พลิกหน้าสารบัญ 47.2 วิมายปุระ-พิมาย

พลิกหน้าสารบัญ 47.2 วิมายปุระ-พิมาย

 

❝...ไม่ใช่เป็นแค่เมืองในวัฒนธรรมขอม หากมีชุมชนมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบภาชนะดินเผาแบบปากแตร แบบเขียนสีลวดลายเรขาคณิต และพิมายดำกระจายอยู่ในชั้นดินยุคเหล็ก อันแสดงถึงการเริ่มขึ้นเป็นบ้านเมืองและมีการติดต่อกับแดนไกล จนพัฒนาขึ้นเป็นนครรัฐสมัยลพบุรีในลุ่มน้ำมูลตอนบน...❞

 


 

[1]

วิมายปุระ-พิมาย

เมืองวัฒนธรรมขอมแห่งลุ่มน้ำมูล 

/วิยะดา ทองมิตร

เมืองพิมาย วิมาย หรือวิมายปุระนั้น เป็นเมืองสำคัญในแอ่งโคราช โดยได้พบร่องรอยการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองพิมายมาอย่างต่อเนื่องหลายสมัย เช่น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8-13 พบร่องรอยการอยู่อาศัยที่บ้านส่วย ต่อมาในสมัยทวารวดีหรือราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 พิมายถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมือง แวดล้อมไปด้วยเมืองสมัยทวารวดีหลายแห่ง และมีการติดต่อกับบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกัมพูชาด้วย จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 เมื่อวัฒนธรรมขอมขยายเข้าสู่เขตแดนอีสาน พิมายได้กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามหายานบนลุ่มน้ำมูล โดยมีปราสาทหินพิมาย เป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อสำคัญ

 

[2]

พิมาย : นครรัฐสมัยลพบุรีในอีสานใต้ 

/ศรีศักร วัลลิโภดม

ชุมชนโบราณในกลุ่มเมืองพิมาย มีหลายแห่ง ทั้งหมดล้วนเป็นชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบและตั้งกระจายตัวในพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันด้วยคูคลอง ต่อมาในสมัยสุวรรณภูมิ พบหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าพิมายมีความเชื่อมโยงกับอินเดีย คือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่เรียกว่าพิมายดำ ซึ่งได้พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาสีดำขัดมันเช่นเดียวกันนี้ในประเทศอินเดียด้วย พิมายซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำมูลในเขตลุ่มน้ำมูลตอนต้นซึ่งเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์และมีพัฒนาการของชุมชนบ้านเมืองซับซ้อนต่อเนื่องมานาน เมื่อได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านชุมชนทางภาคใต้และภาคกลางของไทยในช่วงสมัยสุวรรณภูมิ จึงสามารถพัฒนาบ้านเมืองสู่ความเป็นนครรัฐในสมัยต่อมาได้

 

ภาพวาดแผนที่ 'วิมายปุระ-พิมาย' โดย สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
 

[3]

พิมายดำ : จากอนุทวีปอินเดียสู่การรับ ปรับ และส่งต่อไปยังท้องถิ่นอันห่างไกล 

/วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ภาชนะดินเผาสีดำขัดมัน ซึ่งพบที่เมืองนาลันทาและเมืองอโยธยาในประเทศอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ราว 2,700-2,550 ปีมาแล้ว ภาชนะดินเผาประเภทนี้มีลักษณะพิเศษ ใช้บ่งบอกสถานะหรือชนชั้นทางสังคมได้ โดยจากการศึกษาได้พบภาชนะดินเผาลักษณะเดียวกันที่คอคอดกระ และบริเวณลุ่มน้ำมูลในประเทศไทย โดยภาชนะดินเผาที่พบในเขตลุ่มน้ำมูลถูกเรียกว่าภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ พบกระจายตัวอยู่ในชั้นดินสมัยเหล็กของแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง เช่นในชั้นดินใต้ปราสาทหินพิมาย และที่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท นอกจากนั้นยังพบอีกเป็นจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีบ้านส่วย นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่าอิทธิพลการผลิตภาชนะดินเผาสีดำขัดมันน่าจะได้รับมาจากบ้านเมืองภายนอกซึ่งอาจมีต้นทางมาจากอนุทวีปอินเดียนั่นเอง


