เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน
แวดวงเสวนา

เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน

 

โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค มีทั้งหมด 2 ช่วง คือ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ และช่วงท่าพระ-บางแค รวมระยะทางทั้งสิ้น  14 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมการคมนาคมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน

 

ความสำคัญประการหนึ่งของเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้ คือ เป็นเส้นทางที่พาดผ่านเข้ามายังย่านเมืองเก่าในเขตพระนครชั้นใน ตั้งแต่สถานีหัวลำโพง วิ่งตามถนนเจริญกรุงผ่านสถานีวัดมังกร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ใกล้กับถนนเยาวราช เข้าสู่พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในที่สถานีสามยอด ย่านวังบูรพา ผ่านสถานีสนามไชยด้านหน้ามิวเซียมสยาม ก่อนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาดเข้าสู่ฝั่งธนบุรีที่สถานีอิสรภาพ จากนั้นไปยังสี่แยกท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษมจนถึงสถานีหลักสอง เขตบางแค โดยตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน โดยเฉพาะช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ เป็นย่านเมืองเก่าที่มีมรดกวัฒนธรรมสำคัญหลายอย่าง อันแสดงให้เห็นถึงการก่อร่างสร้างเมืองกรุงเทพฯ ในยุคสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัง วัด ศาลเจ้า สถานที่ราชการ และย่านการค้าเก่าแก่

 

จากความสำคัญดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2557 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ ผศ. ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ นักโบราณคดีและอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาชุมชนและสถานที่สำคัญตามเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ตลอดสองข้างรางรถไฟในอนาคต

 

ผศ. ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์

 

ในงานเสวนา Museum in Focus 2019  เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่จัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ได้เรียนเชิญ ผศ. ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ มาเป็นวิทยากรในหัวข้อ “เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน” เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีตามเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ อาจารย์กรรณิการ์เริ่มต้นเล่าถึงประเด็นที่น่าสนใจที่พบเห็นระหว่างการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น ดังนี้  

 

[1]

ผลกระทบที่เกิดขึ้นบนดิน : ความเปลี่ยนแปลงของย่านชุมชนเก่าและสถานที่สำคัญ

 

จะเห็นว่าตั้งแต่สถานีหัวลำโพงเรื่อยมาถึงสถานีเยาวราช สถานีสามยอด สถานีสนามไชย ก่อนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่ฝั่งธนบุรี ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยชุมชนเก่าและสถานที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ศาลเจ้า ตึกแถวเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 4-6 เป็นต้น ถึงแม้ว่าการเข้ามาของรถไฟฟ้าจะทำให้สามารถพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวและช่วยให้การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นไปได้โดยสะดวก แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับความจริงที่ว่าชุมชนย่านเก่าที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิม ล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าทางใดทางหนึ่งจากการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นการไล่รื้อชุมชน หรือทำให้กิจการค้าที่เคยทำสืบต่อมายาวนานต้องยุติลง ดังเช่น ย่านเก่าในแถบถนนเจริญกรุง-เยาวราชที่ตั้งอยู่โดยรอบสถานีวัดมังกรและได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเจริญไชย เวิ้งนครเขษม เวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ชุมชนวังแดง เป็นต้น

 

"สถานีวัดมังกร" ออกแบบตกแต่งภายในแบบจีน สะท้อนถึงย่านเยาวราช (ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีวัดมังกร)  

 

ในมุมมองการอนุรักษ์และพัฒนา อาจารย์กรรณิการ์กล่าวว่า “ในฐานะนักโบราณคดี ไม่ได้มองว่าจะต้องอนุรักษ์แต่ของเก่าอย่างเดียว โลกนี้ต้องมีการพัฒนา แต่เราจะพัฒนาอย่างไรให้ของเก่ามาแมตช์ได้พอดี เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่สิ่งเหล่านี้ได้ต่อไป”  โดยได้หยิบยกกรณีศึกษาที่ชุมชน “เวิ้งเลื่อนฤทธิ์” มาบอกเล่า ด้วยเพราะเป็นชุมชนเก่าแก่และเห็นถึงกระบวนการแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

 

เวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนเยาวราชและถนนจักรวรรดิ บริเวณแยกวัดตึก ตามประวัติกล่าวว่า เดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นของพระยาราชสุภาวดี (ปาล สุรคุปต์) ภายหลังกรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของทายาทรุ่นหลาน คือ คุณหญิงเลื่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 เมื่อมีการตัดถนนเยาวราช ที่ดินของคุณหญิงเลื่อนถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ที่ดินฝั่งเหนือถนนเยาวราชและที่ดินฝั่งใต้ถนนเยาวราช ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ในปัจจุบัน (ข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือ “เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน”)

