“กองอิฐ กองหิน ไม้ค้ำ” ปรากฏการณ์ในการท่องเที่ยว

“กองอิฐ กองหิน ไม้ค้ำ” ปรากฏการณ์ในการท่องเที่ยว

 

สมัยโบราณ “การก่อกองหิน” จะพบได้ตามทางแพร่ง ช่องเขา หรือโคกเนินที่สูง ซึ่งเป็นเขตต่อแดนที่ผู้คนในละแวกนั้นใช้สัญจรไปมา โดยมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อบอกกล่าวและแสดงความเคารพต่อผีเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา สร้างความรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องผ่านเส้นทางนั้นๆ  ซึ่ง “กองหิน” บางแห่งยังเป็นต้นเค้าของเจดีย์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพกราบไหว้กันจนถึงปัจจุบัน ส่วน “ไม้ค้ำ” พบว่ามีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์ของพุทธศาสนิกชนชาวเหนือที่เชื่อว่าเป็นการค้ำชูพุทธศาสนาให้ยืนยาวนาน และเป็นกุศลคุ้มครองดวงชะตาของผู้ถวายไม้ค้ำให้เจริญรุ่งเรือง

 

 

 

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การก่อกองอิฐ กองหิน และการทำไม้ค้ำ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยมีความพยายามสร้างสรรค์คำอธิบายต่างๆ มารองรับพฤติกรรมดังกล่าว อาทิ ซ้อนเรียงหินให้สูงเสมือนการสร้างปราสาทให้ได้ไปอยู่ในชาติภพหน้า หรือเพื่อให้ชีวิตมั่นคง รุ่งเรือง บ้างว่าเรียงซ้อนก้อนหินให้สูงถึง 12 ชั้น แล้วจะสมปรารถนาในทุกสิ่งที่อธิษฐาน เป็นต้น

 

 

 

 

 

ทุกวันนี้เราจึงพบ “ทุ่งหินกอง” และ “ลานไม้ค้ำ” ปรากฏตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น เกาะหินงาม ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล เกาะตาชัย ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ภูกระดึง จังหวัดเลย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปราสาทหินพนมรุ้ง และเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ถ้ำเอราวัณ จังหวัดหนองบัวลำพู เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เขาถ้ำเสือ จังหวัดสุพรรณบุรี ผาแต้ม ผาหมอน สามพันโบก และลานหินสี จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

 

วัดพระเจ้าใหญ่ขุมคำ จ.อุบลราชธานี

 

 

พระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์

 

 

วัดเขาวงศ์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

อย่างไรก็ตาม การกระทำของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่ได้ตระหนักว่าการเคลื่อนย้ายกิ่งไม้ ก้อนหิน หรือกลุ่มกองอิฐจากตำแหน่งเดิมนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ทั้งการทำลายทัศนียภาพ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจปรากฏหลงเหลืออยู่ตามโบราณสถานต่างๆ และยังทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งต้นไม้และก้อนหินอีกด้วย นำมาสู่ความพยายามในการห้ามปราม เช่น การติดป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวที่เกิดจากความพอใจของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มได้

 

 

 


Tags

เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