ล่องรอยราชดำเนิน

ล่องรอยราชดำเนิน

 

121 ปีของถนนเส้นนี้ไม่ได้มีเพียงอิฐหินทางยาวหรือแนวต้นมะฮอกกานีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่สำแดงความคิด “ทันสมัย” และ “ล้ำสมัย” ที่ท้าทายกรอบดั้งเดิม ครั้งแล้วครั้งเล่า…

 

มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ จัดนิทรรศการ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย” เพื่อบอกเล่าความยิ่งใหญ่ของถนนราชดำเนินที่ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามหรือขนาดพื้นที่ทางกายภาพ หากแต่เป็นร่องรอยความทรงจำที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อถนนสายนี้ และที่น่าสนใจคือกระบวนการสร้างสรรค์นิทรรศการที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับกลุ่มภัณฑารักษ์วัยเก๋า ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ได้รับคัดเลือกมาอบรมปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์เพื่อเรียนรู้ทักษะการเป็นภัณฑารักษ์และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความทรงจำเกี่ยวกับถนนราชดำเนิน นำมาสู่การพัฒนาเป็นเนื้อหาจัดแสดงที่จะพาผู้ชม ล่อง ไปตาม รอย ความทรงจำที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินในหลายแง่มุม

 

นิทรรศการ "ล่องรอยราชดำเนิน" (Traces of Ratchadamnoen) ที่มิวเซียมสยาม 

 

สูจิบัตรนิรรศการสำหรับผู้เข้าชม 

 

สิ่งของ ร่องรอย ความทรงจำ

 

อะไรคือความยิ่งใหญ่ของถนนราชดำเนิน?

ถนนราชดำเนินเป็นอะไรสำหรับคุณ ?

เป็นคำถามที่นิทรรศการล่องรอยราชดำเนินสะกิดให้เราย้อนระลึกถึงความทรงจำและการรับรู้ที่มีต่อถนนสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งต่างคน ต่างวัย ต่างประสบการณ์ ย่อมมีเรื่องเล่าหรือภาพจำในแบบฉบับของตัวเอง เช่นเดียวกับเรื่องราวของหลากหลายผู้คนที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการนี้…

 

นิทรรศการเริ่มต้นด้วยการนำเสนอ Timeline ทำ’ไร ราชดำเนิน 121 ปี สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน ซึ่งเปรียบเสมือนเวทีแห่งการปะทะ-ประชันทางความคิด สะท้อนผ่านเหตุการณ์สำคัญ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการช่วงชิงความหมายของพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา จุดเริ่มต้นของถนนราชดำเนินเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตเมื่อ พ.ศ. 2441 ต่อมาใน พ.ศ. 2442 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนราชดำเนินขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต ช่วงเวลา 121 ปีที่ผ่านมา ถนนราชดำเนินได้ผ่านเรื่องราวมากมายทั้งรื่นรมย์และขมขื่น หลายเรื่องเป็นที่จดจำ หลายเรื่องถูกลบลืม และยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เคยถูกบอกเล่า

 

ถนนราชดำเนิน เวทีแห่งการประชันทางความคิด 

 

ในนิทรรศการนี้ได้หยิบยกสถานที่สำคัญที่เป็นหมุดหมายบนถนนราชดำเนินมาเล่าเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ผ่านเข้ามาประทับร่องรอยไว้ในพื้นที่แห่งนี้ โดยนำเสนอผ่านวัตถุสิ่งของที่บรรจุความรู้สึกและความทรงจำ ซึ่งจะเห็นถึงความคิดที่แตกต่างหลากหลายและเรื่องราวที่ทับซ้อนกันในหลายมิติและช่วงเวลา สิ่งของต่างๆ นั้นส่วนหนึ่งเปิดรับจากบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วมบอกเล่าเรื่องราว การจัดลำดับเนื้อหาเป็นไปตามตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ บนถนนราชดำเนิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินนอก โดยเริ่มต้นที่จุดกำเนิดถนนราชดำเนินที่พระราชวังดุสิต ถนนราชดำเนินนอก ซึ่งในส่วนนี้จัดแสดงสิ่งของแทนความทรงจำของผู้คนที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถัดมาเป็นวังปารุสกวัน เล่าผ่านเรื่องราวในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

