พิพิธเสวนา : Young... กลับบ้าน
แวดวงเสวนา

พิพิธเสวนา : Young... กลับบ้าน

 

 

คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เดินทางจากถิ่นฐานบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อศึกษาเล่าเรียนหรือแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน แต่มีไม่น้อยที่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้วได้ตัดสินใจหันหลังหวนกลับสู่มาตุภูมิ อะไรคือจุดเปลี่ยนและแรงผลักดัน? แล้วบทเรียนชีวิตมีอะไรบ้าง? มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และวารสารเมืองโบราณชวนมาพูดคุยกันในประเด็นเหล่านี้กับคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ร่วมกัน ในโครงการพิพิธเสวนา ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 หัวข้อเรื่อง “Young… กลับบ้าน” นำประสบการณ์ความรู้สู่มาตุภูมิ โดยจัดเป็นเสวนาออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น.- 16.00 น. ร่วมเสวนาโดย คุณวิชัย กำเนิดมงคล หรือคุณกล้วย ประธานกลุ่ม “กาแฟเดอม้ง” (Coffee De Hmong) ดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน คุณปิลันธน์ ไทยสรวง หรือคุณมะเหมี่ยว เจ้าของแบรนด์ “ภูคราม” (Bhukram) ภูพาน จังหวัดสกลนคร และทีมงานรายการ Come Home บ้านที่กลับมา ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของบรรดาผู้คนที่หวนกลับสู่บ้านเกิด ได้แก่ คุณมนสิชา เขียวขจี คุณชูทวน บุญอนันต์ และคุณรัชชานนท์ อ้นเจริญ ดำเนินรายการโดยคุณเมธินีย์ ชอุ่มผล กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ

 

 

คุณมะเหมี่ยว ปิลันธน์ ไทยสรวง เจ้าของแบรนด์ “ภูคราม” ผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมคราม ปักลวดลายที่รังสรรค์ขึ้นจากฝีมือชาวบ้านที่ภูพาน จังหวัดสกลนคร เล่าถึงประสบการณ์ทำงานเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน จากความสนใจในวิถีท้องถิ่นได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของภูคราม “กลับบ้านแล้วไปเจอป้าๆ ที่เป็นญาติ 4-5 คน รวมกลุ่มกันย้อมผ้าคราม กลิ่นและภาพแห่งความทรงจำวัยเด็กก็ย้อนกลับมา แต่ยังไม่ถึงขั้นว่าคือสิ่งที่เราสนใจ จุดเริ่มต้นคือเริ่มจากความสนใจในวิถีท้องถิ่น วิถีชุมชนตามธรรมชาติของสิ่งที่เล่าเรียนมา มากกว่าความสนใจในเรื่องงานผ้าและเครื่องแต่งกาย จึงเป็นโอกาสเอาผ้าแฮนด์เมดไปขายที่ออฟฟิศ กรุงเทพฯ และขายได้ จึงมองเห็นว่านี่อาจเป็นลู่ทางในการกลับบ้านได้ ใช้เวลาศึกษาว่าท้องถิ่นเราเป็นอย่างไร พื้นที่เราเป็นอย่างไร มีทรัพยากรแบบไหน ชาวบ้านเราเป็นอย่างไร ศึกษาอยู่ 1 ปี กระทั่งตัดสินใจลาออกจากงาน

 

คุณมะเหมี่ยวกล่าวว่า ตนเองทำงานภูครามในลักษณะเหมือนการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่คุ้นเคย รวมถึงประเด็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีความสนใจอยู่ก่อนแล้ว “ตอนแรกป้าๆ ทำผ้าเรยอน ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แต่พื้นฐานของชุมชนที่เหมี่ยวอยู่ไม่ได้มีผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เราเลยย้อนไปดูว่าจริงๆ แล้วที่บ้านเป็นผ้าแบบไหน เคยใช้อะไร เป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายทอมือ ตอนที่เหมี่ยวไปคนที่ทำผ้าฝ้ายทอมือและผ้าฝ้ายเข็นมือมีน้อยมาก เราก็เลยกลับไปฟื้นฟูเรื่องนี้ จริงๆ แล้วมีผ้าไหมที่ใช้กันในท้องถิ่นด้วย แต่ส่วนตัวเรากลัวหนอนเลยไม่แตะเรื่องผ้าไหม เลยทำแค่ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ พอไปศึกษาว่าท้องถิ่นเรามีอะไรบ้าง พบว่ายังมีธรรมชาติที่เราเอามาใช้ได้ เหมือนรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและเลือกที่จะทำผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติและทอมือโดยคนในพื้นที่

 

คุณปิลันธน์ ไทยสรวง หรือคุณมะเหมี่ยว เจ้าของแบรนด์ภูคราม

(ที่มา:  คุณปิลันธน์ ไทยสรวง)

 

ตั้งแต่แรกงานของเหมี่ยวจะมีเป้าหมายที่การอนุรักษ์วิถีชีวิตภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม งานของภูครามเลยเป็น อะไรที่ท้องถิ่นทำ เราจะทำอันนั้น การทอมือ ผ้าฝ้ายเข็นมือ การย้อมสีธรรมชาติ สีต่างๆ ที่ทำคือบ่งบอกความเป็นภูครามหมดเลย เพื่อจะบอกว่าท้องที่ของเราเป็นแบบไหน มันมีสีธรรมชาติ มีต้นไม้ชนิดนี้อยู่ แล้วเรายังรักษามันไว้อยู่ และมันให้คุณค่าอะไรบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่ทำมาโดยตลอด แต่ทุกวันนี้ก็ยังจะไม่ใช่ภูครามในช่วงแรกๆ ที่ทุกคนเห็น ยังต้องลองผิดลองถูก เพราะคนในท้องที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมเรื่องการปักผ้า มีแต่วัฒนธรรมการทอผ้า แต่การปักผ้าคือสิ่งที่เหมี่ยวจะบอกผู้คนว่าภูพานเป็นอย่างไร

 

สำหรับการทำงานร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภูครามนั้น คุณมะเหมี่ยวแบ่งปันประสบการณ์ว่า ใช้วิธีการค่อยๆ สังเกตชาวบ้าน แล้วเริ่มต้นด้วยการใช้เงินเก็บส่วนตัวลงทุนซื้อผ้าจากชาวบ้าน ก่อนจะเริ่มให้สร้างชิ้นงานใหม่ๆ เมื่อขายได้ก็เริ่มมีชาวบ้านสนใจมากขึ้น ส่วนเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นจะค่อยๆ สอดแทรกเข้ามา โดยให้ชาวบ้านลองสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าและความงามที่มีอยู่ เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงาน

 

การทำงานร่วมกับชาวบ้านเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ภูคราม

(ที่มา:  คุณปิลันธน์ ไทยสรวง)

 

ทางด้านคุณกล้วย วิชัย กำเนิดมงคล ประธานกลุ่ม “กาแฟเดอม้ง Coffee De Hmong" แห่งดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่จากบ้านเกิดลงมาเล่าเรียน ก่อนจะหวนกลับสู่ยอดดอยอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดที่อยู่สืบเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษ “ผมเป็นเด็กดอยรุ่นแรกๆ จากดอยมณีพฤกษ์ที่ได้ออกไปเรียนข้างนอก ในหมู่บ้านมีโรงเรียนแค่ประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อจบแล้วต้องลงไปเรียนโรงเรียนประจำในอำเภอทุ่งช้าง ก่อนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ และใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จนถึงปี 2555 จากนั้นก็กลับมาบ้าน

 

ขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯ คุณกล้วยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเซิร์ฟเวอร์ให้บริษัทไอทีแห่งหนึ่ง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณกล้วยตัดสินใจกลับบ้านเป็นเพราะความเป็นห่วงของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกชายกลับมาทำงานอยู่ใกล้ๆ เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง ได้ร่วมทำงานเป็นทีมบริหารของเทศบาลตำบลงอบและได้ร่วมพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับ ถือเป็นบทพิสูจน์ตัวเองที่สำคัญ เพราะในมุมมองของชาวบ้าน คนที่เรียนจบการศึกษาสูงแต่กลับมาอยู่บ้านนั้นดูเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมามีกระแสเรื่องการอนุรักษ์ป่าในจังหวัดน่าน เพื่อหาแนวทางให้ผู้คนบนดอยสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนจึงจุดประกายความคิดเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน หนึ่งในนั้นคือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยมุ่งเป้าหมายมาที่การทำไร่กาแฟ เพราะเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกในป่าได้และปลอดสารเคมี จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Coffee De Hmong