[4]

ตามรอยชื่อบ้านนามเมืองในตำนานปาจิต-อรพิม 

/ดร. รังสิมา กุลพัฒน์

ปาจิต-อรพิม เป็นตำนานท้องถิ่นที่มีหลายสำนวน เช่นในปัญญาสชาดก กล่าวถึงปาจิตตกุมารชาดก ว่ามีเค้าเรื่องมาจากตำนานท้องถิ่นแถบเมืองพิมาย แต่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบ้านนามเมือง ต่างจากปาจิตตกุมารกลอนอ่าน วรรณกรรมมุขปาฐะสมัยกรุงธนบุรีที่กล่าวถึงเรื่องราวของพระปาจิต ผู้ออกเดินทางตามหานางอรพิม เรื่องราวการผจญภัยและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางที่พระปาจิตและนางอรพิมผ่านทางนั้น กลายเป็นตำนานที่ถูกใช้อธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมืองซึ่งคนในพื้นที่เล่าขานและยังอยู่ในการรับรู้ของผู้คนสืบมาถึงปัจจุบัน

 

ภาพเขียนในสมุดภาพชาดกปาจิต-อรพิม ตอนโจรป่าแย่งนางอรพิมและฆ่าพระปาจิต นางจึงออกอุบายฆ่าโจรทิ้ง 

 

[5]

การเดินทางและเครือข่ายเส้นทางการค้าริมลำน้ำมูล 

/เกสรบัว อุบลสรรค์

เมืองพิมาย มี “แม่น้ำมูล” เป็นลำน้ำสายหลัก ในอดีตก่อนมีทางรถไฟทั่วถึง การเดินทางคมนาคมขนถ่ายสินค้าจากชุมชนตอนในและบ้านเมืองทางเหนือมายังเมืองพิมายเพื่อซื้อหาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือแวะพักเพื่อผ่านต่อไปยังโคราชและบ้านเมืองทางตอนใต้ลงไปนั้น หากเป็นหน้าแล้งก็จะใช้การเดินเท้า วัวเทียมเกวียน หรือสัตว์พาหนะต่างๆ แต่หากเป็นช่วงหน้าน้ำที่น้ำในลำมูลมีมาก ชาวบ้านนิยมใช้เรือเป็นพาหนะสัญจรขึ้นล่องซึ่งนอกจากเรือชาวบ้านแล้ว ยังพบว่ามีการใช้เรือกลไฟ ขนถ่ายสินค้าและผู้คนจากบ้านท่าช้างเขตเมืองนครราชสีมาไปตามลำมูลต่อเขตลำโขงในจังหวัดอุบลราชธานีมาไม่น้อยกว่าปี พ.ศ. 2435 ดังปรากฏเค้ารอยในเรื่องเล่าและชื่อบ้านนามเมืองที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

 

ท่ารถคอกหมูเดิมตั้งอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ด้านหน้าปราสาทหินพิมาย

ด้านซ้ายเห็นศาลานั่งรอรถ (ภาพ : ร้านพรศิลป์)

 

[6]

วัดโคกพระ ด้วยศรัทธาและสองมือ 

/อภิญญา นนท์นาท

วัดโคกพระ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งใน ตำบลหนองพลวง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านโคกพระ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำมูล จากประวัติวัดที่มีบันทึกไว้ ประกอบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอุโบสถที่หลงเหลือ สันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อต้นรัตนโกสินทร์และมีการใช้งานสืบเนื่องเรื่อยมา อุโบสถวัดโคกพระเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านต่างมีความทรงจำร่วมกัน ผ่านพิธีกรรม งานบุญ ตลอดจนประเพณีต่างๆ ที่ผ่านมาอุโบสถเก่าหลังนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างมาก นำมาสู่ความพยายามของชาวบ้านในการผลักดันและระดมทุนเพื่อดำเนินการบูรณะ ใช้เวลากว่า 10 ปี จนกระทั่งบูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านโคกพระที่ควรบันทึกไว้

