กำเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ
ศรีศักรทัศน์

กำเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ

 

“...สุโขทัยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นรัฐแรกเริ่มของกษัตริย์แบบพ่อขุน มาเป็นนครรัฐสากลของกษัตริย์แบบราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับนครรัฐเมืองคู่อื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่น หริภุญชัย เขลางค์นคร สุวรรณภูมิ แพรกศรีราชา ละโว้ อโยธยา เป็นต้น และสุโขทัยเป็นเพียงนครรัฐหนึ่งในสยามประเทศ หาใช่อาณาจักรไม่ เพราะการเป็นอาณาจักรมาเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา ที่กลายมาเป็นศูนย์กลางของสยามประเทศแต่สมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมาเท่านั้น...”

 

 

ชื่อบทความ    กำเนิดสุโขทัย รัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยในสยามประเทศ

ผู้เขียน           อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

คอลัมน์            บทบรรณาธิการ

ปีที่พิมพ์         วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2562)

“ทุ่งยั้งคือนครสระหลวงในจารึกสุโขทัย”

 

การศึกษาพัฒนาการของรัฐในดินแดนประเทศไทยทางมานุษยวิทยาโบราณคดีของข้าพเจ้านั้น ใช้แนวคิดในเรื่องคน พื้นที่ และเวลา เป็นหลัก “คน” แลเห็นได้จากทางชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา “พื้นที่” เห็นได้จากร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง (cultural landscape) ที่เกิดขึ้นในมิติทาง “เวลา” ยุค และสมัย การเกิดรัฐของชนชาติไทยเป็นเวลาที่ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเรียกว่า สยามประเทศ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ลงมา ก่อนหน้านี้ดินแดนที่นับเนื่องเป็นดินแดนสุวรรณภูมิจากคำเรียกชื่อของคนอินเดียสมัยพุทธกาล คือราวพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา เป็นสมัยเวลาที่มีการค้าขายทั้งทางทะเลและทางบกกับดินแดนภายนอก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง ผสมผสานกับผู้คนที่อยู่ในท้องถิ่น เกิดเป็นบ้าน เมือง รัฐ และอาณาจักร

 

ข้าพเจ้ากำหนดสมัยเวลาทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยดังนี้ สมัยสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 3 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 7 สมัยฟูนัน ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 11 สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 12-17 และ สมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อจากนั้นถึง สมัยอยุธยา และ กรุงเทพฯ ตามลำดับ ในสมัยลพบุรี ดินแดนประเทศไทยส่วนใหญ่ที่เรียกว่า “สยามประเทศ” ร่วมสมัยกันกับดินแดนของบ้านเมืองอื่น เช่น มลายู รามัญ กัมพุชเทศะ เป็นต้น โดยเฉพาะความเป็นสยามประเทศสะท้อนให้เห็นจากจดหมายเหตุจีนครั้งราชวงศ์ซุ้งและเหม็ง กล่าวถึงทูตจากสยาม เช่น ละโว้ สุพรรณภูมิ เพชรบุรี และอยุธยาเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้ากับจีน  อนึ่งตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมา ดินแดนสยามและบ้านเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคสุวรรณภูมิมีการเคลื่อนไหวทางการค้ากับจีนมากกว่าเดิม ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนทั้งภายในและภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองตามเส้นทางการค้าและการคมนาคม ตลอดจนดินแดนภายในมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองเหล่านี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และได้เข้ามาผสมผสานกับบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่เดิม จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรม การเกิดบ้านเมืองใหม่ รัฐใหม่ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้ มีทั้งบริเวณใกล้ทะเล ลุ่มน้ำลำคลอง ขึ้นไปจนถึงดินแดนภายใน ที่สูงและเชิงเขา บ้างเป็นเมืองเล็ก บ้างเป็นเมืองใหญ่ที่เกิดเป็นรัฐแรกเริ่มก็มี โดยเฉพาะดินแดนในบริเวณภาคกลางตอนบน หรืออีกนัยหนึ่งคือภาคเหนือตอนล่างของลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่นับเนื่องเป็นเขตแดนของรัฐสุโขทัยที่บรรดานักประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งไทยและเทศ เชื่อว่าเป็นราชอาณาจักรแรกของชนชาติไทยในสยามประเทศ

 

