ตะกั่วป่าเมืองเก่ากับเรื่องเล่าไม่รู้จบ

ตะกั่วป่าเมืองเก่ากับเรื่องเล่าไม่รู้จบ

 

ตะกั่วป่าเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นจากการทำเหมืองแร่ นับแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ จวบจนทศวรรษที่ 2520 เมื่อกิจการเหมืองแร่ทยอยปิดตัวลง ความคึกคักของเมืองจึงเริ่มซบเซา และเงียบเหงาในที่สุด อย่างไรก็ดี ภาพความรุ่งโรจน์ในวันวานของเมืองตะกั่วป่า ยังคงสว่างไสวอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเก่าแห่งนี้

 

แม่น้ำตะกั่วป่า

แม่น้ำสายหลักของเมืองตะกั่วป่า เดิมเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ใช้ในการเดินทางสัญจรจากชายฝั่งทะเลเข้าสู่ตัวตลาดใหญ่ในเมืองเก่าตะกั่วป่า  แม่น้ำตะกั่วป่ามีต้นกำเนิดที่อำเภอกะปง ณ จุดสบกันของคลองรมณีย์ที่ไหลลงมาจากเขาสก และคลองเหลที่ไหลมาจากตอนในของอำเภอกะปง  ในอดีตก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชาวบ้านสามารถล่องเรือจากปากน้ำตะกั่วป่าลงไปจนถึงอำเภอกะปงได้ แต่เมื่อเริ่มมีการทำเหมืองแร่มากขึ้น ทรายที่เกิดจากการทำเหมืองก็ไหลลงสู่แม่น้ำตะกั่วป่า ทำให้แม่น้ำตะกั่วป่าตื้นเขิน ไม่สามารถใช้เดินเรือได้ดังเดิมอีกต่อไป

 

ในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองตะกั่วป่า และได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงแม่น้ำตะกั่วป่าไว้ตอนหนึ่งว่า

"...พอพ้นตลาดก็หมดถนน มีแต่ทางตัดไปตามในป่าละเมาะและทุ่ง เป็นทางงามดี แต่แดดข้างจะร้อน ข้ามคลองหลายแห่ง แต่ล้วนตันเสีย เพราะทรายเหมืองไหลลงมาเต็มเสียหมด การทลายเขาลงมาเพื่อทำเหมืองแร่ขุดนี้ ทำให้เสียประโยชน์มาก ตามริมลำน้ำตะกั่่วป่าเดิมเคยมีบ้านอยู่รายๆ ไป และทราย ทำนา ทำไร่ ทำสวนได้ดี บัดนี้ ทรายไหลลงมาถมคลองตัดทางน้ำเดินเสียหมด แล้วยังไหลไปท่วมที่นาที่สวน ทำการเพาะปลูกไม่ได้..."

 

(ภาพถ่ายโดย Robert Larimore Pendleton ที่มา : http:// collection.lib.uwm.edu)

 

เกาะเหม็ด

 ไม่เพียงคนไทยเชื้อสายจีน กับคนไทยพื้นถิ่นเท่านั้น ที่มีส่วนร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองตะกั่วป่าขึ้นมา ตะกั่วป่ายังเป็นบ้านของคนไทยมุสลิมเชื้อสายไทรบุรีอีกด้วย ดังปรากฏร่องรอยสุสานเก่าของชาวมุสลิมบนเกาะเหม็ด เกาะสำคัญกลางแม่น้ำตะกั่วป่า

 

"เกาะเหม็ด" "เกาะเสม็ด" หรือ "เกาะเสม็ดน้อย" นั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า เกาะนี้อยู่ห่างจากเมืองเก่าตะกั่วป่าไปทางทิศเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร และอยู่ถัดจากเกาะคอเขากับเกาะพระทองเข้ามาในแม่น้ำตะกั่วป่าอีกราว 5 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ถึง "เกาะเสม็ดน้อย" คราวเสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อปี พ.ศ. 2433 ไว้หลายช่วง เช่น

"...ขึ้นไปดูพลับพลาที่เกาะเสม็ดน้อย ตะพานที่ทำนั้น ไม่ใช่ขั้น ทำเป็นตะพานลาดลงมา ผูกฟาก มีไม้ไผ่ผ่าซีกเป็นขั้น ราวไว้กลาง ขึ้นได้สองข้าง ตะพานก็ทำกว้าง ปักเสาและปูฟากอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นไปจนถึงพลับพลา..."

