สำรวจเส้นทางน้ำตามรอยซากอิฐปูนที่อยุธยา

สำรวจเส้นทางน้ำตามรอยซากอิฐปูนที่อยุธยา

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2561 ผู้เขียนและคุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย จิตรกรผู้รังสรรค์ภาพแผนที่เมืองโบราณลงบนปกวารสารเมืองโบราณ ใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานรอบเกาะเมืองอยุธยาร่วมกับคุณสุรเจตน์ เนื่องอัมพร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยุธยา ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้อธิบายถึงตำแหน่งโบราณสถานตามจุดต่างๆ แล้ว ยังได้อนุเคราะห์จัดหาเรือเพื่อใช้ในการสำรวจรอบเกาะเมืองอยุธยาครั้งนี้ด้วย

 

วัตถุประสงค์ของการสำรวจก็เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของโบราณสถานที่อยู่รายรอบเกาะเมืองอยุธยาในมุมมองจากลำน้ำ โดยเฉพาะโบราณสถานหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่น้อยคนจะได้เห็น ถือเป็นการเรียนรู้บริบทสภาพแวดล้อมในอีกมิติหนึ่ง เฉกเช่นการสัญจรของผู้คนสมัยโบราณ

 

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ สามารถนำมาเทียบเคียงกับบันทึกการสำรวจแหล่งโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยาของอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะหรือ น. ณ ปากน้ำ ในช่วงปี พ.ศ. 2509 – 2510 ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ รวมไปถึง “แผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์” ที่ลงรายละเอียดตำแหน่งวัดต่างๆ เอาไว้ และยังเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ทางวารสารเมืองโบราณเคยตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในโอกาสถัดไป

 

คุณสุทธิชัย  ฤทธิ์จตุพรชัยและคุณสุรเจตน์  เนื่องอัมพร สอบทานแผนที่กรุงศรีอยุธยาของเมืองโบราณที่เคยทำเอาไว้

 

การสำรวจโบราณสถานบนเส้นทางน้ำรอบเกาะเมืองอยุธยาของคุณสุรเจตน์นั้นหาใช่เป็นครั้งแรกเพราะคุณสุรเจตน์เคยลงพื้นที่สำรวจด้วยตัวเองมาก่อนแล้ว  อีกทั้งยังนำคณะผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐและบุคคลทั่วไปมาศึกษาเรียนรู้อยู่หลายครั้ง ผู้เขียนเคยมีโอกาสร่วมติดตามการสำรวจและบันทึกตำแหน่งโบราณสถานที่น่าสนใจเอาไว้บ้าง เช่นเดียวกับคุณศุภฤกษ์ โพธิ์กลัด ผู้สนใจประวัติศาสตร์อยุธยาอีกท่านหนึ่งที่เคยร่วมสำรวจและได้สอบทานตำแหน่งโบราณสถานต่างๆ เอาไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การสำรวจในครั้งนี้อาจจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากการตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของโบราณสถานอันเกิดขึ้นตามยุคสมัยเป็นสำคัญ

 

เริ่มต้นที่ “หน้าวัง” สู่ “คูขื่อหน้า”

จุดเริ่มต้นของการสำรวจวันนี้เริ่มขึ้นบริเวณ “หน้าวัง” หรือท่าน้ำหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม ซึ่งเรือยนต์ที่เรานัดหมายเอาไว้มาจอดคอยท่าอยู่ก่อนแล้ว จากจุดนี้หากมองออกไปยังท้องน้ำ สามารถเห็นชีวิตผู้คน ทั้งคนเรือและผู้โดยสาร ซึ่งโดยมากเป็นนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่ต้องการข้ามฟากไป-มาระหว่างฝั่งหน้าวังกับฝั่งเกาะลอย โดยมี “วัดมณฑป” และย่านชุมชนอยู่อีกฟากของลำน้ำ

 

ชีวิตชาวน้ำหน้าวังจันทรเกษม-เกาะลอย

 

เส้นทางแรกที่สำรวจ คือ การขึ้นเหนือไปตามลำน้ำลพบุรี ถึงส่วนเหนือสุดของเกาะลอย จากนั้นจึงล่องใต้ผ่านแม่น้ำป่าสักไปยังบริเวณปากน้ำบางกะจะ อันเป็นจุดที่แม่น้ำป่าสักไหลมาสบกับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเรือออกจากท่าไม่นานนัก จะเห็นปากคลองบางขวด ซึ่งก็คือแม่น้ำลพบุรีสายเก่าอยู่ทางตะวันตก ถัดไปจะเห็นด้านข้างของวัดมณฑป เป็นวัดโบราณที่ได้รับการบูรณะเกือบทั้งหมดราวทศวรรษที่ 2500 จากจุดนี้สามารถมองเห็นเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม แม้มีการบูรณะไปแล้ว แต่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมอยู่

