วัดศรีชุม วัดพม่าในนครลำปาง

วัดศรีชุม วัดพม่าในนครลำปาง

วัดศรีชุม ตั้งอยู่บนถนนทิพย์วรรณ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง วัดแห่งนี้ถูกบูรณปฏิสังขรณ์โดยคหบดีพม่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังปรากฏความงดงามของงานช่างพม่า เป็นหลักฐานที่แสดงถึงตัวตนและบทบาทของชุมชนชาวพม่า ผู้มีส่วนรังสรรค์นครลำปางในยุคสมัยที่มั่งคั่งรุ่งเรืองจากการทำไม้

 

วัดศรีชุมในอดีต จากภาพเห็นว่ามีอุโบสถและจอง ยังไม่มีเจดีย์ประธาน ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายหลัง (ที่มา : หนังสือลำปางศึกษา)

 

อุโบสถวัดศรีชุม ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

อิทธิพลงานศิลปะพม่าที่พบในภาคเหนือของไทยปรากฏชัดเจนมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยสัมพันธ์กับอาณาจักรพุกามซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของพุทธศาสนาเถรวาท ดังจะเห็นได้จากกลุ่มเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่พบในเมืองลำพูน ต่อมาในสมัยล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-22 พบว่าศิลปะพุกามยังคงมีอิทธิพลในงานศิลปกรรมระยะแรกของล้านนา ดังปรากฏในรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดและเจดีย์ทรงระฆังในระยะแรกๆ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเจดีย์แบบล้านนาในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับพระพุทธรูปสมัยหริภุญชัยและล้านนาที่มีอิทธิพลศิลปะพุกาม รูปแบบที่สำคัญคือท่าประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ซึ่งศิลปะพุกามรับมาจากอินเดีย สมัยปาละ อีกทอดหนึ่ง

 

อิทธิพลงานศิลปะพม่าปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังจากพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บริษัทอังกฤษที่เข้ามาทำธุรกิจป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยได้นำคนกลุ่มต่างๆ ในพม่า ไม่ว่าจะเป็นพม่า มอญ ไทใหญ่ ตองสู ซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษเข้ามาทำไม้ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และแม่ฮ่องสอน กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้สะสมทุนจนกลายเป็นคหบดีที่ร่ำรวย มีบทบาทอย่างมากทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งรวมถึงการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดและบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าโดยนิยมทำแบบวัดพม่า

 

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดพม่าคือเจดีย์แบบมอญ-พม่า และการสร้างอาคารทรงปยาธาตุคือมียอดเป็นเรือนที่มีหลังคาซ้อนหลายชั้น พบทั้งอุโบสถ มณฑป และจองที่หมายถึงอาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เป็นทั้งวิหารที่ทำพิธีกรรม โรงฉัน กุฏิเจ้าอาวาส เป็นต้น อาคารเหล่านี้มักประดับประดาด้วยงานแกะสลักไม้ ปูนปั้น และประดับกระจกสี โดยทำลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง ลวดลายที่นิยมมีทั้งลายพรรณพฤกษา รูปบุคคล เทวดา ที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและตะวันตกอันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะพม่ายุคหลังที่มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างใกล้ชิด

 

สมัยรัชกาลที่ 5 ในลำปางมีบริษัททำไม้ของอังกฤษเข้ามาเปิดดำเนินการถึง 4 บริษัทด้วยกัน จึงมีกลุ่มคนในบังคับอังกฤษเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในตัวเมืองลำปางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบชุมชนท่ามะโอ ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของที่ทำการบริษัททำไม้ต่างๆ ความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนพม่า มอญ และไทใหญ่ สะท้อนผ่านการสร้างอาคารบ้านเรือนและวัดวาอารามหลายแห่ง วัดที่มีประวัติว่ามีการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์โดยคหบดีชาวพม่าและไทใหญ่ในลำปางมีอยู่ราว 15 วัด ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลำปาง ได้แก่ วัดศรีชุม วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดพระเจ้าทันใจ วัดพระบาท วัดสิงห์ชัย วัดป่าฝาง วัดจองคา (ไชยมงคล) วัดม่อนจำศีล วัดม่อนปู่ยักษ์ (ม่อนสัณฐาน) วัดศรีรองเมือง วัดป่ารวก วัดเขาแก้ว วัดเจดีย์ซาวหลัง วัดท่ามะโอ และมีอีกแห่งคือวัดจองคำ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหวด อำเภองาว

 