 

แม้ว่าทุกวันนี้ จะไม่มีชาวบ้านอาศัยปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะเหม็ดแล้ว แต่เกาะเหม็ดก็ยังคงถูกกล่าวถึงในหมู่ชาวมุสลิมตะกั่วป่า เพราะมีสุสานบรรพบุรุษท่านสำคัญของชาวมุสลิมตะกั่วป่าฝังอยู่ที่นั่น หนึ่งในกุโบร์ที่สามารถระบุได้คือ กุโบร์ของหวันสเปี๊ยะห์ หรือหม่อมหวัน ธิดาเจ้าเมืองไทรบุรีผู้เป็นภรรยาพระยาเสนานุชิต เจ้าเมืองตะกั่วป่า

 

 

 

ย่านตลาดใหญ่ 

“ย่านตลาดใหญ่ (The Big Market) ของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในเมืองตะกั่วป่า แหล่งทำเหมืองแร่ดีบุก คาบสมุทรประเทศไทย”  เป็นคำบรรยายภาพถ่าย ที่ Robert Larimore Pendleton ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางดิน (Soil Sciences) ซึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงเกษตราธิการ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2478-2485 ได้บันทึกไว้

 

ภาพถ่ายนี้ ตรงกับพื้นที่บริเวณ “ถนนศรีตะกั่วป่า (ใน)” ซึ่งจะเห็นได้ว่า อาคารบ้านช่องริมถนนศรีตะกั่วป่าในย่านตลาดใหญ่ของเมืองตะกั่วป่าในครั้งนั้น ยังไม่มีการถมพื้นถนนให้สูงขึ้นเท่าในปัจจุบัน พื้นถนนกับอาคารตึกแถวยังอยู่ในระดับต่างกัน ต้องทำขั้นบันไดหน้าอาคารแต่ละหลังขึ้นไปอีก 5 ขั้น จึงจะถึงพื้นอาคาร และเมื่อมองไปสุดถนน ช่วงกลางของภาพ จะเห็นอาคารตึกแถวแบบจีนรุ่นแรกตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนศรีตะกั่วป่าต่อถนนอุดมธารา เป็นอาคารที่สวยงามมาก แต่น่าเสียดายที่อาคารหลังนั้นได้พังทลายลงแล้ว

 

ครั้งหนึ่ง “ตลาดใหญ่” เคยเป็นชื่ออำเภอใน “จังหวัดตะกั่วป่า” จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ “ยุบจังหวัดตะกั่วป่า” และลดสถานะให้เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพังงา แต่ด้วยชื่อจังหวัดตะกั่วป่ามีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อันควรสงวนไว้ จึงได้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอตลาดใหญ่” ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดตะกั่วป่าเดิม เป็น “อำเภอตะกั่วป่า” นับแต่นั้นเป็นต้นมา  ทุกวันนี้ชื่อเรียกย่าน “ตลาดใหญ่” ยังคงเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่คนในท้องถิ่นเรียกติดปาก และเป็นที่เข้าใจกันดีว่าหมายถึง บริเวณเมืองเก่าตะกั่วป่าที่เคยรุ่งเรือง นอกจากนี้ยังปรากฎอยู่ในชื่อ “สถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราษฎร์บำรุง ตรงจุดที่แยกมาจากถนนศรีตะกั่วป่า

 

 

 

