นัยบทบรรณาธิการ : การถือผีในสังคมปัจจุบัน
ศรีศักรทัศน์

นัยบทบรรณาธิการ : การถือผีในสังคมปัจจุบัน

 

การดำรงอยู่ของความเชื่อ 2 สถาบันที่อยู่ด้วยกันมาทุกยุคทุกสมัยคือ ความเชื่อในเรื่องพระ หมายถึง พระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆ และความเชื่อในเรื่องผี อันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการมีอยู่ของวัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลผี ในโครงสร้างกายภาพของชุมชนทั้งในระดับบ้านและเมือง

 

ศาลนางตะเคียน ในวัดทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ บันทึกภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558

 

วัดคือศูนย์กลางของความเชื่อและประเพณี พิธีกรรม ของชุมชน ที่สะท้อนให้เห็นจากชื่อบ้าน ชื่อเมืองและวัดสำคัญมักใช้ชื่อเดียวกัน เช่น วัดบางแขม บ้านบางแขม เป็นต้น ส่วนศาลผีนอกจากรวมอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณเดียวกันกับวัดแล้ว ยังกระจายอยู่ตามตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชุมชน อันเนื่องจากผีมีจำนวนและประเภทมากมายหลากหลายกว่าพระ ผีมีทั้งระดับผีเรือน ผีบ้าน และผีเมืองที่เรียกว่า มเหสักข์หรือหลักเมือง การนับถือผีเป็นความเชื่อและพิธีกรรมที่สร้างความมั่นคงทางจิตใจแก่ชีวิตผู้คนในโลกนี้ ขณะที่วัด โบสถ์คริสต์ และมัสยิดให้ความมั่นคงทางจิตใจในโลกหน้า ส่วนการประกอบประเพณีพิธีกรรมขึ้นทั้งวัดและศาลผี คือ กิจกรรมทางสังคม (Social action) ที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและสำนึกในความเป็นคนในชุมชนเดียวกันซึ่งจะต้องอยู่รอดร่วมกัน...

 

บางช่วงบางตอนจากบทบรรณาธิการเรื่อง “การถือผีในสังคมปัจจุบัน : การต่อรองเพื่อการอยู่รอดของชุมชนในความเป็นมนุษย์” โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บทความตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 41 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2558) “นครชัยศรี เมืองลุ่มน้ำแห่งศรีทวารวดี”


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