 

คุณวิชัย กำเนิดมงคล หรือคุณกล้วย ประธานกลุ่มกาแฟเดอม้ง (Coffee De Hmong) 

(ที่มา: คุณวิชัย กำเนิดมงคล)

 

เมื่อได้รับโจทย์มาว่าจะใช้กาแฟเป็นสื่อกลางเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อให้กาแฟที่ปลูกสามารถสร้างมูลค่าสูงที่สุด เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่คนในชุมชนต้องลงทุนในการปลูกกาแฟ และสามารถดูแลป่าได้อย่างยั่งยืนควบคู่กันไป จึงเริ่มต้นเรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับกาแฟในด้านต่างๆ ตั้งแต่ชนิดสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ไปจนถึงกรรมวิธีการแปรรูปและอุปกรณ์การแปรรูป ซึ่งในห้วงเวลาเมื่อ 10 ก่อนนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อ 10 ปีที่แล้วองค์ความรู้เรื่องกาแฟยังหายากมาก มีอาจารย์ไม่กี่คนที่เปิดสอนที่เชียงใหม่ ผมก็ค้นหาข้อมูลใน Google แล้วเดินทางไปเรียนกับพี่ยุทธและพี่ป้อม ซึ่งตอนนี้ทำโกโก้แบรนด์ทศกัณฐ์ หลังจากไปเรียนมาแล้วทำให้ทราบว่ากาแฟเป็นศาสตร์หนึ่งที่ละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่มีวันจบ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) และปี 2558 ได้สร้างกาแฟเดอม้งขึ้นมา เพื่อสร้างตัวตนและพยายามทำกาแฟของเราให้คนในวงการกาแฟได้ดื่ม เพื่อให้เขารู้จักเรามากขึ้น ผมไปเรียนเรื่องการคั่ว เรื่อง Sensory ก็คือรสชาติของกาแฟ แล้วมาถ่ายทอดให้คนในกลุ่ม คือคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่เห็นพี่ๆ เริ่มเดินได้ก็จะเข้ามาร่วมด้วย มาช่วยเราทำงาน สานต่อสิ่งที่เราทำ ตอนนี้ทุกคนมีแบรนด์ของตัวเองแล้วคือ เดอม้ง แล้วตามด้วยชื่อเกษตรกรคนนั้นๆ เช่น เดอม้ง by เรวัติ เดอม้ง by ถาวร

 

เมื่อรากฐานของกาแฟเดอม้งเริ่มแข็งแรงขึ้น สิ่งที่จะช่วยการันตีคุณภาพของกาแฟคือการส่งเข้าประกวด เพื่อสร้างชื่อเสียงและเน้นย้ำว่ากาแฟจากดอยมณีพฤกษ์มีความพิเศษจริงๆ “เริ่มส่งกาแฟเข้าประกวดปีแรกเมื่อปี 2563 ในประเภท Honey Process บนเวทีของสมาคมกาแฟพิเศษไทย เราได้รับรางวัลที่ 3 ในประเภท Honey ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งประกวดกาแฟ หลังจากนั้น ปี 2564 ก็ส่งไป 2 ตัว ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภท Dry มาทั้งคู่ และปีล่าสุด 2565 เราก็ได้รางวัลที่ 1 จากกรมวิชาการเกษตร และรางวัลที่ 2 ประเภท Natural จากสมาคมกาแฟพิเศษไทย รวมถึงรางวัลที่ 4 และที่ 5 อีกหลายรางวัล” คุณกล้วยเล่า

 

กาแฟเดอม้งได้รังสรรค์กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ของดอยมณีพฤกษ์

(ที่มา: คุณวิชัย กำเนิดมงคล) 

 

