พระสงฆ์ในฐานะผู้นำบารมีของสังคม
ศรีศักรทัศน์

พระสงฆ์ในฐานะผู้นำบารมีของสังคม

 

“...การที่เรียกผู้นำบารมีว่าเป็นพระเกจิอาจารย์นั้น ก็เพราะยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของเวทมนตร์คาถาและไสยศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือบำบัดทุกข์ให้แก่ผู้คนที่เดือดร้อนและยากไร้ พระเกจิต่างกับเกจิอาจารย์ที่เป็นฆราวาสซึ่งเรียกว่า “ไสยขาว” ต่างกับเกจิอาจารย์ที่เป็นฆราวาสและอลัชชีที่ใช้ไสยดำและวิธีการแบบเดรัจฉานวิทยา ที่ผิดทั้งทางโลกและทางธรรม โดยจำนวนพระเกจิอาจารย์มีมากในหลายท้องถิ่นมากกว่าพระสุปฏิปันโนในฐานะผู้นำทางสังคม พระเกจิในตำนานซึ่งเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรมก็คือ หลวงปู่ทวดของภาคใต้ และหลวงปู่โต พฺรหฺมรํสี ของภาคกลาง นับเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์...”

 

พระสงฆ์ในฐานะผู้นำบารมีของสังคม งานเขียนในคอลัมน์บทบรรณาธิการโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2560) “วัดตะพานหิน แหล่งศักดิ์สิทธิ์แต่วัฒนธรรมหินตั้ง”

 

พระสงฆ์ในฐานะผู้นำบารมีของสังคม

จากประสบการณ์ทางสังคมวิทยาของข้าพเจ้า คิดว่าสังคมไทยโชคดีกว่าสังคมของประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะยังคงรักษาสถาบันหลักในความมั่นคงทางสังคมมาได้โดยตลอด คือสถาบันกษัตริย์และศาสนา ที่เกื้อกูลให้ผู้คนส่วนใหญ่ในชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น ท่ามกลางความผันผวนและความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการครอบงำทางความคิดจากวัตถุนิยมของสังคมตะวันตก โดยเฉพาะจากอเมริกาและพันธมิตร ที่ทำให้ความเป็นชาติ อันเป็นสถาบันธรรมชาติอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษยชาติถูกทำลาย สถาบันชาติในความเป็นมนุษย์นั้นคือ สำนึกร่วมในความรักแผ่นดินเกิดที่เรียกเป็นภาษาบาลีสันสกฤตว่า ชาติภูมิ

 

“ชาติ” คือเกิด และ “ภูมิ” คือพื้นที่หรือแผ่นดิน เพราะความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมนั้น พัฒนาขึ้นมาจากการมีสำนึกในเรื่องพื้นที่ (sense of territory) ที่คนอยู่ร่วมกันเป็นสังคมกับผู้อื่นในลักษณะเป็นชุมชน (community) และชุมชนมนุษย์นั้นมีทั้งชุมชนเล็กที่เป็นบ้านเกิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใหญ่ คือเมืองนอน เมื่อเรียกรวมกันแล้วก็คือ บ้านเกิดเมืองนอน ดังเช่นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า   “อันสยามเป็นบ้านเกิด เมืองนอน  ดุจบิดามารดร เปรียบได้...”

 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ชาติภูมิ ที่เรียกย่อๆ ว่า ชาติ หาใช่สิ่งที่เป็นชาติพันธุ์ เชื้อชาติ อะไรที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นชาตินิยม ซึ่งพัฒนาสร้างขึ้นในสมัยที่ผู้คนในบ้านเมืองถูกมหาอำนาจทางตะวันตกปกครอง ปลุกสำนึกขึ้นมาต่อต้านเพื่อปลดแอกตนเองออกจากการครอบงำทางการเมืองและเอกราชจากมหาอำนาจ ปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองดังกล่าว พบในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม รวมทั้งกัมพูชาด้วย แต่สำหรับไทยไม่เหมือน เพราะเป็นประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นทางการเมืองและเศรษฐกิจของมหาอำนาจตะวันตก แต่มีการสร้างชาตินิยมไปในทางเชื้อชาตินิยม คล้ายๆ กันกับเยอรมนีและอิตาลี เพื่อกีดกันคนชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์ไทย ทำให้คำว่า “ชาติ” ของสังคมไทยที่เน้นความเป็นคนไทยแตกต่างไปจากชาติภูมิ ทำให้คนไทยที่ได้รับการศึกษาอบรมมาแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ขาดความเข้าใจว่าชาติคือแผ่นดินเกิด ที่ประกอบด้วยบ้านเกิดเมืองนอนไป คนส่วนใหญ่ขาดสำนึกในการรักแผ่นดินเกิด และดูเหมือนจะยินยอมให้ต่างชาติไหนก็ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศง่ายกว่าบ้านเมืองของประเทศอื่น สมัยนี้ประเทศไทยจึงกลายเป็นสังคมไร้พรมแดน ที่คนต่างชาติขยายอำนาจทางเศรษฐกิจเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ยึดซื้อที่ดินเพื่อกิจกรรมในการลงทุนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเกษตรอุตสาหกรรม จนคนไทยที่ยังมีรากเหง้าอยู่กันเป็นชุมชนบ้านเกิดเมืองนอนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดภาวะล่มสลายในชีวิตวัฒนธรรมที่เคยอยู่กันเป็นชุมชนบ้านและเมือง

