ร่องรอยลัวะเมืองสันกำแพง : กู่ลัวะ

ร่องรอยลัวะเมืองสันกำแพง : กู่ลัวะ

 

 

“...ในครั้งนั้น ยังมีพญามิลักขะ ชื่อ พิลังกะ ห้อมล้อมด้วยทหาร 80,000 คน ยกมาเพื่อจะยึดนครหริปุญชัย เจ้ามหายสประทับบนคอช้างพระที่นั่ง เจ้าอินทวรประทับกลางช้าง ควาญนั่งท้ายช้าง แวดล้อมด้วยเหล่าทหารเป็นอันมาก เสด็จออกไปสู้รบทางประตูทิศตะวันตก ครั้งนั้น พญามิลักขะเห็นรัศมีสีแดงลุกโพลงอยู่ที่ปลายงาช้างเผือก ตกใจกลัวตาย มิอาจทนอยู่ในสนามรบได้ ก็หนีไป พลทหารทั้งหลายทั้งปวงก็แตกฉานซ่านเซ็นหนีไป ตั้งแต่นั้นมานครหริปุญชัยก็เกษมสำราญปราศจากอันตราย...” 

รัตนปัญญาเถระ, ชินกาลมาลีปกรณ์

 

ตำแหน่งที่ตั้งกู่ลัวะ ตรงจุดที่ปักหมุดสีแดง  (ที่มา : Google Map) 

 

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งกู่ลัวะและแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง 

 

นอกจากกลุ่มคนลัวะที่ถูกกล่าวถึงในชินกาลมาลีปกรณ์แล้ว ห่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าค่า ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันออกราว 10 กิโลเมตร บนพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอสันกำแพงเช่นกัน ก็ได้พบชุมชนที่มีความเชื่อว่า พวกตนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของที่เป็นชาวลัวะ โดยเชื่อว่าร่องรอยของชาวกลุ่มคนลัวะในพื้นที่ซึ่งแสดงถึงช่วงเริ่มแรกรับพุทธศาสนา คือ โบราณสถาน 3 แห่ง ได้แก่ วัดดอยน้อย หรือวัดม่วงเขียวในปัจจุบัน วัดปงไหว และวัดก่อละหรือกู่ลัวะซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง

 

ป้ายอธิบายความสำคัญของสถานที่ ติดตั้งไว้เพื่อบอกเล่าแก่ผู้มาเยือน 

 

"กู่ลัวะ" หนึ่งในร่องรอยหลักฐานที่ชาวบ้านเชื่อว่าแสดงให้เห็นถึงการยอมรับนับถือพุทธศาสนาของกลุ่มชาวลัวะ

 

กู่ลัวะ หรือวัดกล้วย (ร้าง) หนึ่งในโบราณสถานซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าสร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษซึ่งเป็นกลุ่มคนชาวลัวะนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พิกัดภูมิศาสตร์ คือ 18.753662, 99.180045 ปัจจุบันกู่ลัวะเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่บนเขตชายป่าระหว่างดอยหัวป่าเฮ่วกับดอยกิ่วแฮ่ รายล้อมไปด้วยผืนป่าและต้นไม้ใหญ่น้อยมากมาย ตัวโบราณสถานอยู่ห่างจากถนนสาย 3044 ขึ้นไปทางทิศเหนือเพียง 170 เมตร ทั้งนี้กู่ลัวะได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วเสร็จโดยกรมศิลปากรตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา

 

สันนิษฐานว่ากู่ลัวะมีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆัง สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน 

 

ไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดีผู้ควบคุมการดำเนินงานทางโบราณคดีในคราวนั้น บันทึกไว้ช่วงหนึ่งว่า “...เจดีย์กู่ลัวะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง เพราะไม่พบหลักฐานจำพวกชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นซึ่งนิยมใช้ประดับตกแต่งเสาและกรอบซุ้มพระหรือจระนำของเจดีย์ทรงมณฑป โดยพบเพียงชั้นฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ย่อเก็จ 3 ชั้น บนชั้นฐานเขียงตอนล่างรวม 3 ชั้น ขนาดฐานเขียงตอนล่างกว้างราว 10.25 เมตร เมื่อพิจารณาร่วมกับชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเขียนสีดำใต้เคลือบจากแหล่งเตาเวียงกาหลงที่พบจากการขุดแต่ง จึงสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง...”

 

บริเวณที่ตั้งกู่ลัวะ ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ 

 

กู่ลัวะเป็นหนึ่งในร่องรอยหลักฐานที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าแสดงให้เห็นถึงการยอมรับนับถือความเชื่อในพุทธศาสนาของกลุ่มชาวลัวะ ทั้งนี้การให้คำอธิบายด้วยมายาคติเรื่องการมีอยู่ของกลุ่มคนลัวะ เพื่อสะท้อนถึงความเก่าแก่ยาวนานไม่รู้จุดเริ่มต้นของสถานที่ใดสถานหนึ่งหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งยังคงมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง จนอาจหล่อหลอมผนวกกลายเป็นความรับรู้หรือสร้างเป็นประวัติศาสตร์ชุมชนของคนในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ดี ชาวบ้านในบริเวณนี้ยังมีความเชื่ออีกว่าถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวลัวะซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกตนก่อนลงมาอยู่ที่ราบและน้อมยอมรับนับถือพระพุทธศาสนานั้น คือ เขตเขาสูงทางฟากตะวันออก ไม่ไกลจากกู่ลัวะ เพียงกั้นกลางด้วยถนนสาย 3044 เท่านั้น ชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า ป่าดงปงไหว

 

แหล่งอ้างอิง 

รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ (แปล). พระนคร : ศิวพร, 2501.

 

(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)      

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