ขุมทรัพย์ถ้ำเจ้าราม

ขุมทรัพย์ถ้ำเจ้าราม

 

“...จาริกอันณึ่ง มีในเมืองชเลียง สถาบกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ จาริกณึ่ง มีในถ้ำชื่อ ถ้ำพระราม อยู่ฝั่งน้ำสำพาย...”

 

ถ้ำพระราม หรือที่รู้จักกันในชื่อปัจจุบันว่า ถ้ำเจ้าราม ปรากฏชื่อครั้งแรกในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัด ที่ 22-27 ที่นี่จึงเป็นสถานที่สำคัญในแวดวงประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นถ้ำที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 และได้นำจารึกมาประดิษฐานไว้ ไม่พียงเท่านั้น ถ้ำเจ้ารามยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมศรัทธา และความเชื่อของผู้คนที่อยู่บริเวณนี้มาแต่อดีต โดยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระพุทธรูปไม้สักที่ชาวบ้านเรียกว่า รูปพระราม พระพุทธรูปทำด้วยหินแกรนิตหลายองค์ และที่สำคัญคือ หลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปนาคปรกศิลปะสมัยนครวัด สลักจากหินทราย ขนาดหน้าตัก ราว 43 เซนติเมตร ที่ถูกค้นพบภายในถ้ำเจ้ารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่มณฑปวัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย

 

ถ้ำเจ้าราม 

 

ถ้ำพระรามริมฝั่งน้ำสำพาย

ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นหลักฐานแรกที่กล่าวถึงชื่อ ถ้ำพระราม ฝั่งน้ำสำพาย ต่อมาในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีบันทึกการสำรวจภายในถ้ำเจ้าราม และได้กล่าวถึงแม่น้ำสำพายและถ้ำสีดาที่อยู่ติดกับถ้ำเจ้ารามด้วย แม้ว่าเวลานั้นพื้นที่นี้จะเป็น “สถานที่ที่ไม่ใคร่มีใครไป จึงเป็นการลำบากในการค้นหาเป็นอันมาก บางแห่งต้องหักร้างถางพงเข้าไป กว่าจะถึงก็ยากนัก” พระพยุหาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย (พ.ศ. 2451-2456) ได้บันทึกการสำรวจบริเวณถ้ำเจ้ารามและพื้นที่ใกล้เคียงทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ลงวันที่ 18 พฤษภาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) มีความบางตอนดังนี้

 

“เขาถ้ำพระรามเป็นสองชั้นตอนล่างเป็นหินปนดิน  ตอนบนเป็นหินก้อนเดียว อยู่ใต้เขาสีดา ต่ำกว่าเขาสีดา แต่สูงกว่าเขาทั้งหลายที่มีในหมู่นั้น ปากถ้ำอยู่ตอนบน ขึ้นไปจากเชิงเขาประมาณ 2 เส้น ปากถ้ำกว้างประมาณ 10 ศอก สูงประมาณ 3 วา 2 ศอก พ้นปากถ้ำเข้าไปประมาณ 10 วา  มีพระพุทธรูปยืนทำด้วยไม้ สูงประมาณ 3 ศอก ราษฎรเรียกว่า รูปพระราม ที่จริงเป็นพระพุทธรูปแท้ ชายจีวรและดอกจีวรยังมีปรากฏอยู่ และมีแผ่นอิฐเรี่ยรายอยู่ประมาณ 20 แผ่น ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจค้นหาศิลาจารึก พบหินแตกกระจัดกระจายเหลืออยู่ ยาวประมาณ 1 ศอก กว้างประมาณ 6-7 นิ้ว ผิวที่เหลืออยู่เป็นตอนริมสุดไม่มีตัวอักษร ได้ตรวจค้นเข้าไปจากปากถ้ำประมาณ 5 เส้น ยังไม่ถึงที่สุดของถ้ำ  ไม่มีแสงสว่างเลย"  

 

บริเวณปากถ้ำเจ้าราม เมื่อปี พ.ศ. 2524 (ภาพ : ประทีป ยมนา, สุพจน์ นาครินทร์)

 