 

เจดีย์โบราณวัดมณฑปที่มีกล่าวเอาไว้ในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา

 

ในหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ได้กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ว่า

“... ยังเหลือแต่เจดีย์แปดเลี่ยมทรงสูง มีฐานบัวหงายซ้อนเป็นชั้นๆ ตรงกลางเจาะเป็นซุ้มพระยืนแปดทิศ รูปร่างของเจดีย์เป็นแบบเดียวกับวัดอินทาราม ซึ่งได้ถูกรื้อไปเสียแล้ว และเหมือนกับเจดีย์รายบางองค์ที่วัดมหาธาตุลพบุรี เจดีย์องค์นี้พังทลายบริเวณฐานและบางแถบ กำลังจะถูกปฏิสังขรณ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงได้วาดขนาดและลอกแบบไว้พอสังเขป เพื่อต่อไปคนจะได้รู้ว่าเคยมีเจดีย์แบบนี้อยู่ที่นี่ ...”

จากบันทึกดังกล่าวในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2509 จะเห็นว่าองค์เจดีย์นั้นมีการชำรุดอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นเหตุผลของการบูรณะในเวลาต่อมา

 

ภาพลายเส้นเจดีย์ระฆังฐานแปดเหลี่ยมวัดมณฑปโดยอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ

 

เมื่อเรือเคลื่อนผ่านวัดมณฑปไปไม่ไกลนักจะเห็น “วัดแค” จากนั้นจะเห็นเนินเกาะเล็กๆ มีป้ายชื่อว่า “หลวงพ่อขาว เกาะวัดช่องลม” เข้าใจว่าเป็นวัดโบราณที่ถูกทิ้งร้างไปแล้วในยุคปัจจุบัน กระทั่งเรือแล่นเข้าสู่ลำน้ำป่าสักซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะลอย ณ บริเวณนี้สามารถมองเห็นปากคลองหันตรา ซึ่งเดิมคือลำน้ำป่าสักอีกสายหนึ่งที่ไหลอ้อมไปทางตะวันออกเชื่อมกับคลองข้าวเม่า-บ้านบาตร

 

วัดช่องลมที่ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็ก

 

ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของ “วัดป่าโค” ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของอาจารย์ประยูร  อุลุชาฎะอยู่ด้วย และบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม” มีตำนานเล่าว่าท่านเป็นโจรขโมยควายที่มีจิตใจดี ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก แต่มาถูกตำรวจยิงเสียชีวิตที่ต้นไม้ใหญ่บริเวณนี้ ปัจจุบันยังมีชาวบ้านละแวกใกล้เคียงเดินทางมากราบไหว้เป็นที่พึ่งทางใจอยู่ไม่ขาด

 

ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม วีรบุรุษทางวัฒนธรรมย่านทุ่งฝั่งตะวันออกของอยุธยา

 

ในบริเวณลำน้ำป่าสัก คุณสุรเจตน์อธิบายเพิ่มเติมว่ามี “คลองทราย” เป็นลำนำที่เชื่อมระหว่างลำน้ำป่าสักเข้ากับคลองคูขื่อหน้า หรือลำน้ำป่าสักฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา จากนั้นเรือได้ล่องใต้ผ่านไปยังบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของ “วัดกระโจม” เป็นวัดโบราณที่ถูกน้ำกัดเซาะจนพังทลายลงน้ำไปทั้งหมด  คงเหลือเพียงตำแหน่งที่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่กรุงศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์เท่านั้น

 

บริเวณวัดกระโจม ปัจจุบันถูกน้ำกัดเซาะพังทลายจนหมด

 

เมื่อเรือแล่นเข้าสู่คูขื่อหน้า จะมองเห็นศาลาท่าน้ำ “วัดประดู่ทรงธรรม” ซึ่งมีรูปทรงสวยงามมีอักษรระบุปีที่สร้าง พ.ศ. 2484 คาดว่าเป็นศาลาหลังหนึ่งที่อยู่ตามทางเดินเลียบคลองวัดประดู่ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่กรุงศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ นอกจากนี้ในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยาได้ระบุว่า ณ เวลานั้นยังมีสะพานไม้สร้างแข็งแรงและศาลาที่พักอยู่เป็นระยะไปจนถึงวัดประดู่ทรงธรรม ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นจากคลองวัดประดู่ คือ ท้องน้ำในบริเวณนี้ตื้นเขินไปหมดแล้ว