 

หนังสือ “เกิดวังปารุสก์” พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หนึ่งในรอยความทรงจำบนถนนราชดำเนิน 

 

กระโปรงสีพีระหรือสีฟ้าสด มีที่มาจากสีรถแข่งของพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชหรือเจ้าดาราทอง ซึ่งเคยมาแล่นรถโชว์บนถนนราชดำเนิน

 

สนามหมวยราชดำเนินมีความสำคัญทั้งในด้านกีฬาและการท่องเที่ยว เวทีมวยราชดำเนินถือเป็นตัวกำหนดมาตรฐานให้กับกีฬามวยในประเทศไทย นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ เมื่อนักมวยจำนวนมากเป็นกลุ่มคนยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษาที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ บนสังเวียนนักสู้ ส่วนสะพานมัฆวานรังสรรค์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ก็เป็นอีกจุดที่ร้อนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตั้งแต่ยุค 2500 เช่นเดียวกับ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เป็นมรดกยุคสงครามเย็น 

 

เวทีมวยราชดำเนินถือเป็นตัวกำหนดมาตรฐานให้กับกีฬามวยในประเทศไทย

 

สะพานมัฆวานรังสรรค์กับความร้อนแรงทางการเมืองยุค 2500 

 

ผ้าเช็ดหน้าหาเสียงพรรคเสรีมนังคศิลาในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่มาของข้อกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก

 

วัดปรินายกได้รับผลกระทบจากโครงการตัดถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 จนต้องกำหนดผังวัดใหม่ ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาถนนราชดำเนินในสมัยต่างๆ ที่สำคัญคือการรื้อโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยกับชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นผลจากแผนการปรับภูมิทัศน์ที่เป็นการกำหนดคุณค่าโดยรัฐ

 

รัฐบาลมีมติให้รื้อถอนอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. 2532 

 

เศษชิ้นส่วนม่านโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย

 

เศษผ้าม่านสีแดงประดับเลื่อมรูปดาวสีทองที่ครั้งหนึ่งเคยติดตั้งอยู่ที่หน้าจอหนังภายในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเป็นหนึ่งในร่องรอยความทรงจำที่ถูกเลือกมาจัดแสดง คุณโดม สุขวงศ์ ผู้มีบทบาทในงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นผู้เก็บเศษของผ้าม่านผืนนี้ไว้เมื่อครั้งรัฐบาลมีมติให้รื้อถอนศาลาเฉลิมไทยเมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อมิให้บดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดา โดยนำมาจัดวางใส่กรอบไว้ร่วมกับภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องการรื้อศาลาเฉลิมไทย สะท้อนถึงอำนาจของรัฐในการเลือกที่จะรื้อหรือเก็บความทรงจำใดไว้

 

 นิทรรศการเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าชมแสดงความคิดเห็นถึงกรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อปรับภูมิทัศน์เมือง 

 

ความทรงจำของชุมชนป้อมมหากาฬที่เหลืออยู่ในภาพวาด 

 

กลุ่มอาคาร Art Deco บนถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของห้างร้าน สำนักงานหนังสือพิมพ์โรงเรียนกวดวิชา ร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิงอย่างโรงหนังและไนท์คลับ ถือเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นในยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือ Gen-B ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2489-2507  ทั้งข้าวของและเรื่องเล่าที่นำมาจัดแสดงจึงเต็มไปด้วยสีสันในวันวาน ทั้งตำราเรียนและสิ่งของเก่าๆ ที่ชวนให้นึกถึงวัยเล่าเรียน อีกด้านหนึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้หรือหลงลืมไปคือ ในอดีตชั้นบนๆ ของอาคารบนถนนราชดำเนินกลางเคยแบ่งให้เช่าเป็นที่พักอาศัย

 

 สิ่งของที่ระลึกถึงร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สาขาราชดำเนิน ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว  

