น. ณ ปากน้ำ ดูจิตรกรรมวัดสามแก้ว
คลังบทความ

น. ณ ปากน้ำ ดูจิตรกรรมวัดสามแก้ว

 

วัดสามแก้วตั้งอยู่ที่ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตมเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลสุราษฎร์ ร่วมกับหลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) พร้อมด้วยทายกทายิกาผู้ศรัทธามาช่วยกันหักร้างถางป่า ปลูกสร้างกุฏิชั่วคราวให้พระสงฆ์ได้จำพรรษา ต่อมาได้สร้างอาคารศาสนสถานอื่นๆ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2469 พร้อมทั้งสร้างอุโบสถขึ้นในปีเดียวกัน

 

อุโบสถวัดสามแก้ว (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 ดังปรากฏจารึกที่ผนังด้านหลังพระประธานว่า

“มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) รับช่วยพระธรรมวโรดม แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกษาจารย์ เขียนภาพนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2471 ลงมือร่างและเขียนด้วยความพยายาม มิได้คิดถึงความยากลำบาก เมื่อมีธุระจำเป็นก็กลับกรุงเทพฯ ครั้นยามว่างจึงออกมาเขียน ถึงเดือนสิงหาคม 2473 การเขียนภาพจึงแล้วบริบูรณ์ และมิได้คิดมูลค่า เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 

ภายในอุโบสถวัดสามแก้ว (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ ได้นำเสนอภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดสามแก้ว ชุมพร โดยมี น. ณ ปากน้ำ หรืออาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ บรรยายภาพ ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2534

 

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ หรือประยูร อุลุชาฎะ (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นเป็นภาพเทพชุมนุมและพุทธประวัติตอนต่างๆ รวมถึงเรื่องราวใน ฎีกาพาหุง อันเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงได้รับชัยชนะต่อผู้มาประทุษร้าย โดยเขียนขึ้นในรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ที่ต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี คือเน้นลักษณะความสมจริงของเรือนร่างมนุษย์ มีกล้ามเนื้อ แสงเงา และให้ความสำคัญกับระยะความใกล้-ไกลของภาพ (Perspective) แบบศิลปะตะวันตก

 

ภาพเทพชุมนุมในที่นี้ ประกอบไปด้วยเทพในศาสนาพราหมณ์ ฤๅษี พระโพธิสัตว์ในคติพุทธศาสนามหายาน พระยาอนุศาสน์จิตรกรเคยเขียนภาพเทพชุมนุมในลักษณะนี้มาก่อนที่ฝาผนังห้องพระเจ้าของพระที่นั่งพิมานปฐมในพระราชวังสนามจันทร์กับในพระวิหารที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม 

 

น. ณ ปากน้ำ ได้อธิบายถึงรูปเทพเจ้าบางองค์ที่น่าสนใจเอาไว้ อาทิ ภาพพระพิฆเนศ ซึ่งวาดอยู่ที่ด้านบนของฝาผนังด้านหลังพระประธาน “...ท่านจิตรกรได้เขียนพระพิฆเนศวร์แบบ Realistic อย่างน่าดูมาก โดยคงเขียนขึ้นตามอย่างรูปพระพิฆเนศวร์ขนาดใหญ่ ศิลปะชวาโบราณ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร”

 

พระพิฆเนศในภาพเทพชุมนุม 

 

พระพิฆเนศ ศิลปะชวา เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

พระโพธิ์สัตว์พระองค์ต่างๆ ในคติพุทธศาสนามหายานก็มีอยู่หลายองค์ ทั้งหมดประทับนั่งบนดอกบัว นุ่งขาวห่มขาว สวมใส่เครื่องประดับและศิราภรณ์  อาทิ “พระไภสัชยคุรุโพธิสัตว์เป็นพระโพธิสัตว์ชั้นเทพสูงสุดทางฝ่ายพุทธมหายาน นับถือกันว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์ ในภาพนี้ทรงถือหม้อน้ำมนต์กับกิ่งไม้ประพรมน้ำ”

 

พระโพธิ์สัตว์พระองค์ต่างๆ ในภาพเทพชุมนุม ขวามือสุดคือ พระไภสัชยคุรุโพธิสัตว์ ทรงถือหม้อน้ำมนต์ 

 

“พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นเทพสูงสุดทางฝ่ายพุทธมหายานอีกองค์หนึ่ง สังเกตว่าเครื่องอาภรณ์ของรูปพระโพธิสัตว์นี้คงได้แบบอย่างจากรูปพระโพธิสัตว์สำริดสมัยศรีวิชัยอันงดงามยิ่งนั่นเอง”

 

ภาพพระสมันตภัทรโพธิสัตว์

 

เทวสตรีในภาพเทพชุมนุม มีอักษรเขียนกำกับไว้ว่า "พระลักษมี" "พระโภสพ" และ "พระสรัสวดี" ตามลำดับ

 

ด้านภาพพุทธประวัติมีหลายตอน เช่น มารผจญ โสตถิยะพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้า นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส พระพุทธเจ้าทรงผจญกับธิดาพญามาร พระพุทธเจ้าโปรดองคุลีมาล พระโมคคัลลานะทรมานพระยานันโทปนันทนาคราชให้ละทิฐิพยศ เป็นต้น

 

ภาพมารผจญที่ผนังสกัดด้านหน้าพระประธาน หม่อมเจ้าหญิงทิพรัตนประภา เทวกุล เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ให้วาดภาพนี้

 

พระพุทธเจ้าโปรดองคุลีมาล

 

 

พระพุทธเจ้าทรงผจญกับธิดาพญามารทั้ง 3 คือ นางตัณหา นางราคะ และนางอรดี 

 

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้บรรยายถึงองค์ประกอบศิลป์ของภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส “ท่านศิลปินได้เขียนภาพทั้งหมดคล้ายอยู่ในเงา แต่เจาะทิวทัศน์ไกลโพ้นให้เห็นท้องฟ้าสว่าง โดยลอดต้นไม้และสุมทุมพุ่มพฤกษ์ไป เป็นทัศนียภาพที่งามแปลกตาในสมัยนั้น”

 

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

 
อีกภาพหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตอนพระโมคคัลลานะทรมานพระยานันโทปนันทนาคราช ซึ่งผู้วาดได้วาดรูปพญานาคที่แตกต่างไปจากจิตรกรรมประเพณีโดยทั่วไป รูปพระยานาครูปนี้ นับว่าแปลก คือท่านพระยาอนุศาสน์จิตรกรแปลความหมายของนาคให้เป็นคล้ายรูปมังกรอย่างฝรั่งหรือสัตว์ประหลาดในหนังญี่ปุ่น แปลกไปจากภาพนาคในความคิดของผู้คนในสมัยโบราณ ภาพนี้นับเป็นภาพที่งดงามชิ้นหนึ่ง”

 

พระโมคคัลลานะทรมานพระยานันโทปนันทนาคราช

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น