‘โคม’ สันกำแพง ตามสมัยนิยม

‘โคม’ สันกำแพง ตามสมัยนิยม

 

การแขวนโคมตามบ้านของชาวล้านนามีมาแต่ในอดีต เนื่องมาจากสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันนั้น มีการใช้โคมไฟแขวนไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน ซึ่งส่วนใหญ่ชาวล้านนาใช้โคมไฟเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในงานเทศกาลยี่เป็ง (ลอยกระทง) ตามวัดวาอารามจะแขวนโคมไฟประดับมากมาย ด้วยเชื่อว่าถวายเป็นพุทธบูชา ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในบางจังหวัดเกิดเป็นประเพณีของเมืองก็มี เช่น ประเพณีโคมแขวนของจังหวัดลำพูน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดียวกับเทศกาลลอยกระทง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าผู้ที่นำโคมไฟ นำเทียนถวายวัดเป็นพุทธบูชา ในอนาคตชาติจะมีแสงสว่างนำทางชีวิต มีสติปัญญาดี ซึ่งในอดีตการถวายโคมส่วนใหญ่จะเป็นการถวายของเจ้านายหรือคหบดีที่มีฐานะ ประกอบด้วยตัวโคมและประทีปที่ใช้ในการจุดให้แสงสว่าง ทำจากเทียนหยอดใส่ถ้วยหรือภาชนะดินเผา เมื่อจุดแล้วนำไปวางไว้ในโคมได้ ทางเหนือนิยมใช้ผาง (กระถาง) ที่เรียกว่า ผางประทีป หยอดเทียนพร้อมไส้ หรือเป็นผางน้ำมันมีไส้ จุดแล้ววางไว้ในโคม

 

โดยทั่วไปโคมมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท โดยแต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างกันไป โคมถือหรือโคมหูกระต่าย ส่วนใหญ่ใช้กันในงานยี่เป็ง  โคมลอยเป็นเครื่องไฟที่ใช้จุดลอยขึ้นไปในอากาศตามความเชื่อคือ เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี พระเจดีย์องค์สำคัญตามความเชื่อล้านนาเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดที่สถิตบนสรวงสวรรค์ จุดประสงค์ที่ 2 เพื่อลอยเคราะห์กรรมของเจ้าของออกไป เหมือนการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา นิยมลอยกันโดยทั่วไป  โคมแขวนเป็นโคมที่ทำขึ้นเพื่อบูชาพระ มีหลายรูปทรงด้วยกัน นอกจากนี้โคมแขวนยังมีการจำแนกเป็นโคมธรรมจักรที่ใช้ในวันยี่เป็ง หรือแขวนในวันที่มีการตั้งธรรมมหาชาติเวสสันดรชาดก มักแขวนในโบสถ์ วิหารหรือศาลา หรือแขวนในบ้านเพื่อเป็นการบูชาเทพารักษ์ก็ได้ และโคมแขวนทั่วไปที่ใช้แขวนตามหลักเสาหรือคานไม้ เพื่อความสวยงามเป็นหลัก โดยผู้ทำมีทั้งที่เป็นพระภิกษุและชาวบ้านทั่วไป บ้างทำเพื่อแข่งขันกันว่าใครจะทำได้สวยงามกว่ากัน

 

โคมประเภทสุดท้ายคือโคมผัดหรือโคมเวียนที่มีการเขียนภาพไว้ที่ตัวโคม เมื่อจุดไฟด้านใน ภาพที่เขียนไว้บนตัวโคมจะสะท้อนไปกระทบกับผนังหรือเป็นเงาบนพื้น ส่วนใหญ่นิยมวาดเป็นรูปปี 12 นักษัตรล้านนา เมื่อจุดไฟด้านใน ความร้อนจะทำให้ตัวโคมลอยสูงขึ้นได้ แต่ไม่เหมือนโคมลอยที่เป็นการปล่อยให้ลอยออกไปเหมือนลอยทิ้ง ถือได้ว่าโคมผัดนั้นเป็นโคมที่จะต้องใช้ความประณีตในการทำมาก เพราะต้องอวดทั้งฝีมือช่างวาดภาพและเทคนิคในการทำให้ลอยได้ เทศกาลต่างๆ ที่มีการลอยโคมหรือประดับโคมถือเป็นงานประเพณีอวดความสวยงามและอวดฝีมือเชิงช่างของชาวล้านนาอีกวาระหนึ่ง