นอกจากคนรุ่นใหม่แล้ว คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เคยทำเกษตรกรรมก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้รุ่นลูกหลานได้พัฒนาต่อยอด และเมื่อพวกเขาเห็นลูกหลานกลับสู่บ้านเกิดก็มีกำลังใจที่จะปลูกกาแฟมากขึ้นด้วย ในอนาคตกาแฟเดอม้งยังต้องการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยว “อยากจะขายวัฒนธรรมในหมู่บ้านผ่านซองกาแฟ ซึ่งซีรีส์ที่ผมจะทำต่อจากนี้ก็คือ นำเสนอเรื่องประเพณีปีใหม่ม้งบนซองกาแฟสายพันธุ์เกอิชา (Geisha) ซึ่งเป็นสายพันธุ์กาแฟที่ดีในระดับโลก เพื่อให้คนที่มาซื้อได้เข้าใจประเพณีบ้านเรา กาแฟเป็นตัวดึงเรื่องการท่องเที่ยวมาสู่มณีพฤกษ์ค่อนข้างเยอะ คนในชุมชนเริ่มหันมาทำเรื่องการท่องเที่ยวและสนใจปลูกกาแฟมากขึ้น ทุกคนได้เห็นแล้วว่ากาแฟเป็นพืชที่มีอนาคต

 

ด้านทีมงานรายการ “Come Home บ้านที่กลับมา” นำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิดไปเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหรือกิจกรรมเพื่อชุมชน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จุดเริ่มต้นของรายการเกิดขึ้นจากคำถามง่ายๆ ที่มักได้ยินจากคนใกล้ตัวว่า “สงกรานต์หรือปีใหม่จะกลับบ้านกันหรือเปล่า?” นำมาสู่แนวคิดของรายการที่ต้องการนำเสนอวิธีคิดของคนที่ตัดสินใจกลับบ้าน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ผู้ชม คุณต้น ชูทวน ครีเอทีฟรายการ Come Home เล่าถึงจุดเริ่มต้นของรายการว่า “เราอยากไปหาคำตอบจากคนที่กลับบ้านแล้วมีชุดความคิดที่ตกผลึก มีแนวคิด หรือมี Inspire แรงบันดาลใจ ส่งต่อความคิด วิถีการกลับบ้านของแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง แล้วเราก็ไปหยิบเรื่องนี้เอามาเล่า... จริงๆ จะมี Tag Line คำหนึ่งของ Come Home คือ “บ้านที่กลับมา” อาจไม่ได้หมายความว่าเป็นบ้านที่ไหน บ้านที่เป็นสถานที่ แต่การกลับมาครั้งนี้คุณได้อะไรกลับมาบ้าง เช่น คุณได้ความเป็นคุณ คุณได้ความเป็นตัวของตัวเอง คุณได้ครอบครัว คุณได้ความสุขกลับมา อย่างนี้รึเปล่า อันนี้น่าจะเป็นที่มาของการทำรายการ Come Home

 

ทีมงานรายการ Come Home บ้านที่กลับมา

จากซ้ายไปขวา คุณชูทวน บุญอนันต์ คุณมนสิชา เขียวขจี และคุณรัชชานนท์ อ้นเจริญ 

(ที่มา: รายการ Come Home บ้านที่กลับมา)

 

สำหรับการคัดเลือกแขกรับเชิญ ระยะแรกได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ตัว ก่อนจะวางแผนการทำงาน โดยเริ่มจากการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเบื้องต้นในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำมาเตรียมเนื้อหา Pre-Production ว่าจะมีโครงเรื่อง (Structure) ที่ต้องการจะเล่าอะไรบ้าง รวมถึงภาพประกอบที่ต้องการ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำร่วมกับแขกรับเชิญ “รายการจะเป็นการดำเนินเรื่องด้วยเสียงสัมภาษณ์เป็นหลัก และนอกจากเสียงสัมภาษณ์ เราก็จะ Insert ภาพต่างๆ ของชีวิตเขามาเล่าประกอบพร้อมกัน เราจะเอามา Design ว่าเราจะถ่ายอะไรบ้าง ภาพแบบไหนที่เล่าเรื่องในช่วงเวลานี้ หรือสถานที่ไหนที่มัน Refer ถึงอดีตของเค้า หรือในช่วงที่ไม่สามารถไปถ่ายได้จริงๆ ช่วงนั้นเค้ามีภาพในอดีตที่จะสามารถนำมาเล่าได้หรือไม่ พอเป็น Paper เสร็จแล้ว ก็จะกลับไปสู่ผู้ที่เป็นแขกอีกครั้งว่าเรามี Structure แบบนี้ เล่าแบบนี้ Timeline ประมาณนี้ โอเคไหม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานกับแขก จากนั้นก็เตรียมตัวไปถ่าย แล้วก็สู่ขั้นตอน Post-Production” คุณมินต์ มนสิชา โปรดิวเซอร์ บอกเล่าขั้นตอนการทำงาน