 

หลวงพ่อโอด วัดจันเสน พระเกจิชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน

ผู้เริ่มพัฒนาชุมชนและวัดจันเสนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชุมชน

 

ผู้นำทางบารมี ผู้นำทางจิตวิญญาณ

นับว่ายังเป็นโชคดีของประเทศชาติที่บ้านเมืองมีผู้นำทางบารมี ที่มาจากสถาบันกษัตริย์และศาสนาช่วยค้ำจุนอยู่ คือพระมหากษัตริย์และพระภิกษุสงฆ์ที่ทรงศีลและคุณธรรม สถาบันกษัตริย์แม้จะถูกคุกคามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยอำนาจฉ้อฉลทางการเมือง เศรษฐกิจ จากทางรัฐ ทุน และคนรุ่นใหม่ที่ถูกครอบงำทางความคิดและการกระทำจากอเมริกาและพันธมิตรก็ตาม แต่ก็ยังดำรงอยู่ได้ด้วยพระบารมีล้นเกล้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พสกนิกรทุกชาติพันธุ์และหมู่เหล่าทั่วประเทศยังอาดูรพูนเทวษอยู่ในทุกวันนี้ เพราะตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงตรากตรำพระวรกายและพระราชหฤทัยในการดูแลช่วยเหลือให้ผู้คนที่ด้อยโอกาส ได้พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในชุมชนที่ล่มสลายให้ฟื้นกลับคืนมา มีความสุขตามอัตภาพทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ในพระศาสนาและศีลธรรม แนวปฏิบัติและทิศทางในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้น คือการช่วยให้ผู้คนในชุมชนมีความรู้และมีสติปัญญาพัฒนาตนเองจากภายใน เป็นการพัฒนาที่มาจากข้างล่างเพื่อต่อรองกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองจากทางรัฐและทุน ที่มองแต่การสร้างรายได้ต่อหัวของประชาชาติ (GDP) เป็นการพัฒนาที่มีแต่เงินและความใหญ่โตทางวัตถุ ที่แลไม่เห็นคนและความเป็นมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณ แต่หนทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือความสุขมวลรวมของคนในชุมชน ในแผ่นดินเกิด ที่เรียกว่า GNH ในทุกวันนี้ เป็นพลังแห่งการพัฒนาจากภายในของผู้คนในทางประชาสังคมที่ยังดำรงอยู่ เพราะเป็นพลังที่เกิดจากความรู้และสติปัญญาของมนุษย์ หาใช่ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” จากทางรัฐและทุนไม่

 

บัดนี้แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตแล้ว แต่พระบารมีที่ได้ทรงกระทำไว้ก็ยังคุ้มเกล้าคุ้มหัวประชาชนที่เป็นสุจริตชน และเป็นสิ่งที่จะควบคู่ไปกับผู้นำบารมีที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมานานแล้ว และยังจะมีอยู่อย่างเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ที่บ้านเมืองกำลังขาดศาสนาและศีลธรรม พระสงฆ์ผู้นำบารมีดังกล่าว วิเคราะห์ได้เป็น 2 ลักษณะ คือ พระสุปฏิปันโนกับพระเกจิอาจารย์

 