กำเนิดสุโขทัย

ก่อนหน้านี้นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคมที่เป็นอาจารย์ของนักประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยให้ความคิดเห็นว่า สุโขทัยเป็นพื้นที่และบ้านเมืองของผู้คนที่เป็นอาณานิคมของราชอาณาจักรขอมเมืองพระนคร โดยอ้างความเป็นมาจากศิลาจารึกสุโขทัยและศิลปวัฒนธรรมแบบขอมเมืองพระนครของบรรดาโบราณสถานบางแห่ง เป็นหลักฐานยืนยันว่าคนไทยเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองแถบนี้ในลักษณะที่เป็นข้าทาสของขอมมากกว่าเป็นอิสระ ต่อเมื่อผู้นำ 2 ท่าน คือ พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวผนึกกำลังกัน จากเมืองที่อยู่ทางตะวันออกคือเมืองราด กับเมืองที่อยู่ทางเหนือคือบางยางจากทางลุ่มน้ำน่าน เข้ามายึดเมืองศรีสัชนาลัยทางลุ่มน้ำยม และยกกองทัพร่วมกันตีเมืองบางขลัง แล้วเข้ามาตีเมืองสุโขทัย ขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงผู้ปกครองเมืองในเวลานั้นพ่ายแพ้หนีไป พ่อขุนผาเมืองแต่งตั้งให้ขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ให้พระนามใหม่ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ซึ่งเป็นชื่อของตำแหน่งที่กษัตริย์ขอมเมืองพระนครที่ในจารึกเรียกว่า “ผีฟ้า” เจ้าเมืองยโสธรปุระ แต่งตั้งให้ในฐานะลูกเขย เนื้อความตอนนี้ไม่ได้กล่าวว่าเมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจเมืองพระนคร กลับแสดงความสัมพันธ์ทางสังคมของการกินดองระหว่างลูกสาวกษัตริย์ขอมกับลูกชายของเจ้าเมืองสุโขทัย คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม บิดาของพ่อขุนผาเมือง และถ้าอ่านศิลาจารึกอย่างตรงไปตรงมา ได้ความเพียงว่าเมืองสุโขทัยคือเมืองศูนย์กลางของรัฐที่มีกษัตริย์ปกครอง ซึ่งคนไทยเรียกว่า “พ่อขุน” ที่มีระดับสูงกว่า “ขุน” โดยทั่วไป และเมื่อมองพัฒนาการของผู้คนและดินแดนที่เป็นรัฐสุโขทัยแล้ว ยิ่งไม่เห็นความสัมพันธ์เชิงการเมืองแบบเมืองขึ้นกับเมืองศูนย์กลางแต่อย่างใด บรรดาศิลาจารึกสุโขทัยตั้งแต่จารึกหลักที่ 1 และหลักที่ 2 จนถึงปลายสมัยสุโขทัยที่มีความสัมพันธ์กับอยุธยาและเชียงใหม่แล้ว ก็ไม่เห็นความเกี่ยวข้องทางการเมืองกับขอมเมืองพระนครแม้แต่น้อย หากจำกัดอยู่ในแวดวงบ้านเมืองภายในที่สัมพันธ์กับชนชาติไทย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางแทบทั้งสิ้น อีกทั้งยังแลเห็นพัฒนาการของรัฐตั้งแต่แรกเริ่มมาเป็นรัฐราชามหากษัตริย์ในรูปของนครรัฐอิสระเสียอีก

 

สร้างเครือข่ายอำนาจด้วยการกินดอง

จากการศึกษาพื้นที่อันเป็นถิ่นฐานการสร้างบ้านแปงเมืองที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ภูมิวัฒนธรรมจากชื่อเมืองบรรดามีในศิลาจารึกสุโขทัย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงลงมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท พบว่าพื้นที่อันเป็นแกนกลางของรัฐสุโขทัยในระยะแรกเริ่มนั้น เป็นพื้นที่ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ที่มีลำน้ำยมที่ไหลจากจังหวัดแพร่ ผ่านแนวเขามาลงที่ราบในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง มายังอำเภอเมืองสุโขทัย ก่อนจะวกไปทางตะวันออกเข้าหาลำน้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ลำน้ำยมนี้อยู่ทางตะวันตกของพื้นที่ที่เป็นแกนกลาง ส่วนทางตะวันออกมีลำน้ำน่านไหลผ่านเทือกเขา หุบแอ่งในที่สูง จากเขตอำเภอเวียงสามายังอำเภอท่าปลา ซึ่งกลายเป็นเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านบริเวณเขามาลงที่ราบตั้งแต่เขตเมืองฝางจนถึงอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ แล้วไหลลงทางใต้ผ่านอำเภอพิชัย อำเภอทองแสนขัน อำเภอวัดโบสถ์ มายังอำเภอเมืองพิษณุโลก และจากเมืองพิษณุโลกก็ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในเขตอำเภอเมืองพิจิตรไปยังจังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ระหว่างลำน้ำยมทางด้านตะวันตกกับลำน้ำน่านทางตะวันออก มีเมืองโบราณใหญ่ที่มีร่องรอยการสร้างเมืองใหม่ทับและขยายเขตเมืองหลายสมัย ตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมาจนถึงสมัยอยุธยา คือ เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยบนลุ่มน้ำยม เมืองทั้ง 2 เป็นเมืองคู่ โดยสุโขทัยอยู่ทางใต้และศรีสัชนาลัยอยู่ทางเหนือ ซึ่งในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมักเรียกชื่อรวมกันว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย โดยใช้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยมาก่อน ในขณะที่ลุ่มน้ำน่านทางตะวันออกมีเมืองคู่บนลำน้ำเดียวกัน ที่ในศิลาจารึกเรียก สระหลวง-สองแคว โดยใช้เมืองสระหลวงที่อยู่ทางเหนือน้ำขึ้นก่อนและตามมาด้วยสองแคว ที่ปัจจุบันคือพิษณุโลก

