พลิกหน้าสารบัญ 47.4 เมืองฝ้าย นครนอกกัมพุชเทศะ

พลิกหน้าสารบัญ 47.4 เมืองฝ้าย นครนอกกัมพุชเทศะ

 

❝...เมืองฝ้ายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเก่าแก่แห่งลำน้ำลำปลายมาศ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล มีพัฒนาการของเมืองเริ่มแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ พบเนินดินที่ตั้งศาสนสถานและโบราณวัตถุสำคัญในพื้นที่ อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของเมืองในฐานะเป็นนครรัฐแห่งหนึ่งของศรีจนาศะ...❞

❝...นอกจากนี้ยังพบเนินศาสนสถานกระจายอยู่ทั่วไปและพบโบราณวัตถุสำคัญๆ เช่น พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ทำด้วยศิลาและสำริด อันแสดงให้เห็นว่าผู้คนในอดีตที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณนี้มีความเชื่อในพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน...❞

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 47 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) 

"เมืองฝ้าย นครนอกกัมพุชเทศะ" 

 

พบกับหลายบทความที่น่าสนใจภายในเล่ม อาทิ 

 

[1]

การเกิดสยามประเทศ

/ สุดารา สุจฉายา

สยามประเทศคือดินแดนที่ประกอบด้วยชนหลากกลุ่มหลายชาติพันธุ์ซึ่งเคลื่อนย้ายเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่เมื่อราว 500 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อการค้าและแสวงหาทรัพยากรใหม่ เกิดการตั้งหลักแหล่งขึ้นเป็นชุมชนบ้านเมือง และสร้างเครือข่ายขยายอำนาจด้วยการกินดอง ขณะเดียวกันก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา พบว่าในเอกสารของจีนและจารึกโบราณในเมืองพระนครเรียกดินแดนนี้ว่าเสียมหรือสยาม รวมทั้งเรียกผู้คนที่อยู่ในดินแดนดังกล่าวว่าคนเสียมหรือคนสยาม โดยมิได้ชี้ชัดถึงรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่หมายรวมถึงกลุ่มนครรัฐที่ใช้ภาษาเดียวกันและเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกัน 
ดังนั้น เสียมหรือสยามในช่วงเวลานั้น จึงอาจหมายถึงพริบพรี ตามพรลิงค์ เวียงจันท์ หรือสุพรรณภูมิ ก็เป็นได้ กระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อ 2 กลุ่มรัฐสำคัญในลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมตัวกัน นั่นจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดราชอาณาจักรที่มีพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางของสยามประเทศ

 

 

[2]

เมืองฝ้าย ชุมชนโบราณแห่งลุ่มน้ำลำปลายมาศ

/ วิยะดา ทองมิตร

จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมาพบว่าเมืองฝ้าย ไม่เพียงเป็นเมืองสำคัญเพราะปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเท่านั้น แต่ยังพบหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเมืองฝ้ายเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีจนาศะ และต่อมาในสมัยทวารวดียังพบคติการปักหินตั้งเพื่อแบ่งเขตอาศัยออกจากเขตศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งเมื่อความเชื่อในพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูเผยแผ่เข้ามาจึงได้พบการแทนที่หินตั้งด้วยเสมาที่สลักรูปกลีบบัวหรือดอกบัว ดังได้พบใบเสมาตามเนินโบราณสถานร้างในเขตเมืองฝ้ายอยู่หลายแห่ง นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปในพุทธศาสนาเถรวาทและเทวรูปพระโพธิสัตว์ในคติพุทธศาสนามหายานอีกหลายองค์ร่วมด้วย

 

[3]

เมืองฝ้าย_นครรัฐนอกกัมพุชเทศะ

/ ศรีศักร วัลลิโภดม

ในจารึกบ่ออีกา ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15 นั้น ปรากฏเรื่องราวของเมืองเสมาในชื่อศรีจนาศะ โดยถูกระบุว่าเป็นเมืองนอกกัมพุชเทศะ สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามามีอิทธิพลของเมืองพระนครหรือ “กัมพุชเทศะ” เหนือบ้านเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดีตอนปลาย ทั้งนี้เมืองเสมาเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบ ตั้งอยู่ต้นลำน้ำมูล คล้ายคลึงกับชุมชนโบราณหลายแห่งในลุ่มลำมาศที่พัฒนาจากยุคเหล็กและอยู่นอกกัมพุชเทศะเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเมืองฝ้าย ดังพบร่องรอยการเคลื่อนย้ายรูปเคารพในพระพุทธศาสนาแบบมหายานออกไป ถือเป็นหลักฐานสมัยสุดท้ายก่อนลัทธิความเชื่อของอาณาจักรขอมจะเข้ามา


