นกฮูก สัตว์นำโชคในคติพม่า

นกฮูก สัตว์นำโชคในคติพม่า

 

ระหว่างเดินเล่นที่ ตลาดร้อยปี ย่านการค้าที่คึกคักที่สุดในเมืองมะริด ผ่านร้านค้าและแผงสินค้านานาชนิด มีตั้งแต่ของสด ของทะเล ข้าวสาร ธัญพืช ขนมขบเคี้ยว เสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตลาดแห่งนี้เริ่มเปิดค้าขายกันตั้งแต่เช้า กว่าจะวายก็บ่ายแก่ๆ ด้วยใจอยากจะซื้อของที่ระลึกติดมือกลับมาจึงเดินเลือกสรรอยู่นาน จนเจอเข้ากับตุ๊กตานกฮูกสีเหลืองทอง ทำมาจากกระดาษด้วยเทคนิคแบบเปเปอร์มาเช่ มีหลากหลายขนาดบรรจุใส่ถุงไว้เป็นคู่ๆ แขวนเรียงรายอยู่ที่หน้าร้านขายสังฆภัณฑ์และเครื่องหอมธูปเทียน แม้ไม่ใช่งานละเอียดประณีต แต่สีทองอร่ามก็ดึงดูดสายตา ทั้งยังเป็นงานฝีมือของท้องถิ่น 

 

ด้วยความสนใจและไม่ทราบคติเรื่องนกฮูกที่ชาวพม่ายึดถือมาก่อน จึงหันไปถามมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่มาด้วยกันว่า “ตุ๊กตาแบบนี้ เราซื้อกลับไปได้ไหม ?” ได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า “ดีค่ะ แต่ต้องซื้อเป็นคู่ แขวนไว้ที่ประตูบ้าน เงินทองจะเยอะ”  ได้ยินเช่นนั้นจึงเลือกหยิบตัวเล็กๆ มาคู่หนึ่ง พร้อมกับตุ๊กตารูปไข่หน้ายิ้มที่แขวนอยู่ใกล้กันมาอีก 1 ชิ้น อย่างหลังนี้ทราบมาว่าเป็นของเล่นเด็ก ทั้งหมดจ่ายเงินไปราวๆ 3,000 จั๊ด หรือ 60 กว่าบาท

 

ในตลาดร้อยปี เมืองมะริด ,มีสินค้าแทบทุกอย่างให้เลือกสรร

 

จากวันที่ไปเที่ยวเมืองมะริดจนถึงวันนี้ก็เลยขวบปีมาแล้ว… เมื่อหันไปสบตากับนกฮูกกระดาษที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ก็พลันคิดว่ามาค้น-มาเขียนเรื่องนี้ดูสักหน่อยดีกว่า

 

นกเค้าแมวหรือนกฮูก (Owl) เป็นนกหากินกลางคืนชนิดหนึ่ง ชื่อเรียก เค้าแมว ก็บ่งบอกถึงลักษณะหน้าตาของนกชนิดนี้แล้วว่ามีรูปใบหน้าคล้ายแมว โดยเฉพาะดวงตาที่กลมโต สุกใสยามค่ำคืน อันเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยจดจ้องมองหาสัตว์ขนาดเล็กๆ จำพวกหนู ค้างคาว หรือสัตว์เลื้อยคลานมาเป็นอาหาร แถมยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของนกจำพวกนี้คือสามารถหมุนคอได้เกือบรอบ ด้วยเพราะเป็นนกที่ชอบออกโบยบินในยามราตรีที่มืดมิดเช่นนี้ ทำให้พวกมันมีความพิเศษที่ผูกพันกับความเชื่อหลายแง่มุม

 

นกเค้าโมง (Asian Barred Owlet) เป็นนกเค้าแมวพันธุ์หนึ่งที่พบในประเทศไทย 

ภาพถ่ายโดย Prayoon Singthong (ที่มา : https://www.birdsofthailand.org/

 

บางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อของไทยและลาว เสียงร้องยามค่ำคืนของนกแสก ซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับนกฮูก ถูกมองว่าเป็นลางร้าย เป็นสัญญะถึงความตาย พวกนกฮูกเองก็ถูกเหมารวมเข้าไปด้วย แต่ในบางวัฒนธรรมนกจำพวกนี้คือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่นำโชคดีมาให้ เช่น ศาสนาฮินดูในอินเดียเชื่อว่านกจำพวกนี้เป็นสัตว์ของพระลักษมี ผู้เป็นเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ ส่วนในเทพนิยายกรีกและโรมัน นกฮูกเป็นสัญลักษณ์แห่งอาเธน่า (Athena) หรือมิเนอร์วา (Minerva) เทวีแห่งปัญญา ในโลกตะวันตกนกฮูกจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรู้และผู้มีปัญญา ดังจะเห็นได้จากนิทานหรือวรรณกรรมต่างๆ เช่น เรื่อง วินนี่ เดอะ พูห์ (Winnie The Pooh) โดย เอ. เอ. มิลน์ (A. A. Milne) ก็มีตัวละครหนึ่งชื่อ “Owl” เป็นนกฮูกที่เฉลียวฉลาด

 

รูปเทพีอาเธน่าถือหมวกเหล็ก (Helmet) และหอก มีนกฮูกเล็กๆ บินอยู่

ศิลปะกรีกกำหนดอายุราว 490-480 ปีก่อนคริสตกาล เก็บรักษาอยู่ที่ The Metropolitan Museum of Art

(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Owl_of_Athena)

 

กลับมาที่คติความเชื่อของพม่า เชื่อกันว่านกฮูกเป็นสัตว์นำโชคและความเจริญรุ่งเรือง ดูแล้วก็ใกล้เคียงกับความเชื่อในคติฮินดูที่พูดถึงความสมบูรณ์มั่งคั่ง ตุ๊กตานกฮูกหรือ Zee Kwet ในภาษาพม่า จึงไม่ใช่แค่ของประดับสวยงาม หากแต่ยังมีความหมายเป็นเครื่องรางนำโชคที่นิยมมีไว้ติดบ้าน ตุ๊กตานกฮูกที่วางขายส่วนใหญ่ทำด้วยกระดาษ ช่างจะแกะสลักไม้ไว้เป็นแม่พิมพ์ แล้วแปะกระดาษลงไปทีละชั้นๆ เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงนำออกจากพิมพ์ไม้ ทาด้วยสีทองหรือหุ้มด้วยกระดาษสีทอง แล้วตกแต่งเขียนหน้าตาและแต้มลวดลายด้วยสีสันต่างๆ กรรมวิธีการทำเช่นนี้ก็เหมือนกับของเล่นพื้นบ้านที่เป็นงานกระดาษแบบอื่นๆ ของพม่า เช่น ตุ๊กตาล้มลุกรูปไข่หน้ายิ้ม หรือ Pyit Taing Htaung

 

“Pyit Taing Htaung” ตุ๊กตาล้มลุกรูปไข่ เขียนรูปใบหน้ายิ้ม ของเล่นพื้นเมือง

 

Zee Kwet” นกฮูกกระดาษ เครื่องรางนำโชคในคติของชาวพม่า

 

ตุ๊กตานกฮูกที่ใช้เป็นเครื่องรางนั้นต้องวางไว้เป็นคู่ ตัวผู้กับตัวเมีย ซึ่งรูปนกฮูกตัวเมียจะนิยมเขียนรูปลูกนกฮูกตัวเล็กๆ อยู่คู่กัน เท่ากับว่าเป็นครอบครัวนกฮูก ตุ๊กตาพวกนี้มักมาพร้อมกับเชือกแขวน ชาวพม่ามักจะนำไปแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้าน บานหน้าต่าง หรือในรถยนต์ เชื่อว่าจะให้โชคลาภและความรุ่งเรืองแก่สมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น เป็นตัวนำโชค (Mascot) ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 เมื่อปี ค.ศ. 2013 ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นเจ้าภาพ รวมไปถึงในโฆษณาและรายการบันเทิง ล้วนสื่อถึงความโชคดีและความเจริญก้าวหน้า

 

เหรียญทองและตุ๊กตานกฮูก มาสคอตที่ระลึกในงานซีเกมส์ครั้งที่ 27 ของ Pang Sheng Jun นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติสิงคโปร์

(ที่มา : https://www.wmswimwear.com/blog/2014/03/that-email-with-pang-sheng-jun)

 

“หน้ากากนกฮูก” จากรายการ The Mask Singer Myanmar 2019 ในโฆษณาเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเจ้าหนึ่ง

 

แหล่งอ้างอิง

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล, นกแสกผู้น่าสงสารกับความเชื่อแบบไทยๆ. สืบค้นจาก https://www.sarakadee.com/2018/09/10/barn-owl/

Myanmar Traditional Toys สืบค้นจาก https://www.thahara.com/blog/myanmar-traditional-toys

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