 

ส่วนแขกรับเชิญที่เลือกหยิบยกมาเล่าถึงในรายการนั้น เรื่องช่วงวัย (Generation) แทบไม่มีผล เพราะคนทุกช่วงวัยสามารถกลับบ้านไปริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ได้ทั้งนั้น คุณสกาย รัชชานนท์ ครีเอทีฟ ได้สะท้อนถึงมุมมองนี้อย่างน่าสนใจว่า 

“...มีคนตั้งคำถามว่าทำไมเราเล่าถึงวัยกลางคนเป็นหลัก ก็เพราะเป็นวัยที่ตกตะกอนแล้ว ทำงานแล้ว เจอ Pain Point ต่างๆ ในชีวิต อยากกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของตัวเอง... ในซีซั่นท้ายๆ เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่เขารู้สึกว่าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากทำบางอย่างที่บ้านตัวเอง หรือเห็นคุณค่าอะไรบางอย่างที่บ้านเกิดของเขาเร็วขึ้น แต่ก็มีที่เล่าถึงผู้สูงวัยที่กลับบ้านมา ยกตัวอย่างเช่น ป้าติ๋ม วัย 60 กว่า ปลูกโรสแมรี่อยู่ที่บ้าน น่ารักมาก เขาเป็นคนที่มีไฟมากๆ และสิ่งที่เล่าถึง passion ในการกลับบ้าน คนรุ่นใหม่ฟังก็ยังปรับเอาไปใช้ได้... เพราะฉะนั้น generation มันไม่มีผลต่อการจะเล่าเรื่องการกลับบ้านเลย เพราะสุดท้ายแล้วคนทุกเจนกลับบ้านได้เหมือนกัน” 

 

คุณต้นได้เล่าเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะมาเป็นแขกรับเชิญคืออาชีพหรือสิ่งที่เขาถนัด สำหรับรายการ Come Home จะเน้นไปที่ความหลากหลายมากกว่า “สื่อส่วนใหญ่มักจะนำเสนอคนกลับบ้านที่ไปทำเฉพาะกลุ่มเกษตร ผมว่าจะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่แปลก เพราะประเทศไทยเกินกว่าครึ่งมีอาชีพที่รองรับอยู่คือเกษตรกร แต่รายการเรามองหลากหลายเป็นหลัก ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เขาอาจจะมองว่ากลับบ้านไปก็คงไปทำไร่ ทำนา ทำสวน จึงพยายามนำเสนออาชีพใหม่ๆ ความถนัดของคนรุ่นใหม่ที่เขาไปเรียนมาแล้วเอากลับไปใช้ อย่างเช่นคุณเหมี่ยวเรียนรู้มาเรื่องพัฒนาชุมชน พัฒนาคน อย่างบางคนเรียนเรื่อง Design บางคนเรียนเรื่องอาหาร บางคนก็ถนัดเรื่องอื่นๆ เราเลยพยายามบอกว่าการกลับบ้านคุณไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอาชีพใดอาชีพหนึ่ง คุณเอา Skill (ทักษะ) ที่คุณมีไปปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ กับบริบทในบ้านเกิดของคุณ มันก็เกิดการทำงานที่หลากหลายร่วมกับคนที่บ้านเกิดได้

 

สำหรับแบรนด์ภูครามและกาแฟเดอม้ง ต่างมีความเชื่อมโยงกันระหว่างคนที่กลับบ้านไปกับการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน

“จริงๆ การกลับไปชุมชน เหมือนกับการกลับไปมีครอบครัวใหญ่ๆ อีกครอบครัวหนึ่ง เราไม่ได้แค่ดูว่าเขาปักผ้าสวยไหม เขาทำงานได้ดีไหม เราไปรู้ถึงอารมณ์เขา ครอบครัวเขา ชีวิตเขา ทุกอย่างเลย เหมี่ยวรู้สึกว่าแก่ขึ้นเยอะนะ คือรู้สึกได้เลยถึงความเชื่อมโยงกับผู้คนมากขึ้น เราก็ได้เรียนรู้กับผู้คนด้วยว่าเราทำงานในมิติแบบนี้ จากที่ทำงานกับที่อื่นมาใช้วิธีนี้ได้ แต่การที่กลับมาใช้ตรงนี้มุมนี้อาจไม่ได้ เราอาจจะมีการหย่อนเข้าไป ถอยออก มันพอดีก็ปล่อยให้มันไปตามทิศทางที่มันควรจะเป็น เหมี่ยวรู้สึกเลยว่านี่มันคือศิลปะในการอยู่ร่วมกับผู้คน เราไม่ได้แค่ทำงาน แต่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นมนุษย์ และตัวเองด้วยว่านี่คือการใช้ชีวิตจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน และมองผู้คนเปลี่ยนไปด้วย...  เราไม่ได้เรียนรู้แค่กับชุมชน แต่เรียนรู้กับปัจจัยภายนอกด้วย กับความผันผวนที่มันควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น ลูกค้า เรียนรู้กับลูกค้าว่าลูกค้าที่เข้ามาเป็นแบบไหน ต้องการอะไร” คุณมะเหมี่ยวแบ่งปันแง่มุมของภูคราม

 

ด้านคุณกล้วยแห่งกาแฟเดอม้งได้เสนออีกมุมหนึ่งที่เกิดขึ้นบนดอยมณีพฤกษ์ว่า “ต้องยอมรับว่าผมยังสร้างแรงจูงใจได้ไม่เยอะ เราน่าจะประสบความสำเร็จแค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกกาแฟและใช้พื้นที่ปลูกกะหล่ำของตัวเองมาปลูกกาแฟแทน โดยชาวบ้านจะต้องปลูกต้นไม้ก่อน เพราะว่ากาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาของต้นไม้ ให้ต้นไม้ใหญ่ก่อนถึงจะปลูกกาแฟได้ ก็มีอาสาสมัครที่มาร่วมปลูกต้นไม้กับเราในโครงการ ‘ปล่อยเสือคืนป่า ปลูกป่าในใจคน’ กับเราทุกๆ ปี เราก็จะให้พี่ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการร้านกาแฟและโรงแรมในน่านขึ้นมาร่วมปลูกต้นไม้กับพวกเรา โดยแต่ละปีผมจะให้ชาวบ้านอาสาสมัครเตรียมที่ประมาณ 3 แปลงให้พวกพี่ๆ เขาขึ้นมาปลูก นอกจากนี้เราก็เอาต้นกล้าไปปลูกในแปลงใครแปลงมัน ซึ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้น ผมว่าเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยั่งยืน ชาวบ้านที่มาร่วมโครงการกับเราก็ทำด้วยใจรัก เราไม่ได้ไปบังคับ จึงคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ยั่งยืน

 

นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนายังได้แบ่งปันประสบการณ์การก้าวข้ามความกลัวในการตัดสินใจหวนกลับสู่บ้านเกิด เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนที่มีความคิดอยากกลับบ้าน ต่างเน้นย้ำว่าพลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือครอบครัวและคนรอบข้างที่อาจเป็นได้ทั้งพลังในแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและพิสูจน์ตนเอง ขณะที่ทีมรายการ Come Home มองตนเองว่าเป็นเสมือนเพื่อนที่ตั้งใจเก็บเรื่องราวของผู้คนที่หลากหลายมาถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ฟัง จึงต้องตั้งใจเล่าให้ดีทั้งภาพ เสียง และความรู้สึก แต่ละตอนจึงเป็นเสมือนหนังสือเล่มใหญ่ที่บันทึกชีวิตของคนๆ หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นพลังบวกที่สะท้อนกลับไปยังเจ้าของเรื่องราวได้อีกด้วย  

 

เชิญชมเสวนา “Young… กลับบ้าน” ย้อนหลังได้ทาง YouTube Muang Boran Journal

คลิก https://youtu.be/evT9hxIGAN8

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น