 

บานหน้าต่างที่ถูกถอดออกมาจากอาคารบนถนนราชดำเนินกลาง 

 

บานหน้าต่างไม้ดูเก่าคร่ำคราที่ถูกนำมาจัดแสดง เป็นหนึ่งในบ้านหน้าต่างเก่าที่ถูกถอดออกมาจากอาคารที่ราชดำเนิน เป็นวัตถุแทนความทรงจำของผู้คนที่เคยกินอยู่หลับนอนในอาคารเหล่านี้ คุณเธียรชัย อิศรเดช หนึ่งในภัณฑารักษ์วัยเก๋า ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ที่อาคารแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนินในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2512-2532 ได้ถ่ายทอดความรู้สึกและถนนราชดำเนินที่เขามองเห็นผ่านบานหน้าต่างห้องนอนในรูปแบบงานเขียนเรื่อง “บ้านราชดำเนิน” ซึ่งนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในนิทรรศการนี้ ปัจจุบันกลุ่มอาคารบนถนนราชดำเนินส่วนหนึ่งถูกปรับเป็นหอสมุดเมือง พิพิธภัณฑ์นิรรศรัตนโกสินทร์ และหอศิลป์ร่วมสมัย ส่วนห้างร้านต่างๆ ยังมีอยู่ประปราย ในอนาคตจะเป็นพัฒนาไปในทิศทางใดคงต้องติดตามกันต่อไป 

 

หนังสือ "ราชดำเนิน" เรื่องเล่าในความทรงจำของคุณเธียรชัย อิศรเดช ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ที่อาคารแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน

 

ใบเสร็จรับเงินห้างแบดแมนแอนด์โก ต่อมาเป็นที่ตั้งกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถูกเผาเสียหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ปัจจุบันซากอาคารถูกรื้อถอนไปแล้ว  

 

อีกด้านหนึ่งถนนราชดำเนินถูกจดจำมากที่สุดในแง่มุมประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เมื่อถนนราชดำเนินถูกนิยามความหมายใหม่โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และทำพิธีเปิดในงานฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งในเวลาต่อมาถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี 

 

แบบจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ทางการเมืองและหมุดหมายสำคัญบนถนนราชดำเนิน

 

ในนิทรรศการได้จำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขนาดย่อส่วนมาจัดแสดง โดยรอบรายล้อมไปด้วยวัตถุความทรงจำต่างๆ เช่น หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ที่บันทึกภาพประวัติศาสตร์ หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองบางเล่มเป็นหนังสือต้องห้ามในช่วงเวลาหนึ่ง รวมไปถึงสัญลักษณ์ของมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง เช่น ธงชาติ นกหวีด มือตบ ตีนตบ และล่าสุดอย่างป้ายเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาบางกลุ่มที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้

 

ภาพวาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยผลงานของคุณเขตนิธิ สุนนทะนาม

 

ชิ้นส่วนรั้วลวดหนามแนวกั้นประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 

 

ภาพความทรงจำของผู้คนถึงความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายครายังปรากฏร่องรอยอยู่ในสถานที่อื่นๆ นอกเหนือไปจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เช่น การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ที่ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นส่วนรั้วลวดหนามที่ทหารนำมากั้นขวางประชาชนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ภาพหน่วยพยาบาลที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภาพตึกกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกเผาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ถึงแม้ว่าความทรงจำเหล่านี้จะรุนแรงและเจ็บปวด แต่เป็นสิ่งที่เรายิ่งต้องจำและทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีก

 

"บันทึกตามหาลูก 6 ตุลา" ของคุณพ่อจินดา ทองสินธุ์ บิดาของนายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

 

โรงแรมรัตนโกสินทร์ จากที่พักสู่ที่พึ่งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 

 

