“มะริด” หลังพระอาทิตย์ตก
เที่ยวแบบวารสาร

“มะริด” หลังพระอาทิตย์ตก

 

อภิญญา นนท์นาท : เรื่อง

อรรถพล ยังสว่าง : ภาพ

 

ปัจจุบันมะริดเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางตอนใต้ของเมียนมา มีการประมงและต่อเรือเป็นอุตสาหกรรมหลัก ท่าเรือใหญ่น้อยของเมืองจึงเต็มไปด้วยผู้คน เรือสินค้าและเรือโดยสารเข้ามาจอดเทียบอย่างไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับความคึกคักที่ย่านตลาดร้อยปี รวมไปถึงร้านค้าต่างๆ บริเวณรอบหอนาฬิกาประจำเมืองและในตรอกซอกซอย ตามถนนสายหลักมีรถยนต์วิ่งขวักไขว่ เสียงแตรดังประสานจนไม่รู้ว่าต้นตอมาจากรถคันใด บรรยากาศเช่นนี้ดำเนินไปตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงหัวค่ำ

 

อาคารร้านค้าหนาแน่นที่ตั้งอยู่รอบหอนาฬิกาประจำเมือง

 

เจดีย์เตงด่อจี (Thein Daw Gyi) เป็นศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองมะริด ตั้งอยู่บนเนินเขา จากจุดนี้สามารถมองเห็นภูมิทัศน์ของเมืองได้โดยรอบ วัดแห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมสำคัญของผู้นับถือศาสนาพุทธในมะริด ชาวมะริดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นคริสต์ มุสลิม และฮินดูตามลำดับ ตลอดทั้งวันจึงมีผู้ศรัทธามาสักการะองค์พระธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก ใกล้บริเวณวัดจึงเป็นแหล่งขายดอกไม้สำหรับบูชาพระ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้าน แต่ละร้านจะจัดดอกไม้ช่อเล็กๆ พร้อมธูปเทียนเตรียมไว้บริการผู้มาไหว้พระ

 

ซุ้มประตูทางเข้าวัดเจดีย์เต่งดอจี จากตรงนี้ผู้มาสักการะต้องถอดรองเท้าฝากไว้ แล้วขึ้นบันไดไปยังด้านบน ซึ่งเป็นที่ตั้งพระเจดีย์และวิหาร 

 

ร้านขายดอกไม้ใกล้กับเจดีย์เต่งดอจี

 

ยามเย็นที่แดดร่มลมตก บริเวณรอบๆ เจดีย์เต่งดอจียิ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว กล่าวกันว่าหากมาถึงมะริดต้องมาเยือนที่นี่ การชมพระอาทิตย์ตกดินที่เจดีย์เต่งดอจีถือว่างดงามที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นการชมวิถีชีวิตของผู้คนที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง มัคคุเทศก์ท้องถิ่นแนะนำว่าการเดินเวียนประทักษิณรอบเจดีย์ 3 รอบ ให้เริ่มต้นตรงที่ตั้งเทวดาประจำวันเกิดของตนเอง ซึ่งเทวดาแต่ละองค์จะมีสัตว์พาหนะแตกต่างกัน เช่น วันจันทร์เป็นเสือ วันอังคารเป็นสิงห์ เป็นต้น เมื่อเวียนครบ 3 รอบแล้ว ก็จะกลับมาตรงที่ตั้งเทวดาประจำวันเกิดพอดี จากนั้นทำการไหว้พระ ถวายดอกไม้ สรงน้ำพระพุทธรูปและเทวดาประจำวันเกิด

 

หนุ่มสาวซื้อดอกไม้เพื่อมาสักการะบูชาพระเจดีย์

 

ชาวบ้านสักการะพระพุทธรูปภายในวิหารของวัด

 