 

จากศิลาจารึกสุโขทัยเช่นเดียวกัน กล่าวถึงเจ้าเมืองสุโขทัยในตอนต้นว่ามีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดจากการกินดองระหว่างผู้เป็นเจ้าเมือง 2 ตระกูล คือ ตระกูลพ่อขุนผาเมืองแห่งเมืองสองแคว กับตระกูลพ่อขุนบางกลางหาวแห่งเมืองบางยาง ที่ต่อมาคือสระหลวงและทุ่งยั้ง โดยพ่อขุนบางกลางหาวแต่งงานกับนางเสือง ธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถม เจ้าเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย เมืองทั้ง 2 เป็นเมืองคู่ที่มีมาก่อน และมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี และลพบุรี ต่อมาได้ถูกยึดครองโดยพ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อพ่อขุนศรีนามนำถมสิ้นพระชนม์ได้เกิดจลาจลขึ้น ทำให้ถูกยึดเมืองโดยขุนนางผู้หนึ่งคือขอมสบาดโขลญลำพง เป็นเหตุให้พ่อขุนผาเมืองผู้เป็นลูกและพ่อขุนบางกลางหาวผู้เป็นลูกเขยผนึกกำลังกัน โดยพ่อขุนผาเมืองยกกองทัพจากเมืองราด ที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นเมืองนครไทยที่อยู่ต้นน้ำแควน้อย ไหลลงมาออกแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่าน อันเป็นบริเวณที่ตั้งของเมืองสองแคว เหตุที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมืองราดคือเมืองนครไทยนั้น เพราะว่าเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองสองแควกับเมืองหลวงพระบางในลุ่มน้ำโขง และเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่า  ภาษาไทยของสุโขทัยนั้นคล้ายกันกับภาษาไทยที่หลวงพระบาง อนึ่งเมื่อเกิดสงครามเชียงใหม่กับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทางอยุธยาได้ใช้เมืองสองแควหรือพิษณุโลกเป็นเมืองสำคัญที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาครองและสู้รบกับเชียงใหม่ สมัยนั้นมีการเกณฑ์ผู้คนจากบ้านเล็กเมืองน้อยในลุ่มน้ำแควน้อยเข้ามาเป็นกำลังคน รวมทั้งการสร้างกำแพงเมืองนครไทยให้เป็นเมืองสำคัญด้วย ทำให้เกิดความคิดว่าตระกูลพ่อขุนผาเมืองนั้น น่าจะเป็นคนไทยที่มาจากลุ่มน้ำโขงทางเมืองชวาหรือหลวงพระบาง และผู้คนที่มาจากลุ่มน้ำอูหรือเมืองอูที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบาง

 

