เที่ยวเมืองโบราณ
คลังบทความ

เที่ยวเมืองโบราณ

 

เมืองโบราณ’ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ  เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยผ่านงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแขนงต่างๆ ด้วยการจำลองโบราณสถานสำคัญในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ตลอดจนการผาติกรรมมาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยออกแบบแผนผังของเมืองโบราณให้คล้ายคลึงกับแผนที่ประเทศไทยและจัดวางตำแหน่งโบราณสถานแบ่งตามภูมิภาคต่างๆ โดยมีการขุดคลองแทนแม่น้ำสายสำคัญของแต่ละภาคเป็นเครื่องแบ่งเขต

 

การก่อสร้างเมืองโบราณเริ่มขึ้นในปี 2506 และเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในปี 2515 ต่อมาในปี 2517 มีการก่อตั้ง ‘วารสารเมืองโบราณ’ ขึ้น โดยมีพันธกิจที่สอดคล้องกันคือทำการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจ ในวารสารเมืองโบราณปีแรก (2517) ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 3  ท้ายเล่มมีบทความเรื่อง “เที่ยวเมืองโบราณ” โดย อ. เสนอ นิลเดช แนะนำสถานที่ต่างๆ ในเมืองโบราณ โดยแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ กล่าวได้ว่าการไปเที่ยวเมืองโบราณในหนึ่งวันก็สามารถทำความรู้จักโบราณสถานสำคัญแห่งต่างๆ ทั่วไทย มาดูกันว่าภายในเมืองโบราณในช่วงปีแรกๆ นั้นมีอะไรให้เที่ยวชมบ้าง

 

ซุ้มประตูทางเข้าเมืองโบราณ (ที่มา : วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1) 

 

เริ่มจากซุ้มประตูทางเข้าเมืองโบราณ เป็นประตูที่เอาแบบอย่างมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก ยอดซุ้มทำเป็นปรางค์ ประดับพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปกป้องรอบทิศ เมื่อพ้นประตูเข้าไปมีศาลาโถงแบบตรีมุข จำลองขนาดเท่าจริงมาจากวัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี ซึ่งเป็นวัดโบราณที่เคยเป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยยกทัพมาตั้งค่ายที่วัดแห่งนี้ จากนั้นเข้าสู่พื้นที่ส่วนจัดแสดงภาคใต้ แห่งแรกคือ พัทลุง บริเวณนี้ทำสระอโนดาต มีรูปปั้นนางกินรีกับพรานบุญ 

 

สระอโนดาตมีรูปปั้นนางกินรี ภาพถ่ายเมื่อปี 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ต่อมาเป็นนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จำลองพระบรมธาตุเมืองนครฯ มาไว้ ซึ่งเมืองนครศรีธรรมราชถือเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ต่อมาในสมัยอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราชถือเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร มีเมืองใหญ่น้อยทั่วภาคใต้ขึ้นกับนครศรีธรรมราช เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร ส่วนบริเวณที่สมมติให้เป็นเมืองตะกั่วป่า พังงา เลือกจำลองเทวรูปพระวิษณุ พระศิวะ และพระลักษมีที่ถูกต้นตะแบกขึ้นปกคลุมไว้ พบที่ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ไม่มีผู้ใดทราบว่าเดิมทีตั้งอยู่ที่ใดหรือเคลื่อนย้ายมาจากไหน จากรูปลักษณะเป็นงานศิลปะสมัยปัลลวะ อินเดียใต้ ต่อมาเป็นเมืองไชยา สุราษฎร์ธานี มีพระบรมธาตุไชยาจำลอง ทาด้วยสีดินแดง ทว่าพระบรมธาตุไชยาที่เมืองโบราณนี้มีรูปแบบที่แตกต่างจากพระบรมธาตุที่ไชยาคือ ส่วนยอดของเมืองโบราณใช้รูปแบบอย่างที่พบเก่าที่สุดในชวาเพราะที่ไชยาถูกซ่อมจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช จำลองที่เมืองโบราณ ภาพถ่ายเมื่อปี 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

พระบรมธาตุไชยา จำลองที่เมืองโบราณ ภาพถ่ายเมื่อปี 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

จากนั้นมุ่งขึ้นทิศเหนือเข้าสู่พื้นที่ภาคกลาง ที่เมืองพริบพรีหรือเพชรบุรี ได้จำลองศาลาวัดใหญ่สุวรรณาราม หรือที่เรียกกันว่าศาลาพระเจ้าเสือ เป็นศาลาทรงไทย มุงกระเบื้องลอน มีกระจังเชิงชาย ประดับช่อฟ้า ใบระกา เดิมที่ศาลานี้ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเสือได้โปรดฯ ให้รื้อถวายสมเด็จพระสังฆราชคือสมเด็จสุวรรณมุนีหรือสมเด็จเจ้าแตงโม ซึ่งท่านได้ให้นำมาปลูกไว้ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม อันเป็นสถานที่เล่าเรียนในวัยเด็ก จากเพชรบุรีสู่ราชบุรี ผู้เข้าชมจะได้พบกับพระปรางค์ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธมหายาน สมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 นอกจากนี้ในส่วนพื้นที่ภาคกลางยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งที่ถูกนำมาจำลองไว้ ได้แก่ อาคารท้องพระโรงในพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี หมู่เรือนไทยที่จำลองจากเรือนทับขวัญ ที่ตั้งอยู่ภายในพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม 

