ขึ้น ‘เขาปลาร้า’ สำรวจภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
คลังบทความ

ขึ้น ‘เขาปลาร้า’ สำรวจภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์

 

ผู้ที่พบภาพเขียนสีนี้เป็นคนแรก และเป็นผู้นำทางขึ้นไปคือ นายพรานชื่อ ทำ อินทประเทศ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 12 ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณนั้น ปกตินายทำมีอาชีพทำไร่และล่าสัตว์บ้างเป็นครั้งคราว สาเหตุที่พบเนื่องจากไปล่าสัตว์บนเขา เพราะภูเขาปลาร้านี้ยังอุดมไปด้วยสัตว์ป่า ชาวบ้านยังคงขึ้นไปล่าสัตว์อยู่เนืองๆ เผอิญฝนตกจึงหนีเข้าไปหลบฝนในเพิงผา เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปก็พบกับภาพเขียนสี

 

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณสำรวจเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

เขาปลาร้าหรือภูปลาร้า เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ริมถนนสายหนองฉาง-อุ้มผาง มีเนื้อที่อยู่ในเขตอำเภอหนองฉาง บ้านไร่ และลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ภูเขาแห่งนี้มีความลาดชันมาก เมื่อไต่สันเขาขึ้นไปจนพ้นจากความลาดชันแล้วจะพบกับที่ราบ มีป่าโปร่ง จากนั้นต้องเดินข้ามสันเขาไปอีกฟากหนึ่งจึงจะพบกับแหล่งภาพเขียนสีที่อยู่ในเพิงผาหินธรรมชาติ ขนาดกว้างประมาณ 30 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ผนังเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้วยเป็นเขาหินปูน ประกอบกับลักษณะเพิงผา จึงสันนิษฐานว่าไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยถาวร แต่พอจะอาศัยเป็นที่พำนักชั่วคราวได้

 

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ภูเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี บนปกวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 5  

 

กลุ่มภาพเขียนสีดังกล่าวนี้มีทั้งที่ใช้สีแดง สีแดงปนดำ และสีดำ ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเส้นที่ค่อนข้างลบเลือน มีทั้งภาพคนและสัตว์ ที่น่าสนใจคือภาพคนสวมเครื่องประดับ แสดงท่าทางต่างๆ สันนิษฐานว่ากำลังประกอบพิธีกรรม  

ภาพคล้ายคนสวมเครื่องประดับ มีทั้งเครื่องประดับหัวและเอว… บางตัวทำท่าทางคล้ายกำลังเต้นรำ สันนิษฐานจากลักษณะท่าทางการยกมือ บางตัวคล้ายกับกำลังบงการหรือออกคำสั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นการเล่นสนุกในการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง

 

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ภูเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

นอกจากนี้ยังมีภาพวาดสัตว์ประกอบอยู่ด้วย เช่น สัตว์สี่เท้า มีหาง สันนิษฐานว่าคือสุนัข แล้วยังมีรูปเต่า นก กบ รวมถึงภาพคนกำลังจูงวัว (?) ที่ตัวคนมีเครื่องประดับตกแต่ง มือข้างหนึ่งคล้ายกับกำลังถือสายจูงที่คล้องอยู่ที่คอวัว

 

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ภูเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

การสำรวจในครั้งนี้ เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เพื่อบันทึกสภาพของแหล่งและลักษณะของภาพเขียนสีที่พบ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี

 

ติดตามอ่านบทความเรื่อง “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูปลาร้า” โดยวิยะดา ทองมิตร และบังอร กรโกวิท ตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณปีที่ 5 ฉบับที่ 5 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2522) ฉบับเต็มได้ใน “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67682802/-5-5

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น