 

เมื่อเชียงใหม่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ในงานเทศกาลสำคัญ เช่น งานสงกรานต์ งานยี่เป็ง งานปีใหม่ เมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมามีการนำโคมแขวนมาประดับตกแต่งสถานที่ให้มีความน่าสนใจและแปลกตาไปจากงานที่เคยจัดกันในอดีต โคมแขวนจึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญที่ถูกหยิบมาใช้ได้อย่างไม่เคอะเขิน เนื่องจากแต่เดิมนิยมนำโคมแขวนมาถวายวัดหรือประดับประดาสถานที่ต่างๆ ในวัดกันอยู่แล้ว แต่มิได้ใช้จำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน ในฐานะที่สันกำแพงเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ โคมแขวน โคมประดับ และโคมลอยถูกผลิตขึ้นจำนวนมาก เพื่อสนองตอบความต้องการของนักท่องเที่ยว จึงเกิดหมู่บ้านหรือย่านชุมชนที่ผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว อย่างเช่นบ้านหนองโค้ง อำเภอสันกำแพง หากเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมจะเห็นว่าแต่ละบ้านแขวนโคมประดับสีสันต่างๆ หลากหลายรูปแบบไว้ตามชายคา หรือแม้แต่ภายในบ้านก็มีโคมแขวนไว้มากมาย หากเข้าไปสอบถามตามบ้านก็จะได้ความว่าในชุมชนนี้เป็นแหล่งทำโคมแขวน โคมประดับ และโคมลอยจำหน่าย

 

คุณลุงบุญตัน จันทะวงศ์ ช่างทำโคมลอยบ้านมอญ ต.สันกลาง

 

กระดาษทิชชูชุบขี้ผึ้งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโคมลอย

 

ในเมืองสันกำแพงมีแหล่งผลิตโคมที่รู้จักกันอยู่  2 แห่ง คือ ชุมชนบ้านมอญ ตำบลสันกลาง ที่บ้านสันกลางมีการผลิตโคมลอย ส่วนในหมู่บ้านหนองโค้ง ตำบลต้นเปา เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในการผลิตโคมประดับ โคมแขวน แต่ก็มีการผลิตโคมลอยด้วยเช่นกัน ที่บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง มีช่างทำโคมลอยหรือโคมไฟคือ คุณลุงบุญตัน จันทะวงศ์ อายุ 80 ปี และคุณป้าวันนา จันทะวงศ์ อายุ 75 ปี ทั้งสองท่านมีอาชีพรับผลิตโคมลอยมานานแล้ว ลุงบุญตันเล่าว่าเดิมบริเวณบ้านมอญเป็นทุ่งนา ตนเองมีอาชีพทำนาข้าวเป็นหลัก ต่อมาได้เรียนวิชาการทำโคมลอยจาก “หนานน้อย” ซึ่งเป็นผู้ทำโคมลอยส่งขายมาก่อน

 

คุณป้าวันนา จันทะวงศ์ กำลังติดปากโคมซึ่งทำด้วยไม้ไผ่

 