กลุ่มเรือนไทยนี้เรียกว่า เรือนทับขวัญ ของเดิมอยู่ ณ พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ฝีมือการออกแบบของพระยาวิศวกรรมประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ที่แสดงให้เห็นว่าพระราชวงัสนามจันทร์นั้นมีการสร้างหมู่อาคารทรงแบบสมัยนิยม คือมีพระวิมานที่บรรทม ท้องพระโรงหน้า หมู่อาคารทรงยุโรปและแบบไทย

 

ท้องพระโรง พระราชวังกรุงธนบุรี จำลองที่เมืองโบราณ ภาพถ่ายเมื่อปี 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

บริเวณที่สมมติเป็นกาญจนบุรี มีเจดีย์สามองค์สร้างจำลองไว้ รูปแบบอย่างเจดีย์มอญ ต่อไปเป็นสุพรรณบุรี มีภาพปูนปั้นเรื่องขุนช้างขุนแผน และมีหมู่เรือนไทยเรียกว่า “เรือนขุนช้าง” ประกอบด้วยเรือนนอน เรือนขวาง หอหน้า และหอกลาง ส่วนที่สมมติเป็นเมืองปทุมธานี สร้างสระบัวตามชื่อบ้านนามเมือง กลางสระมีศาลาจัตุรมุข 5 หลัง ตั้งเรียงกันอยู่ ทุกหลังมีสะพานชักถึงกัน ถัดไปจะพบกับ ปรางค์กลีบมะเฟือง จำลองมาจากปรางค์กลีบมะเฟือง วัดมหาธาตุ สรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งปรางค์กลีบมะเฟืองแบบนี้มีเฉพาะที่ลพบุรีและสรรคบุรีเท่านั้น

 

ปรางค์กลีบมะเฟือง ถ่ายแบบจากที่วัดมหาธาตุ สรรคบุรี จังหวัดชัยนาท  

ภาพถ่ายเมื่อปี 2524 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทและมณฑปพระพุทธบาทที่เมืองโบราณ 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

พระนครศรีอยุธยาที่เป็นเมืองสำคัญนั้น มีอาคารสำคัญที่นำมาสร้างจำลองไว้หลายหลัง อาทิ พระที่นั่งจอมทอง วิหารพระศรีสรรเพชญ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เป็นต้น ส่วนกรุงเทพฯ มีพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขนาดย่อส่วน 3 ใน 4 ส่วน เป็นปราสาทจัตุรมุข ภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากกรุงเทพฯ ไปสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด ที่เมืองแกลงทำรูปปั้นพระอภัยมณีตามวรรณคดีของสุนทรภู่ ส่วนที่จันทบุรีมีศาลาไทยที่จำลองรูปแบบมาจากที่วัดแก้วโยธานิมิตร

 

รูปปั้นพระอภัยมณีตามวรรณคดีของสุนทรภู่ ที่บริเวณเมืองแกลงในเมืองโบราณ 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

มณฑปพระพุทธบาท สระบุรี เป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่ถูกนำมาจำลองไว้ โดยสร้างในขนาดย่อส่วนลง 3 ใน 4 ส่วน โดยจำลองเหมือนจริงหมด แต่ที่แตกต่างจากปัจจุบันคือผนังภายในกรุกระจกเงาปั้นลายทองประทาศรี ตามสมัยพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งมีอยู่ในปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย นอกจากนี้มีพระปรางค์สามยอด ลพบุรี วิหารวัดโพธิ์เก้าต้น สิงห์บุรี พระธาตุหนองสามหมื่น ชัยภูมิ พระปรางค์ที่วัดจุฬามณี พิษณุโลก และที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ซึ่งการจำลองแบบของเมืองโบราณมีการปรับรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม 

“อาคารที่จำลองจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก แต่มีขนาดเล็กกว่าที่พิษณุโลก ที่เมืองโบราณมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เช่นหน้าบันเป็นการประดับช่อฟ้าแบบสังคโลก เป็นตัวมกร มุขทางด้านหน้าเป็นซุ้มหน้าต่าง ลายประดับซุ้มแบบสุโขทัย ภายในปูกระเบื้องแบบสุโขทัยเคลือบสีเขียวไข่กา ผนังเขียนลายเส้นอย่างวัดศรีชุม” 