โรงเรียนเต้าหมิง

 “เต้าหมิง” เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรก และแห่งเดียวในเมืองตะกั่วป่า เดิมเปิดโดยเอกชนอย่างไม่เป็นทางการ กระทั่งกระทรวงธรรมการได้ประกาศ “พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461” ทางโรงเรียนฯ จึงแจ้งความจำนงขอตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 เมื่อแรกเริ่มมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โต๊ะเบ๋ง” /“โรงเรียนราษฎร์โต๊ะเบ๋ง” ดังที่ปรากฏในแบบแจ้งความจำนงตั้งโรงเรียน และเอกสารราชการต่างๆ เป็นการเขียนตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน ซึ่งหากเป็นภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า “เต้าหมิง” (導明)  คำว่า 導 (เต้า) แปลว่า นำทาง ส่วนคำว่า 明 (หมิง) แปลว่า แสงสว่าง หรือ วิชาความรู้ ดังนั้น ในที่นี้จึงแปลความได้ว่า “นำทางสู่ความรู้ (แสงสว่าง)” ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เต้าหมิง” ตามสำเนียงจีนกลางเป็นชื่อโรงเรียนจวบจนเลิกกิจการไป

 

“แปะหยิน” หรือคุณนิวัฒน์ อภัยทาน ชาวตะกั่วป่า เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2467 ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์เก่าของโรงเรียนเต้าหมิง เล่าว่า

“...เดิมเปิดสอนถึงชั้น ป.4 การเรียนการสอนเน้นภาษาจีนเป็นหลัก ภาษาไทยเรียนแค่วันละ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้นมีวิชาวาดเขียน การเขียนจดหมาย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ความรู้รอบตัว และพละศึกษา เช่น ฝึกกายบริหาร กรีฑา เป็นต้น...”

 

 

 

“แปะหยิน” ชายผู้เป็นตำนานแห่งเมืองตะกั่วป่า กับ Mini MOKE รถคู่ใจ

 รถ Mini Moke สีเขียว คันเล็ก น่ารัก วิ่งปราดออกจากแยกไฟแดงหน้าโรงเรียนเสนานุชรังสรรค์อย่างรวดเร็ว มองผาดๆ อาจจะนึกว่าวัยรุ่นขับ แต่จริงๆ แล้ว นั่นคือ “แปะหยิน” หนึ่งในบุคคลสำคัญที่คนทั่วเมืองตะกั่วป่ารู้จักเป็นอย่างดี 

 

“แปะหยิน” หรือ คุณนิวัฒน์ อภัยทาน ลูกชาวจีนฮกเกี้ยนที่ครอบครัวเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองตะกั่วป่ามานาน นับขึ้นไปไม่น้อยกว่า 3 รุ่น แปะหยิน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2467 ถึงปีนี้แปะหยินมีอายุรวม 94 ปี ในวัยเด็ก แปะหยิน ช่วยแม่ขายขนมจีนอยู่หน้าโรงเรียนจีนเต้าหมิง ตัวแปะเองก็เริ่มชีวิตวัยเรียนที่โรงเรียนนี้เช่นกัน พออายุ 15 ปี แปะหยินก็เริ่มเข้าสู่ “วงการเหมืองแร่” ธุรกิจหลักของเมืองตะกั่วป่า ในยุคที่แปะหยินเริ่มทำงานนั้น แปะเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานในบริษัทเหมืองแร่ไซแอม มิส-ทิน (Siamese Tin Syndicate Co.,Ltd.) รับผิดชอบงานกลึง งานไส งานเลี่ยม และงานด้านเครื่องยนต์ด้วย ฝึกหัดตั้งแต่ทำอะไรไม่เป็นเลย จนชำนาญ ไม่ว่าจะซ่อมเครื่องโม่ เครื่องเรือขุด หรือเครื่องยนต์อื่นๆ ของโรงงานก็ซ่อมได้หมด

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 แปะหยิน ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็น เอ็นยีเนีย (Engineer) ประจำเรือขนส่งสินค้าที่ขึ้นล่องปีนัง ทำอยู่นาน 3 ปี ก็กลับมาเป็นเอ็นยีเนียในโรงงานเหมืองแร่ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการโรงงานเหมืองแร่ แปะหยินทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานเหมืองแร่เรื่อยมา ก่อนเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 70 ปี

 

