สรุปเสวนา “ปริทัศน์ความเชื่อเรื่องผีในประเทศไทย” โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
ในงานเสวนา “ผี : นานาสาระความเชื่อในวัฒนธรรมไทย”
จัดขึ้นโดยกรมศิลปากร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566
ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
เรื่องราวของความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดการพัฒนาจนเป็นสัตว์สังคมที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ มีการสื่อสารด้วยภาษาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ รวมถึงมีกระบวนการคิดอันเป็นสิ่งที่ต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น การเป็นสัตว์สังคมดังกล่าวจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ แต่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเหล่าที่มีโครงสร้าง เช่น เด็กที่เกิดมาต้องอยู่กับพ่อแม่และครอบครัว ถัดขึ้นไปจะเป็นเครือญาติและชุมชน ดังกล่าวนี้คือความเป็นมนุษย์ และในความเป็นมนุษย์จะสัมพันธ์กับความเชื่อซึ่งเป็นสิ่งสากลฃ
ในความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ก่อนอื่นต้องเข้าใจในโลกทัศน์ของความเป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในพื้นที่หนึ่งอันหมายถึงชุมชน และในความเป็นคนหรือความเป็นมนุษย์นี้จะมีความสัมพันธ์อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ
1) ความสัมพันธ์ของคนกับคน หรือใช้คำว่าโครงสร้างทางสังคมที่อยู่กับพ่อแม่ เครือญาติ และชุมชน ซึ่งมีทั้งชุมชนเมืองและชุมชนระดับใหญ่ขึ้นไปคือประเทศ
2) ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ รวมถึงในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองก็เกิดจากมิตินี้เช่นกัน รวมทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมนุษย์สามารถศึกษาให้เห็นถึงความเป็นจริงได้
3) ความสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นความเชื่อ ถึงแม้มนุษย์จะรู้ว่ามันไม่จริง แต่มนุษย์มักเชื่อว่าเป็นความจริง ดังนั้น การแสดงออกในความเชื่อมักใช้ภาษาที่เป็นสัญลักษณ์รวมถึงประเพณีและพิธีกรรม
ผู้คนในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกมีความเชื่อที่ต่างกัน โดยทางตะวันตกจะไม่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมากนัก เพราะเขาเชื่อว่าสามารถคุมจักรวาลได้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สำหรับผู้คนทางตะวันออก เรายอมสยบต่อจักรวาล เราเชื่อว่าจักรวาลมีอำนาจมากกว่ามนุษย์ ดังนั้น ความเชื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราได้ศึกษาในมิติทางประวัติศาสตร์จะพบว่าทำไมลัทธิความเชื่อต่างๆ จึงได้เจริญรุ่งเรื่องในฝั่งตะวันออกทั้งนั้น
ความเชื่อเรื่อง “ผี” เป็นความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งมีวิวัฒนาการโดยในระยะแรกที่มนุษย์ยังคงล้าหลังทางวัฒนธรรม มนุษย์จึงเชื่อในสิ่งที่เป็นธรรมชาติว่ามีพลังศักดิ์สิทธิ์ เช่น การเชื่อในเรื่องของโขดหิน ต้นไม้ สัตว์บางอย่าง ที่เรียกว่า Animism หรือศาสนาผี เมื่อเรามองในแง่ของวิวัฒนาการจากสัตว์คล้ายลิงมาเป็นมนุษย์ซึ่งมีพัฒนาการที่ต่างกัน ในระยะแรกจะเห็นในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ พอมาในระยะที่ 2 จะมีในเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณว่ามนุษย์เมื่อตายแล้วจะมีวิญญาณล่องลอยอยู่ ตรงนี้เรียกว่า Supernatural หรือเหนือธรรมชาติ
มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเหล่า มีครอบครัว เครือญาติ และชุมชน
องค์ความรู้ในเรื่องของจิตวิญญาณเริ่มเด่นชัดเมื่อมีชุมชน หากดูตามหลักฐานทางโบราณคดี ความเป็นชุมชนนับจากมนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นที่ เป็นกลุ่มก้อน มีพิธีการฝังศพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน เมื่อมีคนตายในชุมชนก็จะนำไปฝัง โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตายหรือเรื่องจิตวิญญาณ ในส่วนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสังคมมนุษย์เติบโตขึ้นจนเป็นชุมชนแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่านักโบราณคดีมีการศึกษาร่องรอยของชุมชนจากหลุมฝังศพ เช่น การศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี กำหนดอายุการอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ราว 4,000 ปี นอกจากนี้ยังมีที่บ้านปราสาท จังหวัดนครราชสีมา กำหนดอายุได้ราว 3,500 ปี ถือเป็นระยะที่เป็นชุมชนเกิดขึ้น
เรื่องของการทำศพจะมีพิธีกรรมมาเกี่ยวข้อง เช่น การเอาดินเทศมาโรยศพคนตาย อันสื่อความหมายถึงการมีชีวิตหลังความตายที่มีกันทุกชาติทุกภาษา ถือเป็นฐานของความเชื่อในเรื่องผีหรือจิตวิญญาณ มนุษย์ในระยะแรกๆ อาจมองสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่นโขดหิน ภูเขา แม่น้ำ สัตว์ หรือต้นไม้ อย่างญี่ปุ่นก็จะมีความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ เช่น ลัทธิชินโต แต่พอมาถึงระยะหลัง โดยเฉพาะสังคมไทย จะมีสิ่งเหล่านี้มากขึ้น อย่างเช่นในหลักฐานทางโบราณคดีที่พบหลุมศพแทบทุกแห่ง สะท้อนถึงการอยู่กันเป็นชุมชน
หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนในระยะแรก
ในทางมานุษยวิทยา ต้องสังเกตในสิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากความเชื่อ นั่นคือพิธีกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่ร่วมทำล้วนเป็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันทั้งนั้น เช่น เรื่องของการทำศพที่ญาติพี่น้องต้องมาอยู่ร่วมกัน ถือเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สื่อให้เห็นความร่วมมือและการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ดังนั้นการศึกษาทางมานุษยวิทยาจึงดูเพียงความเชื่อ (Believe) เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูการกระทำทางสังคม (Social Action) ด้วย ดังนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องผีในสังคมไทยนั้นมี Function ของการนับถือผีอยู่ด้วย จะไม่ใช่ความเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่มี Action ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม และความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต
ในสังคมเมืองทุกวันนี้มีแต่ผีเต็มไปหมด โดยการนำเอาเทพเจ้าองค์ต่างๆ มาเป็นผี เช่น บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นต้น ครั้งหนึ่งได้เดินทางไปที่ดอนเจดีย์ ก็มีคนไปไหว้สมเด็จพระนเรศวร และมีคนทรงมากมาย ทำให้เข้าใจว่าพระนเรศวรมีวิญญาณนับร้อยดวงเลย ด้วยมีคนทรงนับร้อยคน ตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นความเชื่อซึ่งมีอยู่ทั่วไป อันถือเป็นสิ่งสากล และทำให้เกิดสถาบัน 2 อย่างเกิดขึ้น อย่างแรกคือ ศาสนา เป็นสิ่งซึ่งคนสยบต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ และอย่างที่สองคือผู้ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือถือเป็นไสยศาสตร์ เช่น การทำเสนห์ยาแฝด น้ำมันพาย หรือคุณไสยด้านอื่นๆ แต่สิ่งที่เป็นหลักนั้นคือศาสนา เพราะเป็นที่มาของคำสอนและความเชื่อ ศีลธรรม ส่วนไสยศาสตร์นั้นคล้ายกับเทคโนโลยี ถ้านำไปใช้ในทางดีก็ดี ในทางกลับกันถ้านำไปใช้ในทางไม่ดีก็จะไม่ดี ในสังคมทุกวันนี้มีความเชื่อทางศาสนาค่อนข้างน้อย แต่มีความเชื่อในไสยศาสตร์มากมาย และไปสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นศีลธรรมและไม่เป็นศีลธรรม ต่อเมื่อเราได้ศึกษาก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับศาสนาที่มีการศึกษาและมีความเจริญรุ่งเรื่อง ได้กลายมาเป็นอภิปรัชญา เช่น ศาสนาฮินดู อิสลาม พุทธ ก็ถือเป็นอภิปรัชญา ทุกวันนี้แนวโน้นความเชื่อที่แพร่อยู่ในกระแสสังคม ได้กระจายมาจากตะวันตก อันเป็นสิ่งที่ไร้สาระจำนวนมาก แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นเพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วจะกลับมาเป็นความเชื่อในตัวศาสนา เพราะเป็นความเชื่อสากลที่ไม่สามารถลบออกไปได้
"ปู่ตา" ในสังคมอีสาน เป็นผีบรรพบุรุษของผู้คนในชุมชน
จากประสบการณ์ตรง เรื่องราวของผีที่สัมพันธ์กับสังคมในชนบท โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย “ผีเรือน” ถัดมาจะเป็น “ผีบ้าน” อย่างเช่นชุมชนคนลาวจะมีศาลปู่ตาเป็นผีของชุมชน โดยมีการอัญเชิญบรรพบุรุษของเขามาเป็นผีบ้าน แต่จะไม่รู้ว่าชื่ออะไร ต่างจากวัฒนธรรมของคนจีนที่รู้ชื่อแซ่ของบรรพบุรุษ ดังนั้นความเหนียวแน่นทางสังคมทางจีนจะเป็นกลุ่มเหล่ามากกว่า ในส่วนที่เป็นเมืองใหญ่ยังมี “ผีเมือง” ทางภาคเหนือเรียกว่าผีเจ้านาย บางแห่งเรียกอารักษ์ ซึ่งไม่จำเป็นว่าคือปู่ย่าตายาย แต่เป็นผู้ปกครอง ฉะนั้นบางแห่งจึงมีศาลเทพารักษ์ หลักเมือง ซึ่งเป็นผีใหญ่ บ้างเรียกเสื้อบ้านเสื้อเมือง คำว่า “หลักเมือง” ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นาน เดิมจะไม่มีหลักเสา แต่เขาเรียกว่าหลักเมือง เพิ่งมามีลักษณะเป็นหลักในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ชาติพันธุ์บางกลุ่มนั้นมีหลักบ้านอยู่แต่เดิม เช่น กลุ่มคนลัวะ ซึ่งสัมพันธ์กับเสาอินทขิลที่ปรากฏอยู่แถบเชียงใหม่ช่วงเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา แต่ที่เป็นรูปลักษณ์ของศาลในทุกวันนี้จะคนละเรื่องกัน ในกลุ่มไทลื้อบางแห่งจะมีศาลขนาดเล็ก แต่ไม่มีรูปสัญลักษณ์หรือไม้เจว็ด จะมีเพียงกระทงข้าวเหนียวไว้เส้นไหว้ แต่จะสัมพันธ์กับพิธีกรรม เช่น การไหว้ศาล ซึ่งคนในชุมชนต้องมาร่วม เช่นเดียวกับการไหว้ศาลผีปู่ตา เด็กจะบวชก็ต้องมาไหว้บอกกล่าว คนจะไปทำงานที่อื่นก็ต้องมาไหว้ผีปู่ตา โดยผ่านจ้ำ (ขะจ้ำ,เฒ่าจ้ำ) ซึ่งเป็นผู้ควบคุม
หลักบ้านหรือใจบ้านในชุมชนภาคเหนือ
