เรื่องเล่าจาก “ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว”
หนังสือหนังหา

เรื่องเล่าจาก “ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว”

 

ภาพปกหนังสือ ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นรูปแม่ค้ากำลังผัดก๋วยเตี๋ยวขายอยู่บนเรือ พร้อมคำโปรยปกที่ว่า “มองประวัติศาสตร์สังคมบางขุนนนท์ ผ่านถนนและคลอง” ชวนให้สนใจใคร่รู้ว่าก๋วยเตี๋ยว ลำคลอง และถนนในย่านบางขุนนนท์ ฝั่งธนบุรี มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันอย่างไร

 

 

ยุวดี ศิริ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถ่ายทอดภาพความทรงจำของตนเองที่เติบโตมากับร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่ในย่านบางขุนนนท์ เป็นบทความสั้นๆ ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จำนวนทั้งสิ้น 11 ตอน ก่อนจะตีพิมพ์รวมเล่มกับสำนักพิมพ์มติชนเมื่อปี 2558 เนื้อหาในแต่ละตอนนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคมและความเปลี่ยนแปลงของย่านบางขุนนนท์โดยมี “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นตัวเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าตลอดถนนบางขุนนนท์ในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยร้านก๋วยเตี๋ยวขึ้นชื่ออยู่มากมายหลายร้าน

 

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การชวนชิมก๋วยเตี๋ยวเมนูเด็ด (ถึงแม้ว่าบางช่วงบางตอน อ่านแล้วจะชวนให้หิวอยู่บ้างก็ตาม) หากแต่เป็นการนำพาผู้อ่านให้แกะรอยความเป็นมาของ “ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว” แห่งนี้ ผ่านความทรงจำของผู้เขียน ซึ่งเป็น “คนใน” ที่มองเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของย่านบางขุนนนท์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

 

“...ประวัติความเป็นมาที่ทำให้ถนนสายนี้ กลายเป็นถนนสายที่มีร้านก๋วยเตี๋ยวมากที่สุดในกรุงเทพฯ การเกิดขึ้นของร้านก๋วยเตี๋ยวจำนวนมาก และคงอยู่มานานไม่น้อยกว่า 50-60 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไปและน่าจะถูกบันทึกเป็นเสน่ห์ด้านหนึ่งของผู้คนที่อาศัยริมคลองชักพระเป็นที่ตั้งบ้านเรือน อันเป็นที่มาของ ‘ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้” (หน้า  3)

 

คุณยุวดีได้ชี้ให้เห็นว่าร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่ที่ตั้งอยู่เรียงรายตลอดถนนบางขุนนนท์นั้น เมื่อสืบประวัติย้อนไปในอดีตจะพบว่าแต่ละร้านต่างมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือ เรือขายก๋วยเตี๋ยวของชาวจีนที่พายขายกันอยู่ในคลองชักพระ ในยุคที่ย่านบางขุนนนท์ยังคงเป็นเรือกสวนและผู้คนต่างมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ก่อนที่ถนนสายบางกอกน้อย-ตลิ่งชัน หรือถนนบางขุนนนท์จะเจริญขึ้น ซึ่ง “อากง” ของผู้เขียนนั้น ถือเป็นคนจีนคนแรกในย่านบางขุนนนท์ที่ย้ายจากการพายเรือขายก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาเปิดร้านขายบนบก

 

ภายในเล่ม แบ่งออกเป็นบทความย่อย ๆ 11 บท ที่เรียงร้อยเรื่องเล่าวิถีชีวิตของคนบางขุนนนท์ ริมฝั่งคลองชักพระที่ปะติดปะต่อขึ้นจากความทรงจำของผู้เขียนและคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรือก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ในคลองชักพระ ที่บอกเล่าตั้งแต่ชื่อแซ่ของพ่อค้าแม่ค้า หน้าตาและรสชาติของก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อน ไปจนถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบเลิศรส

 

“...เรือขายก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ในคลองนั้นมีตั้งแต่ส่วนที่เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ต้องลวกเส้น คือ ก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด และก๋วยจั๊บ และส่วนที่เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ต้องผัดเส้น คือ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และก๋วยเตี๋ยวผัดแดง (ผัดซีอิ๊ว )” (หน้า 82)

