แกะรอยภาพเก่า...  วันวาน – วันนี้ ที่ตะกั่วป่า
ข้างหลังภาพ

แกะรอยภาพเก่า... วันวาน – วันนี้ ที่ตะกั่วป่า

 

ราวปี พ.ศ. 2520 ทีมงานวารสารเมืองโบราณ นำโดย อ. ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม ลงพื้นที่สำรวจย่านตลาดใหญ่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และทำการบันทึกเป็นภาพถ่ายไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองตะกั่วป่าที่เคยคึกคักเริ่มซบเซา หลังจากกิจการเหมืองแร่ไม่รุ่งเรืองอย่างที่เคยเป็นมา ดังจะเห็นว่าภาพถ่ายชุดนี้แสดงถึงสัญญานของความโรยรา บรรดาห้างร้านต่าง ๆ เริ่มทยอยปิดตัวลง แต่ขณะเดียวกันยังเห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนและบรรยากาศบ้านเมืองที่แตกต่างจากปัจจุบัน 

 

 

 

"ถนนอุดมธารา"

เดิมเป็นทางเกวียนที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือริมแม่น้ำตะกั่วป่าเข้าสู่ตัวเมือง จากคำบอกเล่าของคนที่อาศัยอยู่บนถนนนี้ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่หน้าน้ำหลาก บริเวณนี้จะเนืองนองไปด้วยน้ำ จึงตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “อุดมธารา”  ในอดีตบนถนนอุดมธารามีอาคารตั้งเรียงรายอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง มีทั้งเรือนแถวไม้ยกเสาสูงในฝั่งที่ติดบึงน้ำใหญ่ และอาคารตึกแถว 2 ชั้นแบบจีน และมีทางเดินเท้าอยู่ด้านหน้าอาคาร นับเป็นสถาปัตยกรรมรุ่นแรกของเมือง ปัจจุบันตึกแถวเก่าแก่ชุดนี้ ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิม เพียงแต่มีการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดด้วยวัสดุสมัยใหม่ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งเดิมใช้กระเบื้องกาบกล้วยที่ทำด้วยดินเผา 

 

 

 

คงเหลือเพียงภาพจำ... 

อาคารตึกแถวแบบจีนที่บริเวณหัวมุมถนนอุดมธารา จากคำบอกเล่า สมัยก่อนเคยเป็นร้านจำหน่ายน้ำมันของบริษัทเชลล์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นร้านขายอาหาร ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งไว้เพราะสภาพทรุดโทรม ด้วยเหตุที่มีน้ำท่วมบ่อยครั้ง และมีรถใหญ่วิ่งผ่านไปมา ในที่สุดตัวอาคารก็พังทลายลง ปัจจุบันพื้นที่ว่างบริเวณนี้ถูกใช้เป็นที่ตั้งเวทีการแสดงของโครงการถนนสายวัฒนธรรม

 

 

 

“ศรีตะกั่วป่า”
ถนนการค้า-ถนนวัฒนธรรม

ในอดีตถนนสายนี้ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองตะกั่วป่า เป็นที่ตั้งของบริษัท ห้างร้าน และธุรกิจบริการมากมาย อาทิ ธนาคาร บริษัททำเหมืองแร่ ร้านรับซื้อแร่ดีบุก ร้านทอง ร้านโชห่วย โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงภาพยนตร์ โรงรำวง ตลอดจนสมาคมจีนและศาลเจ้าของชาวจีนกลุ่มต่าง ๆ ก็ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ ตึกแถวที่ตั้งเรียงรายอยู่สองฝั่งถนน ส่วนใหญ่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาคารตึกแถวแบบจีนกับอาคารแบบอาณานิคมตะวันตก สะท้อนรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากปีนัง

 

ปัจจุบันถนนศรีตะกั่วป่าค่อนข้างเงียบเหงา แต่ยังมีร้านค้าที่เปิดอยู่เพื่อรองรับคนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านตัดผม ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านซ่อมเครื่องยนต์ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เว้นแต่ทุก ๆ วันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่ถนนสายนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการจัดงาน “ถนนสายวัฒนธรรมตะกั่วป่า” ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติให้แวะมาเยี่ยมเยือน 

 

 

 