 

[4]

ชุมชนยุคเหล็กทางตอนใต้ของลำน้ำมูลในพื้นที่บุรีรัมย์

/ ดร. พรชัย สุจิตต์

พื้นที่ลุ่มน้ำมูลประกอบไปด้วยชุมชนโบราณกว่า 100 แห่ง ทั้งแบบที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบตั้งแต่ 1-3 ชั้น ชุมชนโบราณเหล่านี้ส่วนใหญ่พัฒนามาจากชุมชนยุคเหล็กในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายซึ่งเป็นช่วงสมัยที่มีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างมีนัยยะสำคัญ สัมพันธ์กับการพบร่องรอยการถลุงเหล็กอย่างกว้างขวาง ดังเช่นที่ บ้านดงพลอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบเตาถลุงเหล็กมากถึง 17 เตา สะท้อนให้เห็นว่า “เหล็ก” เป็นสิ่งสำคัญต่อผู้คนในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ อันเป็นช่วงของการกำเนิดบ้านเมืองขนาดใหญ่

 

[5]

นางรอง เรือกสวนและย่านตลาด

/ อภิญญา นนท์นาท

"นางรอง" เป็นเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บนเส้นทางโบราณที่เชื่อมระหว่างเมืองนครราชสีมา ประโคนชัย บุรีรัมย์ อีกทั้งทางทิศใต้ของเมืองในแถบละหานทราย โนนดินแดง ปะคำ เป็นเขตพื้นที่ป่าเขา และเมื่อข้ามเทือกเขาไปก็เป็นฝั่งเขมร ด้วยเหตุนี้ นางรองจึงกลายเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าของป่าและมีการติดต่อค้าขายกับเมืองนครราชสีมาที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ โดยมีชาวจีนเป็นพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ราบริมลำนางรองเป็นนาข้าวและเรือกสวนที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากสวนจึงเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะมะพร้าวและส้มโอ ต่อมาย่านตลาดนางรองได้เจริญขึ้นตามยุคสมัยจากเส้นทางเกวียนสู่ชุมทางรถยนต์ ปัจจุบันตลาดนางรองยังคงมีเป็นแหล่งค้าส่งสินค้าที่สำคัญให้กับชุมชนต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ

 

 

[6]

วิถีอัตลักษณ์ลาวบ้านยาง

/ จิราพร แซ่เตียว

"บ้านยางลาว" ตั้งอยู่ในตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านยางลาวเป็นชุมชนเก่าแก่ริมลำน้ำมาศที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ดังปรากฏเรื่องเล่าตกทอดถึงคราวอพยพของผู้คนจากสองฝั่งโขงมาลงหลักปักฐานที่นี่เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว อัตลักษณ์โดดเด่นของคนบ้านยางลาวเกิดจากการผสมผสานความเชื่อพุทธและผีเข้ากับวัฒนธรรมลาว เขมรและไทย หล่อหลอมจนกลมกลืนดังสะท้อนผ่านงานบุญประเพณีประจำปี โดยมีพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมใจของคนลาวบ้านยางและเป็นผู้นำท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้ชุมชน

 

[7]

บ้านสำโรงในความเปลี่ยนแปลง

/ ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

บ้านสำโรง เป็นชุมชนชาวเขมรถิ่นไทยที่อาศัยซ้อนทับอยู่บนชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ โดยมีปราสาทบ้านสำโรง เป็นโบราณสถานสำคัญ พื้นที่บริเวณที่ตั้งของบ้านสำโรงจึงเป็นพื้นที่ใช้งานที่ซ้อนทับกันระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านสำโรงกับระบบความเชื่อที่มีต่อโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ทว่าความผันแปรของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมและความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายนอกที่ส่งผ่านมายังท้องถิ่น นำมาซึ่งเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อันเป็นเหตุและปัจจัยให้เกิดความแปรเปลี่ยนภายในชุมชนเอง