พระสุปฏิปันโน โดยย่อคือพระผู้ปฏิบัติดีและประพฤติดีตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีกล่าวในบทสวดมนต์สรรเสริญพระสงฆ์ “สุปฏิปันโต ภควโต สาวกสังโฆ” ที่ดูจะหายากในปัจจุบัน มีแต่คนนุ่งเหลืองห่มเหลือง ทว่าปฏิบัติไม่ชอบธรรม แม้ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางพระก็ตาม พระสุปฏิปันโนที่เป็นอริยสงฆ์ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น หลวงปู่มั่น  ภูมิทตฺโต หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ  หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  หลวงปู่ดุลย์ อตุโล  หลวงปู่ชา สุภทฺโท หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม เป็นต้น ล้วนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำให้คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่เป็นปัญญาชน หันเข้าหาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติธรรมทางสมาธิและวิปัสสนา เพื่อพัฒนาจิตให้ตื่นรู้ เข้าสู่ความหลุดพ้นในเรื่องกิเลสตัณหา ดังปรากฏในปัจจุบัน เกิดมีสำนักวิปัสสนากันอย่างมากมายทั้งในวัดและนอกวัด หนทางของพระสุปฏิปันโนในการสั่งสอนผู้คนนั้นเป็นหนทางแห่งพระอรหันต์ ที่มุ่งให้คนหลุดพ้นจากโลกีย์สุข ส่วน พระเกจิอาจารย์ นั้น เป็นหนทางแห่งพระโพธิสัตว์ที่ช่วยให้คนในสังคมมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายหมดทุกข์และมีสันติสุข จึงเป็นพระที่ยังคงยุ่งเกี่ยวกับคนทั่วไปในสังคมทั้งทางโลก ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม เป็นที่พึ่งของผู้คนในเรื่องของโลกนี้ ต่างกับพระสุปฏิปันโนผู้เป็นที่พึ่งของคนในมิติของโลกหน้า

 

พระมงคลสิทธาจารย์ (หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก) เจ้าอาวาสวัดตะโก อำเภอภาชื  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

เกจิอาจารย์

ผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ในโลกปัจจุบัน

การที่เรียกผู้นำบารมีว่าเป็นพระเกจิอาจารย์นั้น ก็เพราะยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของเวทมนตร์คาถาและไสยศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือบำบัดทุกข์ให้แก่ผู้คนที่เดือดร้อนและยากไร้ พระเกจิต่างกับเกจิอาจารย์ที่เป็นฆราวาสซึ่งเรียกว่า “ไสยขาว” ต่างกับเกจิอาจารย์ที่เป็นฆราวาสและอลัชชีที่ใช้ไสยดำและวิธีการแบบเดรัจฉานวิทยา ที่ผิดทั้งทางโลกและทางธรรม โดยจำนวนพระเกจิอาจารย์มีมากในหลายท้องถิ่นมากกว่าพระสุปฏิปันโนในฐานะผู้นำทางสังคม พระเกจิในตำนานซึ่งเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรมก็คือ หลวงปู่ทวดของภาคใต้ และหลวงปู่โต พฺรหฺมรํสี ของภาคกลาง นับเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ว่าท่านเป็นพระเกจิในทางตำนานนั้น ก็เพราะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา ทั้งๆ ที่ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมานั้น สังคมของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนาเข้าสู่สังคมกสิกร เป็นยุคที่ผู้คนในสังคมมีกรรมสิทธิ์ที่ดินนำไปซื้อขาย เกิดมีคนชั้นกลางหรือผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายของคนต่างชาติ เช่น คนจีน คนญวน คนมุสลิม ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย ได้กลายเป็นนายทุนที่ก่อให้เกิดการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ ขยายพื้นที่ทำนาทำไร่และกิจกรรมต่างๆ ทางอุตสาหกรรมและการค้าขายเอากำไร ที่มีผลทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจขึ้น เกิดบุคคลนอกกฎหมายที่เรียกว่า พวกเสือพวกโจร และผู้มีอิทธิพลขึ้น เมื่อความไม่มั่นคงในชีวิตเกิดขึ้น คนก็หันไปพึ่งความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติในทางไสยศาสตร์กันมากขึ้น อีกทั้งดูเหมือนจะทวีคูณขึ้นเมื่อประเทศชาติบ้านเมืองถูกคุกคามจากภัยสงครามที่มาจากภายนอก ทำให้มีการสร้างเครื่องรางของขลังทั้งทางไสยขาวและไสยดำเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งรัฐบาลเองก็มีส่วนในการสร้างเครื่องรางของขลังขึ้นมาแจกจ่ายให้กับทหาร อาสาสมัครทำสงคราม และผู้คนพลเมืองทุกระดับ ผลที่ตามมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การเกิดขึ้นและนิยมนับถือในพระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่าพระเกจิอาจารย์ดังกล่าว

