'พ่อตาศรสุริวงศ์' สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านปากหาด

'พ่อตาศรสุริวงศ์' สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านปากหาด

 

หมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร หลายแห่งมี “ศาลพ่อตา” ศาลผีศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและมีพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาเป็นประจำทุกปี ที่ริมทะเลบ้านปากหาดหรือบ้านปากมหาด หมู่ 3 ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ก็มี “ศาลพ่อตาศรสุริวงศ์” เป็นหลักศรัทธาที่ผู้คนนับถือ

 

อาคารศาลพ่อตาศรสุริวงศ์ที่สร้างขึ้นใหม่ ภายหลังจากศาลหลังเก่าถูกพายุพัดเสียหาย 

 

ตำแหน่งที่ตั้งศาลพ่อตาศรสุริวงศ์ ณ บ้านปากหาด 

 

ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่ง หันหน้าออกสู่ทะเล อาคารศาลที่เห็นในปัจจุบันเป็นอาคารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นภายหลังจากที่ศาลหลังเก่าถูกพายุพัดพังเสียหาย เมื่อปี พ.ศ. 2559 ภายในประดิษฐานรูปปั้นพ่อตาศรสุริวงศ์ทำเป็นรูปชายแก่ นั่งชันเข่า ไม่สวมเสื้อ มีสร้อยประคำคล้องคอและผ้าขาวม้าพาดบ่า ซึ่งคงเป็นสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาถวายไว้ รูปปั้นดังกล่าวนี้เป็นรูปเคารพเดิมที่มีมาตั้งแต่ก่อนที่ศาลหลังเก่าถูกพายุพัดเสียหาย เมื่อสร้างอาคารศาลใหม่แล้วเสร็จ ชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ดังเดิม  

 

สภาพนิเวศธรรมชาติริมชายฝั่งบ้านปากหาด มีลักษณะเป็นหาดทรายและหิน 

 

ภายในศาลประดิษฐานรูปพ่อตาศรสุริวงศ์ ชาวบ้านนำของมาเซ่นไหว้บูชามิได้ขาด  

 

เรื่องราวของพ่อตาศรสุริวงศ์มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไม่มีใครทราบแน่ชัด ชาวบ้านต่างเล่าว่าเป็นศาลที่มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว เป็นที่นับถือของชาวบ้านปากหาด รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ในละแวกนี้ เมื่อเรือประมงออกทะเล หากแล่นผ่านศาลพ่อตาจะต้องยกมือไหว้บอกกล่าวขอให้ปลอดภัย บ้างบนบานศาลกล่าวขอให้จับปลาได้มาก  

 

รูปเคารพพ่อตาศรสุริวงศ์ ทำเป็นชายแก่ นั่งชันเข่า ไม่สวมเสื้อ

มีสร้อยประคำคล้องคอและผ้าขาวม้าพาดบ่า ซึ่งคงเป็นสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาถวาย 

 

โครงกระดูกวาฬที่ชาวบ้านพบ นำมาเก็บรักษาไว้ที่บริเวณศาล 

 

งานไหว้ศาลพ่อตาศรสุริวงศ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันจบปีจบเดือน (สิ้นเดือน 5 ขึ้นเดือน 6) ช่วงเช้าเป็นพิธีสงฆ์ ชาวบ้านนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป จากวัดที่อยู่ใกล้เคียง เช่น วัดดอนทรายแก้ว วัดท่ายางเหนือ มาฉันภัตตาหารเพล จากนั้นในช่วงบ่ายชาวบ้านร่วมกันทำพิธีไหว้พ่อตาศรสุริวงศ์ โดยมีผู้อาวุโสของหมู่บ้านเป็นผู้อำนวยพิธี  กล่าวคำอัญเชิญพ่อตามารับของเซ่นไหว้ ในสำรับของเซ่นไหว้ประกอบด้วยหัวหมู ไก่ต้ม กุ้ง หอย ปู ปลา อาหารคาวหวานและผลไม้ ผู้ที่เคยบนบานศาลกล่าวไว้ก็ถือเอาโอกาสนี้นำสิ่งของมาแก้บนด้วย เมื่อถวายเครื่องเซ่นไหว้เสร็จแล้วก็จะจุดประทัด พอตกเย็นมีการแสดงโนรา ชาวบ้านดื่มกินสังสรรค์ร่วมกัน 

 

งานไหว้ศาลพ่อตาเช่นนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “งานกลางบ้าน” จัดหมุนเวียนไปในหมู่บ้านต่างๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ ราวปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยแต่ละที่จะมีศาลประจำหมู่บ้าน เช่น บ้านปากหาดมีศาลพ่อตาศรสุรวงศ์ บ้านคอสนมีศาลพ่อตาหมอมั่น บ้านท่ายางเหนือ-บ้านอู่ตะเภามีศาลพ่อตาขุนดำ เป็นต้น ซึ่งการจัดงานแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะหมุนเวียนกันไปช่วยงาน ถือเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์ภายในท้องถิ่นมาแต่ดั้งเดิม

 

ศาลพ่อตาขุนดำที่บ้านอู่ตะเภา 

 

 ศาลพ่อตาหมอมั่นที่บ้านคอสน 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