ส่วนเรื่องของพ่อขุนบางกลางหาว เป็นคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มาจากลุ่มน้ำน่านตอนบนซึ่งติดกับเทือกเขาหลวงพระบาง มีเมืองสำคัญอยู่ที่เมืองปัวหรือเมืองพลั่วในศิลาจารึก เป็นเมืองของกลุ่มคนที่เรียกว่า ลาวกาว ที่เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในลุ่มน้ำทาทางฝั่งเหนือของแม่น้ำโขง เคลื่อนมาตั้งหลักแหล่งอยู่รอบดอยภูคาและสร้างเมืองปัวเป็นเมืองสำคัญ มีพญาผากองเป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้ย้ายเมืองลงมาอยู่ที่เมืองน่าน คนลาวกาวจากเมืองน่าน เมืองปัว เดินทางตามลำน้ำน่านเข้ามายังอุตรดิตถ์ที่มีชุมชนดังเดิมอยู่ในเขตเมืองลับแล แล้วตั้งเมืองบางยางขึ้นมา รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า เมืองสระหลวง จากศิลาจารึกสุโขทัย โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทลงมาจนถึงศิลาจารึกคำปู่สบถในตอนปลายสมัยสุโขทัย สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของคนลาวกาวทั้งผู้คนที่เป็นประชาชนกับคนชั้นเจ้านายอย่างชัดเจน จากการด่าบรรพชาติตระกูลของกษัตริย์ลาวกาวที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์สุโขทัยในลักษณะปู่หลาน ซึ่งมีการอ้างไปถึงชื่อบรรพบุรุษ เช่น ขุนจิต ขุนจอด เป็นต้น ขณะที่ศิลาจารึกเขาพระบาทใหญ่หรือเขาสุมณกูฏที่กล่าวว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทเอาผู้คนจากเมืองในอาณาเขตสุโขทัยทางเหนือในลุ่มน้ำน่าน และทางตะวันออกคือเมืองหลวงพระบาง รวมทั้งเมืองในลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำปิงทางใต้ ตั้งแต่นครชุม ชากังราว (กำแพงเพชร) ไปจนถึงเมืองพระบางที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ สะท้อนให้เห็นบ้านเมืองและผู้คนของรัฐสุโขทัยในยุค “รัฐอิสระ” ที่พ้นความเป็น “รัฐแรกเริ่ม (early stated)” ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนรามคำแหง ความแตกต่างกันระหว่าง “รัฐแรกเริ่ม” ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงกับ “นครรัฐ” ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทก็คือ สมัยรัฐแรกเริ่มนั้น การใช้คำเรียกพระมหากษัตริย์และชนชั้นปกครอง ใช้คำภาษาไทยอย่างง่ายว่า ขุน และขุนที่เป็นผู้ปกครองรัฐเรียกว่า พ่อขุน ซึ่งพบเป็นแห่งแรกในศิลาจารึกสุโขทัย ส่วนการเรียกกษัตริย์ที่ปกครองรัฐในระดับที่เป็นราชอาณาจักร เช่น อาณาจักรเมืองพระนครของกัมพูชาใช้คำว่า ผีฟ้า ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการใช้คำในภาษาบาลีสันสกฤตที่นำเรื่องความเป็นราชามหากษัตริย์แบบทางอินเดียเข้ามา ครั้งสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทอันเป็นเวลาที่รัฐแรกเริ่มมีทั้งอาณาเขตและพลเมืองจากหลายลุ่มน้ำที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทพามาไหว้พระพุทธบาทที่เขาพระบาทใหญ่นั้น เมืองสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของนครรัฐแบบราชามหากษัตริย์ เช่นเดียวกันกับรัฐและบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางใต้ พม่า มอญ และกัมพูชา ในยุคนี้คำว่า “ขุน” และ “พ่อขุน” หายไป มีคำนำหน้าว่า พระและพระยา เข้ามาแทน

 