ในกรุงเทพฯ ไม่มีผีเมือง แต่มีพระภูมิ อาจจะสัมพันธ์กับทางฮินดูก็ได้ ต่อมาก็เป็นศาลพระภูมิคู่ ศาลเสาเดี่ยวและศาลสี่เสา ซึ่งตรงนี้เป็นอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน อันมีลักษณะเป็นศาลผี แต่ในอดีตจะมีศาลเดียว และเป็นศาลเสาเดี่ยวเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดการพัฒนาของบ้านเมือง ในบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ ต่างมีศาลเทพ โดยเป็นการเชิญมา แต่สำหรับวิธีการเคารพจะเหมือนผี ก็น่าแปลกที่เทพเจ้าเหล่านี้สามารถเชิญได้และมีการเข้าทรง
เมื่อครั้งที่ไปเวียดนาม ที่เมืองเดียนเบียนฟู ได้เห็นผีของกลุ่มไทดำซึ่งมีระบบของเขา ที่บ้านของไทดำจะมีห้องเป็นเลขคี่ 3,5,7 ห้อง โดยในห้องมี 2 ระดับ คือ ที่นอนและระดับที่อยู่ต่ำลงมา แล้วเขาจะมีเสาหลักอันเป็นที่อยู่ของผีด้ำ ดังนั้นกลุ่มไทดำ (ไททรงดำ) จะมีพิธีเสนเรือน ซึ่ง “ด้ำ” จะสัมพันธ์กับ “แถน” และมีความเชื่อในเรื่องของขวัญ สำหรับผู้ไทจะถือ “ผีฟ้า” ก็คือ “แถน” ไม่ใช่ผีผืนดิน เพราะเดิมคนตายจะต้องฝังกับพื้นดิน ดังนั้นเรื่องราวของผีฟ้าจึงสะท้อนความเชื่อที่แปรเปลี่ยน และเรื่องราวของผีฟ้าก็ปรากฏเป็นคำเก่าที่กล่าวถึง เช่น ในจารึกสุโขทัย ได้กล่าวถึงผีฟ้าเจ้าเมืองยโศธรปุระ หรือก็คือพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเรียกว่าผีฟ้า เพราะฉะนั้น คำว่า “ผี” จึงเป็นคำที่กว้างและไม่ได้ใช้ในทางเลว
การไหว้ศาลผีเพื่อขอพร บนบาน โดยผ่านเฒ่าจ้ำหรือผู้อาวุโสที่มีหน้าที่ทำพิธี
จากภาพคือศาลผีที่บ้านสกาดกลาง ตำบลดอยสกาด อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ในพม่าก็มีเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า “ผีนัต” มีศาลนัตเยอะแยะมากมายในบริเวณวัด นัตสำคัญที่อยู่ในทำเนียบมีอยู่ 36 นัต แต่นัตใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่มหาคีรีซึ่งเป็นที่สถิตของนัตใหญ่ที่สุด พม่ากับสังคมไทยจะคล้ายกัน แต่ผีจะสัมพันธ์กับพิธีกรรม มิได้มีแต่ผีล้วนๆ ในฤดูกาลของเขาจะมีการเส้นไหว้ผีนัต มีละคร คล้ายละครชาตรี ซึ่งผีต่างๆ เหล่านี้จะคลุมพิธีกรรมทางสังคมของผู้คนในท้องถิ่น ดังนั้น ผีจึงถูกใช้ในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ แม้ว่าสังคมเจริญขึ้นก็ยังหนีความเชื่อเรื่องผีไม่ได้และต้องมีพิธีกรรมมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพวกนักธุรกิจที่ไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะเป็นเช่นไร จึงต้องปรึกษาและยึดเหนี่ยวในเรื่องผีอยู่ตลอด ดังนั้นสังคมไทยจึงมีแต่เรื่องราวของผีอยู่ตลอด
ในแต่ละท้องถิ่นยังมีผีประจำถิ่นนั้นๆ อยู่ด้วย ในบางพื้นที่จะมีศาลใหญ่ เช่น จังหวัดสระบุรี มีศาลเจ้าพ่อเขาตก สถานที่เหล่านี้จะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตำนาน เรียกว่า Culture Hero คือคนที่มีคุณงามความดี เมื่อตายไปแล้วจึงได้รับการยกย่อง กลายเป็นเจ้าพ่อต่างๆ ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีผีในป่า ผีตามแม่น้ำ ตามวังน้ำ แต่ที่น่าสนใจคือเรื่องราวของ Culture Hero ซึ่งเป็นคนสำคัญในหมู่บ้าน ที่ประกอบความดี เมื่อตายไปจะมีการทำศาลให้และมีพิธีกรรมเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะมีลักษณะสัมพันธ์กันคล้ายกับความเชื่อของพวกคนจีน หรืออย่างเมืองเก่าๆ เช่นในล้านนาก็มีเจ้าพ่อคนนั้นคนนี้อยู่เป็นระดับชั้น เห็นได้ว่าผีนั้นมีมากมายหลายหลากตามแต่ละท้องถิ่นไป