วัสดุที่ใช้ทำโคมลอยเป็นกระดาษว่าวแผ่นบางๆ นำมาต่อกัน มีหลายขนาด เช่น แบบที่ใช้กระดาษแผ่นเล็ก 7 แผ่นต่อกัน ขนาดปากโคมกว้างราว 26 นิ้ว สูง 35-36 นิ้ว ปากโคมทำด้วยไม้ไผ่เหลาแล้วขดเป็นวงกลม นำมาติดกับกระดาษเพื่อให้โคมขึ้นเป็นทรง แล้วนำลวด 2 เส้นมายึดกับปากโคม โดยทำเป็นรูปกากบาทสำหรับเป็นที่ติดไส้ขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้โคมลอยได้ ปัจจุบันไส้ขี้ผึ้งทำจากกระดาษทิชชู โดยนำกระดาษทิชชูแบบม้วนมาตัดตามแนวขวางให้เป็นแว่นแล้วนำไปชุบขี้ผึ้งที่ต้มจนเหลว การทำโคมลอยแบบนี้ดูเหมือนว่าไม่มีขั้นตอนซับซ้อน แต่ลุงตันบอกว่าต้องใช้ความเพียรพยายามและความพิถีพิถัน เพราะถ้าติดกระดาษเบี้ยวหรือไม่เสมอกัน โคมจะลอยไม่ดี แกว่งไปมา อาจทำให้เกิดอันตรายถ้าตกก่อนที่ไฟจะดับ โคมลอยแบบนี้เป็นที่นิยมในช่วงราว 20 ปีมานี้ เนื่องมาจากกระแสการท่องเที่ยว เช่นในงานประเพณียี่เป็ง เพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือในงานขึ้นบ้านใหม่ พิธีเปิดสถานที่ต่างๆ ก็นิยมจุดโคมลอย รวมถึงในงานศพก็มีการจุดโคมลอยเช่นกัน เชื่อกันว่าเพื่อส่งดวงวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ โดยจะปล่อยโคมลอยจำนวนเท่ากับอายุของผู้เสียชีวิต ปัจจุบันการปล่อยโคมลอยมีกฎหมายควบคุมที่เคร่งครัดมากขึ้น ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ลุงบุญตันแสดงความเห็นว่าโคมที่ผลิตในสมัยหลังๆ ที่ทำเป็นโคมปากเล็กค่อนข้างอันตราย เพราะกระดาษอยู่ใกล้กับเชื้อเพลิงมากเกินไป อาจทำให้โคมไหม้แล้วตกใส่บ้านเรือนหรือสายไฟฟ้าได้

 

โคมประดับทรงเงี้ยวที่ได้แรงบันดาลใจจากโคมที่พบเห็นได้ในงานของขาวไทใหญ่

 

จากการพูดคุยกับชาวบ้านหนองโค้งที่ทำอาชีพประดิษฐ์โคมแขวนหรือโคมประดับขาย ทำให้ทราบว่าเริ่มหันมาทำโคมประดับขายจนเป็นที่รู้จักเมื่อราว 10 ปีนี้เอง ป้าภาหรือคุณรัตนา กาวิอิ่น วัย 63 ปี เล่าให้ฟังว่าเมื่อราว 50 ปีก่อน ชาวบ้านหนองโค้งเป็นช่างแกะสลักไม้ สมัยป้าภาอายุราว 15-16 ปี มีโอกาสไปเรียนแกะสลักไม้กับครูที่เป็นช่างแกะสลักในสันกำแพง ซึ่งระหว่างเรียนได้รับค่าตอบแทนที่เรียกว่า “ค่าข้าว”  เป็นรายวัน เมื่อเรียนแกะสลักจนมีความชำนาญแล้ว จึงทำงานแกะสลักให้กับครูผู้เป็นคนสอนวิชาให้ หลังจากนั้นจึงย้ายไปแกะสลักไม้ให้กับร้านที่มีโรงงานแกะสลักไม้เป็นของตัวเองอีกหลายแห่ง งานแกะสลักที่ว่ามีทั้งแกะสลักเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่และเป็นงานไม้ชิ้นเล็ก ต่อมาเมื่อทางราชการออกกฎหมายควบคุมเรื่องการทำป่าไม้และการทำอุตสาหกรรมไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ธุรกิจเกี่ยวกับการแกะสลักไม้สักทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ จากร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้สักขนาดใหญ่ก็มีขนาดเล็กลง บรรดาช่างแกะสลักประจำโรงงานหรือกลุ่มที่รับงานมาแกะที่บ้านในบ้านหนองโค้งและหมู่บ้านอื่นๆ ต้องหาทางรอดด้วยการเปลี่ยนอาชีพ หรือรับงานแกะสลักไม้ที่ไม่ผิดกฎหมาย อย่างไม้ฉำฉาหรือไม้เนื้ออ่อนอื่นๆ ซึ่งบ้านของป้าภาก็ต้องขยับขยายไปสู่อาชีพอื่นเช่นเดียวกัน