การเคลื่อนย้ายของผู้คน

ก่อเกิดเป็นบ้านเมืองและนครรัฐ

การที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐแรกเริ่มของชนชาติไทยนั้น คงมีผู้กล่าวหาว่าเป็นการลบล้างประวัติศาสตร์ของกรุงสุโขทัยในฐานะเป็นราชอาณาจักรไทย ที่มีอาณาเขตกว้างไกลทั้งเหนือ ตะวันตก ตะวันออก และใต้ ซึ่งมีกล่าวอย่างชัดเจนในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ข้าพเจ้าใคร่ชี้แจงว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้นไม่น่าจะเขียนขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เขียนขึ้นในสมัยหลังของกษัตริย์และเจ้านายในตระกูลของพ่อขุนบางกลางหาวหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่มีการแทรกแซงทางการเมืองโต้ตอบกษัตริย์ตระกูลพ่อขุนผาเมือง มีการเขียนเรื่องราวความเป็นมาของสุโขทัยในศิลาจารึกหลักที่ 2 อ่านแล้วมีลักษณะตรงไปตรงมากว่าในเรื่องของโครงสร้างทางสังคมและการเมือง เช่น แลเห็นพัฒนาการของรัฐสุโขทัยตั้งแต่เมืองคู่ในลุ่มน้ำเดียวกัน คือสุโขทัยกับศรีสัชนาลัยในลุ่มน้ำยม กับเมืองคู่ในลุ่มน้ำน่าน คือเมืองสองแควกับสระหลวงของตระกูลพ่อขุนผาเมือง ที่กินดองกับตระกูลพ่อขุนบางกลางหาว ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าความเป็นเมืองคู่ของสุโขทัยกับศรีสัชนาลัยในลุ่มน้ำยมนั้น สัมพันธ์กับตระกูลของชนชาติใด โดยเฉพาะทั้งชื่อเมืองก็ดูใช้คำบาลีสันสกฤตที่สอดคล้องกับหลักฐานโบราณสถาน ศาสนสถาน และศิลปวัฒนธรรมที่มีมาแต่สมัยทวารวดีและลพบุรี ซึ่งมีมาก่อนชนชาติไทยจะเคลื่อนย้ายเข้ามาตามเส้นทางการคมนาคมดังที่มีกล่าวถึงในศิลาจารึก แต่หลักฐานจากจารึกหลักที่ 2 มีความชัดเจนว่า ก่อนเหตุการณ์ขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงไปจากสุโขทัยนั้น เจ้าเมืองหรือกษัตริย์เมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย  คือพ่อขุนศรีนาวนำถม ปัญหาจึงตามมาว่า เหตุใดต้องไปที่สุโขทัย เพราะสุโขทัยเป็นเมืองที่อาณาจักรกัมพูชามายึดครองให้เป็นศูนย์กลางของรัฐที่อยู่ในอำนาจขอม โดยมีขอมสบาดโขลญลำพงเป็นข้าหลวงคอยกำกับการปกครองเจ้าเมืองที่เป็นคนไทย ตามที่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedès) กล่าวอ้าง แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว คำตอบอยู่ที่การศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่ทำให้มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมืองแต่แรกเริ่ม

 

หากพิจารณาที่ตั้งของเมืองสุโขทัยที่อยู่บนที่ลาดเชิงเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งของป่าและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเหล็ก อยู่ในบริเวณที่มีธารน้ำน้อยใหญ่ไหลลงจากเขาลงสู่ที่ราบลุ่ม อันเหมาะกับการทำนา ทำไร่ บนฝั่งลำน้ำยมทางตะวันตก การมีแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก และผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กมาตั้งแต่สมัยยุคเหล็กตอนปลาย ราว 2,000 ปีลงมา เป็นชุมชนที่นอกจากทำเหล็กแล้ว ยังทำลูกปัดแก้ว ดินเผา อันเป็นเครื่องประดับ ส่งไปยังบ้านเมืองร่วมสมัยที่มีอายุนับเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี ซึ่งนอกจากพบลูกปัด เครื่องประดับ ยังพบเหรียญเงินและทองคำที่เรียกว่า เงินฟูนัน มากมาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชุมชนแรกเริ่มก่อนประวัติศาสตร์ได้มีการขยายตัวมาตั้งถิ่นฐานที่เชิงเขาหลวง อันเป็นบริเวณที่เกิดเป็นเมืองใหญ่และรับวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากแคว้นทวารวดีจากภาคกลางมาตามลำน้ำปิง มีการสร้างพระพุทธรูปหินทวารวดีไว้ตามศาสนสถานบนเขาและเชิงเขา อย่างเช่นในบริเวณอรัญญิก เป็นต้น ต่อมาถึงสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมา มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมขอมและมีการสร้างศาสนสถานแบบขอมขึ้น เช่นที่เขาปู่จ่า ตำบลเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ ทางใต้ของเมืองสุโขทัย ปราสาทตาผาแดงในเมืองสุโขทัย และในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีการสร้างปุระแบบขอมขึ้นที่วัดพระพายหลวง อันเป็นตำแหน่งศูนย์กลางของเมืองที่นับถือพุทธศาสนามหายานเป็นศาสนาหลักของบรรดาผู้เป็นเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ ที่ไม่พบแต่เพียงที่สุโขทัยเท่านั้น หากยังพบตามเมืองสำคัญในภาคกลางของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่นที่ลพบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรีที่ปราสาทเมืองสิงห์ บรรดาปุระอันเป็นตำแหน่งศูนย์กลางของเมืองนี้  ฝรั่งเศสลากเข้าไปหาปุระที่เรียกว่า “อโรคยาศาล” ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเมืองพระนคร ซึ่งจารึกปราสาทพระขรรค์ว่าสร้างขึ้นตามเส้นทางของบ้านเมืองที่อยู่ในราชอาณาจักรขอม เพื่อเป็นการสนับสนุนทฤษฎีของนักโบราณคดีฝรั่งเศสว่า อาณาเขตของกัมพูชากินมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำยม  น่าน ตอนกลางของประเทศไทย  ในการศึกษาทางโบราณคดีของข้าพเจ้า ปุระแบบที่เรียกว่า อโรคยาศาล ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่พบในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและทางสุโขทัย แต่ปุระที่พบเป็นศาสนสถานประจำเมืองของกษัตริย์หรือเจ้าเมืองที่นับถือพุทธมหายานแบบขอม ซึ่งแพร่หลายและแสดงถึงความรุ่งเรืองของเมืองสำคัญในยุคนั้น เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับกัมพูชาในทางวัฒนธรรมมากกว่าการเมือง และที่เมืองสุโขทัยในสมัยที่พ่อขุนศรีนาวนำถมเป็นเจ้าเมืองนั้น สัมพันธ์กับกัมพูชาในลักษณะการกินดองทางสังคมและการเมือง มากกว่าการเป็นเมืองขึ้นที่เรียกว่าเป็นขี้ข้าขอม ซึ่งมาตั้งตัวเป็นอิสระในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนรามคำแหง

 

ความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองระหว่างเมืองพระนครหลวงกับเมืองสุโขทัยในรัชกาลของพ่อขุนศรีนาวนำถมกับผีฟ้า เจ้าเมืองยโสธรปุระนั้น เป็นความสัมพันธ์แบบธรรมดาของเมืองใหญ่กับเมืองเล็ก ทั้งที่เป็นอิสระและไม่เป็นอิสระ ดังเช่นในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า พระองค์มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับกษัตริย์และเจ้าเมืองต่างรัฐและต่างแดน ในแง่พระราชทานพระราชธิดาให้แต่งงานกับบรรดาเจ้าบ้านผ่านเมืองของนครรัฐอิสระทั้งหลาย ซึ่งถ้าพิจารณาลึกลงไปแล้ว สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการสร้างมิตรเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งขณะนั้นเป็นคู่สงครามกับพวกจามที่มีอำนาจทางทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรเมืองพระนคร ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างขอมเมืองพระนครกับสุโขทัยในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์ทางการเมืองของบ้านเมืองในยุคนั้น และแลเห็นว่าที่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีฝรั่งเศสยุคอาณานิคมตีความว่า เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นของขอม และขอมสบาดโขลญลำพงถูกส่งมาเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ อันมาจากอคติที่เอารูปแบบการเมืองการปกครองแบบจักรภพในยุโรปมาใช้กับการเมืองการปกครองสมัยโบราณของบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะบรรดาฝรั่งที่เป็นเจ้าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็ใช้วิธีส่งข้าหลวงมากำกับบรรดาเจ้าเมืองขึ้นด้วยวิธีนี้ เหตุนี้ข้าพเจ้าจึงตัดปัญหาในเรื่องเมืองสุโขทัยและคนไทยเป็นเมืองขึ้น หรือเคยเป็นขี้ข้าขอมมาก่อนรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

 

