ทางข้ามคอดกิ่วกระ (1)
คลังบทความ

ทางข้ามคอดกิ่วกระ (1)

 

สมัยก่อนตัดถนนเพชรเกษม การเดินทางระหว่างชุมพร-กระบุรี ต้องผ่านป่าเขาซึ่งมีความยากลำบาก การเดินทางสัญจรต้องใช้การเดินเท้าหรือใช้ช้างเป็นพาหนะ ผู้ใช้เส้นทางนี้สัญจรโดยมากเป็นชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าและขบวนช้างขนส่งสินค้า

 

เยี่ยมยง ส. สุรกิจบรรหาร ได้เขียนถึงเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากชุมพรไปยังกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นบทความขนาดยาว ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในวารสารเมืองโบราณทั้งหมด 3 ฉบับด้วยกัน โดยใช้ชื่อบทความว่า “ทางข้ามคอดกิ่วกระ” เป็นการบอกเล่าถึงเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างชุมพรกับกระบุรีที่ใช้กันในอดีตก่อนการตัดถนนเพชรเกษม อันเป็นประสบการณ์จากการเดินทางไปประสบพบเห็นด้วยตนเอง ประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และหลักฐานเอกสารต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เช่น จดหมายเหตุเสด็จประพาส เส้นทางการสำรวจวางเสาโทรเลข เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าชื่อสถานที่และลักษณะภูมิประเทศตามเส้นทางนี้สอดคล้องกับที่กล่าวถึงในคัมภีร์มหานิทฺเทสในพระไตรปิฎก

 

เรื่อง “ทางข้ามคอดกิ่วกระ” ตอนแรก ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2521) ผู้เขียนกล่าวถึงเหตุที่เขียนบทความนี้เป็นเพราะอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ขอให้เขียนขึ้น โดยเลือกเอาเส้นทางสายสำคัญๆ และใช้ภาษาถิ่นระบุถึงชื่อบ้านนามเมืองแห่งต่างๆ เส้นทางสำคัญสายแรกที่ใช้กันมาแต่เก่าก่อน มีชื่อเรียกในหมู่ชาวบ้านหลายชื่อด้วยเช่น เป็นต้นว่า ทางเสียบยวน(เสียบญวน)-ปากจัน(ปากจั่น) ทางคอออม-ท่าศาน (ท่าสาร) และทางวังไผ่-ท่าไม้ลาย ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางเดียวกัน

 

“...เท่าที่รู้จักทุกบกย่านห้วยเหวหุบเขาลำเนาไพรมาด้วยตนเอง ผ่านไปมา 8 ครั้ง ก่อนตัดทางหลวงสายเพชรเกษมขึ้นทับลงบางช่วงตอนและเคียงคู่กันไปเกือบตลอดสาย เป็นทางสัญจรที่กันดารลำบากมาก ตามความเห็นแล้วผู้ที่ใช้อยู่เป็นประจำ ต้องเป็นผู้ที่มีสำนักลำเนาเป็นชาวบ้านชาวเมืองในถิ่นที่ทั้งในฝ่ายตะวันออกและตะวันตก ที่มีอาชีพหาของป่า สำหรับผู้ที่มีช้าง ก็ใช้ช้างบรรทุกสิ่งของหรือสินค้า ไปมาค้าขายหากันตามความต้องการของแต่ละถิ่นที่  และประกอบด้วยมีลำน้ำชุมพรจากอ่าวไท ปากน้ำอยู่ที่อ่าวทุ่งคาทางใต้ ขึ้นมาบรรจบกับทางเก่าที่บ้านวัดขวาง  แล้วพัวพันกันไปเรื่อยๆ จนถึงท่าศาน ชนเขตท้องที่อำเภอกระบุรี คนเก่าๆ เช่น ขุนวังไผ่ อดีตกำนันตำบลวังไผ่ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านบอกกับผู้เขียนว่าคนที่ไปตัดหวาย เจาะยางทำน้ำมัน เมื่อบรรทุกช้างมาถึงบ้านวัดขวางก็นำลงบรรทุกเรือต่อไป” 

 

แม่น้ำชุมพรชาวบ้านเรียกคลองท่งคาหรือทุ่งคา มีวัดโบราณคือ วัดเดิมหรือวัดประเดิม และมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามไทย-พม่า สมัยรัชกาลที่ 1 อันเป็นที่มาของชื่อตำบลตากแดด มาจากทุ่งพม่าตากแดด ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งคอกขังทหารพม่า

