ลายสักขาที่บ้านเชียง
คลังบทความ

ลายสักขาที่บ้านเชียง

 

หากกล่าวถึง ‘บ้านเชียง’ หลายคนคงนึกถึงแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในช่วง 100 กว่าปีมานี้ ชุมชนบ้านเชียงก็มีความน่าสนใจ ด้วยเป็นชุมชนชาวพวน/ไทพวน/ไทยพวน [*] ที่อพยพจากเวียงจันทน์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ ณัฏฐภัทร นาวิกชีวิน ได้เสนอแง่มุมหนึ่งของชาวไทยพวนที่บ้านเชียงนั่นคือ ลายสักขา ซึ่งเป็นความนิยมที่แพร่หลายกันในหมู่ผู้บ่าวในอดีต นำเสนอไว้ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2521) 

 

บทความนี้ผู้เขียนได้เสนอไว้ว่า ผู้ชายไทยพวนที่บ้านเชียงส่วนใหญ่มีอาชีพดั้งเดิมคือทำเกษตรกรรม ล่าสัตว์ จักสาน และค้าวัวควาย และนิยมสักตั้งแต่โคนขาลงไปถึงหัวเข่า เรียกว่า “ขาลาย” ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลนั้นมี “พ่อตู้” (คำเรียกคนเฒ่าคนแก่ของไทยพวน) ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป อยู่ประมาณ 5 คนที่เคยสักขาลาย ซึ่งได้เล่าถึงการสักและคตินิยมให้ฟัง 


อาจารย์จะใช้เข็มหรือเหล็กปลายแหลมเผาไฟ แล้วจุ่มหมึกสีต่างๆ เช่น สีดำ สีแดง ที่ผู้สักต้องการ แล้วแทงลงไปในเนื้อบริเวณที่ต้องการจะให้สัก เช่น ที่หน้าอก แผ่นหลัง แขน ขา ข้อเท้า คอ แม้กระทั่งแก้ม ให้เป็นลายตามที่ผู้สักต้องการ อาจเป็นลายยันต์ ลายรูปสัตว์ หรือตัวคาถา ขนาดจะใหญ่หรือเล็กก็แล้วแต่ผู้ให้สักต้องการอีกเหมือนกัน การสักแต่ละลายก็ใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง หรือไม่ก็เป็นวันๆ ทีเดียว” 

 

การสักเช่นนี้เจ็บปวดมาก บ้างต้องหาฝิ่นมาใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ขณะที่เข็มสักแทงลงไปบนเนื้อว่าเจ็บมากแล้ว แต่ความทรมานจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อบริเวณที่สักเกิดอักเสบขึ้นมา หากสักที่ขาก็อาจถึงขั้นเดินไม่ได้ไปหลายวันหรือจับไข้ ซึ่งเหตุที่ทำให้ผู้บ่าวหลายต่อหลายคนยอมทนทรมาน นอกเหนือจากความสวยงามและผลทางไสยศาสตร์แล้ว ที่สำคัญคือค่านิยมว่าการสักขาลายเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นชาย กล่าวกันว่าถ้าขาขาว ผู้สาวจะไม่มองไม่คุยด้วย เวลาไปเกี้ยวสาวจะต้องถลกชายโสร่งผ้านุ่งเพื่ออวดรอยสัก 

 

การสักขาลายเช่นนี้ต้องให้อาจารย์ผู้มีวิชาเป็นผู้สักให้ เล่ากันว่าเคยเดินทางไปสักกับอาจารย์ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยอาศัยช่วงที่เดินทางไปกับคาราวานต้อนวัวควาย ออกจากอุดรธานี ลงมายังโคราชหรือนครราชสีมาก่อน แล้วถึงจะขึ้นไปทางเหนือ ออกเมืองเถิน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ออกไปพม่า” 

 

ส่วนลวดลายที่นิยมสัก ได้แก่ ลายม้าม ลายมอม และลายนก ม้ามกับมอมเป็นลายสัตว์สี่เท้าคล้ายสิงห์ แต่ตัวม้ามจะทำขนาดใหญ่กว่ามอม โดยลวดลายมีการเรียงลำดับดังนี้ โคนขาที่อยู่บนสุดจะสักเป็นรูปตัวม้าม ถัดลงมาเป็นลายนก และลายมอมตามลำดับ โดยนิยมสักลายมอมเรียงเป็นแถวลงมาจนถึงเข่า นอกจากนี้ยังมีลายสักที่หวังผลทางไสยศาสตร์ เช่น สักลายนกคุ้มที่กลางแผ่นหลังเชื่อว่าจะป้องกันอันตรายและไฟไหม้ สักคาถาลิ้นทองที่แขนขวาเชื่อว่าจะช่วยให้มีสเน่ห์ สักลายดอกผักแว่นที่แขนซ้ายเชื่อว่าจะป้องกันสุนัขกัด สักลายนกน้อยจับคอนที่ต้นแขนขวาเชื่อว่าจะหากินคล่อง ซึ่งลวดลายเหล่านี้จะมีคาถากำกับให้ท่องด้วย 

 

อ่านบทความเรื่อง “ลายสักขาที่บ้านเชียง” ฉบับเต็ม ได้ที่ 10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ คลิก วารสารเมืองโบราณปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (yumpu.com)

 

หมายเหตุ

[*] ในที่นี้ใช้คำว่า “ไทยพวน” ตามต้นฉบับของผู้เขียน

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น