ข้าพเจ้าใคร่สรุปโดยย่อจากการศึกษาการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในดินแดนตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ว่าเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของดินแดนสยามประเทศ ที่พัฒนาขึ้นแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16-17 อันเป็นสมัยเวลาของการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของบ้านเมือง ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้าของจีนตั้งแต่ราชวงศ์ซุ้งลงมา ทำให้เกิดเส้นทางการค้าและการคมนาคมบริเวณบ้านเมืองชายทะเลเข้ามาแลกเปลี่ยนและขนถ่ายสินค้าจากดินแดนภายใน (hinterland) เป็นผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งหลักแหล่ง สร้างบ้านแปงเมืองกันตามลุ่มน้ำต่างๆ ที่ไหลลงจากเขาและที่สูงสู่ที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมา ดังเช่นเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอน เพชรบุรี ราชบุรี ตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช สุพรรณภูมิ อโยธยา แพรกศรีราชา หริภุญชัย เขลางค์นคร ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย เป็นต้น ในดินแดนหรือพื้นที่ที่กำหนดจากศิลาจารึกและหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในขอบเขตของแคว้นสุโขทัย คือพื้นที่ในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ที่มีส่วนบนอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์และตาก และตอนล่างมาสุดปากน้ำโพในเขตจังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ดังกล่าวมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมืองมาแต่ยุคเหล็กตอนปลายราว 2,500 ปี หรือ 500 ก่อนคริสตกาลลงมา เช่นเดียวกันกับภูมิภาคอื่นๆ ในบริเวณภายในของประเทศ การตั้งถิ่นฐานชุมชนเกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือ 1) ในบริเวณที่ลาดเชิงเขาซึ่งมีทางน้ำไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม เพราะเป็นบริเวณที่มีทั้งน้ำกินและน้ำใช้ในเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะข้าว ให้พอเพียงแก่การเลี้ยงคนจำนวนมาก 2) ในบริเวณกลางพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ในบริเวณหนองน้ำและลำน้ำคดเป็นกุด เป็นวัง เป็นมาบ ที่ในเวลาหน้าแล้ง พื้นที่ชายขอบน้ำเป็นพื้นที่แห้ง ซึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ทาม อยู่โดยรอบของบริเวณที่มีน้ำตลอด ที่เรียกว่า บึงหรือบุ่ง พื้นที่ราบแห้งในฤดูแล้งนี้ คือบริเวณที่ใช้ทำนา เรียกว่า นาทาม เป็นพื้นที่เพาะปลูกและอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารแก่คนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนโดยรอบหนองน้ำ (lake) ขึ้น

 

เมืองคู่บนลำน้ำยมและน่าน

โดยภาพรวมของอาณาบริเวณที่เป็นเขตแคว้นสุโขทัย เป็นพื้นที่ซึ่งมีลำน้ำปิงและทิวเขาเป็นขอบเขตทางด้านตะวันตก และลำน้ำน่านและทิวเขาทางด้านตะวันออก ซึ่งลำน้ำทั้ง 2 นี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในการติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นบริเวณที่มีความเจริญจากภายนอกเข้ามาได้เร็วกว่า ก่อนที่จะกระจายลงไปยังพื้นที่ชุมชนตามหนองบึงและลำน้ำกลางทุ่งของที่ราบลุ่ม รัฐแรกเริ่มของสุโขทัยที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมทางตะวันตกและลุ่มน้ำน่านทางตะวันออกนั้น มีความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองมาก่อนในที่ลาดเชิงเขาหลวง ทางตะวันตกของลำน้ำยม เพราะเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเหล็กและของป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งที่มีแม่น้ำ ลำน้ำหลายสายไหลลงจากเขามาสู่ที่ลุ่ม ทำให้เป็นไร่เป็นนาได้มากกว่าที่อื่นๆ พื้นที่สำคัญดังกล่าวอยู่ในบริเวณตำบลวังหาดและตลิ่งชันในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการถลุงเหล็ก ทำเครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดแก้วและดินเผา ได้รับความเจริญจากภายนอก โดยเฉพาะจากทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยทวารวดีมาทางลุ่มน้ำปิง ที่ผ่านแนวเขาสันปันน้ำจากเมืองตากเข้ามายังบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันในเขตบ้านด่านลานหอย และขยายมาตามเชิงเขาหลวงในเขตอำเภอเมืองเก่าสุโขทัยไปตามเชิงเขา โว้งเขาทางใต้ จนถึงเขตอำเภอคีรีมาศ อันเป็นบริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อจากสุโขทัยไปยังบ้านเมืองในลุ่มน้ำปิง ตั้งแต่กำแพงเพชรลงไปถึงนครสวรรค์ และจากกำแพงเพชรไปทางตะวันตก จะผ่านเทือกเขาไปยังลุ่มน้ำสาละวินในดินแดนมอญ-พม่า ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบริเวณเชิงเขาหลวงและต้นน้ำแม่ลำพันนั้น คือแหล่งเกิดชุมชนบ้านเมืองที่มีมาแต่สมัยทวารวดี

 