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตะกั่วป่า จึงอยู่ในสายตาของแปะหยินมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ย่านตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่าเก่าที่ย่านยาว หรือที่กะปง แปะเห็นสภาพบ้านเมืองตั้งแต่ยังไม่มีถนนลาดยาง เหมืองที่มีก็ยังเป็นเพียงเหมืองขนาดเล็ก จนเมื่อมีฝรั่งเข้ามาทำงานเหมืองและมีเรือขุดในแม่น้ำตะกั่วป่าหลายลำ กิจการเหมืองแร่ในตะกั่วป่าจึงพัฒนาจนใหญ่โตขึ้น จนร่วงโรยไปในสมัยหลัง ดังนั้นหากต้องการคุยกับแปะหยิน ไม่ว่าเรื่องไหน แง่มุมไหนที่เกี่ยวกับตะกั่วป่า ก็คงต้องขอเวลาคุยกันยาวๆ ไป ทั้งวันก็ว่าได้

 

สำหรับ รถ Mini Moke คู่ใจแปะหยินนั้น เป็นชื่อเล่นของรถที่ถูกออกแบบสไตล์รถมินิจากบริษัท British Motor Corporation (BMC) คำว่า Moke เป็นคำแสลงของ “ลา” หรือ "donkey" ในภาษาอังกฤษ บริษัท BMC ใช้ชื่อ The Moke ทำการตลาดในหลายชื่อด้วยกัน เช่น Austin Mini Moke, Morris Mini Moke และ Leyland Moke เป็นต้น แปะหยิน เล่าถึง Mini Moke คู่ใจ ทิ้งท้ายว่า "...ผมได้รถ Jeep สีเขียว คันเล็กนี้ มาเมื่อปี พ.ศ. 2489 ตอนนั้น คุณจุติ (คุณจุติ บุญสูง เจ้าของกิจการเหมืองแร่) เข้า Take over บริษัทเหมืองแร่ฝรั่ง ท่านก็ให้รถคันนี้มาใช้ ผมขับรถเป็นก็เพราะ Jeep คันนี้ ขับรถคันนี้ตรวจงานทุกวัน ไปไหนไปกัน จริงๆ เป็นรถแบบเปิดประทุน เคยเอาลงเรือไปด้วย แต่ก็หยุดใช้รถไปช่วงหนึ่ง เพราะหาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้ บังเอิญน้องชายไปเจอเครื่องเก่า เขาเอามาซ่อมให้ ผมเลยได้ใช้งานมันมาถึงทุกวันนี้..."

 

 

 

เรือดูดแร่บ้านน้ำเค็ม

หากใครผ่านไปมาแถบบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แล้วโดยสารแพยนต์ข้ามไปยังฝั่งเกาะคอเขา จะสังเกตเห็นเรือเหล็กเก่าคร่ำครึ จอดเกยตื้นอยู่ริมฝั่งแผ่นดินใหญ่ นั่นคือ “เรือดูดแร่” หรือที่บางท่านเรียก “แพดูดแร่”  เรือดูดแร่ลำนี้ เป็นเรือสัญชาติอินโดนีเซีย ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ยุคสุดท้ายของกิจการดูดแร่ดีบุกในทะเล ก่อนปี พ.ศ. 2536 ทั้งนี้ ที่นี่เคยเป็นอู่ต่อ “เรือดูดแร่” หรือ “แพดูดแร่” เพียงแห่งเดียวของภาคใต้ทางฝั่งทะเลอันดามัน ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นอู่ต่อ “แพดูดทราย” ในสมัยหลัง

 