วัดศรีชุมเป็นวัดพม่าในอำเภอเมืองลำปางที่มีชื่อเสียงในด้านงานศิลปกรรมแบบพม่าผสมล้านนา โดยเฉพาะอุโบสถและจองทรงปยาธาตุที่มีลวดลายประดับที่งดงาม ด้วยมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และงานศิลปกรรมโบราณ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2524

 

อุโบสถและเจดีย์ประธานในปัจจุบัน

 

จากประวัติวัดที่บันทึกไว้โดยพระปัญญาวังสะเถระ อดีตเจ้าอาวาส มีคำบอกเล่าว่าวัดศรีชุมเดิมเป็นวัดเก่าที่มีมาก่อนแล้ว แต่เดิมอาคารเสนาสนะต่างๆ มีเพียงศาลา 1 หลัง บ่อน้ำ และมีต้นศรีมหาโพธิ์ขึ้นล้อมรอบวัดอยู่หลายต้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดศรีชุม” โดยคำว่า ศรี หรือสรี, สะหรี เป็นคำล้านนาที่ใช้เรียกต้นศรีมหาโพธิ์ ต่อมาราวปี พ.ศ. 2435-2436 จองตะก่าอูโยกับพ่อเลี้ยงอูหม่องและแม่เลี้ยงป้อม คหบดีชาวพม่า ได้ขอเจ้าผู้ครองนครลำปางในขณะนั้นคือเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต (ผู้ปกครองนครลำปางช่วง พ.ศ. 2428-2435) เพื่อบูรณะและสร้างศาสนสถานต่างๆ ขึ้นในพื้นที่วัดเก่าแห่งนี้ สิ่งปลูกสร้างสำคัญภายในวัดศรีชุมประกอบด้วยจอง อุโบสถ เจดีย์ และกุฏิครึ่งปูนครึ่งไม้

 

จอง วัดศรีชุมเป็นจองขนาดใหญ่ เมื่อแรกสร้างโดยจองตะก่าอูโยเมื่อปี พ.ศ. 2443 เป็นอาคารไม้ ต่อมาพ่อเลี้ยงอูหม่องยี ผู้เป็นเขย ได้สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้เมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยนำช่างจากเมืองมัณฑะเลย์มาปลูกสร้างในรูปแบบอาคารทรงปยาธาตุแบบศิลปะพม่า เครื่องหลังคาไม้ที่ทำเป็นเรือนยอดซ้อนชั้นและลวดลายแกะสลักและฉลุไม้ที่ประดับประดาอยู่บนตัวอาคารได้รับการยกย่องว่างดงามมาก ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ บรรยายรูปแบบและความงามของลวดลายประดับจองวัดศรีชุมไว้ในหนังสือ คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณในล้านนา ว่า “ลวดลายประดับจองที่วัดนี้นับว่างดงามที่สุดในบรรดาวัดพม่าในล้านนา มีชื่อเสียงในเรื่องงานไม้ที่หนามากและแกะสลักหลายชั้น ฉลุโปร่ง รูปแบบมีอิทธิพลตะวันตกกับพม่า เป็นลวดลายเครือเถา ได้แก่ ลายใบไม้ ดอกไม้ และก้านใบ ลายธรรมชาติที่แทรกด้วยรูปเทวดาและสัตว์ ที่มีตัวอักษรประดิษฐ์ติดเป็นลวดลาย”

 

จองวัดศรีชุมถือว่ามีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง (ที่มา : หนังสือลำปางศึกษา)

 

จองวัดศรีชุมทำหลังคาทรงปยาธาตุ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 ส่งผลให้ตัวอาคารเสียหายเกือบทั้งหลัง คงเหลือชิ้นส่วนที่ประดับอาคารอยู่เพียงบางส่วน จองหลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ภายใต้การควบคุมโดยกรมศิลปากรให้ออกมาใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

 

บันไดทางขึ้นจอง ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

ลวดลายแกะสลักและฉลุไม้ประดับจองมีรูปแบบศิลปะพม่าผสมผสานกับศิลปะตะวันตก ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

 

ลวดลายประดับจองที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งถูกบูรณะขึ้นใหม่

 

จองวัดศรีชุมในปัจจุบันเป็นหลังที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2535

 