พอถึงสมัยลพบุรีจึงเกิดการตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นในบริเวณวัดพระพายหลวง ที่มีปุระ วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลาง อันเป็นลักษณะเมืองแบบขอมที่พบในประเทศกัมพูชาในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นเวลาที่บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายในภาคกลางเช่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา อุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานและรับศิลปวัฒนธรรมแบบขอมเข้ามา แต่เมืองสุโขทัยไม่ได้เกิดเป็นชุมชนเมืองในศิลปวัฒนธรรมลพบุรีเพียงแห่งเดียว ยังเกิดพร้อมกันกับเมืองเชลียง ที่ต่อมาเรียกว่าศรีสัชนาลัย ที่นับเป็นเมืองปลายสุดการคมนาคมของลุ่มน้ำยมในเขตแคว้นสุโขทัย เพราะการคมนาคมตามลำน้ำนี้ด้วยเรือใหญ่ จากปากน้ำโพขึ้นไปได้เพียงแก่งหลวงของเมืองศรีสัชนาลัย เหนือขึ้นไปจากนั้นติดเกาะแก่งกลางน้ำ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับทางลำน้ำน่านที่เดินทางจากปากน้ำโพที่เมืองพระบาง นครสวรรค์ ไปได้เพียงแต่ตำบลท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ เดินทางต่อไปยังเมืองน่านไม่ได้ แต่อุตรดิตถ์เป็นเมืองรุ่นหลังในสมัยอยุธยา เมืองสำคัญจึงเป็นเมืองทุ่งยั้งหรือสระหลวง อันเป็นเมืองคู่บนลำน้ำน่านรวมกับเมืองสองแควที่พิษณุโลก แต่ทั้งเมืองสองแควและสระหลวงไม่มีร่องรอยความเก่าแก่บนเส้นทางคมนาคม ที่มีคนแต่สมัยทวารวดีซึ่งมาจากบ้านเมืองที่เจริญแล้วผ่านเข้ามาผสมกับคนท้องถิ่น แลไม่เห็นความเป็นชาติพันธุ์และตระกูลแต่เดิมของคนที่เพิ่งเคลื่อนย้ายเข้ามา เช่น ตระกูลของคนไทยที่มาตั้งตัวที่เมืองสองแควและสระหลวง หรืออีกนัยหนึ่ง บุคคลผู้เป็นตระกูลเจ้าเมืองของเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเป็นใครไม่รู้ เช่นเดียวกันกับคนในบ้านเมืองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่สมัยทวารวดีลงมา

 

จากหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งสุโขทัยและศรีสัชนาลัยพัฒนาขึ้นเป็นนครรัฐขนาดเล็กบนลุ่มน้ำยม ต่อเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมจากเมืองสองแควเข้ามายึดครองได้ จึงเกิดการรวมตัวกับเมืองคู่ในลุ่มน้ำน่าน เป็นรัฐแรกเริ่มของคนไทยที่มีพื้นที่อยู่ภายในบริเวณลุ่มน้ำยมกับน่านเท่านั้น ยังหาได้คืบขยายไปสร้างบ้านแปงเมืองในลุ่มน้ำปิงและป่าสักที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกและตะวันออกไม่ แม้ว่าในรัชกาลของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะมีการสู้รบกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ที่เมืองตาก อันอยู่บนลุ่มน้ำปิงต่อลำน้ำวังก็ตาม ก็ยังไม่เห็นชัดว่าเมืองตากที่มีเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงนั้น เป็นเมืองในเขตสุโขทัยอย่างชัดเจน ตราบจนถึงสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ศิลาจารึกจึงกล่าวถึงชื่อเมืองตากในลุ่มน้ำปิงพร้อมกันกับเมืองนครชุม ที่ปากคลองสวนหมากบนฝั่งลำน้ำปิง ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ดังมีกล่าวไว้ในจารึกสุโขทัยหลักที่ 3 ในขณะเดียวกันจารึกเขากบก็กล่าวถึงบ้านเมืองทางตะวันออกที่อยู่ห่างจากลุ่มน้ำน่านไปทางลุ่มน้ำป่าสัก เช่นเมืองวัชรปุระหรือเพชรบูรณ์ ก็เป็นเมืองสุโขทัยสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทเช่นเดียวกัน  ดังนั้นข้าพเจ้าใคร่สรุปว่า บ้านเมืองสุโขทัยทั้งอาณาเขตและโครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรม เป็นยุคสมัยที่สุโขทัยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นรัฐแรกเริ่มของกษัตริย์แบบพ่อขุน มาเป็นนครรัฐสากลของกษัตริย์แบบราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับนครรัฐเมืองคู่อื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่น หริภุญชัย เขลางค์นคร สุวรรณภูมิ แพรกศรีราชา ละโว้ อโยธยา เป็นต้น และสุโขทัยเป็นเพียงนครรัฐหนึ่งในสยามประเทศ หาใช่อาณาจักรไม่ เพราะการเป็นอาณาจักรมาเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา ที่กลายมาเป็นศูนย์กลางของสยามประเทศแต่สมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมาเท่านั้น