วารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์
คลังบทความ

วารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์

 

วารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 เปิดตัวสู่บรรณพิภพเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2517 นับถึงปัจจุบันในปีพุทธศักราช 2564 ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 แล้ว โดยมีวารสารเมืองโบราณที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมารวมทั้งสิ้นกว่า 170 ฉบับ

 

วารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์ ภาพหน้าปกคือจิตรกรรมฝาผนังวัดราชสิทธาราม 

 

“...วารสารฉบับนี้ถึงแม้จะชื่อ “เมืองโบราณ” แต่ก็ไม่ได้หมายความถึงเมืองร้างที่หักพัง หากมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องราวหลักฐานในด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของบ้านเมืองซึ่งเคยมีอยู่เมื่อครั้งที่ความเจริญทางวัตถุจากตะวันตกยังไม่แพร่หลายเข้ามามีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของชาวบ้านชาวเมืองเราอย่างทุกวันนี้…ดังนั้นความมุ่งหมายในการจัดพิมพ์วารสารฉบับนี้ขึ้นก็เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าเรื่องราวในอดีตมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจทุกวัยทุกระดับได้รับรู้ โดยเฉพาะผู้ที่จะรับผิดชอบความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองต่อไปจะได้มีข้อมูลไว้พิจารณาในการสร้างสรรค์ให้เกิดเอกลักษณ์ในทางศิลปกรรมขึ้นแทนการลอกเลียนแบบหรือเอาเยี่ยงอย่างจากต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว…” บางช่วงบางตอนจาก “บทนำ” ในวารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งภายในเล่มนำเสนอบทความที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

 

เครื่องถม” บทความแรกของเล่มเขียนโดยอาจารย์มานิต วัลลิโภดมนำเสนอเรื่องราวของเครื่องถม งานฝีมือโบราณที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงมาแต่สมัยอยุธยา “สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน” ผลงานของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่จะพาเราออกเดินทางตามหาชุมชนโบราณสมัยพุทธศตวรรษที่ 4-5 บนดินแดนที่ชื่อสุวรรณภูมิ

 

คันฉ่องเครื่องถมสมัยอยุธยา ภาพประกอบในบทความเรื่อง "เครื่องถม" 

 

บทความเรื่อง "สรรค์บุรีนครแห่งความฝัน" โดยอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ 

 

นิยายเมืองเพชร์” เรียบเรียงโดยปิยะพร หยิบยกนิยายพื้นบ้าน-ตำนานพื้นถิ่นของคนเมืองเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์มาบอกเล่า เขียนภาพประกอบโดยสนั่น ศิลากร ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี “สรรค์บุรี นครแห่งความฝัน” บทความโดย น.ณ ปากน้ำ นำเสนอข้อมูลด้านศิลปกรรมของโบราณสถานเมืองสรรคบุรีพร้อมภาพประกอบสวยงาม “การถนอมรักษาโบราณวัตถุที่เป็นไม้” โดย พิชัย วาสนาส่ง กล่าวถึงคุณสมบัติของไม้และขั้นตอนการถนอมรักษาโบราณวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นด้วยไม้ “หลวงไพเราะเสียงซอ” สัมภาษณ์และเรียบเรียงชีวประวัติบุคคลสำคัญคือ หลวงไพเราะเสียงซอผู้มีคุณูปการต่อแวดวงดนตรีไทยโดย ส.ตุลยานนท์

 

ภาพประกอบบทความเรื่อง "นิยายเมืองเพชร์" ฝีมือสนั่น ศิลากร 

 

บทสัมภาษณ์หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยะชีวิน)  

 

ลงขัน” วิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเชิงสังคมวิทยาโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เพื่อหาความสัมพันธ์ของชาวบ้านที่มีต่อการลงขันในงานประเพณีทำบุญต่างๆ “ตีนจก” บทความโดยคุณปิยะพร อภิชาตนนท์ นำเสนอความรู้ทั่วไปของผ้าตีนจกซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม “เขาพระสุเมรุ” เรียบเรียงโดยพลูหลวง บทความนี้นำเสนอความเชื่อเรื่องระบบจักรวาลและเขาพระสุเมรุในหมู่ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและฮินดู

 

การเตรียมขนมจีนในงานบุญที่บ้านดงม่วง ภาพประกอบบทความเรื่อง "ลงขัน" 

 

ภาพประกอบบทความเรื่อง "ตีนจก" 

 

ปิดท้ายด้วยคอลัมน์ “เที่ยวเมืองโบราณ” ซึ่งเป็นการแนะนำผู้อ่านให้รู้จักอาคาร ศาสนสถานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเมืองโบราณ บางปู จังหวัดสมุทรปราการ มีหลายตอน โดยในวารสารฉบับปฐมฤกษ์เล่มนี้ อาจารย์เสนอ นิลเดช ได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับโตรณะซุ้มประตูทางเข้าเมืองโบราณซึ่งจำลองมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สวรรคโลก ศาลาใหญ่จำลองจากวัดอินทราราม จังหวัดชลบุรี ศาลาไม้จำลองจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ปรางค์จำลองจากวัดพระมหาธาตุเมืองเพชรบุรี และเมืองพัทลุงจำลอง เป็นต้น

 

ตลาดน้ำจำลองที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ 

 

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่นำเสนอในวารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์มีความหลากหลายซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกองบรรณาธิการรุ่นแรกและยังคงยึดเป็นแนวทางในการผลิตวารสารเมืองโบราณมาจนปัจจุบัน ดังปรากฏความตอนหนึ่งในวารสารฉบับแรกว่า ...เนื้อหาสาระสำคัญของวารสารเล่มนี้นั้น เราจัดให้มีหลายเรื่องต่างกันออกไป บางเรื่องเน้นหนักทางวิชาการ บางเรื่องก็เป็นการให้ความรู้ทั่วๆ ไป แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้ คือ ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมท้องถิ่น นิยายพื้นบ้าน ชีวประวัติบุคคลที่น่าสนใจ นำเที่ยวสถานที่น่าชม สารคดีน่ารู้หรือเรื่องสั้น ตลอดจนบทวิจารณ์ของผู้อ่านที่ส่งเข้ามาร่วมด้วย...

 

อ่านวารสารเมืองโบราณฉบับปฐมฤกษ์ได้ที่  https://www.yumpu.com/id/document/view/67706003/-1-1

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