 

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย พบที่บริเวณวัดประเดิม จังหวัดชุมพร 

 

คลองชุมพรตอนที่ผ่านวัดหาดทรายแก้ว ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

 

เส้นทางเสียบญวน-ปากจั่นเป็นเส้นทางเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มต้นที่บ้านท่าเภา (บ้านท่าตะเภา) ผ่านกรอกธรณี บ้านวังไผ่ บ้านวัดขวาง บ้านดอนปลาหมอ บ้านปากเขาปูน บ้านนาปรือ ข้ามลำห้วย 2 แห่ง แห่งหนึ่งที่บ้านพดหรือบ้านมรพต อีกแห่งหนึ่งคือที่บ้านถ้ำสนุก จากนั้นไปเป็นป่าดงดิบ มีไม้นานาชนิด เช่น ไผ่ ระกำ หวาย เตย ยางยูง เสียดช่อ หลุมพอ ตะเคียนทอง เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับกับที่ควนหรือเนินขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างควนแต่ละลูกมี “ร่องตร๋อ” หรือร่องน้ำเซาะ ซึ่งจะไหลรวมเป็นลำห้วยไปรวมกับคลองชุมพร 

 

คลองชุมพรหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า คลองทุ่งคา / ท่งคา มีปากอ่าวอยู่ที่บ้านทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

 

จากนั้นถึงห้วยพลึงหรือห้วยพลิง ซึ่งมีต้นน้ำจากเขาชัน บ้านนา ชุมพร ไหลลงมารวมเป็นคลองชุมพรที่บ้านเสียบยวน (เสียบญวน) จากนั้นไปเป็นเส้นทางทุรกันดาร ผ่านบกสาวร้องไห้หรือดงสาวร้องไห้ คำว่า “บก” หมายถึงที่สูง ที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง เหตุที่เรียกว่าบกสาวร้องไห้เพราะเป็นเส้นทางยากลำบาก เต็มไปด้วยหินขรุขระ ลำห้วยก็ไม่มีน้ำ แห้งแล้ง ถึงจะมีก็ดื่มกินไม่ได้เพราะเต็มไปด้วยโคลน มีซากต้นรังตังช้าง (กะลังตังช้าง) และต้นสามแก้ว ซึ่งเป็นต้นไม้พิษ ตกลงไปหมักหมมอยู่  เดินทางต่อถึงบกแพะ เมื่อสุดทางบกก็ถึงห้วยท่าแพะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดแห่งแรกที่พบหลังจากที่ห้วยพลิง ตลอดเส้นทางยังเป็นที่สูงๆ ต่ำๆ ที่ราบมีน้อย มีหินก้อนใหญ่ๆ อยู่ตลอดทาง ชาวบ้านเรียกว่าช่องหินขวาก จากนั้นเดินทางขึ้นเขาลงห้วยที่มีตลิ่งสูงชัน สองข้างทางล้วนเป็นป่าดงดิบ จนถึงห้วยท่าแซะ แล้วมาข้ามห้วยน้ำที่บริเวณหาดพม่าตาย

 

ผู้เขียนอธิบายถึงหาดพม่าตายไว้ว่า “เป็นหาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีในคลองชุมพร ในตอนที่มีอยู่ในย่านป่าเขานี้ ตรงที่เป็นหาดลำคลองกว้างประมาณ 20 เมตร หาดขาวสะอาด น้ำไหลแรง สองฝั่งคลองแน่นขนัดเต็มไปด้วยต้นสามแก้วและรังตังช้าง ซึ่งเป็นต้นไม้ใบมีพิษ”  ที่มาของชื่อหาดพม่าตายก็มาจากเรื่องเล่าพื้นบ้านเกี่ยวกับสงครามไทย-พม่า ว่ากันว่าทัพพม่าที่เข้ามาปล้นเมืองชุมพรและจับชาวบ้านเป็นเชลย ระหว่างทางหยุดพักที่หาดแห่งนี้ ชาวบ้านออกอุบายนำใบสามแก้วและรังตังช้างมาให้ทหารพม่าปูรองนอน ด้วยเป็นใบไม้พิษจึงเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เป็นเหตุโกลาหลวุ่นวาย ชาวบ้านจึงหลบหนีรอดมาได้

 

คลองชุมพรตรงบริเวณท่าศานหรือท่าสาร 

 

