย่าหวงวิชา พยายามถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ รักษาวัฒนธรรมรักษาชาติ ท่านตรัสกับพ่อแล้วพ่อมาพูดกับเรา เราก็พยายามทำตามที่พ่ออยากจะทำ พอเราเห็นว่าที่พ่อทำกว่าจะได้ขนาดนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสามารถทำตรงนี้ให้คนรู้จักไปทั่วโลก เราแค่มาสานต่อที่ท่านทำไว้ ศิลปินแห่งชาติท่านอื่นที่พอหมดรุ่นก็อาจไม่มีใครรักษาก็จบแค่นั้นใช่ไหม บางคนมีชื่อเสียงพอลูกไม่เอาก็จบ แต่ของเราพยายามให้ตรงนี้ยังอยู่เหมือนกับตอนที่พ่อยังอยู่ แค่นี้ครับ” คุณเสนีย์กล่าวถึงงานการสืบสานต่อจากคุณพ่อ
หากใครต้องการศึกษาเรื่องราวของหนังตะลุง ทั้งประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ การเล่น การทำหนัง ที่พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ได้เก็บรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับหนังตะลุงไว้อย่างงดงาม เป็นแหล่งที่เหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวมาเลเซียเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อถ่ายรูปและมีการแต่งกายแบบโบราณ เพราะถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยยังไม่เคยจัดการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ควรนำไปต่อยอดและสร้างสรรค์ให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่รองรับนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มที่จะเข้ามา ท่านใดสนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สินได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 17.00 น.
(หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดเก็บข้อมูลทักษะและเรื่องเล่าท้องถิ่น เพื่อสร้างแนวทางการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะสู่นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน))