ศาลพระภูมิคู่บ้าน
ข้างหลังภาพ

ศาลพระภูมิคู่บ้าน

 

ประเพณีการปลูกบ้านใหม่แต่โบราณ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ต้องมีการยกศาลพระภูมิเสียก่อน เพื่อให้เป็นที่สถิตของเทพารักษ์ที่จะอัญเชิญมาคุ้มครองป้องกันให้คนในบ้านอยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นเกือบทุกเรือนในภาคกลางจึงพบว่ามีการตั้งศาลพระภูมิไว้ในอาณาบริเวณบ้านและไม่เพียงศาลพระภูมิเท่านั้น บางบ้านยังตั้งศาลเจ้าที่ควบคู่ไปด้วย

 

การตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่นั้น มีที่มาจากความเชื่อของคนไทยในอดีตว่า ธรรมชาติรอบๆ ตัวเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้ ล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเจ้าที่เจ้าทางปกปักรักษาอยู่ เมื่อผนวกเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาและฮินดูที่ปะปนอยู่ในสังคมไทย ทำให้เกิดการอัญเชิญเทพารักษ์และเจ้าที่เจ้าทางมาประทับในศาล เพื่อง่ายต่อการสักการบูชา อีกทั้งเป็นการเชื้อเชิญทวยเทพและอารักษ์เจ้าที่ให้มาคุ้มครองป้องกันภัยใกล้ๆ กับตัว โดยเฉพาะในบริเวณบ้านเรือนที่ตนอยู่อาศัย

 

พระภูมิหน้าเรือนไทยสมัยก่อน สร้างเลียนแบบเรือนผู้เป็นเจ้าของบ้าน  (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ศาลพระภูมิที่พบทั่วไป มักประกอบด้วยตัวศาล เสา 1 เสา องค์พระภูมิและเหล่าข้าทาสบริวาร พร้อมด้วยเครื่องบูชา ได้แก่ฉัตร กระถางธูปแจกันดอกไม้ เป็นต้นการตั้งศาลพระภูมิด้วยเสาเดียวนั้น กล่าวกันว่าเป็นแนวคิดมาจากคติเรื่องเขาพระสุเมรุ เพราะบรรดาทวยเทพจะมีวิมานประทับอยู่บนเขาดังกล่าว เมื่อพระภูมิเป็นเทพองค์หนึ่ง ศาลที่ประทับจึงควรตั้งอยู่บนเขาพระสุเมรุเช่นกัน โดยใช้เสาเดียวเป็นสัญลักษณ์ ผิดกับเจ้าที่ที่มีเรือนอาศัยแบบชาวบ้าน โดยทั่วไปศาลจึงมี 4 เสา

 

พระภูมิหน้าเรือนไทยสมัยก่อน สร้างเลียนแบบเรือนผู้เป็นเจ้าของบ้าน  (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ในอดีตคนไทยนิยมสร้างศาลพระภูมิหรือศาลเจ้าที่ด้วยไม้ ทำรูปแบบเป็นเรือนไทยจำลองหรืออาจสร้างเป็นหิ้งขนาดเล็กอยู่นอกชานบ้าน ใครที่มีฝีมือเชิงช่างอาจสร้างศาลให้เหมือนกับเรือนที่ตนเองอาศัย แต่หลังจากเกิดธุรกิจทำศาลพระภูมิจำหน่าย รูปแบบหน้าตาของศาลพระภูมิในเมืองไทยจะเหมือนๆ กัน คือนิยมทำเป็นรูปทรงปราสาทแบบพระที่นั่งในพระราชวัง บ้างเป็นยอดปรางค์ บ้างสร้างเป็นโบสถ์วิหารแบบวัดในพุทธศาสนาแต่ปัจจุบันมีการออกแบบศาลพระภูมิให้มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น บ้างทำเป็นเรือนหลังคาปั้นหยา บ้างทำเป็นทรงไทยประยุกต์ ออกแบบให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น และบางหลังมีขนาดใหญ่ให้สมกับฐานะของเจ้าของเรือน รวมถึงวัสดุที่ใช้นอกจากทำด้วยปูนแล้วยังปิดทอง แต่งแต้มสีสันให้สดใสสวยงาม

 

รูปแบบศาลพระภูมิในปัจจุบัน (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

 

การตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่มิได้สร้างไว้แค่เพียงในบ้าน ตามสถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่วัดวาอารามก็สร้างขึ้นไว้ในเขตวัดเช่นกัน อย่างทางภาคเหนือหลายวัดมีการตั้งศาลเสื้อวัด ศาลเจ้าที่ ศาลตายายอยู่ด้วย โดยจัดพื้นที่แยกส่วนอย่างชัดเจนศาลพระภูมินั้นหากไม่ตั้งอยู่ชิดกับรั้ววัด ก็จะอยู่ในส่วนของพุทธาวาส ผิดกับศาลเจ้าที่ ศาลตายาย ที่นิยมสร้างไว้อยู่ด้านหลังของวัด 

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