9 เรื่อง เมืองเก่าไชยบุรี

9 เรื่อง เมืองเก่าไชยบุรี

 

พัทลุงเป็นดินแดนที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ พัทลุงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาแล้วหลายแห่ง “เมืองไชยบุรี” เป็นเมืองศูนย์กลางหลักแห่งหนึ่งของพัทลุง มีบทบาทเป็นเมืองชายขอบด้านคาบสมุทรมลายู หรือทางใต้ของอยุธยา เป็นศูนย์กลางการปกครองชุมชนต่างๆ บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา เช่น เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองสงขลา และเมืองปะเหลียน เมืองไชยบุรีมีการสร้างป้อมปราการ และบ้านเมืองขึ้นในหมู่เขา โดยเป็นศูนย์กลางการปกครองของพัทลุงในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2192-2310

 

"เมืองไชยบุรี" แผนที่วาดฉบับเมืองโบราณ หน้าปกวารสารเมืองโบราณ เล่ม 44.3 

 

ตัวเมืองไชยบุรีตั้งอยู่บนพื้นที่ราบซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขา 3 ด้าน เขาพลูทางด้านตะวันออก เขาบ่อฬาทางด้านตะวันตก และเขาไชยบุรีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเขาเมืองทางด้านใต้ ภูเขาที่เรียงรายโอบล้อมเมืองก่อเกิดลำน้ำหลายสายไหลผ่านภายในและนอกตัวเมือง ซึ่งใช้เป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมออกสู่ทะเลหลวงได้ คลองที่สำคัญ ได้แก่ “คลองเมือง” ไหลมาทางตะวันตกจากบ้านปรางหมู่ ผ่านระหว่างเขารุนกับเขานางชี แล้วเลียบเขาเมืองด้านทิศตะวันตกผ่านเข้ากลางเมือง ทำให้ไชยบุรีกลายเป็นเมืองอกแตก ก่อนจะไหลขึ้นสู่ตอนเหนือ โดยแยกออกเป็น 2 ลำคลอง สายหนึ่งไหลไปทางตะวันตกรวมกับห้วยหรั่ง อีกสายไหลไปทางตะวันออก เชื่อมกับคลองตรุด คลองมะกอกใต้ และ “คลองปากประ” ที่ไหลลงสู่ทะเลหลวง “คลองเรือ” ไหลมาจากด้านทิศตะวันออกผ่านขึ้นเหนือไปบรรจบกับคลองปากประออกสู่ทะเลหลวงได้อีกทางหนึ่งนับเป็นเส้นทางการคมนาคมและการค้าที่ไชยบุรีใช้ติดต่อกับหัวเมืองใกล้เคียงและบรรดาพ่อค้าทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก

 

ปัจจุบัน ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณแห่งนี้ยังปรากฏให้เห็นผ่านโบราณสถานและโบราณวัตถุ ตลอดจนตำนานและคติความเชื่อต่าง ๆ ที่พบอยู่ในอาณาบริเวณเมืองเก่าไชยบุรี  กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณได้รวบรวม 9 เรื่องราวที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการตามรอยเมืองโบราณแห่งนี้

 

(1)

พระเขาเมือง

พระพุทธรูปขนาดเล็กที่พบจากถ้ำหรือเพิงผาบริเวณเขาไชยบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง พบทั้งที่สร้างด้วยสำริด เงิน เงินยวง และทองคำ มีหลายปาง เช่น ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางห้ามญาติ ปางห้ามสมุทร ปางเปิดโลก พุทธศิลป์แบบฝีมือช่างท้องถิ่น ปัจจุบันเก็บรักษาโดยพ่อท่านผ่อง ฐานุตฺตโม หรือพระครูสิทธิการโสภณ เจ้าอาวาสวัดแจ้ง

 

 

(2)

ป้อมเดอ ลามาร์

เดอ ลามาร์ (De Lamare) เป็นวิศวกรชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และเป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ให้ออกแบบแผนผังป้อมเมืองต่างๆ ของสยาม ทั้งที่นครศรีธรรมราช บางกอก มะริด สงขลา พัทลุง ฯลฯ เดอ ลามาร์ ได้บันทึกถึงเมืองไชยบุรีไว้ตอนหนึ่งว่า “ภูเขาทุกลูกปีนไม่ได้จากด้านนอก มีหินใหญ่แข็งแรง ภูเขาเล็กๆ อยู่ในหุบเขา มีปืนใหญ่ตั้งอยู่ ภายในเมืองมีแม่น้ำไหลผ่าน จวนของเจ้าเมืองก็ยังอยู่ มีคนอาศัยอยู่พอประมาณ”

 

 

(3)

พระเสื้อเมือง

พระเสื้อเมือง หรือ ศาลปู่เจ้าเมืองไชยบุรี ตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองเมืองหรือทิศใต้ของในตึกโดยมีคลองเมืองกั้นกลาง ศาลพระเสื้อเมืองตั้งอยู่บนเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพระเสื้อเมืองเป็นรูปเคารพที่ชาวบ้านนับถือศรัทธาเสมือนเทพารักษ์ ซึ่งชาวเมืองไชยบุรีเชื่อว่าท่านจะให้ความคุ้มครองป้องกันภัยทั้งทางบกและทางน้ำรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ที่ตั้งศาลเสื้อเมืองนั้นเคยเป็นพื้นที่เดียวกันกับในตึก แต่เมื่อทางน้ำของคลองเมืองเปลี่ยนเส้นทางการไหลจึงทำให้พื้นที่ของทั้งสองแห่งแยกออกจากกันแต่ก็สามารถเดินถึงกันได้