สำหรับการดูดแร่โดยเรือดูดแร่ขนาดใหญ่เช่นนี้ จะทำงานโดยใช้เครื่องดูดขนาดใหญ่คล้ายเครื่องดูดฝุ่น จุ่มลงในทะเล แล้วดูดหินดินที่ปนแร่ขึ้นมาบนเรือ จากนั้นจึงทำการกรอง แยกแร่อีกที กรรมวิธีเช่นนี้ ถือได้ว่าทันสมัย และได้รับความนิยมมากในช่วงราว 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้นกิจการเหมืองแร่จะใช้ระบบ “เรือขุด” โดยมีลูกกะเชอลักษณะคล้ายช้อน ติดกับสายพาน ทำหน้าที่ขุดแร่ที่อยู่ในขุมน้ำหรือในทะเล นอกจากนั้นยังมีการทำเหมืองแบบ “เหมืองฉีด” ด้วยการฉีดดินที่มีสายแร่ให้ทลายลงมายังส่วนที่วางรองรับ อย่างไรก็ดี ด้วยมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจึงห้ามทำเหมืองแร่โดยสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2536 ผู้ที่เคยอยู่ในแวดวงเหมืองแร่ดีบุก ต่างหันมาประกอบธุรกิจอื่น เช่น สวนปาล์ม บ่อกุ้ง เป็นต้น

 

 

 

สะพานเหล็กโคกขนุน

หากใครที่เดินทางจากตัวอำเภอตะกั่วป่าไปยังเมืองเก่าตะกั่วป่า โดยใช้เส้นทางลัดเลาะเขาสูงบนถนนราษฎร์บำรุง สังเกตทางซ้าย ก่อนถึงตัวตลาดเก่าราว 2 กิโลเมตร จะเห็นสะพานเหล็กที่ทอดยาวข้ามแม่น้ำตะกั่วป่าไปยังอีกฟากหนึ่ง หากหยุดยืนดูนานอีกสักนิด จะพบชาวบ้านสัญจรข้ามไปมา บ้างเดิน บ้างปั่นจักรยาน และบ้างขี่มอเตอร์ไซค์ แม้ว่าสะพานจะไม่กว้างมาก แต่ชาวบ้านก็สามารถหลบหลีกเอื้อเฟื้อทางกันได้ด้วยดี

 

สะพานเหล็กดังกล่าว หาใช่สะพานเหล็กธรรมดาๆ ไม่ เป็นสะพานที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อย แปะหยิน หรือคุณนิวัฒน์ อภัยทาน เล่าว่า

“...ก่อนจะเป็นสะพานเหล็ก บริเวณนั้นมีสะพานไม้ข้ามแม่น้ำตะกั่วป่าอยู่ก่อน สะพานไม้สร้างราวปี พ.ศ. 2508 เพื่อให้คนงานเหมืองซึ่งส่วนมากอยู่ทางฟากเมืองเก่า สามารถเดินทางไปทำงานในโรงงานที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอีกด้านหนึ่งของแม่น้ำได้สะดวก ไม่ต้องไปอ้อมถึงย่านยาว และก่อนจะมีสะพานไม้ คนงานต้องนั่งเรือข้ามฟากไปมา ลำบาก จึงคิดสร้างสะพานไม้กัน ซื้อเสาไม้มา 100 กว่าต้น กับไม้กระดานนิ้วครึ่ง ใช้เวลาสร้างไม่นาน สะพานไม้ใช้กันมาได้ราว 5-6 ปี ก็รื้อ และเริ่มสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตะกั่วป่าด้วยเหล็ก เมื่อราวปี พ.ศ. 2513 แทนที่สะพานเก่าซึ่งเป็นไม้...”

 

ลุงจัน ทองสลับ คนเก่าคนแก่ของบริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด เล่าเพิ่มเติมว่า

“...เหล็กแต่ละแผ่น แต่ละชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็นสะพานนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นชิ้นส่วนของเรือขุดแร่ดีบุกยุครุ่งเรือง ทีแรกเลย บริษัทมีเรืออยู่ 1 ลำ ใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ต่อมาเมื่อเรือขุดแร่ลำนั้น ชำรุดทรุดโทรมและปลดระวางลง จึงมีการนำชิ้นส่วนเหล็กที่ยังดีอยู่ มาประกอบใหม่ สร้างเป็นสะพานทดแทนสะพานไม้เดิม เพื่อให้ชาวบ้านได้สัญจรข้ามไปมาได้โดยสะดวก...”