 

พระสงฆ์ผู้เป็นพระเกจิที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำทางบารมี ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นความสุขในชีวิต ความเป็นอยู่ทั้งกายและใจมีมากขึ้นเป็นลำดับในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เช่น หลวงพ่ออุตตมะ พระเถระชาวมอญของชุมชนมอญพลัดถิ่นที่อำเภอสังขละบุรี หลวงพ่อฤาษีลิงดำแห่งวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี หลวงพ่อเดิม วัดจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นตัวอย่าง

 

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน

 

ในส่วนตัวข้าพเจ้าที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง รับรู้และเรียนรู้บทบาทของการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชนและสังคมของพระเกจิสำคัญ 2 องค์ คือ พระครูนิสัยจริยคุณหรือหลวงพ่อโอด ปัญญาธโร แห่งวัดจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และพระมงคลสิทธาจารย์ หรือหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก แห่งวัดตะโก ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระเกจิองค์แรกมรณภาพไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่องค์หลังคือหลวงพ่อรวยยังอยู่ หลวงพ่อโอดเป็นพระเกจิที่สืบเนื่องแนวคิดและการปฏิบัติมาจากพระเกจิรุ่นก่อนในเขตนครสวรรค์ คือหลวงพ่อเดิม ท่านจำวัดอยู่ที่วัดจันเสน ซึ่งเป็นวัดอยู่ในเขตเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างมีระบบ และพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แลเห็นพัฒนาการของชุมชนบ้านเมืองแต่สมัยยุคเหล็กจนมาถึงยุครับอารยธรรมอินเดียและนับถือพระพุทธศาสนา หลวงพ่อโอดสนใจความเก่าแก่ของบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา ได้รวบรวมบรรดาโบราณวัตถุที่พบในเขตเมืองและนอกเมือง ซึ่งกระจัดกระจายและถูกนักล่าสมบัติเที่ยวกว้านซื้อจากชาวบ้านมารวมไว้ที่วัด เพื่อจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ อีกทั้งยังดำริสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ โดยนำพระบรมธาตุของวัดที่รักษาไว้บรรจุ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของบ้านเมืองท้องถิ่น ด้วยทุนทรัพย์ที่เกิดจากรายได้การให้เช่าวัตถุมงคลที่หลวงพ่อโอดปลุกเสกขึ้นด้วยอำนาจพุทธคุณตามแบบอย่างพระเกจิอาจารย์รุ่นก่อนๆ แม้ว่าหลวงพ่อโอดจะมรณภาพไปก่อนที่พิพิธภัณฑ์และพระบรมธาตุเจดีย์จะสร้างเสร็จก็ตาม แต่โครงการที่ได้กำหนดไว้ดำเนินการมาจนแล้วเสร็จ โดยหลวงพ่อเจริญ ผู้เป็นศิษย์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดจันเสนแทน และทำให้พระมหาธาตุเจดีย์และพิพิธภัณฑ์จันเสนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และความรุ่งเรืองทางสังคมวัฒนธรรม กลายเป็นชุมชนใหญ่ที่เป็นปึกแผ่น เป็นชุมชนเมืองที่ผู้คนในชุมชนมีความพอใจ ภูมิใจในตัวเอง และมีฐานะความเป็นอยู่ดีแทบทุกกลุ่มเหล่า บ้านจันเสนกลายเป็นชุมชนเมืองพึ่งตนเองที่พัฒนาจากข้างใน เป็นชุมชนทางศีลธรรม (moral community) โดยภาคประชาสังคมที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ

 

พระบรมธาตุเจดีย์

ศูนย์กลางความเชื่อ ความศรัทธาของคนท้องถิ่น

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์และพระมหาธาตุเจดีย์จันเสน ได้กลายเป็นแม่แบบให้วัดและชุมชนบ้านเมืองอื่นๆ ได้ศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนของตนเอง ชุมชนบ้านและวัดที่กำลังเจริญรอยตามจันเสนที่สำคัญในขณะนี้ก็คือ ชุมชนบ้านและวัดตะโก อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีพระเกจิอาจารย์คือหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก ที่มีผู้คนในท้องถิ่นทั้งใกล้และไกลเดินทางเข้ามากราบไหว้และทำบุญที่วัด รวมถึงเช่าพระเครื่องที่หลวงพ่อรวยได้ปลุกเสกในพิธีกรรมร่วมกับพระเกจิองค์สำคัญร่วมสมัย ทำให้วัดมีรายได้มากมาย โดยหลวงพ่อรวยและคณะกรรมการวัดผู้เป็นลูกศิษย์ลูกหานำเงินที่ได้จากการจำหน่ายเครื่องรางต่างๆ ไปบริจาคทำกิจกรรมทางสังคมทั้งภายในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ  ระบบเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นและมีการพัฒนาให้ผู้คนในชุมชนอยู่ดีกินดี มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยสะอาดเรียบร้อย และที่สำคัญเป็นสังคมที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาและศีลธรรม

 

หลวงพ่อรวยเป็นคนบ้านตะโกโดยกำเนิด อยู่ในสายตระกูลที่ตั้งแต่บวชเรียนมาก็ปฏิบัติธรรมและช่วยเหลือชาวบ้านในยามเจ็บป่วย และปัดเป่าความทุกข์ทางด้านจิตใจ นับเป็นที่พึ่งที่สำคัญของสังคมท้องถิ่นมาตลอด จนปัจจุบันครองพรรษาได้ 76 พรรษา อายุ 96 ปี นับเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ในจำนวน  237 องค์ของประเทศในขณะนี้ หลวงพ่อรวยเป็นพระรุ่นน้องของหลวงพ่อโอดแห่งวัดจันเสน และเป็นพระเกจิที่ถือปฏิบัติมาในทำนองของหลวงพ่อเดิม พระเกจิในอดีตที่ยิ่งใหญ่ของคนในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับรู้ถึงการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ที่วัดจันเสน เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีในครรลองทางสังคมวัฒนธรรมแต่อดีต คือการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นศูนย์กลางความเชื่อของท้องถิ่น เพราะแต่อดีตมา วัดคือศูนย์กลางทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนในระดับบ้าน วัดเป็นวัดเล็กที่มีแต่โบสถ์เป็นศูนย์กลางในเขตสังฆาวาส แต่ในระดับเมือง วัดมีขนาดใหญ่ มีทั้งเขตสังฆาวาสและพุทธาวาส มีการสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุเป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านใหญ่น้อยทั้งหลายในท้องถิ่น ชุมชนบ้านตะโกเป็นชุมชนในระดับบ้าน เช่นเดียวกับชุมชนบ้านทั้งหลายในท้องถิ่นที่ล้วนแต่มีวัด โบสถ์ และสถูปเจดีย์ที่ไม่นับเนื่องเป็นพระบรมธาตุได้ เช่นเดียวกันกับอดีตของวัดจันเสนของหลวงพ่อโอดและวัดอื่นๆ ในท้องถิ่น ต่อเมื่อมีการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสนขึ้น ความเป็นสังคมวัฒนธรรมเมืองของท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น โดยความนิยมของพระสงฆ์และคนท้องถิ่นทั่วไปในปัจจุบัน ดูเหมือนไม่นิยมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นตามประเพณีเดิมแต่โบราณ แต่นิยมสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่สูงเทียมฟ้าแทนในพื้นที่พุทธาวาส ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า “พระตากแดด”  เพราะไม่เคยมีประเพณีในเมืองไทยหรือที่อื่น ที่สร้างพระพุทธรูปกลางแจ้งโดยไม่มีพระมณฑปหรือพระวิหารครอบ

 

 

พระมหาธาตุเจดีย์มงคลสิทธาจารย์ วัดตะโก

 

การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ของหลวงพ่อโอดที่ทำไปแล้ว กับที่กำลังสร้างขึ้นในขณะนี้ของหลวงพ่อรวยก็คือ การสร้างบ้านแปงเมืองตามประเพณีที่มีมาแต่อดีตในสังคมไทย เพราะชุมชนมนุษย์ที่เรียกว่า บ้าน นั้นไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ หากจะรวมอยู่กับชุมชนบ้านอื่นๆ ในพื้นที่อาณาบริเวณเดียวกัน ที่เรียกง่ายๆ ว่า ท้องถิ่นเดียวกัน อันเป็นถิ่นเกิดและตายของผู้คนในชุมชน แต่ชุมชนบ้านในท้องถิ่นเดียวกันนี้จะเป็นชุมชนใหญ่กว่า ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ประเพณี พิธีกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นย่านตลาด เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของในการดำรงชีพ ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนบ้านยกระดับขึ้นเป็นเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่มีคนหลายหมู่เหล่าและอาชีพ รวมทั้งหลายชาติพันธุ์เข้ามาอยู่รวมกันเป็นคนในชุมชน และมีพื้นที่เฉพาะที่ทำให้เกิดวัด อันเป็นศูนย์กลางในทางศาสนาและวัฒนธรรม กับย่านตลาดที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของสำหรับชีวิตและความเป็นอยู่แต่โบราณ ในอดีตก่อนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง บ้านเมืองจำนวนมากมักมีวัดและตลาดอยู่ใกล้กันในพื้นที่สาธารณะ สร้างโดยผู้มีอำนาจและบารมี เช่น พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และพระสงฆ์  อย่างในสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ ยุคต้นๆ เมื่อมีผู้คนเข้ามาในราชอาณาจักรมากขึ้น จากการทำสงครามกวาดต้อนผู้คนบ้านอื่นเมืองอื่นเข้ามาเป็นพลเมืองก็ดี หรือเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่จะเข้ามาค้าขายตั้งถิ่นฐานก็ดี ก็จะมีการกัลปนาเกิดขึ้น โดยผู้มีอำนาจและบารมี เช่น พระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ขุนนาง อุทิศที่ดินสร้างพระบรมธาตุ แล้วกัลปนาผู้คน สิ่งของ วัวควาย ให้แก่พระบรมธาตุ การกัลปนาผู้คนให้แก่พระบรมธาตุนั้นเรียกว่า “ข้าพระ” ซึ่งจะให้ทำกินในพื้นที่กัลปนาของวัดและช่วยดูแลวัด ทำให้การสร้างวัด สร้างพระธาตุ เป็นการสร้างชุมชนขึ้น เพราะฉะนั้นที่ใดที่เป็นวัดหลวง มีพระบรมธาตุ ก็จะเป็นชุมชนใหญ่ เกิดเป็นเมืองที่มีย่านตลาดเกิดขึ้น วัดที่มีพระบรมธาตุเจดีย์จึงเป็นวัดใหญ่ มีพื้นที่กว้างขวาง ทำให้เกิดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ มีการชุมนุมกันของผู้คนจากบรรดาชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งที่มาจากข้างนอกด้วย

 

การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นศูนย์กลางจักรวาลในสังคมท้องถิ่นเช่นนี้ เป็นประเพณีมาแต่โบราณ ดังเช่นในสมัยสุโขทัยและล้านนา พระมหากษัตริย์ทรงสร้างพระบรมธาตุขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นชุมชนเมืองธรรมดาขึ้นเป็นนคร ดังปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้ว่า เมืองนครใหญ่ๆ เช่น สุโขทัย นครศรีธรรมราช ลำปาง ลำพูน พระนครศรีอยุธยา ล้วนมีวัดสำคัญของเมือง คือ วัดมหาธาตุ  ประเพณีการสร้างพระบรมธาตุเป็นศูนย์กลางและยกระดับความสำคัญของชุมชนดังกล่าว ยังพบในประเทศพม่าที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทเช่นเดียวกับเมืองไทย เพราะมีการสร้างพระบรมธาตุเพื่อเป็นศูนย์กลางความเจริญทางพุทธศาสนาและศีลธรรม โดยรัฐบาลเผด็จการของพม่าตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เมื่อเวลาไปพม่า จะเห็นว่ามีพระมหาธาตุเจดีย์เกิดขึ้นตลอดในพื้นที่พุทธาวาส

 

ขณะที่ทางเมืองไทยมีการสร้างวัดแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย แต่สร้างพระบรมธาตุน้อยมาก แถมยังปรากฏวัดวาอารามที่ไม่มีระบบระเบียบในเรื่องการจัดการพื้นที่ของวัดให้เป็นสัดส่วนที่ถูกต้อง ในเรื่องของเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และพื้นที่สาธารณะเพื่อกิจกรรมทางโลก ทำให้แลไม่เห็นตำแหน่งที่ถูกต้องของพระสถูปเจดีย์และวิหารในเขตพุทธาวาส กับพระอุโบสถในพื้นที่สังฆาวาส แต่ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือมีบรรดาพระสถูปเจดีย์รูปร่างแปลก ผิดแผกไปจากระบบสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมงคลแต่เดิมเกิดขึ้นมากมาย วัดแบบนี้เกิดขึ้นจากบุคคลทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นที่มุ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธพาณิชย์ เป็นแหล่งล่อคนให้เดินทางมาท่องเที่ยว มากราบไหว้เพื่อโชคลางและโชคลาภในทางวัตถุกลาดเกลื่อนไปทั่วประเทศ