 

 

ตลาดน้ำในเมืองโบราณ ภาพถ่ายเมื่อปี 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

ส่วนบริเวณที่สมมติให้เป็นเมืองสุโขทัยได้จำลองโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ วิหารวัดตระพังทองหลาง เนินปราสาท และวัดมหาธาตุ ประกอบด้วยพระวิหารหลวงและเจดีย์ประธาน ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะสุโขทัย ภายในวิหารหลวงที่วัดมหาธาตุนี้แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดยอัญเชิญมาแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ยังมีศาลาร้องทุกข์ สร้างเป็นศาลาโถง หลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันประดับด้วยช่อฟ้าบราลีแบบสุโขทัย ด้านหน้าทำอย่างเสาประตูค่าย แขวนกระดึงไว้ที่หน้าประตู ตามอย่างที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ต่อจากสุโขทัยมีป้อมกำแพงเพชร หมู่ตลาดน้ำ และวิหารวัดพร้าว จังหวัดตาก โดยหมู่ตลาดน้ำทำอย่างบ้านเรือนริมแม่น้ำ  มีศาลเจ้าประจำท้องคุ้ง มีเรือสำปั้น เรือข้าว สัญจรไปมา และมีสินค้านานาชนิดให้ผู้เข้าชมได้จับจ่ายใช้สอย

 

 

ภาพตลาดน้ำในเมืองโบราณใช้ประชาสัมพันธ์ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 

 

ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ สถานที่น่าสนใจคือ “วิหารวัดจองคำ” วิหารไม้หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเป็นทรงสูงอย่างศิลปะพม่า ซึ่งเมืองโบราณได้ผาติกรรมมาจากเมืองงาว จังหวัดลำปาง ได้ทำการรื้อถอนโดยเก็บรายละเอียดของส่วนประกอบต่างๆ มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนี้ที่เมืองโบราณยังได้จำลอง “หอคำ” ของเจ้าเมืองลำปางไว้ด้วย  

หอคำ ศาลาหลังใหญ่ สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ทางเหนือเรียกหอคำ เป็นที่ออกราชการและรับแขกของเจ้านายฝ่ายเหนือ ทำนองท้องพระโรงของเจ้านายทาง กรุงเทพฯ สมัยก่อน หอคำนี้ปัจจุบันที่ลำปางไม่มีแล้ว หอที่สร้างที่เมืองโบราณได้แบบมาจากหอคำลำปางที่รื้อถอนไป” 

 

วิหารวัดจองคำ ลำปาง ขณะรื้อถอนภายหลังจากการผาติกรรม เพื่อนำมาไว้ที่เมืองโบราณ  (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ถัดออกไปมีเจดีย์จามเทวี จำลองมาจากเจดีย์สมัยหริภุญชัยที่ลำพูน ซึ่งมีรูปแบบที่โดดเด่นคือ เป็นเจดีย์ซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนบริเวณที่เป็นเชียงใหม่มีเจดีย์วัดเจ็ดยอด ซึ่งมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พุทธคยา อินเดีย ส่วนที่เชียงแสนมีพระธาตุจอมกิตติ และที่น่านมีวิหารวัดภูมินทร์ ภายในเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระคันธกุมาร ซึ่งทางเมืองโบราณได้ถ่ายแบบจากของจริงมาเขียนไว้ ฝั่งตรงข้ามกับวิหารวัดภูมินทร์เป็นที่ตั้งของสวนสวรรค์หรือเทวโลก จัดแสดงงานประติมากรรมรูปเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดู

 

 

บริเวณสวนเทวโลกในเมืองโบราณ ภาพถ่ายเมื่อปี 2519  (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

ปราสาทหินพิมายจำลองในเมืองโบราณ  (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ส่วนบริเวณที่สมมติให้เป็นบ้านเมืองต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน มีโบราณสถานสำคัญๆ ที่เลือกมาแสดง ได้แก่ พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย ปรางค์นารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ กู่คูมหาธาตุหรือกู่บ้านเขว้า จังหวัดมหาสารคาม ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปรางค์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือการจำลองเขาพระวิหารในขนาดที่ย่อส่วนลงมา ด้านบนมีปราสาทหิน นอกจากนี้ในบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาและข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านจากทั่วทุกภูมิภาค  

 

เขาพระวิหารจำลองในเมืองโบราณ (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กันยายน 2517 

https://www.yumpu.com/id/document/view/67706003/-1-1

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มกราคม-มีนาคม 2518  

https://www.yumpu.com/xx/document/view/67593089/-1-2

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เมษายน-มิถุนายน 2518

https://www.yumpu.com/xx/document/view/67593159/-1-3

 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าชมเมืองโบราณ บางปู สมุทรปราการ

https://www.facebook.com/muangborantheancientcity  

 https://www.muangboranmuseum.com/  


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น