ผีนัตหรือผีอารักษ์ในวัฒนธรรมพม่า จากภาพคือศาลหลักเมืองตะนาวศรี
เกี่ยวกับความสำคัญของผีในเมืองไทย ในความเป็นจริงแล้ว ที่เรานับถือกันมีทั้งพุทธและผีปะปนกัน ซึ่งผีคือโลกนี้ ส่วนพุทธคือโลกหน้า บ้านเราถือว่ามีข้อดีที่พุทธศาสนาไม่ได้มีความรังเกียจศาสนาผี แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่นการเจ็บไข้ได้ป่วย หากไปรักษากับหมอสามัญแล้วไม่หาย ก็ต้องไปพึ่งผี โดยเฉพาะผีฟ้าที่ใช้ในการรักษาพยาบาล อันเป็นประเพณีของชาวภูไทและไทดำ ซึ่งมีตำนานกล่าวถึงนางไม้ และเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่
ผู้ที่ประกอบคุณงามความดี เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว มักถูกยกให้เป็นเทพ
ในลักษณะ Culture Hero หรือวีรบุรุษทางวัฒนธรรม
จากภาพคืออนุสาวรีย์ขุนสรรค์ที่จังหวัดชัยนาท
เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเชิญผีเหล่านั้นมาช่วยรักษา โดยมีกติกาและผู้ประกอบพิธี ซึ่งคนที่เป็นหมอผีจะเข้าทรงโดยมีศาลเล็กๆ ที่บ้านของเขา หากผีบอกว่ารักษาได้ เป็นโรคที่เกี่ยวกับการกระทำของผี เขาจึงยอมรักษา แต่ถ้าเป็นโรคที่เกิดจากธรรมชาติเขาก็จะไม่รักษาให้ เมื่อตกลงกันได้แล้ว ในวันพิธีจะไปหาหมอแคนพาไปบ้านคนป่วย มีการเซิ้งและเป่าแคน ในขณะนั้นก็ต้องร้อง (ขับลำ) ไปด้วย ขณะที่ร้องจะมีการเข้าภวังค์ จะไม่เป็นตัวของตัวเอง โดยมีอาการแปลกๆ ไป สักพักจึงหยุด จากนั้นอีก 2-3 วันก็ทำใหม่ ทำอยู่หลายครั้งจนหาย และเมื่อหายก็ต้องไปสมากับผีฟ้า ถึงปีจะต้องไปไหว้ผีฟ้า สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้หายได้ด้วยการเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง
ในการเก็บข้อมูลเรื่องผีฟ้า เขาอธิบายถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับค่ารักษา เช่น หมอใหญ่จะเรียกค่ารักษา 20 บาท ส่วนหมอเล็กจะเรียก 15 บาท หากเรียกเกินจากที่กำหนดไว้ถือว่าเป็น “ปอบ” ซึ่งเป็นการควบคุมทางสังคม (Social Control) อย่างหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงไม่กล้า คนที่เป็นผีฟ้าจึงอยู่ในกติกา แต่ถ้าคนจะตอบแทนหรือให้รางวัลก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง คำว่าปอบหรือผีปอบ ถือเป็นผีดีหรือผีร้ายก็ได้ มักใช้ในกลุ่มคนอีสาน ส่วนผีกะ จะใช้ทางภาคเหนือ ส่วนภาคกลางเรียกกระสือ ผีเหล่านี้เกิดจากการทำอะไรแปลกๆ บ้าๆ บอๆ แล้วคนรังเกียจ อาจจะถูกขับไล่หรือทำร้ายได้ เป็นการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าสังคมไทยนั้นไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ แต่สัมพันธ์กับมิติทางความเชื่ออยู่ตลอด หรือแม้แต่การไม่ให้เอาของแตกหักเข้าบ้าน ซึ่งใช้คำว่า “ขึด” หรือ “ขะลำ” อันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะควร แม้แต่ทางภาคเหนือจะมีการห้ามเข้าไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น บริเวณพระธาตุ เพราะจะขึด เป็นต้น ถ้าหากทำเช่นนั้นก็จะถูกลงโทษโดยผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น รวมถึงจากผู้คนในสังคมด้วย