 

ต่อมาคุณหญิงเลื่อนได้แต่งงานกับ หลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จึงสันนิษฐานว่าชื่อเรียก “เวิ้งเลื่อนฤทธิ์” มีที่มาจากชื่อของคุณหญิงเลื่อนกับสามีนำมารวมกัน เดิมทีคุณหญิงเลื่อนได้สร้างเรือนแถวไม้ให้คนเช่า นอกจากนี้ยังมีตลาดและโรงละคร แต่ภายหลังคุณหญิงเลื่อนได้ขายที่ดินให้กับพระคลังข้างที่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระคลังข้างที่ได้สร้างตึกแถวให้กลุ่มพ่อค้า ทั้งชาวไทย จีน อินเดีย เข้ามาเช่าเปิดกิจการร้านค้า ดังปรากฏแผ่นหินจารึก 3 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ ข้อความระบุถึงระเบียบสัญญาเช่าของพระคลังข้างที่ ซึ่งตึกเก่าหลายแห่งในย่านนี้ เช่น ที่ชุมชนวังแดง เวิ้งนาครเขษม ก็พบแผ่นหินแบบเดียวกันนี้ด้วย

 

เวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ขณะกำลังดำเนินการบูรณะซ่อมแซม (ภาพถ่ายเมื่อ 14 พ.ค. 2559) 

 

อาคารตึกแถวภายในเวิ้งเลื่อนฤทธิ์มีจำนวนราว 200 กว่าคูหา เป็นแหล่งธุรกิจค้าส่งผ้าม้วน ผ้าแพร สำหรับนำไปตัดเย็บเสื้อผ้า โดยเป็นกิจการของพ่อค้าชาวอินเดียและชาวจีนที่ขยายออกมาจากย่านสำเพ็งที่อยู่ไม่ไกลกัน นอกจากนี้มีร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ฮาร์ดแวร์ อะไหล่เครื่องยนต์ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีก-ส่ง และเป็นเอเยนต์กระจายสินค้าไปตามต่างจังหวัด

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนเวิ้งเลื่อนฤทธิ์เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบันจะไม่ต่อสัญญาเช่าและให้ชุมชนย้ายออกไป เป็นจุดเริ่มต้นในชาวชุมชนเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ร่วมกันขบคิดหาหนทางแก้ปัญหา โดยอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการหลายด้าน ทั้งนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และสถาปนิก ในการศึกษาถึงคุณค่าและความสำคัญของชุมชน นำมาสู่การจัดตั้ง “บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด” เพื่อต่อรองและเข้าทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เป็นผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่ในแนวทางการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการซ่อมแซมอาคาร ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมศิลปากร (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.crownproperty.or.th/post/การพัฒนาพื้นที่โครงการซอยเลื่อนฤทธิ์)

 

ตัวอย่างโบราณวัตถุที่ขุดพบภายในเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ (ภาพถ่ายเมื่อ 14 พ.ค. 2559) 


ระหว่างการบูรณะอาคารเก่าได้มีการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่บ้านคุณหญิงเลื่อนภายในเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ด้วย พบโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะชิ้นส่วนเครื่องถ้วยแบบต่างๆ และที่สำคัญคือ พบชั้นถนนปูอิฐ ซึ่งเชื่อว่าเป็นถนนดั้งเดิมของย่านสำเพ็ง

 

คณะผู้เข้าร่วมเสวนา "เป็น อยู่ คือ โบราณคดีในบางกอก" จัดโดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เข้าเยี่ยมชมเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2559

 

ทุกวันนี้เวิ้งเลื่อนฤทธิ์เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับผู้สนใจหลายด้าน ทั้งนักศึกษาโบราณคดี สถาปัตยกรรม ผังเมือง และบริหารธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การบูรณะซ่อมแซมอาคารเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับชาวชุมชนเวิ้งเลื่อนฤทธิ์คือ ทิศทางการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ในอนาคต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุดหน้าไปอย่างไม่รั้งรอ  

 

[2]

ผลกระทบที่เกิดขึ้นใต้ดิน : หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี

 