 

 

[8]

เศรษฐกิจยุคถ่าน วิถีหาอยู่หากินของคนบุรีรัมย์

/ เกสรบัว อุบลสรรค์

ในอดีตการเผาถ่านเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยม บ้างเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่บางรายก็ยึดเป็นอาชีพหลักจนสามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูจุนเจือสมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี การตัดไม้เผาถ่านยังช่วยขยายพื้นที่เพื่อรองรับการทำนา ดังมีคำกล่าวว่า “ทุ่งนาที่เห็นทุกวันนี้คือ “ป่า” ชาวบ้านต้องโค่นป่าเพื่อให้ได้ที่ทำนาแล้วนำไม้ที่ได้ไปเผาทำถ่าน นับเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ในช่วงสมัยหนึ่ง” โดยแหล่งรับซื้อถ่านส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในตลาดริมทางรถไฟสถานีต่างๆ ร้านค้าหรือคนกลางที่รับซื้อถ่านจากชาวบ้านจะทำหน้าที่รวบรวมถ่านให้ได้ปริมาณมากพอก่อนส่งขายให้คู่ค้ารายใหญ่ในกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟ

 

[9]

บ้านสนวน ชุมชนวัฒนธรรมเขมรบุรีรัมย์

/ เมธินีย์ ชอุ่มผล

บ้านสนวนเป็นหนึ่งในชุมชนชาวเขมรถิ่นไทยที่อาศัยตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อำเภอห้วยราชสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายเขมร สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้ด้วยภาษาเขมรถิ่นไทย มีความหวงแหนและพยายามรักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม มีการทอผ้าด้วยสีสันและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ และยังคงสืบทอดความเชื่อเรื่องการนับถือผีจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างเข้มข้น แต่คนบ้านสนวนก็ยังพร้อมยอมรับและสามารถปรับตัวเพื่อก้าวสู่โลกแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้โดยไม่สูญเสียความเป็นเขมรถิ่นไทยบ้านสนวนไป
 

 

[10]
ตามรอยแขกเลี้ยงวัวจากวรรณกรรมและปากคำชาวพระนคร

/ จิราพร แซ่เตียว

ตามรอยแขกเลี้ยงวัว จากวรรณกรรมเรื่องระเด่นลันไดและโคลงต่างภาษาที่วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของผู้คนต่างชาติต่างภาษาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ร่วมกับการสืบค้นเอกสารทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าถึงการเข้ามาของชาวอินเดียในสังคมไทย เพื่อทำความรู้จักพื้นที่และความหลากหลายของผู้คนในย่านเก่ากรุงเทพฯ

 

[11]

ฉาง ภาพสะท้อนเศรษฐกิจบุรีรัมย์สมัยแรกมีรถไฟ

/ อภิญญา นนท์นาท

การขยายเส้นทางรถไฟสู่อีสานส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเส้นทางรถไฟจากนครราชสีมาขยายถึงเมืองบุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2468 ตามรายทางมีสถานีรถไฟใหญ่น้อยอยู่หลายแห่ง บ้างเจริญขึ้นเป็นย่านตลาดริมทางรถไฟ พร้อมทั้งเป็นแหล่งรับซื้อสินค้าของป่าจากท้องถิ่นต่างๆ ด้วย ดังจะเห็นว่ามีการสร้างโกดังเก็บสินค้าหรือที่เรียกว่า “ฉาง” ขึ้นเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มีฉางเก่าแก่ตั้งอยู่หลายแห่ง ปัจจุบันฉางหลายแห่งยังใช้งานเป็นที่เก็บสินค้า หลายแห่งเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์อื่น ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายแห่งที่ปิดตายหรือถูกรื้อทิ้งไป อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของฉางเก็บสินค้าเหล่านี้ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของบุรีรัมย์เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา

 

[12]

