จากสวนลิ้นจี่ถึงทับหลัง มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น
แวดวงเสวนา

จากสวนลิ้นจี่ถึงทับหลัง มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

จากสวนลิ้นจี่ถึงทับหลัง มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น  เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพิพิธเสวนาที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมให้แก่สังคมในวงกว้าง เพื่อเชิญชวนให้ทำความเข้าใจมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีหลากหลายรูปแบบ และเป็นการเปิดตัวคอลัมน์ “มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งติดตามได้ในวารสารเมืองโบราณตั้งแต่ฉบับที่ 46.3 เป็นต้นไป งานนี้ได้รับเกียรติจากคุณพรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของสวน "ภูมิใจการ์เด้น" สวนลิ้นจี่ 100 ปีแห่งย่านบางขุนเทียน และ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้กระตุ้นสำนึกให้เกิดการทวงสมบัติชาติคืนมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการจัดการมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีคุณสุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน

 

ก่อนการพูดคุยร่วมชมวิดีทัศน์จากอาจารย์ศรีศักรวัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิฯ ซึ่งเกริ่นนำถึงการใช้คำว่ามรดกทางสังคม(Social Heritage) แทนการใช้มรดกวัฒนธรรม (Cultural Heritage) เพื่อเน้นย้ำว่ามรดกวัฒนธรรมนั้นมีบริบททางสังคมที่คนในสังคมท้องถิ่นเป็นเจ้าของ หลายกรณีพบปัญหาว่ามรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ถูกจัดการโดยวัดหรือหน่วยงานราชการ เช่น กรมศิลปากร โดยที่ผู้คนในท้องถิ่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัดเจนว่าท้องถิ่นมีสิทธิอนุรักษ์และจัดการมรดกวัฒนธรรมของตนเอง อีกทั้งที่ผ่านมาเห็นว่าผู้คนในท้องถิ่นมีความรัก ความสนใจ และความตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมว่าใครหรือหน่วยงานใดควรเป็นผู้ดูแลจัดการ

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา 

 

ดร. ทนงศักดิ์เริ่มด้วยความเห็นที่สอดคล้องกับอาจารย์ศรีศักรว่า ท้องถิ่นมีสิทธิในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของตนเอง โดยที่ผ่านมาพบเห็นในหลายกรณีที่โบราณวัตถุถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสในการรับรู้ข้อมูลและขาดโอกาสที่จะสร้างการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น เมื่อโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งๆ หายไปจากโบราณสถาน เช่น ทับหลัง เทวรูป ทำให้ไม่สามารถอธิบายภาพรวมของโบราณสถาน เพราะฉะนั้นการทวงคืนโบราณวัตถุที่หายไปกลับคืนสู่ท้องถิ่นจึงมีความหมายความสำคัญ หรือหากจำเป็นต้องนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็มีแนวทางการอนุรักษ์ด้วยการจำลองโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ คืนสู่ท้องถิ่น

 

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

 

ดร.ทนงศักดิ์ได้เล่าถึงกรณีศึกษาความเป็นมาและแนวทางการดำเนินงานเพื่อทวงคืนโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทยและปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์เอกชนในต่างประเทศ อาทิ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริดและพระพุทธรูปสำริดจากปราสาทปลายบัด 2 ทับหลังที่ปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว มีการรวมกลุ่มในนามกลุ่มสำนึก 300 องค์ โดยมีจุดเริ่มต้นเพื่อทวงคืนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด มีการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลหลักฐานในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าทางพิพิธภัณฑ์นั้นได้โบราณวัตถุไปครอบครองอย่างไม่ถูกต้อง และเป็นโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปจากประเทศไทยซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในท้องถิ่น และใช้เวลาในการลงพื้นที่หลายครั้งกว่าจะได้รับความไว้วางใจและเห็นถึงความสำคัญ ซึ่งนำมาสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความร่วมมือ

 

ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในโบราณวัตถุที่อยู่ในการดำเนินงานติดตามทวงคืนจากต่างประเทศ 

(ที่มา : ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์) 

 

จากข้อมูลที่ได้จากท้องถิ่น ภาพถ่ายและเอกสารโดยนักวิชาการ เมื่อดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลส่งให้กรมศิลปากรแล้ว กลุ่มสำนึก 300 องค์เสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงาน โดยมีการตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการวิชาการติดตามโบราณวัตถุไทยจากต่างแดนซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ กรมศิลปากร กระทรวงการต่างประเทศ การดำเนินงานในการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุจากการลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มสำนึก 300 องค์ ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2554 สู่การรวบรวมข้อมูลเสนอกรมศิลปากรราวปี พ.ศ. 2559-2560 และเข้าสู่กระบวนการด้านกฎหมายซึ่งคาดว่าราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 จะได้ทับหลังที่หายไปจากปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้นคืนสู่ประเทศไทย

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา 

 

จากกรณีการจัดการมรดกวัฒนธรรมที่เป็นการทวงคืนสมบัติชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของบุคคลหลายฝ่าย อีกด้านหนึ่งการจัดการมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งดำเนินการโดยปัจเจกบุคคลดังเช่นกรณีของคุณพรทิพย์ก็มีความน่าสนใจและต้องฟันฝ่าอุปสรรคในการดำเนินงานไม่แพ้กัน