 

คุณรัตนา  กาวิอิ่น (ป้าภา) ชาวบ้านหนองโค้ง ผู้ผลิตและจำหน่ายโคมลอยและโคมประดับในเมืองสันกำแพง

 

ราวปี พ.ศ. 2550 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรของบ้านหนองโค้งได้ริเริ่มประดิษฐ์โคมประดับจำหน่าย เพราะเห็นว่ากำลังเป็นที่สนใจและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากในช่วงที่มีการจัดงานพืชสวนโลกระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 ผู้จัดได้นำโคมแขวนไปใช้ในการตกแต่งบริเวณงานจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความนิยมซื้อหาโคมแขวนไปประดับบ้านหรือร้านค้า กลุ่มแม่บ้านฯ จึงได้รวมตัวกันเสนอเป็นโครงการให้เทศบาลตำบลต้นเปาช่วยหาครูมาสอนทำโคมประดับ นับตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านหนองโค้งที่เคยยึดอาชีพช่างแกะสลักไม้ก็หันเหอาชีพมาสู่การทำโคมประดับจำหน่ายกันมากขึ้น ประกอบกับกระแสนิยมการถ่ายรูปกับโคมหรือการจัดตกแต่งสถานที่ด้วยโคมประดับได้กระจายออกไปเป็นวงกว้าง ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

 

โคมประดับจิ๋วถอดแบบจากโคมประดับที่ทำขายในปัจจุบัน

โดยคุณอุบลวรรณ กาวิอิ่น ได้ทดลองประดิษฐ์และนำออกจำหน่ายทางออนไลน์

 

ป้าภาและเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเริ่มทำโคมแขวนหรือโคมประดับที่มีรูปทรงหลากหลายออกจำหน่าย ในระยะแรกโคมที่ทำขายคือโคมทรงแปดเหลี่ยม หรือที่เรียกว่าโคมทรงรังมดส้ม ต่อมาได้พัฒนามาผลิตโคมทรงไหและโคมทรงอื่นๆ ตามที่ลูกค้าสั่ง ด้วยความสามารถในการประดิษฐ์โคมได้หลากหลายรูปทรงตามความต้องการของลูกค้า บ้านหนองโค้งจึงกลายเป็นแหล่งผลิตโคมแห่งใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะมีงานเทศกาลใหญ่หรือเล็ก ระดับชุมชนหรือระดับจังหวัด หรือแม้แต่ระดับชาติ นิยมใช้โคมประดับที่ทำจากโครงไม้ไผ่และประดับด้วยผ้าจากบ้านหนองโค้งไปใช้ประดับเพื่อความสวยงาม โดยที่ผลิตและจำหน่ายในหมู่บ้านหนองโค้งมีหลายขนาด ตั้งแต่ 3 นิ้วจนถึง 12 นิ้ว ซึ่งโคมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือโคมขนาด 6 นิ้ว เหมาะกับการนำไปประดับตามสถานที่ต่างๆ หรือเป็นของฝาก เพราะขนาดพอเหมาะและราคาไม่แพง

 

ป้าภากับโคมประดับที่มีผู้สั่งทำจำนวนมาก โคมบ้านหนองโค้งจะใช้ผ้าลูกไม้ประดับให้โดดเด่น 

 

