ยายเต่า ช่างทำกระเบื้อง แห่งบ้านสวนพริก อยุธยา

ยายเต่า ช่างทำกระเบื้อง แห่งบ้านสวนพริก อยุธยา

 

บริเวณตอนเหนือของเกาะเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นที่ราบลุ่มต่ำซึ่งมีสายน้ำน้อยใหญ่หลายสายพาดผ่าน นำพาตะกอนดินจำนวนมหาศาลมายังพื้นที่แถบนี้ในตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ก่อเกิดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการเพาะปลูกและเป็นวัตถุดิบในงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ทำกันในหลายหมู่บ้านทางตอนเหนือของเกาะเมืองมาตั้งแต่อดีต

 

ทุกวันนี้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นฝีมือช่างชาวบ้านหลงเหลืออยู่เพียงน้อยราย หนึ่งในนั้นคือนางลัดดา เนียมประเสริฐ หรือยายเต่า วัย 75 ปี ช่างปั้นแห่งบ้านสวนพริก ริมคลองบางขวด ผู้มีชีวิตคลุกคลีอยู่กับงานปั้นมาตั้งแต่เด็ก ด้วยเป็นวิถีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษและยึดถือเป็นอาชีพหลักเรื่อยมา โดยในอดีตทำเครื่องปั้นดินเผาควบคู่ไปกับการทำเครื่องมือจักสานและทำนาข้าว ยายเต่าถือเป็นหนึ่งในช่างปั้นอาวุโสที่ยังผลิตชิ้นงานแบบทำมือ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ราย โดยเฉพาะงานปั้นกระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบโบราณ ทั้งกระเบื้องแบบหางแหลมและหางตัด สมัยก่อนรุ่นแม่ของยายเต่ายังทำกระเบื้องกาบกล้วยและกระเบื้องเชิงชายลวดลายเทพพนมด้วย แต่เลือนหายไปแล้วในปัจจุบัน

 

แหล่งเครื่องปั้นดินเผาโดยรอบเกาะเมืองอยุธยา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

 

แหล่งดิน

วัตถุดิบในงานปั้นดินเผาบ้านสวนพริก แต่เดิมมีแหล่งดินเป็นของตัวเองอยู่ในท้องนาหลังหมู่บ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแหล่งดินดังกล่าวก็หมดลงจึงต้องเดินทางไปหาซื้อดินจากที่อื่น ที่ผ่านมายายเต่าได้เดินทางไปติดต่อซื้อดินถึงอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยเป็นแหล่งดินที่มีคุณภาพเหมาะกับงานปั้นกระเบื้องและทำชิ้นงานอื่นๆ เช่น อิฐมอญ ซึ่งลูกสาวของยายเต่าเป็นผู้ทำ นอกจากนี้เพื่อนบ้านจากฝั่งคลองสระบัวก็มาขอแบ่งซื้อดินไปปั้นหม้อ ไห และกาน้ำ

 

การเลือกซื้อดินจากแหล่งดินที่จังหวัดอ่างทองนั้น ยายเต่าต้องเดินทางไปดูด้วยตนเอง เพื่อประเมินว่ามีเศษหินเศษหญ้าเจือปนอยู่มากน้อยเพียงใด เมื่อได้บริเวณที่ต้องการแล้วจึงขอซื้อดินแหล่งนั้น โดยมีต้นทุนที่ต้องเสียไป ได้แก่ ค่าดินและค่าขนส่ง ซึ่งใช้รถบรรทุกขนาดเล็ก ราคาเที่ยวละ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่ารถแบคโฮตักดินอีก 300 บาทด้วย  

 

เตาถัง สำหรับเผากระเบื้องโดยเฉพาะ

 

เตาของยายเต่าที่ใช้มานานหลายปี ประกูบด้านหน้าพังไปแล้ว แต่ยังใช้งานได้อยู่

 

เชื้อเพลิง

การเผาชิ้นงานแต่ละครั้งจะใช้เชื้อเพลิงเป็นฟืนชนิดต่างๆ มีทั้งที่ต้องซื้อและที่สามารถหาได้ในละแวกหมู่บ้าน โดยฟืนแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและการใช้งานแตกต่างกันไป ได้แก่ 

ไม้ไผ่ ก้านมะพร้าว ไม้สะแก เป็นไม้ที่ให้กำลังไฟแรง ใช้เป็นฟืนหลักของการเผาแต่ละครั้ง โดยใส่ด้านหน้าหรือทางประกูบเตา