8 เส้นทาง ล่อง(ไปตาม)รอย

ส่วนจัดแสดง “ล่องรอย A trip down memory lane” เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ นำเสนอ 8 เส้นทางที่จะพาผู้ชมเข้าไปสำรวจชีวิตของผู้คนซึ่งผูกพันกับถนนราชดำเนินในหลายแง่มุม ผ่านวิธีการเล่าเรื่องให้ฟัง โดยผู้ชมสามารถสแกน QR Code แล้วกดเลือกฟังเส้นทางที่ตนเองสนใจ แต่ละเส้นทางจะถูกแทนด้วยสีสันที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ชมสามารถเดินตามเส้นสีต่างๆ เพื่อไปยังส่วนจัดแสดงอื่นๆ ที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกัน ล่องรอยทั้ง 8 เส้น ประกอบไปด้วย 1.บทเพลงแห่งราชดำเนิน 2.อยู่ราชดำเนิน 3.หนังสือที่มีแต่นิยายชีวิต 4.วังปารุสก์ 5.ตามรายทาง 6.อย่าได้อ้างว่าฉันเป็นผู้หญิงของเธอ 7.ราชดำเนินเปอร์สเปกทีฟ และ 8.รสชาติแห่งยุคสมัย

 

8 เส้นทาง ล่องรอยราชดำเนิน แบ่งออกเป็นสีต่าง ๆ 

 

การเล่าเรื่องของแต่ละเส้นทางใช่ว่าจะเนิบนาบอย่างการท่องตำราเรียน แต่เป็นการนำเสนอในรูปแบบที่คล้ายกับว่าเรากำลังฟังละครวิทยุที่เพลิดเพลินเหมือนกับนั่งฟังใครสักคนเล่าเรื่องราวเหล่านั้น เช่น บทเพลงแห่งราชดำเนิน เป็นเรื่องเล่าของชายที่รักในเสียงเพลง บอกเล่าถึงชีวิตวัยรุ่นในยุคเบบี้บูมเมอร์ที่ใช้ถนนราชดำเนินเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ไม่ว่าจะเป็นการชวนกันมาดูภาพยนตร์และการแสดงดนตรีที่ศาลาเฉลิมไทย เล่นดนตรีที่โลลิต้าไนต์คลับ ความรักแบบหนุ่มสาวครั้งแรกเกิดขึ้นบนถนนเส้นนี้ ก่อนชีวิตจะผันแปรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ในล่องรอยบทนี้ได้นำเสียงดนตรีและบทเพลงมาประกอบเพื่อเติมเต็มความรู้สึก เช่น เพลง ชื่นรัก และ เพลงรักทะเลใต้ ของวง The Impossibles เพลง โทน ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องโทน ขับร้องโดยสังข์ทอง สีใส  เพลง กรุงเทพราตรี ของวงสุนทราภรณ์ เพลง นกสีเหลือง ของคาราวาน เพลง Empty Chairs at Empty Tables จากเรื่อง Les Misérables

 

ผู้เข้าชมสามารถเลือกกดฟังเส้นทางต่าง ๆ ได้ตามที่สนใจ 

 

อีกบทหนึ่งที่น่าสนใจคือ อยู่ราชดำเนิน บอกเล่าเรื่องราวของคนชายขอบในเมืองใหญ่ ซึ่งก็คือกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยและทำมาหากินอยู่บนถนนเส้นนี้ เนื้อหาเล่าถึงที่มาที่ไปของชายไร้บ้านคนหนึ่งที่ชีวิตหันเหต้องมากินอยู่หลับนอนที่ท้องสนามหลวง การใช้ชีวิตที่ยากลำบากและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทำให้เหล่าคนไร้บ้านต้องพึ่งพาอาศัยกัน ใจความสำคัญของการนำเสนอเส้นทางล่องรอยราชดำเนิน นอกจากการปะติดปะต่อความทรงจำมาเป็นเรื่องเล่าแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของการบอกเล่าและการรับฟัง เพื่อเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคมและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน  

 