เมื่อครั้งที่ไปเยือนมะริดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 เจดีย์เต่งดอจีดูแปลกตาไปกว่าเคยเพราะกำลังอยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยรอบองค์เจดีย์ถูกล้อมด้วยฟากไม้ไผ่เพื่อบดบังภาพการทำงานของช่างในช่วงกลางวันและนั่งร้านที่เป็นโครงไม้ไผ่ซึ่งอยู่ภายใน ยามปกติเจดีย์เต่งดอจีเป็นเจดีย์สีทองอร่าม รูปแบบอย่างเจดีย์มอญเหมือนเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง ทำส่วนฐานลาด ไม่มีชั้นประทักษิณและสถูปิกะ (เจดีย์จำลององค์เล็กๆ) ที่ประดับอยู่ตามมุม ถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปไม่มีบัลลังก์ ส่วนยอดประกอบด้วยปล้องไฉน ปัทมบาท (ชุดบัวคว่ำบัวหงาย) และปลียอดตามลำดับ

 

เจดีย์เต่งดอจีในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์

 

ฟากไม้ไผ่ล้อมรอบองค์เจดีย์ขณะกำลังบูรณปฏิสังขรณ์

 

ชีวิตยามค่ำคืนในเมืองมะริดค่อนข้างเงียบสงบ ด้วยไม่ใช่เมืองแห่งแสงสีที่ต้อนรับนักท่องราตรี เพียงเวลาราว 2-3 ทุ่มร้านรวงต่างๆ เริ่มทยอยปิดกันแล้ว อย่างศูนย์การค้าใกล้ๆ กับโรงแรมที่พัก ผู้คนเริ่มบางตาตั้งแต่ราวหนึ่งทุ่มด้วยซ้ำไป ถนน Kan Phyar ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมือง ผ่านหน้าโรงแรม Grand Jade หอนาฬิกา ตลาดร้อยปี ไปจดถนนเลียบชายฝั่ง สองฝั่งเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ร้านขายของเบ็ดเตล็ด ร้านโทรศัพท์มือถือ ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ในเวลากลางวันถนนสายนี้ค่อนข้างคึกคัก ก่อนจะค่อยๆ หลับใหลในค่ำคืน มีเพียงร้านอาหารบางแห่งที่ยังเปิดบริการอยู่ไม่ให้เมืองเงียบเหงาจนเกินไป ทราบมาว่าบางร้านเปิดจนโต้รุ่ง

 

บรรยากาศช่วงค่ำของถนนสายหลักในเมืองมะริด

 

สองฝั่งถนน Kan Phyar เต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆ

 

ร้านอาหารในเมืองมะริด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารไทยเพราะนักท่องเที่ยวให้ความนิยม บางร้านมีแม่ครัวพ่อครัวที่ผ่านการทำงานในประเทศไทยมาก่อน บ้างมีเจ้าของเป็นคนไทยที่ไปดำเนินธุรกิจอยู่ที่นั่น อย่างไรก็ตาม อาหารไทยที่มะริดยังคงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากอาหารไทยที่เราคุ้นลิ้นอยู่บ้าง การปรุงด้วยเครื่องเทศต่างๆ ทำให้มีรสและกลิ่นที่แตกต่างออกไป วัตถุดิบโดยเฉพาะอาหารทะเลนั้นสดใหม่ เพราะที่นี่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ นอกจากเรือประมงชายฝั่งและเรือประมงน้ำลึกแล้ว มะริดยังมีฟาร์มปูนิ่มและกุ้งมังกร แต่สำหรับร้านค้าที่เปิดอยู่จนดึกดื่น โดยมากไม่ใช่ร้านขายอาหารจานหลัก แต่เป็นร้านชากาแฟและขนมนมเนยต่างๆ บางร้านมีเจ้าของเป็นแขกมุสลิมและฮินดู

 

โรงแรมที่พักในมะริดมีเปิดบริการจำนวนมาก ตั้งแต่ห้องเช่าราคาถูกสำหรับแรงงาน ไปจนถึงโรงแรมระดับ 3-4 ดาวที่เปิดรับนักท่องเที่ยว

 

อาคารริมถนนสายหลักของเมือง ชั้นล่างเปิดเป็นร้านอาหาร ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย

 

ร้าน G Apparao Restaurant ขายชาและขนมแบบอินเดีย

 

เมืองมะริดมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามและฮินดูอยู่ไม่มากนัก ที่ถนน Kan Phyar มีร้านขายอาหารอินเดียขึ้นชื่ออยู่ร้านหนึ่ง ชื่อร้าน G Apparao Restaurant เจ้าของนับถือศาสนาฮินดู ขายชา กาแฟ และขนมอินเดียแบบต่างๆ ของที่ขึ้นชื่อคือโรตีที่ทำสดใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีชาวฮินดูที่มะริดจำนวนไม่มาก แต่ก็มีเทวสถานฮินดูหลายแห่ง เช่น เทวสถานพระราม (Sri Rama Hindu Temple) เทวสถานพระศิวะ (Sri Shiva Hindu Temple) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารฮาลาลของมุสลิมและร้านหาบเร่แผงลอยขายอาหารและผลไม้อยู่บ้าง

 

ขนมลาดู (Laddu) เป็นขนมแบบอินเดีย ทำจากแป้ง น้ำตาล และถั่ว ปั้นเป็นก้อนกลม ทอดด้วยน้ำมันเนย (Ghee)

 

โรตีเป็นอาหารขึ้นชื่อของร้าน G Apparao Restaurant ด้านหลังร้านมีเตาโรตีทำใหม่ๆ ร้อนๆ ทุกวัน

 

ขนมแป้งทอดหลากหลายรูปแบบวางขายอยู่ที่หน้าร้าน

 

ส่วนย่านที่คึกคักที่สุดในยามค่ำคืนอยู่บนถนน Kannar ซึ่งเป็นถนนเลียบชายฝั่ง ตลอดแนวถนนเต็มไปด้วยโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งมีทั้งที่นั่งรับประทานกันในร้านกับที่เปิดโล่งรับลมทะเล ส่วนใหญ่เป็นร้านบาบีคิวและอาหารทะเลเผา ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศสังสรรค์เพราะมีบาร์ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ด้วย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว หากเป็นคนท้องถิ่นก็มักเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน หรือมาเป็นครอบครัว จากถนนเลียบชายฝั่งตรงนี้ เมื่อมองจากฝั่งออกไปจะเห็นเกาะ Phataw-Phatet ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับชายฝั่ง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม เช่น โรงเลื่อย โรงต่อเรือ และฟาร์มปูนิ่ม นอกจากนี้ยังมีวัดพระนอนที่เปิดไฟสว่างเห็นเป็นสีทองอร่าม ไกลออกไปในท้องทะเลจะเห็นดวงไฟเล็กๆ ของเรือประมงนับร้อยลำดูระยิบระยับอยู่ท่ามกลางความมืดมิด

 

ยามค่ำคืนบนถนนสายหลัก 

 

จุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่สามแยกริมถนน Kannar ซึ่งเป็นถนนเลียบชายฝั่ง

 

บรรยากาศหลังพระอาทิตย์ตกที่ตัวเมืองมะริดแม้จะดูเรียบง่าย แต่หากเปรียบเทียบกับเมืองตะนาวศรี ซึ่งยังเป็นสังคมแบบชนบท จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างที่สุด เมืองตะนาวศรีทุกอย่างดูจะหยุดนิ่งตั้งแต่แสงสุดท้ายลับขอบฟ้าไป เว้นแต่เมื่อมีงานมหรสพ ซึ่งจัดขึ้นที่วัดหรือโรงเรียน ส่วนร้านอาหารขนาดใหญ่ที่พอจะนั่งกินดื่มสังสรรค์มีเพียงแค่ร้านเดียว ในอนาคตยามค่ำคืนที่มะริดอาจจะคึกคักมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการขนส่ง เพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงไม่หยุดนิ่ง

 

หมายเหตุ*

ผู้เขียนเดินทางไปเยือนเมืองมะริด เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562  อนึ่ง ชื่อถนนสายต่างๆ ที่ปรากฏในบทความสะกดตาม Google Map ข้อมูลแผนที่ปี พ.ศ. 2563


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