จากหาดพม่าตายต้องเดินทางข้ามไหล่เขาสูงหลายแห่ง เข้าสู่ท่าไม้ลายซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่ระหว่างช่องเขาแดน ซึ่งเป็นหลักแบ่งแดนระหว่างอำเภอเมืองชุมพรกับกระบุรี จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบกเสือเต้น ข้ามคลองชุมพร เดินไปตามลำคลอง จนถึงท่าศาน (ท่าสาร) ซึ่งเป็นหาดทรายในแม่น้ำชุมพร เป็นจุดที่อยู่ระหว่างเขาแดนทางเหนือและเขาหินลุ(ทะลุ) ทางใต้ ตรงจุดนี้มีตร๋อน้ำแบ่ง เป็นสันปันน้ำ ฝั่งหนึ่งไหลลงสู่อำเภอเมืองชุมพร ฝั่งหนึ่งไปกระบุรี ณ ตรงนี้มีหินจารึก จ.ป.ร. ในรัชกาลที่ 5 

 

แท่นปูน ร่องรอยทางรถไฟสายคอคอดกระ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้ามคลองชุมพรที่บริเวณท่าสาร 

รถไฟสายนี้สร้างขึ้นเพื่อลำเลียงเสบียงของทหารญี่ปุ่น ผ่านชุมพร-กระบุรี-ละอุ่น มี 7 สถานี ได้แก่ วังไผ่ ท่าสาร ปากจั่น ทับหลี กระบุรี คลองลำเลียง และเขาฝาชี 

 

สะพานไม้ไผ่ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ข้ามคลองชุมพรที่ท่าสาร 

 

จากนั้นเดินผ่านช่องเขาเรียกว่าช่องหินซอง คำว่า “ซอง” ภาษาถิ่นหมายถึงตรอก, ช่อง, ซอก เป็นช่องทางที่ขนาบข้างด้วยหน้าผาสูงชัน ที่ช่องหินซองเป็นทางผ่านของคลองหลิ คลองเหละ หรือคลองหลีก ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่เขาแดน คลองหลีกเป็นคลองสำคัญทางฝั่งกระบุรีและมีปรากฏในตำนานพระแก้วโกรพ เมื่อพ้นถึงปากช่องหินซอง เดินทางข้ามคลองหลีก จนถึงบกอินทนิล เดินเลียบเขาไปเรื่อยๆ ถึงบริเวณที่เรียกว่า เขาช้างกลิ้ง “ข้างหน้ามีเขาขวางอยู่ลูกหนึ่ง เรียกว่า เขาช้างกลิ้ง เมื่อถึงเขาลูกนี้ ต้องเลียบเลาะไปตามริมไหล่เขา และเลี้ยวตรงหัวงวงเขาเป็นรูปวงเดือน พ้นไปไม่ไกลนัก ก็ถึงทางช้างกลิ้ง ที่สำหรับลงจากเขา ลาดลื่นชัน ช้างไม่ระวังเป็นต้องกลิ้งลงไป แม้คนก็เหมือนกัน เผลอเรอนิดหน่อยก็ต้องกลิ้งหลุนๆ ลงไปเช่นเดียวกับช้าง”

 

จากเขาช้างกลิ้งเดินทางต่อมาถึงปากคลองหลีก ออกคลองจั่น ซึ่งน้ำทะเลขึ้นถึงเข้าทางแม่น้ำกระ เป็นท่าเรือเมื่อครั้งก่อนเก่า ต่อไปก็ถึงบ้านปากจั่น เป็นอันสิ้นสุดเส้นทางสายนี้ หากต้องการเดินทางต่อไปยังกระบุรี ก็ใช้ได้ทั้งเส้นทางแม่น้ำและเส้นทางบก “ถ้าเป็นทางน้ำ สมัยมีเรือใช้แล้ว ลงเรือออกจากท่าเรือบ้านปากจั่นนี้ ล่องลงไปตามสายแม่กระ ผ่านบ้านนาส้มปอย (ส้มป่อย) บ้านทับหลี บ้านมะมุถึงกระบุรี ถ้าต่อไปทางบก ข้ามคลองนาส้มปอย คลองบางวัน คลองทับหลี คลองสองพี่น้อง คลองมะมุ คลองน้ำแดง คลองน้ำจืด ถึงกระบุรี”   

 

 

วิถีชีวิตริมแม่น้ำกระบุรี อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง 

 

อ่านบทความเรื่อง ทางข้ามคอดกิ่วกระ ตอน 1 ฉบับเต็มได้ใน “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67660241/-4-3

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น