 

 

(4)

วัดเขาเมืองเก่า

“วัดเขา” หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “วัดเขาเมืองเก่า” ตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กลางวัดมีภูเขาธรรมชาติสูงประมาณ 20 เมตร มีการก่ออิฐเป็นชั้นล้อมภูเขาไว้ทั้ง 4 ด้าน บนยอดเขามีเจดีย์ทรงระฆังบนฐานย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 1 องค์ ในแผนที่เมืองไชยบุรีของเดอ ลามาร์ ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งเจดีย์วัดเขาและบันทึกไว้ว่า “เป็นสถานที่ฝังเถ้าถ่านคนสำคัญ” ซึ่งอาจหมายถึงพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ภายในเจดีย์พบโบราณวัตถุหลายชิ้น อาทิ พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะชิน แหวน ขวดแก้วมีภาษาอังกฤษว่า Calcutta ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจดีย์องค์ดังกล่าวมีการบูรณะเรื่อยมาหลายยุคสมัย

 

 

(5)

คลองเมือง

คลองเมือง ไหลผ่านกลางเมืองไชยบุรี ทำให้เมืองไชยบุรีมีลักษณะเป็นเมืองอกแตก ลำน้ำสายนี้ ไหลมาจากบ้านปรางหมู่ผ่านระหว่างเขารุนกับเขานางชี แล้วลัดเลาะขึ้นไปทางเหนือจนบรรจบกับคลองอ้ายโตที่ไหลมาจากทางทิศใต้ของเขาบ่อฬา จากนั้นจึงไหลขึ้นเหนือไปรวมกับห้วยหรั่ง คลองตรุด คลองมะกอกใต้ และคลองปากประ ก่อนไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา

 

 

(6) 

ศาลตาเพชร

ศาลตาเพชร หรือ ศาลตาเพรีชี เป็นศาลที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภายในวัดเขาเมืองเก่า ตามพงศาวดารเมืองพัทลุง บันทึกไว้ว่า ตาเพชร หรือ ตาเพรีชี เป็นน้องชายของสุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ผู้ครองเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง ซึ่งสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ได้ให้น้องชาย คือ เฟรีชี มาดูแลเมืองไชยบุรีเพื่อป้องกันโจรป่าที่มาปล้นชาวเมืองปละท่าตะวันตก (ด้านทิศตะวันตก) แถบคูหาสรรค์และอื่นๆ ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฟรีชีเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองไชยบุรี

 

 

(7) 

วัดในยอ

วัดในยอ ตั้งอยู่ระหว่างเขาพลูกับเขาเมือง เดิมเขียนว่า “วัดไนย” แต่ชาวบ้านออกเสียงเป็น “วัดในยอ” นับเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองไชยบุรี ภายในบริเวณวัดพบฐานพระอุโบสถและใบเสมาสมัยอยุธยา มีแท่นท่านยอเป็นแท่งหินปูนธรรมชาติรูปทรงกระบอกสูง 2 เมตร กว้าง 2 เมตร ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นสถานที่ที่พ่อท่านในยอหรือสมภารในยอ อดีตเจ้าอาวาสวัดใช้เป็นที่นั่งแสดงธรรม ทางทิศใต้ของแท่นท่านยอมีท่อน้ำพุ ท่อน้ำธรรมชาติ มีตาน้ำไหลตลอดทั้งปี ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ประกอบพิธีกรรมในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา น้ำจากท่อน้ำพุนี้ไหลออกมาจากใต้เขาไชยบุรีแล้วไหลเป็นลำธารเล็กๆ ไปออกนอกเมืองทางทิศตะวันออก

 

 

(8) 

ถ้ำพระนอน

ถ้ำพระนอนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไชยบุรี ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปไสยาสน์ทำด้วยปูนปั้นติดอยู่บนผนังถ้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำพระนอน” แต่ภายหลังถูกขุดทำลายจนเสียหายโดยพวกค้นหาเครื่องรางของขลัง นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ อยู่ภายในถ้ำอีกเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็กๆ หล่อด้วยโลหะ หม้อดินเผาใส่เถ้ากระดูก เครื่องถ้วยชาม ปัจจุบันถ้ำพระนอนยังคงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือ

 

 

(9) 

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมชัยบุรี ในโรงเรียนพรหมพินิตชัยบุรี

ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ แห่งนี้ นอกจากจะมีโมเดลเมืองโบราณไชยบุรีจำลอง ยังเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุที่ค้นพบจากเมืองเก่าไชยบุรี มีโบราณวัตถุมากมายหลายประเภท ทั้งชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา แบบเนื้อดิน เนื้อแกร่ง เครื่องถ้วยจีน กระเบื้องเชิงชาย กระเบื้องกาบกล้วย แวดินเผา ก้อนอิฐ กระสุนปืนใหญ่ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ เสมาจำหลักลาย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา พบจากวัดในยอ (ร้าง)

 

 

ติดตามเรื่องราวของเมืองเก่าไชยบุรีเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “ไชยบุรี : ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง” โดย วิยะดา ทองมิตร ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ 44.3 : ไชยบุรี ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น