ปราสาทโคกปราสาท

ปราสาทโคกปราสาท

 

ปราสาทโคกปราสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอาคารสมัยเขมรโบราณขนาดเล็กก่อด้วยหินทราย แวดล้อมด้วยคูน้ำ รัศมีของคูน้ำราว 50 เมตร และยังพบสระน้ำซึ่งมีลักษณะคล้ายบารายอยู่ทางด้านตะวันออกของตัวปราสาท โดยบางส่วนได้ตื้นเขินกลายเป็นที่ทำไร่ของชาวบ้าน ปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของห้วยลึก ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 100 เมตร และถัดออกไปมีลำปลายมาศ โดยห้วยลึกจะไหลจากทางฝั่งตะวันตกไปสบกับลำปลายมาศทางตะวันออก ก่อนจะไหลขึ้นเหนือไปรวมกับลำน้ำมูลในเขตตัวอำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา

 

ปราสาทโคกปราสาท ตั้งอยู่บนที่ราบซึ่งมีคูน้ำล้อมรอบ ใกล้กับห้วยลึกและลำปลายมาศ

 

ร่องรอยของปราสาทหินที่มีสิ่งก่อสร้างยุคใหม่เพิ่มเติมเข้ามา

 

เนินปราสาทซึ่งเกิดจากการพังทลายของปราสาทเขมร ปัจจุบันยังไม่ได้รับการบูรณะ

 

กองชิ้นส่วนหินทรายซึ่งเป็นส่วนประกอบของปราสาท ปัจจุบันมีอาคารสมัยใหม่ของวัดสร้างขึ้นมาประชิด

 

บริเวณซากปรักหักพัง มีทางเดินเล็กๆ เข้าไปยังห้องคูหาของตัวปราสาท

 

สภาพปราสาทโคกปราสาทในปัจจุบันพังทลายลงมาเกือบทั้งหมด แต่ยังหลงเหลือส่วนฐานและเรือนธาตุ โดยมีการนำรูปเคารพนักบวชมาประดิษฐานไว้ภายใน ส่วนที่อยู่ติดกันทางด้านตะวันออกมีการสร้างอาคารสมัยใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดโคกปราสาทที่สร้างขึ้นซ้อนทับในบริเวณใกล้กับโบราณสถานแห่งนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ในบริเวณใกล้กับตัวปราสาทยังพบส่วนประกอบของอาคารโบราณ ได้แก่ ภาพจำหลักรูปครุฑยุดนาค ภาพจำหลักรูปช้าง 3 ตัว รวมไปถึงชิ้นส่วนของลูกมะหวดที่ใช้ประดับเป็นลูกกรงหน้าต่าง ปราสาทโคกปราสาทแต่เดิมคงเป็นศาสนสถานประจำชุมชนแถบนี้มาก่อน ทั้งอยู่ใกล้กับลำปลายมาศซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้งที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ราว 50 กิโลเมตรได้ นอกจากนี้ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือราว 10 กิโลเมตร ยังเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมาย ซึ่งสามารถเชื่อมถึงกันได้ด้วยห้วยลึกที่อยู่ด้านเหนือของตัวปราสาทแห่งนี้  

 

เสากรอบประตูปราสาท

 

ประตูหลอกทางด้านตะวันตกของปราสาท

 

ลายจำหลักรูปเครือเถาบริเวณส่วนฐานของอาคาร

 

ชิ้นส่วนลูกมะหวดที่เคยประดับบริเวณหน้าต่าง

 

ภายในห้องคูหา ปัจจุบันนำรูปนักบวชมาประดิษฐานไว้

 

ลายจำหลักคล้ายช้าง 3 เชือก

 

ชิ้นส่วนอาคารที่มีลายจำหลักคล้ายครุฑยุดนาค

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