 

“อาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวทั้งหมดนั้น คนขายส่วนใหญ่จะเริ่มออกเรือกันตั้งแต่ประมาณ 9-10 โมง เรื่อยไปจนกว่าจะขายกันหมด ดังนั้น ช่วงเวลาการขายกว่าจะพายเรือไล่จากปากคลองเข้าไปในคลองนั้นก็น่าจะมีตั้งแต่ ๙ โมงเช้าไปจนถึงบ่ายโมง-บ่าย 2 โมง” (หน้า 87)

 

ผู้เขียนยังนำเสนอถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ย่านนี้เป็นแหล่งขายก๋วยเตี๋ยวจำนวนมากมายหลายเจ้า ทั้งการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจีนริมคลองชักพระ เมนูก๋วยเตี๋ยวในยุครัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และที่สำคัญคือการซื้อหาวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ทำก๋วยเตี๋ยวจากตลาดแหล่งต่างๆ เช่น ตลาดพลู ตลาดวัดทอง(วัดสุวรรณาราม) ตลาดท่าเตียน ตลาดเก่าเยาวราช เป็นต้น รวมไปถึง “โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว” ที่มีอยู่ถึง 2 แห่งริมคลองชักพระ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวส่งขายไปทั่วทั้งฝั่งธนบุรีและพระนคร อีกทั้งในอดีตโรงผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเหล่านี้ยังเป็นแหล่งทำเต้าหู้และเพาะถั่วงอก อันเป็นส่วนประกอบสำคัญในก๋วยเตี๋ยวด้วยเช่นกัน 

 

นอกจากนี้ยังมีเรือสินค้าประเภทอื่นๆ ที่เคยพายขายกันอยู่ในคลองชักพระตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่ว่าจะเป็นเรือขายน้ำแข็งไส เรือขายขนมหวานประเภทต่างๆ เรือขายผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ที่มาจอดเทียบท่าถึงศาลาท่าน้ำหน้าบ้าน ตลอดจนภาพบรรยากาศของย่านบางขุนนนท์ในวันวานที่เป็นสวนผลไม้นานาชนิด อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด กระท้อน ฯลฯ

 

ภายเล่มยังมีบทความทิ้งท้ายเรื่อง “ตลาดน้ำและก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต” และภาคผนวกเรื่อง “ถนนบางขุนนนท์...ขุนพลแห่งก๋วยเตี๋ยว” ของ วิษณุ เครืองาม ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่าเป็นจุดประกายให้เริ่มต้นบันทึกเรื่องราวก๋วยเตี๋ยวในย่านบางขุนนนท์อย่างจริงจัง จนสำเร็จเป็นข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้

 

ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะกล่าวไว้ในคำนำอย่างถ่อมตนว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีตผ่านวิถีชีวิตของผู้คนตามริมแม่น้ำลำคลองที่ข้อมูลส่วนใหญ่อาศัยการปะติดปะต่อจากความทรงจำที่อาจไม่มีหลักฐานอื่นๆ มาอ้างอิง แต่อย่างไรก็ตาม  หนังสือเล่มนี้ถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในการเติมเต็มภาพอดีตของผู้คนฝั่งธนบุรีที่เปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากนัก

 

ด้วยสำนวนการเขียนที่เหมือน “เล่าให้ฟัง” อย่างเป็นกันเอง ประกอบกับเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกถ่ายทอดอย่างสนุกสนาน ได้สร้างสีสันให้ตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้ผ่านไปอย่างไม่น่าเบื่อ อีกทั้งยังมีภาพถ่ายเก่าย่านบ้านขุนนนท์และวิถีชีวิตริมคลองชักพระที่หาชมได้ยากในปัจจุบันสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเล่ม เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว น่าจะอยากรับประทานก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดที่ย่านบางขุนนนท์กันสักชาม สองชาม  และยิ่งไปกว่านี้คือ การอ่านหนังสือเล่มนี้อาจจะจุดประกายให้คนที่อยู่ตามถิ่นฐานย่านต่างๆ หันมาบันทึกเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของท้องถิ่นตนเอง ก่อนที่จะสูญหายไป 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