เรือนเครื่องผูก
หนังสือหนังหา

เรือนเครื่องผูก

 

หนังสือ : เรือนเครื่องผูก

ผู้เขียน : รศ. เสนอ นิลเดช

สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ 2562

จำนวน 68 หน้า

ราคาปก 159 บาท

 

หากถามคนรุ่นใหม่ว่า “เรือนเครื่องผูก” คืออะไร ? เชื่อว่าหลายคนอาจไม่รู้ หรืออาจจะพอนึกหน้าตาออกว่าเป็นเรือนหลังคามุงจากที่มีฝาขัดแตะ แต่ไม่อาจอธิบายได้ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง และมีวิธีการปลูกสร้างอย่างไรถึงเรียกกันว่าเรือนเครื่องผูก

 

“เรือนเครื่องผูก” เป็นเรือนที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ ใช้ตอกไม้ไผ่และหวายผูกรัดส่วนต่างๆ ของตัวเรือนเข้าด้วยกัน จึงได้ชื่อว่า เรือนเครื่องผูก โดยฝาเรือนชนิดนี้ส่วนใหญ่มักเป็นฝาขัดแตะ ต่างจากเรือนไทยอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “เรือนเครื่องสับ” ที่ใช้ไม้จริงในการปลูกสร้าง หรือที่เรียกว่า “เรือนฝากระดาน” เรือนเครื่องผูกที่ปลูกสร้างกันตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย แม้มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อันเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนวัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติ ดังเช่นวัสดุมุงหลังคาที่พบว่ามีการใช้วัสดุหลากหลายในแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นใบจาก ใบสาคู หญ้าคา ใบตองตึงหรือใบพลวง เป็นต้น

 

ปัจจุบันมีการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจำนวนมากที่กล่าวถึงเรือนเครื่องผูกที่พบอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษางานสถาปัตยกรรมไทยและผู้สนใจทั่วไป เราขอแนะนำหนังสือ “เรือนเครื่องผูก” ของ รศ. เสนอ นิลเดช แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ

 

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 เป็นการรวบรวมข้อเขียนเรื่องเรือนเครื่องผูกของอาจารย์เสนอที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือ อาษา และหนังสือ เอกลักษณ์ไทย ของสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นคู่มือสำคัญในการทำความรู้จักเรือนไทยประเภทนี้เป็นเบื้องต้น ตั้งแต่รูปแบบไปจนถึงคำศัพท์ที่ใช้เรียกส่วนต่างๆ ของเรือนเครื่องผูกที่นับวันยิ่งเลือนหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ล่าสุดสำนักพิมพ์เมืองโบราณได้ทำการจัดพิมพ์หนังสือ “เรือนเครื่องผูก” เป็นครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นับเป็นโอกาสอันดีของนักอ่านและผู้ศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไทยที่พลาดจากฉบับพิมพ์ครั้งก่อนๆ

 

ภายในเล่มประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ว่าด้วยลักษณะของเรือนเครื่องผูก และส่วนที่อธิบายถึงส่วนประกอบของเรือนเครื่องผูก

 

ส่วนแรก ผู้เขียนกล่าวถึงลักษณะโดยทั่วไปของเรือนเครื่องผูกและวิธีการปลูกเรือนประเภทนี้ โดยเน้นที่พบเห็นในท้องที่ภาคกลาง รวมถึงคำศัพท์ที่ใช้เรียกส่วนต่างๆ ก็จะยึดถือตามแบบที่เรียกกันในภาคกลางเป็นสำคัญ ซึ่งอาจแตกต่างจากคำเรียกในภาษาถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้

“เรือนเครื่องผูกเท่าที่พบทางภาคกลางจะสร้างเป็นเรือนแบบอเนกประสงค์ คือ เรือนประธานมีระเบียงและครัวไฟอยู่ที่ระเบียง เรือนเครื่องผูกประเภทนี้จะมีขนาดเพียงสองห้อง คือสองช่วงเสาตามยาว ความยาวของช่วงเสานี้ไม่แน่นอนเสมอไป เรือนบางหลังยาว 4 เมตร แบ่งเป็นสองช่วงเสา หรือ 3 เมตร ส่วนระเบียงนั้นมีความกว้าง 2 เมตรถึง 2 เมตร 50 เซนติเมตร ซึ่งจะสร้างให้กว้างและใหญ่กว่านี้นับเป็นสิ่งพ้นวิสัย เพราะถึงแม้ว่าจะปลูกสร้างด้วยเสาไม้จริงแต่ขนาดของเสาที่ใช้ปลูกสร้าง บางโอกาสใช้ขนาดเพียง 5 นิ้ว หรือ 6 นิ้ว” (หน้า 20)

 

เรือนเครื่องผูกที่มีระเบียงทางด้านหลัง เพื่อทำเป็นเรือนครัว ส่วนหนึ่งของภาพประกอบภายในเล่ม 

 

นอกจากองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมไทยแล้ว ผู้เขียนยังสอดแทรกความรู้เรื่องวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่สอดรับกับการออกแบบที่อยู่อาศัย เช่น ครัวไฟที่ชานต่อระเบียงและภูมิปัญญาในการก่อเตาไฟแบบโบราณ ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในส่วนนี้คือ ล้อมกรอบเรื่อง “บ้านเรือนไทยในสายตาชาวตะวันตก” ที่กล่าวถึงสภาพบ้านเรือนในสมัยก่อนที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของฝรั่งที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

 

ในส่วนท้ายเล่มเป็นการอธิบายคำศัพท์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งใช้เรียกส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนเครื่องผูก โดยอธิบายควบคู่กับแผนผังและภาพลายเส้นที่ชี้ให้เห็นรายละเอียดในทุกส่วน น่าสนใจว่าคำศัพท์บางคำยังถูกใช้สืบเนื่องมาในบริบทอื่นๆ แต่อาจไม่เข้าใจว่ามีที่มาจากส่วนประกอบของเรือนเครื่องผูก เช่น คำว่า “ฟาก” หมายถึงไม้ไผ่ผ่ากลาง เอาไส้ในออก ทุบเป็นแผ่นให้แบน เก็บเสี้ยนด้านผิวออกให้หมด นำมาใช้ปูพื้นเรือน ปัจจุบันเรายังได้ยินคำว่า “ตกฟาก” หมายถึงเวลาเกิด ในอดีตมักจะคลอดลูกกันที่บ้าน เมื่อเด็กพ้นครรภ์มารดาออกมาแล้ว ก็จะอยู่บนฟากหรือพื้นเรือนนั่นเอง

 

เรือนมุงฝาสานแบบเสื่อลำแพนที่เจ๊ะปิลัง ภาคใต้ 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในหนังสือเล่มนี้ คือ ภาพถ่ายเรือนเครื่องผูกที่พบในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย สะท้อนถึงความหลากหลายของลักษณะเรือนเครื่องผูกที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่า “เรือนเครื่องผูก” ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด จะเป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่มีจำนวนหน้าเพียง 68 หน้าเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นหนังสือที่ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมไทย ประเภทเรือนเครื่องผูก ที่ครบถ้วนมากที่สุดเล่มหนึ่ง 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