ฮวงจุ้ย – ฮวงซุ้ย
คลังบทความ

ฮวงจุ้ย – ฮวงซุ้ย

 

ในคติความเชื่อของชาวจีน เหตุที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต นอกจากเพราะการปฏิบัติตนของแต่ละบุคคลแล้วนั้น ยังสืบมาจากวิญญานบรรพบุรุษที่จะอำนวยให้เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น ประเพณีการเซ่นสรวงบูชาบรรพบุรุษจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่งหากลูกหลานละเลยหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง ย่อมนำเคราะห์กรรมและความทุกข์ยากมาสู่ครอบครัว

 

ความเชื่อดังกล่าว สอดคล้องกับหลักคำสอนของขงจื้อที่มีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมและการดำเนินชีวิตของชาวจีนมาอย่างยาวนาน คำสอนของขงจื้อยึดมั่นในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดาและบรรพบุรุษ ถือว่าผู้ใดที่กตัญญูกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ย่อมรู้จักกตัญญูต่อผู้อื่นซึ่งมีความดีต่อตน บุคคลเช่นนี้ย่อมมีความประพฤติดี ไม่ทำให้วงศ์สกุลมัวหมอง

 

ด้วยเหตุนี้ การเซ่นสรวงบูชาบรรพบุรุษจึงเป็นหน้าที่หรือกิจสำคัญยิ่งที่บุตรหลานผู้สืบสกุลจะละเลยเสียไม่ได้ และเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าสถานที่บรรจุฝังศพนั้นจะเป็นที่อันสบายต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จึงเกิดคติความเชื่อเรื่องการหาทำเลที่ฝังศพบรรพบุรุษที่มีชัยภูมิเหมาะสม เรียกว่า ฮวงจุ้ย หรือ ฮวงซุ้ย

 

การเลือกทำเลที่ฝังศพตามคติของชาวจีนมีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง นอกจากการพิจารณาสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ต้องเป็นที่เนินหรือมีภูเขาทางด้านหลังเพื่อแสดงความมั่นคง ส่วนด้านหน้าจะต้องเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่สามารถทอดสายตาออกไปได้ไกลๆ ไม่มีอะไรบัง เว้นแต่จะเป็นต้นไม้หรือพุ่มไม้ที่จะช่วยสนับสนุนสิ่งบกพร่องให้ดีขึ้นได้ และที่สำคัญจะต้องมีน้ำไหลผ่าน ซึ่งอาจเป็นชายทะเลหรือลำธารก็ได้ เมื่อได้สถานที่ที่เหมาะสมแล้ว จะต้องให้ “ซินแส” ซึ่งเป็นผู้รู้ นำเวลาเกิด-ตายของผู้ตายมาคำนวณเพื่อดูว่าธาตุเข้ากันหรือสนับสนุนกับจุดที่ฝังศพหรือไม่ รวมถึงยังต้องคำนวณเวลาสำหรับการทำพิธีฝังศพด้วย

 

ประเพณีการฝังศพและการเลือกทำเลที่ตั้งสถานที่ฝังศพนั้น ถือว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน เป็นความเชื่อที่ผสมผสานทั้งโหราศาสตร์และความเข้าใจในธรรมชาติ ทำความเข้าใจคติความเชื่อเรื่องคติการจัดหาสถานที่ฝังศพของชาวจีน รวมถึงประเพณีการฝังศพของชาวจีนในแต่ละยุคสมัยได้ในบทความ “ฮวงจุ้ย” โดย นวรัตน์ เลขะกุล ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2522) หน้า 86-97 อ่านบทความฉบับเต็ม ใน “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/0506-2522/88

 

(ภาพปก : บริเวณสุสานเจ้าเมืองสงขลา (ตระกูล ณ สงขลา) อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถ่ายเมื่อ สิงหาคม พ.ศ. 2562) 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น