 

 

 

“ฮั่วหลุน” โรงหล่อกลึงแห่งเมืองตะกั่วป่า

 โรงหล่อกลึงฮั่วหลุน เป็นโรงหล่อกลึงที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองตะกั่วป่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 290 เป็นอย่างน้อย ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ โกเซ้ง หรือคุณสุฤทธิ์ ตันติวิบูรชัย ทายาทรุ่นที่ 2

“...สมัยก่อน ที่นี่มีคนงานกว่า 80 กว่าคน แต่เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 18 คน แก่ๆ ทั้งนั้น...”

โกเซ้ง เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงยุครุ่งเรืองของโรงหล่อ ซึ่งครั้งหนึ่งเน้นรับซ่อมและผลิตอะไหล่ให้เครื่องจักรในโรงงานเหมืองแร่ดีบุก โดยในสมัยที่ธุรกิจเหมืองแร่เฟื่องฟู โรงหล่อของโกเซ้งนับเป็นโรงหล่อที่มีเครื่องจักรทันสมัยที่สุด มีทั้งเครื่องคว้าน ปาด เจาะ กลึง หล่อ ฯลฯ ที่ล้วนสั่งตรงมาจากปีนัง ซึ่งรับมาจากแหล่งผลิตใหญ่ในยุโรปและอเมริกาอีกทอดหนึ่ง ทุกวันนี้ ถ้าเราเดินเข้าไปดูเครื่องจักรในโรงหล่อของโกเซ้ง จะเห็นเครื่องจักรบางเครื่องมีป้ายระบุแหล่งที่มาจากเมืองเชสเตอร์ เมืองลิเวอร์พูล ในสหราชอาณาจักรด้วย นับดู ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปีทั้งนั้น นอกจากนั้น ภายในโรงหล่อของโกเซ้งยังมีเตาหล่อโลหะขนาดใหญ่อีก 2 เตา ใช้ถ่านหินที่สั่งตรงจากยุโรปและจีนเป็นเชื้อเพลิง สมัยก่อนมีคนงานประจำส่วนหล่อโลหะมากถึง 30 คนเลยทีเดียว แม้จะเป็นงานหนัก แต่สมัยนั้นก็ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่า

 

ต่อมา หลังปี พ.ศ. 2536 ธุรกิจเหมืองแร่ทั้งหมดในตะกั่วป่าปิดตัวลง เตาหล่อและเครื่องจักรขนาดใหญ่ในโรงหล่อก็ต้องหยุดเดินเครื่องตามไปด้วย งานที่เคยมีก็น้อยลง แต่โรงหล่อของโกเซ้งยังไม่เลิกกิจการ ทุกวันนี้ยังรับงานหล่อกลึงทั่วไปอยู่ โกเซ้ง กล่าวทิ้งท้ายว่า  “...ของเก่าๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า อยากจะเก็บไว้ให้เด็กรุ่นหลังได้ดู ที่ผ่านมามีภาพยนตร์มาเก็บข้อมูล มาถ่ายทำ บ้างมาบันทึกเสียงเครื่องจักรไปประกอบในภาพยนตร์ เช่น เรื่องมหาลัยเหมืองแร่ รวมถึงมีนักเรียน นักศึกษาเดินทางมาดูงานอยู่บ่อยทีเดียว...”

 

 

 

รถเก๋าๆ ...?

ถเก๋าๆ บ้านเราเรียก "รถสองแถว" เป็นการเรียกชื่อตามรถในพระนคร จริงๆ แล้ว ที่ตะกั่วป่ากับอีกหลายพื้นที่ใกล้เคียง จะเรียกรถลักษณะนี้ว่า "รถสองแถว" ยกเว้นที่ภูเก็ต เรียกรถประเภทนี้ด้วยภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า "รถโพถ้อง" รถยนต์รุ่นยอดนิยมที่นำมาทำเป็นรถสองแถวมีหลายรุ่น เช่น DATSUN 520, 620, 720 และ NISSAN Big-M เป็นต้น (บางส่วนจากการพูดคุยกับโกดำ หรือคุณมานพ คงกัลป์ เจ้าของอู่ซ่อมรถและทำเก๋งรถสองแถวชื่อดังของเมืองตะกั่วป่า)

