กลุ่มคนแห่งสายน้ำ ผืนนา และป่าลุ่ม
หนังสือหนังหา

กลุ่มคนแห่งสายน้ำ ผืนนา และป่าลุ่ม

 

 

นครศรีธรรมราช เมืองแห่งพระธาตุ เขาหลวง และนาข้าว...

จากกลุ่มภูเขาหลวงแหล่งต้นน้ำ ลดเลี้ยวลงจากที่สูงเชิงภูเขา

เลื้อยผ่านที่ราบทำนา ลับหายไปในป่าลุ่มชุ่มน้ำ และทะเลไพศาล...

เป็นลำรางเชื่อมโยงผู้คนเข้าสู่เครือข่ายแห่งสายน้ำ

เป็นสัดส่วนแห่งการแบ่งปันทรัพยากร

เป็นสายธารแห่งความเชื่อและศรัทธา

เป็นเส้นทางขึ้นล่องเพื่อถามไถ่ทุกข์สุข แลกเปลี่ยนผลิตผล และค้นหาแหล่งอาหาร

นี่คือที่มาของ “กลุ่มคนแห่งสายน้ำ ผืนนา และป่าลุ่ม

 

หนังสือ "กลุ่มคนแห่งสายน้ำ ผืนนา และป่าลุ่ม"

เลิศชาย ศิริชัย, บรรณาธิการ

กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

พิมพ์ครั้งที่ 1 มกราคม 2554

 

กลุ่มคนแห่งสายน้ำ ผืนนาและป่าลุ่ม ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ เล่ม 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหนังสือรวมบทความจากรายงานวิจัยในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โดยนักเรียนจาก 7 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บทความเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของนักเรียน ครู-อาจารย์ และคนในพื้นที่ ที่ร่วมกันสืบค้นข้อมูล ให้ข้อมูล ทั้งจากการสัมภาษณ์และการสำรวจในพื้นที่ของตนเอง ดังนี้

 

เดือนสามหลามเหนียว : ประเพณีสัมพันธ์ที่บ้านน้ำแคบ

โดย นักเรียนโรงเรียนวัดโทเอก อำเภอพรหมคีรี

เล่าเรื่องประเพณีประจำท้องถิ่นของชุมชนบ้านน้ำแคบคือประเพณีเดือนสามหลามเหนียว ซึ่งจัดขึ้นทุกวันแรม 8 ค่ำเดือน 3 เป็นประเพณีที่ชาวบ้านน้ำแคบได้ปฎิบัติสืบต่อกันมานับร้อยปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดคลองน้ำแคบซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชาวบ้านในอดีต

 

นกกรงหัวจุกกับชาวควนรุย : จากกรงแขวนชายคาถึงลานแข่งเสียง  

โดย นักเรียนโรงเรียนบ้านควนรุย อำเภอร่อนพิบูลย์

บอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหมู่บ้าน นั่นคือการเลี้ยงนกกรงหัวจุก ซึ่งเริ่มต้นจากความรักความชอบของคนรุ่นปู่ย่าที่ส่งผ่านมายังคนรุ่นปัจจุบัน การเลี้ยงนกเพื่อพักผ่อนหย่อนใจพัฒนาไปสู่การประกวดภายในชุมชน ก่อเกิดความผูกพันระหว่างคนกับนก ทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจในหมู่คนเลี้ยงนกด้วยกัน ถือเป็นเสน่ห์ของวิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นอีกด้วย

 

การใช้ที่ดินในการผลิตของชุมชนบ้านป่าพรุจากยุคก่อตั้งถึงปัจจุบัน

โดย นักเรียนโรงเรียนวัดนากัน อำเภอพรหมคีรี

ความเป็นมาของหมู่บ้านป่าพรุถูกเล่าผ่านการใช้ที่ดินนับตั้งแต่ยุคก่อตั้งชุมชนจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวนาที่เคยสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ปัจจุบันพื้นที่นาในหมู่บ้านลดน้อยลงมาก แปรเปลี่ยนเป็นสวนยางพาราสุดลูกหูลูกตา เด็กๆ ได้ร่วมกันสืบค้นประวัติของหมู่บ้านตนเอง เรียนรู้สภาพสังคมและวิถีชาวนาที่เคยเป็นมาในอดีต เพื่อเห็นถึงพลวัตการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

อดีตและปัจจุบันของคลองปาง

โดย นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 6 อำเภอทุ่งสง

“คลองปาง” เป็นลำคลองที่มีต้นน้ำมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช และเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช คลองปางเคยเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญของคนในพื้นที่ ก่อให้เกิดชุมชนบ้านคลองปาง ซึ่งเป็นย่านตลาดการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต

 

การเปลี่ยนแปลงการผลิต จากดอนภาษีถึงบางดี  

โดย นักเรียนโรงเรียนวัดขรัวช่วย อำเภอสิชล

เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านดอนภาษีและบ้านบางดี ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงการคมนาคมในพื้นที่ ในอดีตคนอำเภอสิชลใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก โดยอาศัยลำน้ำที่อยู่ทางตอนในของพื้นที่เพื่อออกสู่ชายทะเลอ่าวไทย บ้านดอนภาษีเป็นหนึ่งในชุมชนตอนในของอำเภอสิชลที่เจริญขึ้นเพราะเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดย่อมๆ ระหว่างหมู่บ้านที่อยู่ทางตอนในกับหมู่บ้านริมชายฝั่งทะเลซึ่งสัมพันธ์กันด้วยเส้นทางน้ำ ต่อมาเมื่อการคมนาคมเปลี่ยนมาใช้ถนน ผู้คนเดินทางด้วยเรือน้อยลง ส่งผลให้ชุมชนบางดีซึ่งอยู่ใกล้ถนนมากกว่าเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านดอนภาษีที่อยู่ไม่ไกลกันจึงเริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาเชื่อมสัมพันธ์กับชาวบ้านบางดีจนถึงปัจจุบัน    

 

ลาดชะอวด : จากตลาดท่าเสม็ดถึงตลาดเทศบาล

โดย นักเรียนโรงเรียนชะอวดวิทยาคาร อำเภอชะอวด

บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตลาดการค้าในอำเภอชะอวด จากตลาดท่าเสม็ดถึงตลาดเทศบาลในปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดชะอวดกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่จวบจนปัจจุบัน

 

กระจูดกับการผลิตของคนเคร็ง : จากยุคใช้สอยสู่ยุคสินค้าโอทอป

โดย นักเรียนโรงเรียนชะอวดเคร่งธรรมวิทยา อำเภอชะอวด 

การใช้ต้นกระจูดทำเครื่องจักสานเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของชาวบ้านเคร็ง ต้นกระจูดพบอยู่โดยทั่วไปในบริเวณป่าพรุควนเคร็งและตามที่นาของชาวบ้าน จากการผลิตเพื่อใช้สอยในครัวเรือนได้พัฒนาสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายจนกลายเป็นสินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อ โดยเฉพาะในช่วงการส่งเสริมในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนและทำให้คนภายนอกรู้จักหมู่บ้านเคร็งมากยิ่งขึ้น

 

ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ในหอสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (https://koha.library.tu.ac.th/punsarn/opac/main/)  สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร (http://www.l.su.ac.th/) หอสมุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (http://opac.library.mju.ac.th/) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ (http://www.lib.tsu.ac.th/)  เป็นต้น   

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