ปการันเจก รักรันทดแห่งปราสาทภูมิโปน

/ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

นอกจากตำนานปราสาทหินพิมาย อันมีท้าวปาจิตรกับนางอรพินเป็นตัวละครเอกที่ถูกถ่ายทอด บอกเล่า และผลิตซ้ำมาหลายครั้งจะเป็นตำนานสำคัญคู่ปราสาทหินพิมายซึ่งเป็นโบราณสถานในดินแดนนอกกัมพุชเทศะที่แสนจะคุ้นหูแล้ว ห่างจากปราสาทหินพิมายลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ยังมีปการันเจก ตำนานเก่าแก่ที่ว่าด้วยเรื่องราวการพลัดพรากจากกันระหว่างธิดาพญาขอมผู้มีฉายาว่านางนมใหญ่ เนียงด็อฺฮทม กับเจ้าชายโฮลมาน เป็นที่มาของคำสาปใต้ต้นลำเจียกในปราสาทภูมิโปน ที่เล่าลือสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

“...หากนางได้กลับคืนมา ณ สถานที่นี้ ขอให้ต้นลำเจียกที่สระแห่งนี้ออกดอก แต่หากนางไม่ได้กลับมาก็ขออย่าให้มีดอกอีกเลย...”

 

[13]

ของขวัญที่แท้ ความหมายแห่งคริสต์มาส

/ อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

คริสต์มาสคงไม่ใช่คริสต์มาส ถ้าปราศจากของขวัญ (Christmas won’t be Christmas without any presents.)”

ประโยคหนึ่งจากวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง สี่ดรุณี (Little Women) ของลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับการมอบของขวัญให้แก่กันในวันคริสต์มาส อันเป็นวันที่คริสตชนทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระเยซูคริสต์ แต่สำหรับของขวัญที่แท้จริง อันเป็นความหมายของวันคริสต์มาสนั้นคือปาฏิหาริย์ในค่ำคืนประสูติของพระกุมารเยซูเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าประทานให้แก่มวลมนุษย์เพื่อไถ่บาป ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและแสดงถึงความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

[14]

บ้านบัว สรกจุก ยุคพัฒนา

/ เมธินีย์ ชอุ่มผล เรียบเรียง

ภาพบรรยากาศของบ้านบัว หรือชื่อในภาษาเขมรว่า สรกจุก ที่ถูกบันทึกไว้เมื่อราว 50-60 ปีก่อน โดยเป็นชุดภาพเล่าเรื่องตั้งแต่คราวแรกตัดถนนเข้าบ้านบัว เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นความทรงจำร่วมของชาวบ้านในชุมชนที่ยังคงเล่าสืบต่อกันมา และนับเป็นการเปิดประตูให้ชาวบ้านบัวก้าวสู่ช่วงสมัยแห่งการพัฒนาในทุกด้านอย่างแท้จริง โดยจากภาพจะเห็นว่าการตัดถนนในครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทั้งหนุ่มสาว เยาวชนและพระสงฆ์สามเณรที่พากันมาลงแรงช่วยขุดดิน ถางวัชพืช นอกจากนั้นยังมีภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านและบุคคลสำคัญในชุมชน ภาพกิจกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ภาพประเพณีชีวิต เช่น งานแต่งงาน งานไหว้ผีบรรพบุรุษแบบชาวเขมร ภาพชาวบ้านบัวที่ร่วมในขบวนแห่ประจำจังหวัด และภาพคณะครูกับนักเรียนโรงเรียนบ้านบัวที่บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นต้น

 

[15]

ต่างหูทองคำสมัยศุงคะกับการมาถึงสุวรรณภูมิของระบบคิดจักรวาทิน

/ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

การค้นพบต่างหูทองคำสมัยศุงคะ ที่แหล่งโบราณคดีขะเมายี้ในพม่า นับเป็นการค้นพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ นักวิชาการเชื่อว่าต่างหูทองคำที่พบนี้ถูกผลิตขึ้นที่อินเดีย แม้จะยังไม่พบต่างหูแบบเดียวกันที่อินเดียเลยก็ตาม แต่ก็มีการค้นพบประติมากรรมจำหลักรูปบุคคลสมัยศุงคะจำนวนมากที่สวมใส่ต่างหูชนิดนี้อยู่ ทั้งนี้นอกจากขนาดของต่างหูที่ใหญ่เกินกว่าคนธรรมดาจะสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติแล้ว ลวดลายที่ปรากฏบนต่างหู เช่น สิงโต ช้าง ม้า และรูปบุคคลซึ่งอาจแทนนางแก้วนั้น ล้วนเป็นสัญลักษณ์เครื่องเสริมบารมีที่นิยมใช้ในระบบกษัตริย์หรือจักรวาทิน ต่างหูทองคำสมัยศุงคะที่พบนี้จึงเสมือนตัวแทนของระบบจักรวาทินจากอินเดียบนดินแดนสุวรรณภูมินั่นเอง