ใบกระถิน ใบยูคาลิปตัส ใช้ควบคู่กับฟืนหลัก ทำให้ชิ้นงานมีสีสวย ให้สีส้มหรือสีแดง

ไม้ไผ่ ก้านกระถิน และก้านยูคาลิปตัส ใช้เติมฟืนในช่องไฟด้านข้างของเตา

 

ช่องสำหรับคนเข้าไปเรียงกระเบื้องในเตา เมื่อเรียงเสร็จแล้วต้องก่ออิฐพอกดินปิดให้สนิท

 

ช่องสำหรับเพิ่มฟืน หรือที่เรียกว่าการ “แทงช่อง”

 

เตา

นับตั้งแต่อดีต ช่างปั้นมักมีความสามารถในการปั้นเตาควบคู่กับการปั้นชิ้นงาน โดยเตาแต่ละหลังจะมีอายุใช้งานมากกว่า 10 ปี สำหรับเตาที่ใช้เผากระเบื้องเป็นเตาก่อด้วยอิฐขนาด 3 x 3 เมตร มีลักษณะเป็นถังเปิดโล่งด้านบน อาจมีหลังคาบังแดดฝน ส่วนด้านล่างสุดมีช่องประกูบเตา ไว้สำหรับเติมฟืน ส่วนด้านบนเป็นตำแหน่งใส่กระเบื้อง ซึ่งด้านข้างจะมีช่องขนาดเล็กไว้ใส่ฟืนเพิ่มเติม

 

วิธีการปั้น

ขั้นตอนแรกเมื่อได้ดินมาแล้ว จะนำมากรองเอาเศษหินเศษหญ้าออก จากนั้นจึงนำไปผึ่งแดด เวลาใช้จะนำเอาดินมาใส่บ่อพัก พรมน้ำให้ชุ่ม จากนั้นจึงใช้ไม้ไผ่ซึ่งมีความคม ตัดดินออกเป็นแผ่น เพื่อนำมาใช้ปั้น วิธีการปั้นจะเรียกว่าการ “ทอดกระเบื้อง” โดยจับดินมาขึ้นรูปบนแผ่นไม้แบบ ใช้ไม้ไผ่ปาดดินตามแบบทั้ง 4 เหลี่ยม และ 5 เหลี่ยม จากนั้นจึงปั้นขอเกี่ยวที่เรียกว่า “งวง” ของกระเบื้องอีกทีหนึ่ง แล้วนำไปวางผึ่งลมให้แข็งตัวก่อนนำไปเผา

 

ดินที่เตรียมไว้สำหรับปั้นกระเบื้อง เมื่อใช้งานต้องพรมน้ำให้อ่อนตัวเสียก่อน

 

“แบบ” สำหรับปั้นกระเบื้อง

 

“ไม้แบบ” สำหรับประกบกับดินและแบบ เพื่อให้ได้ขนาดที่เท่ากัน

 

วิธีการเผา

ในขั้นตอนการเผาต้องใช้แรงงานหลายคน แบ่งเป็นคนยกกระเบื้อง 2 คน คนจัดกระเบื้องในเตา 2-3 คน นอกจากนี้ยังมีคนที่คอยเติมฟืนตามช่องต่างๆ อีก โดยลำดับแรกเป็นการยกกระเบื้องใส่ในเตา โดยวางกระเบื้องให้ขอเกี่ยวเหลื่อมกัน ทั้งหมด 15 ชั้น แต่ละชั้นรองรับกระเบื้องได้ 1,000 กว่าแผ่น การเผาแต่ละครั้งจึงสามารถเผากระเบื้องได้ถึงราว 20,000 แผ่นเลยทีเดียว

 

เมื่อใส่กระเบื้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเอาแผ่นสังกะสีและเศษกระเบื้องเก่าที่แตกหักวางทับด้านบน เพื่อให้ด้านในระอุเวลาเผา ส่วนช่องประกูบด้านหน้าจะใช้ไม้ไผ่ ไม้สะแก และก้านมะพร้าวใส่จนเต็ม การเผาในช่วงแรกจะใช้อิฐและดินยาปิดช่องเติมฟืนขนาดเล็กที่ด้านบนเอาไว้ก่อน การเผานั้นจะต้องทำในเวลากลางคืน เพราะอากาศไม่ร้อน และควันไฟจะได้ไม่รบกวนเพื่อนบ้าน ซึ่งการควบคุมกำลังไฟจะค่อยๆ เพิ่มจากเบาไปแรง หากเพิ่มกำลังไฟเร็วเกินไปอาจทำให้กระเบื้องระเบิดเสียหายได้

 

การปั้นโดยนำดินมาใส่ในแบบและใช้ไม้ปาดให้เรียบ

 

ใช้ไม้แบบกดประทับดินที่อยู่ในแบบ จากนั้นใช้ไม้คมตัดให้ได้ขนาดเท่าไม้แบบ

 

