เปิดตำราศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
หนังสือหนังหา

เปิดตำราศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

 

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญ เพราะช่วยให้เกิดความเข้าใจในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งสภาพสังคมและผู้คนที่หลากหลาย ที่ผ่านมามีตำราและงานศึกษาวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นออกมามากมาย คอลัมน์หนังสือหนังหาขอเสนอหนังสือที่น่าสนใจ 2 เล่ม ซึ่งเป็นผลงานของผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทย ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ และรองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ

 

[1]

ประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน

โดย สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ 

สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2554 

206 หน้า 

 

 

หนังสือเล่มนี้เป็นการเสนอผลการวิจัยด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำท่าจีน ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2530 โดยเป็นโครงการที่นำเสนอต่อศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นเป็นต้นมา อาจารย์สุภาภรณ์ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนลุ่มน้ำท่าจีนเพิ่มเติม สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนต่างๆ ในลุ่มน้ำท่าจีนตั้งแต่ในเขตจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คติความเชื่อ วิถีชีวิต เพื่อทำความเข้าใจผู้คนหลากหลายกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มน้ำท่าจีน อันประกอบด้วยชาวจีน ญวน เขมร มอญ และไทย ซึ่งมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังนำเสนอถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

 

กระบวนการศึกษาวิจัยของอาจารย์สุภาภรณ์ มีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นต้น เอกสารราชการ เอกสารท้องถิ่น เอกสารชั้นรองต่างๆ เช่น บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือการลงพื้นที่สำรวจสภาพภูมิประเทศและเดินเท้าเข้าไปยังชุมชนต่างๆ ตลอดลำน้ำ เพื่อเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์คำบอกเล่าจากชาวบ้าน ซึ่งข้อมูลทั้ง 2 ส่วนคือ จากหลักฐานเอกสารและจากการสัมภาษณ์ สามารถเสริมมุมมองและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการและพลวัตการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในลุ่มแม่น้ำท่าจีน ในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี

 

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจประวัติท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้สนใจจะศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ

 

[2]

แนวคิดและแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

โดย ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ

สำนักพิมพ์อินทนิล, 2555

236 หน้า 

 

 

หนังสือเล่มนี้เป็นตำราการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ทวีศิลป์ได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์การศึกษาวิจัยและการลงพื้นที่สำรวจในท้องถิ่นต่างๆ มาอย่างยาวนาน ในเล่มนี้ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายเรื่อง ได้แก่

 

  • ความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
  • การสำรวจพลวัต วรรณกรรม และงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย
  • การศึกษาความเคลื่อนไหวของสถาบันวิชาการและสถาบันการศึกษาที่หันมาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในรูปแบบการมีส่วนร่วมมากขึ้น
  • การศึกษาวิเคราะห์ในงานวิจัยและบทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีการบูรณาการศาสตร์ด้านอื่นๆ เข้ามาร่วม
  • ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือสังคม เมื่อมีการศึกษาและนำเอาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน

 

ในตำราเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 6 บท ได้แก่

บทที่ 1 ว่าด้วยเรื่องความหมายของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำเสนอทั้งความรู้ในระดับสากลของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทั่วโลก และนำเสนอข้อคิดเห็นจากนักวิชาการไทยที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

บทที่ 2 นำเสนอพัฒนาการของงานเขียนด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะกรณีศึกษาประวัติศาสตร์อีสานตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 และหลัง พ.ศ. 2500 ซึ่งได้แบ่งช่วงเวลาในการวิเคราะห์ออกเป็นหลายช่วงด้วยกันเช่น พ.ศ.2500 -2510, พ.ศ. 2510-2518, พ.ศ. 2518- 2520 และเมื่อการศึกษาประวัติศาสตร์อีสานเข้าสู่ยุคฟื้นฟูคือในช่วงเวลา พ.ศ 2521-2535 และยุคต่อมาคือ 2535 จนถึงปัจจุบัน

บทที่ 3 กล่าวถึงวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อันเป็นการสร้างพลังท้องถิ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเสนอวิธีการศึกษาแบบรอบด้าน ทั้งจากเอกสารประเภทต่างๆ และการสำรวจ-สัมภาษณ์

บทที่ 4 กล่าวถึงวิธีการศึกษา โดยมีข้อเสนอแนะ วิธีการ และรูปแบบของข้อมูลที่ควรทำการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน

บทที่ 5 นำเสนอความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและผู้ศึกษา

บทที่ 6 บทสรุปถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ควรมีการศึกษากันต่อไป

 

จะเห็นได้ว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา นักวิจัย รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยตนเอง เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ครบถ้วนและเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นนั้นๆ

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