'ขัวแตะ' ข้ามน้ำวัง
ข้างหลังภาพ

'ขัวแตะ' ข้ามน้ำวัง

 

“ขัว” เป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง สะพาน

“แตะ" หมายถึง การใช้ไม้รวกหรือไม้ไผ่ผ่าซีกมาสานขัดกัน

“ขัวแตะ” หมายถึง สะพานที่ใช้ไม้ไผ่มาสานขัดแตะ สำหรับเป็นเส้นทางสัญจรข้ามลำน้ำ ลำห้วย

 

ในอดีตที่ลำปางมีการสร้างขัวแตะขึ้นหลายแห่งเพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงติดต่อกันระหว่างชุมชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำวัง การสร้างขัวแตะทำได้เฉพาะหน้าแล้ง โดยเป็นการลงขันเอาแรงช่วยกันภายในหมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขัวแตะเป็นสะพานขนาดเล็กๆ พอให้คนและจักรยานข้ามผ่านได้เท่านั้น เสาสะพานและราวสะพานทำด้วยท่อนไม้ไผ่ ส่วนพื้นปูด้วยไม้ไผ่ขัดแตะเป็นทางเดิน เวลาเดินแม้ยวบยาบแต่ก็มั่นคงแข็งแรงดี

 

ขัวแตะ ทอดข้ามแม่น้ำวัง ภาพถ่ายในตัวเมืองลำปาง เมื่อราว พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

อย่างไรก็ตาม ขัวแตะเช่นนี้เป็นเพียงสะพานที่สร้างขึ้นอย่างชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก พวกท่อนไม้จากป่าเขาที่หักโค่นมักถูกพัดพาลงมาตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก บรรดาขัวแตะต่างๆ จึงถูกพัดพาตามไปด้วย เช่นเดียวกับการล่องแพซุงของบริษัททำไม้ที่ส่งผลในลักษณะเดียวกัน ภายหลังเมื่อเริ่มมีการสร้างสะพานคอนกรีต ตำแหน่งที่เคยเป็นขัวแตะมาแต่เดิมหลายแห่งได้เปลี่ยนมาสร้างเป็นสะพานคอนกรีตอย่างถาวร

 

ชาวบ้านเดินข้ามขัวแตะ บ้างใช้เป็นที่ตกปลา ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ปัจจุบันในจังหวัดลำปางมีการสร้างขัวแตะแบบดั้งเดิมขึ้นใหม่หลายแห่งเพื่อเป็นหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ขัวแตะบ้านน้ำโท้ง ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ สะพานบุญวัดพระธาตุสันดอน ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ สะพานบุญวัดหลวงนางอย ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม ซึ่งเป็นขัวแตะที่ยาวถึง 900 เมตร

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