เมื่อการเผาโดยใช้กำลังไฟจากประกูบผ่านไประยะหนึ่ง จะมีการเติมใบกระถินและใบยูคาลิปตัสเพิ่มเข้าไป และเมื่อเวลาผ่านไปราวครึ่งคืน จะเป็นการ “แทงช่อง” หรือเปิดช่องเติมฟืนขนาดเล็กด้านบนซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับชั้น แล้วใส่ไม้ไผ่ ก้านกระถิน และก้านยูคาลิปตัสเข้าไป เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังไฟในส่วนที่ติดกับกระเบื้องให้สุกทั่วกันมากยิ่งขึ้น จนเวลาผ่านไปอีกครึ่งคืน จึงปล่อยให้เย็นลง แล้วตรวจสอบว่ามีกระเบื้องที่ยังไม่สุกหรือไม่ หากมีจะต้องนำเอากระเบื้องที่ไม่สุกมาเผาอีกครั้ง โดยแซมกับกระเบื้องใหม่ที่ยังไม่ได้เผา โดยเรียงกระเบื้องเก่า 3 แผ่น ทบกับกระเบื้องใหม่ 3 แผ่น แล้วเรียงเป็นชั้นเช่นเดิม ขั้นตอนการเผาครั้งใหม่นี้เรียกว่าการ “อบควัน”

 

ปัจจุบันการปั้นกระเบื้องแบบทำมือในเขตเกาะเมืองอยุธยาเหลือที่บ้านยายเต่าเพียงเจ้าเดียวแล้ว อาจด้วยเพราะเป็นงานที่หนักและร้อน ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต่างเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทน แต่ยังโชคดีที่ลูกหลานของยายเต่าได้เรียนรู้วิธีการปั้นกระเบื้องและอิฐ จนมีความชำนาญสามารถใช้เป็นอาชีพได้ในปัจจุบัน สมัยนี้การซื้อขายกระเบื้องมีราคาอยู่ที่ราว 8-9 บาทต่อแผ่น โดยเรือนหลังหนึ่งจะใช้กระเบื้องราว 18,000 แผ่น ตกตารางเมตรละ 180 แผ่น การสั่งซื้อจะมีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย หรือครั้งละ 5,000-10,000 แผ่น โดยที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงแรม วัด และประชาชนทั่วไปที่สั่งซื้อเพื่อนำไปมุงหลังคา ด้วยข้อดีที่ทำให้อาคารบ้านเรือนเย็นสบาย อีกทั้งมีความสวยงามตามแบบแผนอย่างไทย

 

เมื่อปั้นกระเบื้องเสร็จแล้วจึงปั้น “งวง” หรือขอเกี่ยว

 

เมื่อปั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องผึ่งลมให้อยู่ตัว แล้วเรียงไว้รอการเผาต่อไป

 

ช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 เวลานั้นกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะโบราณสถานหลายแห่ง ซึ่งได้มีการว่าจ้างให้แหล่งปั้นบ้านยายเต่าทำกระเบื้อง อิฐมอญ อิฐเสา และอิฐปูพื้น เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมโบราณสถานหลายแห่ง นอกจากนี้แหล่งปั้นบ้านยายเต่ายังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภูมิปัญญางานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าในย่านเกาะเมืองอยุธยา บรรดาครูอาจารย์จึงนิยมพาคณะนักเรียนและนักศึกษามาศึกษาเรียนรู้ กระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้การผลิตชะงักงันไป แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลงไปแล้ว แหล่งปั้นบ้านยายเต่าซึ่งเป็นแหล่งงานฝีมืออันเป็นมรดกตกทอดของชาวกรุงเก่า ยังคงเปิดต้อนรับผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมหรือซื้อหาผลงานดินเผาทำมืออยู่เสมอ

 

กระเบื้องบางชิ้นที่เผาไม่สุก ต้องนำมาเผาใหม่โดยการเรียงกระเบื้องที่ไม่สุก 3 แผ่น

ประกบกับกระเบื้องใหม่ 3 แผ่น แล้วจึงนำไปเผาใหม่ เรียกว่าการอบควัน

 

กระเบื้องที่เผาเสร็จแล้วรอจำหน่าย

 

อิฐมอญเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ลูกหลานของยายเต่าผลิตออกมาจำหน่าย

 

ขอขอบคุณ

คุณลัดดา เนียมประเสริฐ (ยายเต่า)

อาจารย์ปัทพงษ์ ชื่นบุญ สถาบันอยุธยาศึกษา ผู้อนุเคราะห์ข้อมูล

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