อาจารย์กรรณิการ์กล่าวว่า กรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของพื้นที่  จากกรณีศึกษาที่ถูกหยิบขึ้นมาเล่านั้น จะเห็นว่าล้วนเป็นงานโบราณคดีที่มักถูกผนวกรวมกับการก่อสร้างหรือปรับปรุงพื้นที่มาโดยตลอด เช่น การขุดค้นพื้นที่วังหน้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ก็เนื่องมาจากการก่อสร้างหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอาคารชั้นใต้ดิน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบแนวกำแพงเมืองเดิมและฐานอาคารภายในวังหน้า และที่ผ่านมาการขุดเปิดพื้นที่บริเวณโรงละครแห่งชาติและท้องสนามหลวง เพื่อทำการก่อสร้างหรือปรับปรุงสภาพพื้นที่ ก็มักพบโบราณวัตถุประเภทต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วย ปืนใหญ่ กระสุนปืนใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ของวังหน้าทั้งสิ้น

 

เช่นเดียวกับบริเวณมิวเซียมสยามและโรงเรียนราชินี ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีสนามไชย ก็ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีมาแล้วทั้งสิ้น และพบหลักฐานที่น่าสนใจหลายประการ เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งเป็นป้อมปราการรูปดาวที่สร้างขึ้นทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมทางฝั่งตะวันตกที่ปากคลองบางกอกใหญ่ในเขตพระราชวังเดิม กองทัพเรือ

 

ทางขึ้น-ลง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงิน "สถานีสนามไชย" ด้านหน้ามิวเซียมสยาม

 

ผู้เข้าร่วมเสวนา Museum in Focus 2019 เข้าเยี่ยมชมสถานีสนามไชย

 

ราวปี พ.ศ. 2550 ได้มีการขุดค้นภายในโรงเรียนราชินี เนื่องมาจากมีการก่อสร้างอาคารใหม่ พบฐานอาคารกระทรวงธรรมการ สมัยรัชกาลที่ 5 และโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยที่นำเข้ามาจากยุโรป ส่วนบริเวณมิวเซียมสยามก็เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นกัน นับตั้งแต่เป็นส่วนหนึ่งของป้อมวิไชยเยนทร์ในสมัยอยุธยา ต่อมาเป็นที่ตั้งวังเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 3-5 และเป็นที่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ก่อนปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เช่นปัจจุบัน

 

บริเวณที่ทำการขุดค้นทางโบราณคดีภายในมิวเซียมสยาม คือ ลานสนามหญ้าหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ วังท้ายวัดพระเชตุพน ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอฯ ทั้ง 5 พระองค์ รวมทั้งหมด 5 วัง โดยในเขตพื้นที่มิวเซียมสยามมีทั้งหมด 4 วัง และอยู่ที่บริเวณสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังอีก 1 วัง

 

 

ภายในสถานีสนามไชย ออกแบบตกแต่งโดยได้แรงบันดาลใจจากท้องพระโรง รายล้อมด้วยประตูและกำแพงเมือง สะท้อนภาพความเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน 

 

นอกจากหลักฐานในหนังสือ “ตำราวังเก่า” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยาม ทำให้พบหลักฐานวังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ส่วนฐานอาคาร หลุมเสา และกระเบื้องมุงหลังจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นอาคารไม้ ส่วนฐานมีทั้งที่วางแนวไม้และก่ออิฐขึ้นเป็นแถว นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วย เครื่องแก้ว เหรียญตรา ขวดน้ำหอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงวัสดุในการทำเครื่องประดับมุก ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอยมือเสือ เปลือกหอยนมสาว บางส่วนมีการตัดเจียนเป็นรูปทรงต่างๆ สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ (หม่อมเจ้าชายโกเมน) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3  ผู้มีความสนใจในการทำงานเครื่องประดับมุก นอกจากนี้เดิมภายในมิวเซียมสยามยังเคยเป็นที่ตั้ง “ศาลาแยกธาตุ” สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่แห่งแรกของประเทศไทย สังกัดกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ สมัยรัชกาลที่ 5

 

โบราณวัตถุส่วนหนึ่งที่ขุดพบบริเวณมิวเซียมสยามและสถานีสนามไชย จัดแสดงบนป้ายนิทรรศการที่ติดตั้งอยู่ภายในสถานีสนามไชย 


ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ นอกจากจะออกมาในรูปของหนังสือ “เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน” จัดพิมพ์โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติแล้ว ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนผลักดันให้นำผลจากการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีไปจัดแสดงไว้ภายในสถานีสนามไชย เพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานรากของความเป็นชาติ ด้วยเชื่อว่าการทำความเข้าใจอดีต ก็เพื่อรู้จักปัจจุบันและรู้ทิศทางในอนาคต ซึ่งหากสามารถทำได้จริง จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้และต่อยอดการท่องเที่ยว

 

หน้าปกหนังสือ "เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน"

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