 

 

“น้ำตาสองแถว”

14 ปี สึนามิ... ความทรงจำที่บีบหัวใจคนตะกั่วป่า

 

เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อ 14 ปีก่อน... ยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ ซึ่งรวมถึง “โกน้อย” กับ “โกเล็ก” คนขับรถสองแถว ที่ยังไม่ลืมภาพในวันนั้น 

น้ำใสๆ คลอหน่วยที่ตาของ “โกน้อย” หรือคุณบรรยงค์ ถี่ถ้วน เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 14 ปีก่อน ในเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โกน้อยขับรถไปส่งของให้ร้านค้าที่หน้าหาดบางสัก-เขาหลักตามปกติ โดยนำรถสองแถวคู่ใจมาใช้รับส่งของให้ร้านค้าต่างๆ แทนการรับส่งผู้โดยสารที่มีรายได้ไม่แน่นอน ... โกน้อยเล่าว่า เช้าวันนั้น ก็ทำอย่างที่เคย นำเครื่องแกงที่ภรรยาทำ ผัก และเครื่องปรุงต่างๆ ใส่ท้ายรถ วิ่งรถออกมาจนเกือบจะถึงเขาหลักแล้ว แต่กลับพบความโกลาหล บนท้องถนนมีแต่นักท่องเที่ยววิ่งสวนมามากมาย บางคนใส่เสื้อผ้า บางคนไม่สวมใส่อะไรเลย บางคนมีเลือดไหลอาบ... มาทราบภายหลังว่าเป็นคลื่นยักษ์ ทั้งหมดเป็นภาพที่ไม่เคยลืม แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตต้องก้าวเดินต่อไป

 

เช่นเดียวกับชีวิตของ “โกเล็ก” หรือลิบน บุญเลี้ยง ที่ผ่านพ้นเหตุการณ์วันนั้นมาอย่างยากลำบาก เมื่อ 14 ปีก่อน โกเล็กทำบ่อกุ้งอยู่กับภรรยาและลูกอยู่ที่บางเนียง ไม่ไกลจากหาดเขาหลัก คลื่นยักษ์ได้กลืนเอาชีวิตลูกสาวของโกเล็กลงทะเลไปอย่างไม่มีวันกลับ บ่อกุ้งที่มีอยู่ก็เสียหาย หมดสิ้นเกือบทุกอย่าง โกเล็กเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงและแววตาเศร้า “เรานั่งหมดหวังอยู่สักพัก รู้สึกไม่ไหว ต้องออกมาหาอะไรทำ” ราวกับเป็นแรงฮึดเฮือกสุดท้าย โกเล็กตัดสินใจยืมเงินน้องสาวมาซื้อรถสองแถวเก่า นำมาปรับปรุงใหม่ทั้งสีและตัวเก๋งรถด้านหลัง เริ่มต้นขับรับส่งผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา... ช่วงที่เริ่มขับใหม่ๆ มีกลุ่มลูกค้าที่สำคัญคือ แรงงานพม่าจำนวนมากที่เข้ามาซ่อมแซม-สร้างเมืองเขาหลัก บางสัก บางเนียง และน้ำเค็มขึ้นใหม่

 

ภายหลังจากเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ฟื้นตัว กลุ่มลูกค้าของคนขับรถสองแถว กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเหมารถไปนั่งเล่นรอบเมือง หรือเที่ยวชมทิวทัศน์ธรรมชาติ คนขับรถจึงต้องกลายเป็นคนนำเที่ยวไปด้วยในตัว ปัจจุบันกลุ่มคนขับสองแถวได้รวมตัวกัน พัฒนาความสามารถด้านภาษาและการสื่อสาร หรือช่วยหาลูกค้าให้กัน… แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะยั่งยืนไปได้อีกนานเท่าใด

 

 

 

ทำความรู้จักเมืองเก่าตะกั่วป่าในหลากหลายแง่มุมให้มากขึ้นใน - ->

วารสารเมืองโบราณ 44.2  “ย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า”

 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น