เอกลักษณ์ที่แตกต่างซึ่งเมื่อเห็นแล้วสามารถบอกได้ว่าโคมประดับนี้เป็นฝีมือของชาวบ้านหนองโค้งก็คือ การนำแถบผ้าลูกไม้มาติดประดับที่ตัวโคม ทำให้เกิดความสวยงามวิจิตรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งป้าภาบอกว่าโคมประดับมีแหล่งผลิตใหญ่ในภาคเหนือ 2 แห่ง คือที่บ้านหนองโค้ง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง และบ้านเมืองสารทหลวงในเขตตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยโคมจากบ้านสาตรหลวงจะใช้ผ้าสีล้วนในการตกแต่งโครงของตัวโคม ส่วนเอกลักษณ์ของบ้านหนองโค้งจะใช้ผ้าลูกไม้ประดับตกแต่งโคม ซึ่งหากลูกค้าต้องการสีล้วนหรือการตกแต่งที่ต่างออกไปก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

โครงโคมจิ๋วทำจากไม้ไผ่ ประกอบขึ้นเหมือนโคมขนาดใหญ่ทุกประการ 

 

ป้าภาผู้คร่ำหวอดในวงการผลิตโคมประดับมานับสิบปีได้เล่าถึงความสนใจของตนเองว่า หลังจากทำโคมลอยและโคมประดับเป็นแล้ว การเรียนรู้ของป้าภายังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้เห็นโคมรูปร่างแปลกตา ด้วยความสนใจอยากเรียนรู้ก็จะซื้อมาแล้วแกะดูส่วนประกอบและโครงสร้างของโคม ป้าภาถึงกับใช้คำว่า “มาเละ” คือการแกะทุกชิ้นส่วน เพื่อให้ได้รู้ว่าชิ้นงานที่สนใจมีการทำโครง การเชื่อมต่อกันอย่างไร เผื่อว่าจะได้นำไปทดลองทำบ้าง ความที่ป้าภาเป็นคนใฝ่รู้ สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้มีโคมแบบใหม่ๆ หรือโคมที่มีการตกแต่งสวยๆ ออกมานำเสนอแก่ลูกค้าอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังส่งต่อวิชาให้กับลูกหลานอีกด้วย ลูกสาวของป้าภาคือคุณอุบลวรรณ กาวิอิ่น หรือคุณใหม่ เป็นผู้ที่ได้แรงบันดาลใจจากครอบครัวคนทำโคม จนทดลองทำโคมประดับขนาดเล็กให้เป็นของสะสม โดยจำลองขนาดของโคมประดับที่ผู้เป็นแม่ทำขายให้เล็กลงเหลือเพียง 1 ใน 10 ส่วน หรือมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 5 เซนติเมตร ทั้งโคมทรงรังมดส้ม ทรงไห ทรงเงี้ยว นำมาวางจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ด้วยรูปทรงที่มีขนาดเล็กและสีสันสดใสชวนมอง ทำให้ได้รับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่น้อย

 

ป้าภาสาธิตการติดกระดาษสากับปากโคมลอยซึ่งทำจากไม้ไผ่

 

ปัจจุบันชุมชนวัดหนองโค้ง วัดหนองโค้ง และเทศบาลตำบลต้นเปามีการจัดงานเทศกาลโคมขึ้นในช่วงเดียวกับเทศกาลยี่เป็งของทางภาคเหนือ โดยนำโคมประดับจำนวนมากมาแขวนตกแต่งในหมู่บ้านและบริเวณวัด ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทำให้บ้านหนองโค้งและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในชุมชนยิ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับอย่างดี ซึ่งที่บ้านหนองโค้งนั้นไม่ได้ผลิตแต่โคมประดับเพียงอย่างเดียว แต่ผลิตโคมลอยออกจำหน่ายด้วย แม้ว่าปัจจุบันทางราชการจะจำกัดการลอยโคมมากขึ้น แต่ก็ยังมียอดสั่งทำโคมลอยอยู่เนืองๆ  

 

ขอขอบคุณ คุณบุญตันและคุณวันนา จันทะวงศ์ ชาวบ้านมอญ ตำบลสันกลาง  คุณรัตนาและคุณอุบลวรรณ กาวิอิ่น ชาวบ้านหนองโค้ง  ตำบลต้นเปา

 

(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)      

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