อุโบสถ เป็นอาคารแบบจตุรมุข หลังคาทรงปยาธาตุ ประดับด้วยแผ่นโลหะฉลุลาย หลักเสมาเป็นเสากลมทำยอดเป็นรูปดอกบัวตูม พระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะมัณฑะเลย์ ภายในอุโบสถมีแผ่นจารึกติดอยู่ที่ฝาผนังเล่าถึงประวัติการสร้างอุโบสถหลังนี้ ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 ผู้นำสร้างอุโบสถคืออู ส่วย อง สามีแม่เลี้ยงโต๊ะ ร่วมด้วยพ่อเลี้ยงหม่อง-แม่เลี้ยงคำสุก พ่อเลี้ยงส่วยหยิน-แม่เลี้ยงคำมูล พ่อเลี้ยงส่วย อง-แม่เลี้ยงน้อย พ่อเลี้ยงโพเข้ง-แม่เลี้ยงอ่อน พ่อเลี้ยงส่วยปิ-แม่เลี้ยงถา โดยได้นิมนต์พระสงฆ์จากพม่าจำนวน 10 รูปมาประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ใกล้กับอุโบสถมีต้นศรีมหาโพธิ์ที่ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดอยู่โดยรอบ

 

อุโบสถวัดศรีชุม ทำหลังคาทรงปยาธาตุ

 

หลักเสมารอบอุโบสถทำยอดเป็นรูปดอกบัวตูม

 

พระพุทธรูปประธานภายในอุโบสถ

 

บานประตูอุโบสถแกะสลักเป็นรูปกามเทพ (คิวปิด) ยืนบนพระจันทร์เสี้ยว ประดับด้วยกระจกสีและงานโลหะดัด

 

ลวดลายประดับอ่อนช้อยภายในอุโบสถ

 

เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ทางด้านหลังอุโบสถ สร้างขึ้นโดยพ่อเลี้ยงอู ลัน ลิน (อมรินทร์ ศิริประยงค์) เมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นเจดีย์แบบพม่าผสมล้านนา ส่วนฐานเป็นฐานบัว 2 ชั้นซ้อนกันในผังยกเก็จแบบล้านนา องค์ระฆังเล็ก ถัดขึ้นไปมีบัลลังก์ ซึ่งต่างจากเจดีย์แบบพม่าที่ไม่มีบัลลังก์ ส่วนที่ได้รับอิทธิพลเจดีย์พม่าคือปล้องไฉนขนาดใหญ่และส่วนยอดประดับฉัตร

 

บันไดทางขึ้นอุโบสถ

 

ต้นศรีมหาโพธิ์ด้านหน้าอุโบสถ ที่ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด

 

เจดีย์ประธานทำรูปแบบอย่างเจดีย์ล้านนาผสมพม่า

 

ต้นศรีมหาโพธิ์ภายในวัดศรีชุมมีผู้นำไม้ค้ำโพธิ์มาวางไว้ตามประเพณี

 

ในสมัยแรกๆ มีการสร้างกุฏิครึ่งตึกครึ่งไม้ ประดับลวดลายไม้ฉลุอย่างเรือนขนมปังขิง ในประวัติวัดระบุว่ากุฏิหลังแรกที่อยู่ด้านทิศเหนือของวัดสร้างถวายโดยพ่อเลี้ยงอูหม่องยีเมื่อ พ.ศ. 2449 น่าเสียดายที่เมื่อ พ.ศ. 2554 เกิดเหตุเพลิงไหม้กุฏิเก่าแก่อายุ 100 กว่าปี เสียหายทั้งหมด ปัจจุบันเห็นว่ามีกุฏิและหอระฆังเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ประดับไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษาแบบเรือนขนมปังขิง แม้ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด แต่มีความสวยงามน่าดูชม นอกจากนี้ทางด้านขวามือของจองมีตึกทรงสี่เหลี่ยมหลังย่อม ส่วนยอดทำเป็นโดมเตี้ยๆ ที่มุมทั้ง 4 ประดับเจดีย์องค์เล็กๆ ในแผนที่ของวัดเรียกอาคารนี้ว่าโดมขาว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปสักการะบูชาได้ 

 

กุฏิวัดศรีชุมมีหอระฆังอยู่ต่อเนื่องกันไป

 

หอระฆังวัดศรีชุมเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ประดับลวดลายไม้ฉลุอย่างเรือนขนมปังขิง

 

ลวดลายไม้ฉลุประดับที่หอระฆังสวยงามน่าดูชม

 

อาคารโดมขาวภายในประดิษฐานพระพุทธรูป

 

งานศิลปกรรมพม่าที่วัดศรีชุมถือว่ามีความงดงาม ทั้งยังสะท้อนบทบาทและความสำคัญของชุมชนพม่าในลำปางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนลำปางไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

 

แหล่งอ้างอิง

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณในล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2563.

เมธาพร สิงหนันท์. “ชาวพม่า-ไทใหญ่ ในนครลำปางตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 จวบจนปัจจุบัน” ใน ลำปางศึกษา. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2559. เข้าถึงจาก ::สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง::

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