เปิดกล่องความคิดภัณฑารักษ์รุ่นเก๋า

นิทรรศการผสานวัยเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างวัย ประกอบด้วยทีมมิวเซียมสยามซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่กับทีมภัณฑารักษ์รุ่นเก๋าซึ่งเป็นผู้สูงวัยที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 16 ท่าน ภายในนิทรรศการเราจะเห็นเรื่องราวของเหล่าภัณฑารักษ์รุ่นเก๋าปรากฏแทรกอยู่ในส่วนต่างๆ เช่น ภาพวาดชุมชนป้อมมหากาฬและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสีสันร้อนแรงดึงดูดสายตาผู้ชม เป็นส่วนหนึ่งของผลงาน ย่างก้าวกับกาลเวลา ของคุณเขตนิธิ สุนนทะนาม ศิษย์เก่าจากรั้วโรงเรียนเพาะช่าง โปสต์การ์ดของป๊า ของฝากจากราชดำเนิน วัตถุในความทรงจำของคุณดาราณี เวชพงศา เป็นต้น

 

โปสต์การ์ดของป๊า ของฝากจากราชดำเนิน วัตถุในความทรงจำของคุณดาราณี เวชพงศา

 

นิทรรศการของกลุ่มภัณฑารักษ์รุ่นเก๋า 

 

ไฮไลต์ของกลุ่มภัณฑารักษ์สูงวัยคือการต่อยอดความคิดและความรู้สึกที่มีต่อถนนราชดำเนิน โดยนำเสนอเป็นสื่อในรูปแบบต่างๆ ที่จะเชื่อมร้อยเข้ากับคนรุ่นใหม่ เช่น คุณดาราณี เวชพงศา ที่ได้แรงบันดาลใจจากโปสต์การ์ดเก่าๆ ของพ่อ นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานโปสต์การ์ดคาเฟ่ที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ทั้ง Blog และ Tiktok หรือผลงานของคุณบาหยัน อิ่มสำราญ ครูสอนวรรณกรรม ที่เลือกถ่ายทอดมุมมองถนนราชดำเนินผ่านนวนิยายเรื่อง ถนนสายรมณีย์ ของสุวรรณี สุคนธา โดยทำงานร่วมกับลูกสาวสร้างสรรค์เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีผลงานของภัณฑารักษ์วัยเก๋าอีกหลายท่านที่เสนอแง่มุมอื่นๆ ซึ่งผลงานทั้งหมดถูกจัดวางลงในหีบขนาดใหญ่ ภายในบรรจุเรื่องราวต่างๆ ทั้งแนวความคิด กระบวนการ และผลลัพธ์ที่นำเสนอ

 

ผลงานโปสต์การ์ดคาเฟ่ ของคุณดาราณี เวชพงศา 

 

ผลงานถนนสายรมณีย์ของคุณบาหยัน อิ่มสำราญ ซึ่งทำร่วมกับลูกสาว ผสมผสานงานวรรณกรรมกับสื่อสมัยใหม่

 

ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย เป็นนิทรรศการที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของถนนราชดำเนินในหลายมิติและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำบางอย่างอาจลบเลือนไปจากการรับรู้ของคนอีกรุ่นหนึ่ง แต่เป็นความจริงว่าครั้งหนึ่งมันเคยมีอยู่และถักทอขึ้นเป็นถนนราชดำเนินในวันนี้ 

 

ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ ชวนผู้ชมหมุนวงล้อเพื่อสรุปเรื่องราวบนถนนราชดำเนิน ชวนให้คิดว่าเราจะเดินหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ 

 

 ตู้จำหน่ายเหรียญที่ระลึกมีให้เลือก 3 แบบ แทนความทรงจำร่วมกับนิทรรศการ 

 

เหรียญที่ระลึกรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

 

เรื่องราวที่น่าสนใจภายในนิทรรศการยังมีอีกมาก ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัยได้ที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งจัดแสดงจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เปิดให้เข้าชมระหว่าง 10.00 น. - 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ก่อนที่จะย้ายนิทรรศการมายังหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ซึ่งจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน - 31 ตุลาคม 2563 เปิดให้เข้าชมระหว่าง 10.00 น. - 18.00 น (ปิดวันจันทร์) ทั้งหมดสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/museumsiamfan

 

ขอขอบคุณ

คุณเกวลิน วันแก้ว ผู้นำชมนิทรรศการ


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