“ไทยวัฒนา”
ร้านสรรพสินค้าของแปะก๊กอุ๋ย 

จากภาพถ่ายเก่า จะเห็นป้าย “จำหน่ายวิทยุ” และป้ายยี่ห้อ “PHILIPS” ติดตั้งอยู่ด้านหน้าร้านค้าแห่งหนึ่ง ถึงแม้จะไม่เห็นป้ายชื่อร้านชัดเจน แต่ก็ทำให้ทราบว่าเป็น “ร้านไทยวัฒนา” ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายวิทยุและเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อนี้เพียงเจ้าเดียวในตลาดตะกั่วป่า ร้านไทยวัฒนาก่อตั้งโดย “แปะก๊กอุ๋ย” หรือ คุณธานินทร์ วิสุทธิไมตรี เดิมท่านเป็นครูที่โรงเรียนเสนานุกูล ก่อนจะซื้ออาคารตึกแถวบนถนนศรีตะกั่วป่าเปิดเป็นร้านค้า เริ่มแรกจำหน่ายเพียงเครื่องเขียน แบบเรียนของคุรุสภา หนังสือพิมพ์ และสินค้าเบ็ดเตล็ด

 

คุณรักชาติ บุญญานุวัตร ลูกเขย และผู้ดูแลกิจการรุ่นสุดท้าย เล่าว่า “พ่อตาไปติดต่อเป็นเอเย่นต์ขายหนังสือพิมพ์ ทั้งไทยรัฐ เดลินิวส์... ท่านยังเป็นเพื่อนกับเจ้าของร้านเส้งโห ภูเก็ต ซึ่งเขาจะส่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post มาให้ เพราะเมื่อก่อนที่นี่ฝรั่งเยอะ เขาส่งมาครั้งละ 5 เล่ม โดยฝากมากับรถประจำทาง” ต่อมาได้ขยับขยายเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทฟิลิปส์ ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ ตู้เย็น วิทยุ โดยมีเสาส่งสัญญาณวิทยุติดตั้งไว้ที่ร้านอีกด้วย... ร้านไทยวัฒนาดำเนินกิจการเรื่อยมา กระทั่งราวปี 2542 จึงปิดตัวลง เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ปัจจุบันภายในร้านยังคงมีตู้โชว์ติดผนัง บางส่วนยังใช้จัดวางสินค้าเครื่องเขียนเก่าๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความเป็นมาของร้าน 

 

 

 

“เกียรติไทย” ร้านของชำที่หายไป 
ภายในอาคารตึกแถวแบบจีน 2 ชั้น ขนาดเล็กๆ และดูเรียบง่าย เมื่อเทียบกับอาคารอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนศรีตะกั่วป่า เดิมเป็นร้านขายของชำ จำหน่ายสินค้านานาชนิด รวมถึงเมล็ดพันธุ์ผักชนิดต่าง ๆ และมีผักสดจำหน่ายด้วย แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมภายหลังจึงถูกรื้อทิ้งไป คงเหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าที่อยู่ระหว่างตึก 2 หลังที่เคยขนาบข้าง 

 

ปัจจุบันพื้นที่ว่างบริเวณนี้ เป็นที่ตั้งของร้านกาแฟชื่อ “SMO COPEE Takuapa” ดำเนินกิจการโดยคนตะกั่วป่ารุ่นใหม่ โดยจะเปิดขายเฉพาะใน “ถนนสายวัฒนธรรมตะกั่วป่า” ที่จัดขึ้นทุก ๆ วันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคมของทุกปี ความโดดเด่นจากการตกแต่งร้านสไตล์เก๋ไก๋ ด้วยการนำสิ่งของเก่าๆ มาจัดวางอย่างสวยงามแปลกตา และความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะมา Check-in

 

 

 

“ร้านฮัวหลอง”
ก้าวผ่านกาลเวลา

เริ่มแรกเป็นร้านตัดผมและร้านของชำ จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป เปิดกิจการมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อของ “แปะหย่อง” หรือ คุณหวังเรือง เจียงสกุล ซึ่งต่อมารับช่วงกิจการมาดูแลต่อจากรุ่นพ่อ และเปิดรับซ่อมนาฬิกาด้วย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516  ปัจจุบันร้านฮัวหลองยังคงดำเนินกิจการอยู่ แปะหย่องยังคงนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะรับซ่อมนาฬิกา เช่นเดียวกับสินค้าหลายอย่างที่ยังคงวางขายอยู่ไม่ต่างจากภาพในวันวาน เช่น ไม้กวาดที่ทำจากกาบมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ภายในร้านยังมีเก้าอี้ตัดผม และกระจกบานใหญ่ บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของร้านแห่งนี้ 

 

 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองเก่าตะกั่วป่าได้ใน วารสารเมืองโบราณ 44.2 (เมษายน-มิถุนายน 2561) "ย่านตลาดใหญ่เมืองเก่าตะกั่วป่า"

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