 

ศาลาท่าน้ำวัดประดู่ทรงธรรม ใกล้กันคือคลองวัดประดู่ แต่ได้หมดสภาพความเป็นคลองไปแล้ว

 

เรือล่องต่อไปจนถึงบริเวณท่าน้ำหน้าสถานีรถไฟอยุธยา ซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของ “วัดจันทร” เป็นวัดโบราณที่ถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งมีการใช้พื้นที่สร้างอาคารที่พักเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟในเวลาต่อมา ถัดมาจะเห็นปากคลองกระมังเชื่อมต่อกับคลองข้าวเม่า-บ้านบาตรและคลองหันตรา ปัจจุบันมีการสร้างประตูกั้นน้ำขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมเขตอุตสาหกรรมและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในท้องทุ่งฝั่งตะวันออก

 

 

สะพานปรีดี-ธำรง ด้านซ้ายเคยเป็นที่ตั้งของวัดจันทร ปัจจุบันคือบริเวณสถานีรถไฟอยุธยา

 

เมื่อเรือแล่นผ่านสะพานปรีดี-ธำรง จะถึง “วัดเกาะแก้ว” และใกล้กันคือ “คลองปากข้าวสาร” ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำที่เชื่อมกับพื้นที่ส่วนในแถบวัดใหญ่ชัยมงคล จากนั้นเรือล่องไปถึงหน้า “วัดพนัญเชิง” เป็นบริเวณที่เรียกว่า “ปากน้ำบางกะจะ” คุณสุรเจตน์อธิบายว่าบริเวณนี้มิได้มีวัดพนัญเชิงเพียงวัดเดียว แต่ได้รวมวัดร้างที่อยู่ใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกันคือ “วัดโคก” และ “วัดรอ” ซึ่งที่วัดรอเคยพบพระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

 

จาก “บางกะจะ” สู่ “ปากคลองเมือง”

ที่ปากน้ำบางกะจะถือว่ามีทัศนียภาพสวยงาม สามารถมองไปได้รอบโดยแต่ละทิศทางมีจุดรวมสายตาที่น่าสนใจ เช่น เมื่อมองไปทางทิศตะวันออกจะเห็นเจดีย์ “วัดใหญ่ชัยมงคล” สูงเด่นเป็นสง่า

 

เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล มุมมองจากท้องน้ำ

 

หากมองไปทางทิศตะวันตกจะเห็นเจดีย์แบบล้านนาของ “วัดบางกะจะ” และหากสังเกตให้ดีจะมองเห็นเจดีย์โบราณอีกองค์หนึ่งอยู่ภายในวัดด้วย

 

บริเวณคุ้งน้ำบางกะจะ สามารถมองเห็นเจดีย์ทรงล้านนาได้จากท้องน้ำ

 

เลยไปไม่ไกลนักจะเห็นปล่องโรงสี 2 ปล่อง ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้ง “วัดแม่นางโลก” สภาพปัจจุบันแทบไม่หลงเหลืออะไรให้เห็นมากนัก

 

วัดแม่นางโลก(ร้าง) หลงเหลือหลักฐานไม่มากนักใกล้กับโรงสีเก่า

 

ป้อมเพชรเป็นหนึ่งในป้อมสมัยกรุงศรีอยุธยาที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

 

จากปากน้ำบางกะจะ เรือได้แล่นทวนกระแสแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันตก ระหว่างทางจะมองเห็นป้อมเพชรอยู่ฝั่งเกาะเมือง จากนั้นเรือได้แล่นผ่านมัสยิดอิสลามวัฒนา ซึ่งเดิมเคยมี “วัดทอง” ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ไม่ไกลกัน ถัดไปจะสามารถมองเห็นปากคลองคูจาม ปัจจุบันมีการสร้างประตูระบายน้ำ เหลือเพียงช่องขนาดเล็กให้น้ำไหลผ่านได้เท่านั้น และไม่ไกลกันจะเห็น “วัดพุทไธศวรรย์” ที่อยู่ระหว่างการบูรณะและใกล้กันยังมีวัดร้างอยู่อีก 2-3 วัด

 

ปากคลองคูจาม ปัจจุบันถูกปิดตายด้วยประตูน้ำ

 

วัดพุทไธศวรรย์ระหว่างการบูรณะ

 