 

คุณพรทิพย์ เทียนทรัพย์

 

คุณพรทิพย์เล่าว่าจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงพื้นที่สวนเก่าแก่ของบ้านจนเกิดเป็น “ภูมิใจการ์เด้น” ดังที่เห็นในปัจจุบันนั้น มีที่มาจากเรื่องราวภายในของตนเองซึ่งด้านหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทในเมือง แต่อีกด้านก็เป็นวิถีของชาวสวนบางขุนเทียนที่ชีวิตประจำวันคุ้นเคยกับผักผลไม้จากสวน ซึ่งเปรียบเสมือนมีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ในบ้าน รวมถึงการซึมซับบรรยากาศแม่น้ำลำคลอง การเดินทางด้วยเรือ และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนละแวกบ้าน ทำให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองมี ขณะที่หลายปัจจัยทำให้สวนแห่งอื่นๆ ล่มสลาย เช่นสภาพดินน้ำอากาศที่ทำให้ผลผลิตจากสวนไม่ออกดอกออกผล สภาพความเป็นเมืองที่รุกไล่ ทำให้ที่ดินมีราคาสูง ชาวสวนส่วนใหญ่จึงขายที่ดินและย้ายออกกระทั่งบางพื้นที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมแออัด แต่คุณพรทิพย์กลับมีเป้าหมายที่จะรักษาสวนลิ้นจี่ที่บรรพบุรุษได้สร้างทิ้งไว้ให้ รวมถึงได้ทำการฟื้นฟู ดูแล ต่อยอด ซึ่งนับจากจุดเริ่มได้ใช้เวลากว่า 14 ปี ในการดำเนินการ ทั้งการซื้อที่ดินในละแวกใกล้เคียงเพื่อขยายพื้นที่สวน เก็บขยะปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมกระทั่งกลายเป็นภูมิใจการ์เด้นในวันนี้ที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องวิถีชาวสวนและเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจ

 

คุณพรทิพย์และครอบครัว ผู้มีบทบาทในการปรับปรุงพื้นที่สวนเก่าแก่ของบ้านจนเกิดเป็น “ภูมิใจการ์เด้น”

(ที่มา : คุณพรทิพย์ เทียนทรัพย์) 

 

คุณพรทิพย์ยังเล่าถึงตัวอย่างผลตอบแทนความภาคภูมิใจที่ได้รับ เช่น ลิ้นจี่บางขุนเทียนจากภูมิใจการ์เด้นได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนตามโครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และได้รับคัดเลือกให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ประจำปี 2560 คุณพรทิพย์เน้นย้ำว่าต้องเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามี นอกจากนี้เมื่อโลกเปลี่ยนต้องรู้จักปรับตัว ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

จากนั้นคุณสุดาราได้เชิญชวนวิทยากรแลกเปลี่ยนในประเด็นอุปสรรคสำคัญในการจัดการมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น สำหรับกรณีการทวงคืนโบราณวัตถุกลับสู่ประเทศไทย ดร.ทนงศักดิ์ให้ความเห็นว่าพบอุปสรรคสำคัญใน 2 ขั้นตอนคือ หนึ่งชุมชนไม่ไว้วางใจ ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเกรงปัญหาคดีความจากการเข้าไปลักลอบขุดของเก่าเมื่อครั้งอดีต ต้องใช้เวลามากในการสร้างความไว้วางใจ สร้างความเข้าใจให้ชุมชนเห็นความสำคัญเพื่อให้เกิดความหวงแหนสิ่งที่เป็นมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่นตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก สิ่งสำคัญคือต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบขุด ขโมย หรือขายโบราณวัตถุ สองเรื่องระบบระเบียบในการสืบค้นข้อมูลจากหน่วยงานราชการซึ่งยุ่งยากและใช้เวลามาก นอกจากนี้เมื่อโบราณวัตถุได้รับการส่งกลับคืนแล้ว ในอนาคตจะมีกระบวนการจัดการอย่างไรต่อไป ขั้นตอนการดูแลรักษา รวมถึงจะส่งเสริมให้เกิดการใช้มรดกวัฒนธรรมเหล่านี้ในการสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันขบคิด

 

โบราณวัตถุจากปราสาทปลายบัด ๒ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 

(ที่มา : ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์) 

 

ด้านคุณพรทิพย์เสริมให้เห็นถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรท้องถิ่นดังที่ภูมิใจการ์เด้นได้ดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบในสวน ทำให้ขายได้ ทันสมัย และนำเสนอสู่สาธารณะให้น่าสนใจ ต้องใช้ทั้งเรื่องการตลาด (Marketing) การสร้างตราสินค้า (Branding) และการหาเครือข่าย (Connection) ที่ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองรวมถึงสร้างงานโดยดึงคนโดยรอบพื้นที่เข้ามาร่วมพัฒนา เป็นแรงงานในการขับเคลื่อนอันนำไปสู่ความร่วมมือในชุมชนท้องถิ่น

 

ยังมีสาระและประเด็นที่เกี่ยวกับความตื่นตัวและการขับเคลื่อนในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมโดยชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้อีกมาก ซึ่งสามารถติดตามได้จาก “มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น” คอลัมน์ใหม่ในวารสารเมืองโบราณ หรือกิจกรรมพิพิธเสวนาในครั้งต่อๆ ไป

 


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