 

 

[16]

ล่องเรือค้าขายที่เมืองกาญจน์

/ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวจากการไปเยี่ยมชมจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 5 ในพระอุโบสถหลังเก่า ณ วัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือ พระอารามหลวง จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากเนื้อหาหลักที่เล่าถึงพุทธประวัติตอนต่างๆ แล้ว ยังมีภาพกาก ที่บันทึกภาพวิถีชีวิต การหาอยู่หากิน และการเดินทางค้าขายของคนกาญจนบุรีเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เมื่อนำข้อมูลนั้นมาผนวกรวมกับเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจจากการพูดคุยสัมภาษณ์คุณยายอุทิศ รัตนกุสุมภ์ อายุ 88 ปี ซึ่งได้ถ่ายทอดย้อนเล่าถึงบรรยากาศคราวยังอยู่ทองผาภูมิและต้องอาศัยเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำแควน้อยมายังเมืองกาญจน์เพื่อซื้อหาผักและของสดต่างๆ กลับไปขายนั้น นับเป็นการฉายภาพวิถีชีวิตของคนเมืองกาญจน์ในอดีตให้เห็นได้อย่างกระจ่างชัด

 

[17]

การเปลี่ยนแปลงคำขอต่อเจ้าพ่อศรีนครเตา ทศวรรษ 2500 ถึงปัจจุบัน

/ นราวิทย์ ดาวเรือง และคณะ

คำขอคือคำอ้อนวอนและบนบานศาลกล่าวที่ชาวบ้านผู้ทุกข์กายไม่สบายใจเอ่ยวิงวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติที่ตนศรัทธาและนับถือ ทั้งนี้หากมีพื้นเพอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ หลายคนคงไม่พ้นจะนึกถึงเจ้าพ่อศรีนครเตา ผีใหญ่แห่งแผ่นดินทุ่งกุลาฯ ชาวบ้านเชื่อกันว่าท่านเป็นบุคคลที่เคยมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ กระทั่งต่อมากลายเป็นผีศักดิ์สิทธิ์ให้คุณให้โทษเมื่อเสียชีวิตลง และถูกยึดโยงเป็นที่พึ่งพายึดเหนี่ยวจิตใจมาเนิ่นนานหลายชั่วคน ในอดีต “คำขอ” ส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจ ปากท้อง และการทำมาหากิน รวมไปถึงวิกฤติปัญหาในชีวิตที่แก้ไม่ตก การบนบานต่อเจ้าพ่อศรีนครเตาจึงเป็นทางออกที่หวังเพียงให้ทุกข์ภัยที่ประสบจงลุล่วงบรรเทาเบาบาง อย่างไรก็ดี “คำขอ” ที่เกิดขึ้นดูจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกกำหนดตายตัว โดยพบว่า “คำขอ” จะเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงระยะเวลานั้นๆ

 

[18]

วัฒนธรรมน้ำผักสะทอนในมิติความมั่นคงทางอาหารไทด่าน

/ เอกรินทร์ พึ่งประชา

คนไทด่านคือคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีรากฐานทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากลาวหลวงพระบางเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในสำรับอาหารของคนไทด่านมีการนำน้ำผักสะทอน มาปรุงอาหารให้มีรสชาตินัว น้ำผักสะทอนทำจากใบและยอดอ่อนของต้นสะทอนหรือกะทอน ซึ่งเป็นพืชที่พบทั่วไปในท้องถิ่น นำมาหมักและเคี่ยวให้ได้ที่ก่อนนำไปใช้ น้ำผักสะทอนเป็นเครื่องปรุงที่มีรสและกลิ่นเฉพาะตัว อีกทั้งยังเป็นอัตลักษณ์ของคนไทด่านที่สัมพันธ์กับนิเวศธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนคติความเชื่อ

 

ช่องทางสั่งซื้อ (เลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่ง)

Line Shop

คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/1001170434

เพจวารสารเมืองโบราณ

คลิก http://m.me/muangboranjournal

เพจสารคดี เมืองโบราณ นายรอบรู้

คลิก http://m.me/sarakadeeboranrobroo

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น