เมื่อเรือแล่นผ่านปากคลองขุนละครไชยไม่นานนัก จะเป็นตำแหน่งของ “วัดไชยวัฒนาราม” ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวในยุคนี้ จากนั้นเมื่อเรือแล่นถึงบริเวณสะพานกษัตราธิราธิราช คุณสุรเจตน์ได้ชี้ไปที่ดงไม้ใหญ่เชิงสะพาน ซึ่งเป็นตำแหน่งของวัดร้างชื่อว่า “วัดราชพลี”  จากนั้นเรือได้แล่นมาจนถึงแพรกคลองเมืองฝั่งหัวแหลมของเกาะเมือง

 

วัดไชยวัฒนาราม แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอยุธยา

 

จาก “หัวแหลม” สู่ “เกาะลอย”

เมื่อเรือแล่นเข้าสู่คลองเมือง ลำน้ำช่วงนี้ดูแคบลงถนัดตา เรือแล่นผ่านปากคลองท่อ คลองสำคัญที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งปัจจุบันมีประตูกั้นน้ำขนาดใหญ่ ถัดมาเป็น “วัดใหม่ไชยวิชิต” สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ในบริเวณที่เคยเป็นจวนของพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงเก่าเวลานั้น และที่อยู่เยื้องกันคือปากคลองสระบัว ปัจจุบันเป็นเพียงทางน้ำแคบๆ ไม่สามารถใช้สัญจรได้อีก ใกล้กับเชิงสะพานเป็น “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” มีเสาศิลาขนาดใหญ่ ซึ่งคุณสุรเจตน์ให้ข้อมูลว่าพระยาโบราณราชธานินทร์ใช้เสาต้นนี้เป็นบรรทัดในการวัดระดับน้ำบริเวณเกาะเมืองอยุธยาในอดีต

 

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและหลักศิลาที่เคยถูกใช้วัดระดับน้ำบริเวณนี้

 

ไม่ไกลกันเป็นตำแหน่งที่พบเจดีย์โบราณซึ่งยังไม่ได้รับการบูรณะ คาดว่าบริเวณนี้เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ “วัดท่าทราย” มาก่อน เมื่อเรือแล่นเข้าใกล้ตลาดหัวรอ บ้านเรือนสองฝั่งน้ำได้แปรเปลี่ยนเป็นบ้านตึกและอาคารพาณิชย์ สะท้อนความเป็นย่านการค้าในยุคปัจจุบัน

 

เจดีย์ร้างย่านคลองเมืองระหว่างรอการบูรณะ

 

เมื่อเรือได้แล่นผ่านบริเวณท้ายเกาะลอย คุณสุรเจตน์ได้พาไปชมหอระฆังที่ “วัดสะพานเกลือ “ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่หลงเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวของวัดนี้ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่เกาะลอยยังมีวัดร้างแห่งอื่นๆ อยู่อีก ได้แก่ วัดข้าวสารดำ วัดสีจำปา วัดงู และวัดอินทราวาส แต่ไม่หลงเหลือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้เห็นแล้วในปัจจุบัน

 

หอระฆังวัดสะพานเกลือ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวที่หลงเหลืออยู่

 

โบราณวัตถุที่พบบริเวณวัดข้าวสารดำ (ภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2557)

 

บทสรุปการสำรวจจากท้องน้ำ

จากการสำรวจในครั้งนี้  สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองที่มีผลต่อโบราณสถาน หากเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ มักได้รับการบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่สำหรับโบราณสถานขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลผู้คน ยังคงมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่หลายแห่งที่ผู้คนในละแวกใกล้เคียงทราบว่าเป็นวัดร้าง ส่วนใหญ่จะถูกกันไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ บางแห่งมีการตั้งศาลไว้เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นการรักษาแหล่งโบราณสถานไว้ไม่ให้ถูกทำลายอีกทางหนึ่ง

 

นอกจากนี้ยังเห็นถึงผลกระทบจากการพัฒนาบ้านเมืองสมัยใหม่ที่ห่างไกลจากการสัญจรทางน้ำเช่นอดีต ปากคลองจำนวนมากถูกปิดและทำเป็นประตูกั้นน้ำ แม้จะมีผลดีในการป้องกันน้ำท่วม แต่เส้นทางน้ำที่ไม่ได้ถูกใช้งานอาจหมดความสำคัญลงไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคต หากมีการพัฒนาเส้นทางน้ำเพื่อรักษาวิถีชาวน้ำในอยุธยาให้คงอยู่และเชื่อมโยงกับแหล่งโบราณสถานที่อยู่ริมลำน้ำ อาจทำให้ลำน้ำสายต่างๆ กลับมามีความสำคัญอีกครั้ง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น               


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