“ลำน้ำแม่ลำพัน คือ ลำน้ำเมืองเก่า ปลายน้ำตกลำน้ำยมตรงบ้านธานีที่ตั้งเมืองสุโขทัยใหม่เดี๋ยวนี้ ต้นคลองมาจากทางตะวันตก ถ้ำพระรามอยู่ตะวันตกเฉียงเหนือฟากแม่น้ำลำพัน แม่น้ำลำพันเป็นแม่น้ำสำพาย ถูกต้องตรงกับศิลาจารึกของเมืองสุโขทัย “ถ้ำสีดา ราษฎรเรียกถ้ำศักดาบ้าง ชานเขาติดกับถ้ำพระราม ปากถ้ำห่างจากถ้ำพระรามประมาณ 8 เส้น จากเชิงเขาถึงปากถ้ำประมาณ 30 วา ปากถ้ำกว้าง 8 ศอก สูง 3 วา ลึก 15 วา ในปากถ้ำเข้าไปมีพระพุทธรูปยืนทำด้วยไม้ 2 องค์ มีเสาไม้แก่น บานประตูไม้ ก้นโอทำด้วยไม้ 1 ใบ และอิฐแตกหักในถ้ำโดยมาก แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าชื่อเรียก ถ้ำพระราม เปลี่ยนเป็น ถ้ำเจ้าราม เมื่อใด แต่ในบันทึกการสำรวจดังกล่าวได้ให้ข้อสังเกตว่า “ถ้ำพระรามนี้ คำราษฎรเรียกว่า ถ้ำเจ้าราม...” ซึ่งน่าจะเป็นการบอกโดยนัยว่าถ้ำพระรามเป็นชื่อทางการ ส่วนถ้ำเจ้ารามเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน

 

ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้ำเจ้ารามเป็นสถานที่พักผ่อนของพ่อขุนรามคำแหง ในขณะที่ชาวบ้านบางส่วนจะเอ่ยถึงถ้ำเจ้ารามในทางปาฏิหาริย์ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในช่วงวันโกนวันพระจะมีผู้ได้ยินเสียงมโหรีปี่พาทย์ดังกังวานออกมาจากถ้ำ บ้างพบเห็นคนแต่งชุดไทยโบราณเดินอยู่ในถ้ำ บ้างเห็นดวงไฟขนาดใหญ่ลอยออกจากถ้ำ ข้ามไปยังถ้ำที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วนชาวบ้านที่เคยเข้าไปภายในถ้ำเล่าว่า “ถ้ำเจ้ารามเป็นถ้ำตัน ไม่มีทางทะลุไปออกที่อื่น แต่สามารถเดินลัดเลาะตามสันเขาไปถึงจังหวัดลำปางได้ ภายในถ้ำมีทั้งส่วนที่เป็นเพดานสูงราวตึก 2 ชั้น และส่วนที่เป็นหุบเหวลึกลงไปกว่าความสูงของตึก 2 ชั้น ผนังถ้ำบางช่วงเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่ส่องแสงเป็นประกายแวววาว มองดูคล้ายรูปสัตว์นานาชนิด” โดยชาวบ้านได้ตั้งชื่อเรียกโถงถ้ำแต่ละห้อง เช่น ถ้ำประทุน พะองยาว รูไต้ดำ ปากเหวเล็ก และปากเหวใหญ่ เป็นต้น  

 

ปัจจุบันถ้ำเจ้ารามอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ข้อมูลจากการสำรวจโดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ระบุว่า ถ้ำเจ้ารามเป็นถ้ำขนาดใหญ่บนภูเขาหินปูน มีทางเข้า 2 ทางอยู่ใกล้กันทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายในถ้ำเป็นทางตัน มีความยาว 1,091 เมตร หรือพื้นที่ทั้งหมดราว 4718 ตารางเมตร แบ่งเป็น 10 โถง บางโถงเพดานต่ำ บางโถงเพดานสูง แต่ละโถงจะมีผนังกั้นและมีอุโมงค์เชื่อมเข้าหาโถงใหญ่ ซึ่งเป็นโถงหลักที่อยู่บริเวณช่วงกลางของถ้ำ โถงกลางนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อศิลา มีลักษณะเป็นเนินและพื้นลาดเทลงไป ใกล้กับลานที่เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อศิลามีปล่องสูงราว 70 เมตร ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของเพดานถ้ำ ทำให้มีแสงสว่างลอดผ่านลงมาได้  

 

อ่านเนื้อหาเต็มได้ในบทความ "ขุมทรัพย์ถ้ำเจ้าราม"  โดย เกสรบัว อุบลสรรค์ ในคอลัมน์ภูมิวัฒนธรรม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2560)  


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น