 

สภาพอุโบสถเก่าก่อนการบูรณะ ในภาพเป็นงานประเพณีก่อพระทรายในช่วงวันสงกรานต์

(ภาพ : ประเสริฐ สุขมะดัน) 

 

[7]

ภาพลักษณ์ที่ข้ามผ่านห้วงเวลาของนายฮ้อยเมืองโคราช

/ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

นายฮ้อยคือ ผู้พากองคาราวานเกวียนบรรทุกสินค้าหรือกองคาราวานสัตว์ชนิดต่างๆ เดินทางไปค้าขายแดนไกล ผู้ที่เป็นนายฮ้อยจึงต้องมีความรับผิดชอบ กล้าตัดสินใจ และได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน วิถีการเป็นนายฮ้อยยังมีบทบาทโดยตรงต่อการสะสมทุน ไร่นาและวัวฝูง เมื่อรวมกับกำไรที่ได้จากการเดินทางไปค้าขาย ผู้เป็นนายฮ้อยจึงมักมีฐานะดี แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง วิถีการเป็นนายฮ้อยแบบเดิมก็ย่อมเปลี่ยนไป นายฮ้อยสมัยใหม่ไม่ใช่ผู้นำกองคาราวานเกวียนสินค้า แต่มีการปรับเปลี่ยนวิธีค้าขายที่สอดคล้องกับยุคสมัยและสัมพันธ์กับรูปแบบการคมนาคมใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

 

[8]

คน (ขับ) เคลื่อนเมือง... จีนพิมาย 

/จิราพร แซ่เตียว

เรื่องราวของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนฮากกา และแต้จิ๋วเมืองพิมาย จากผู้อพยพยุคบุกเบิกที่ต้องฟันฝ่าต่อสู้ทั้งจากนโยบายกีดกันชาวจีน ความยากลำบากด้านความเป็นอยู่และการคมนาคมขนส่ง ไปจนถึงภัยจากโจรผู้ร้าย รวบรวมเรี่ยวแรงและทุนรอนลงหลักปักฐาน ก่อนริเริ่มกิจการเล็กๆ สู่การเป็นพ่อค้าคนกลาง มีร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าเกษตร เช่น ข้าว พืชไร่ และของป่าจากชุมชนน้อยใหญ่ตอนใน ส่งกระจายขายต่อยังเมืองโคราชและกรุงเทพฯ แลกรับซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคจากโคราชและกรุงเทพฯ กลับสู่ชาวพิมายและชุมชนตอนใน ความมานะและการสะสมเช่นนั้นส่งผลให้คนไทยเชื้อสายจีนในเมืองพิมายรุ่นปัจจุบันเป็นกลุ่มคนผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจครอบคลุมทุกสาขาธุรกิจในเมืองพิมายได้ในที่สุด

 

นางไชอวง แซ่เจี่ย คุณแม่ของนายเซียมฮวด แซ่เจี่ย เจ้าของร้านเซียมฮวด

(ภาพ : วารสารมูลนิธิพิมายสงเคราะห์ ฉบับปฐมฤกษ์ 1/255)


[9] 

จากทุ่งเวิ้งว้างสู่ย่านการค้าสะพานใหม่ 

/จิราพร แซ่เตียว

สะพานใหม่ สะพานใหม่ดอนเมือง หรือสะพานศุกรนาคเสนีย์ ซึ่งตั้งตามชื่อขุนศุกรนาคเสนีย์ นายทหารฝ่ายรัฐบาลผู้เสียชีวิตคราวกบฏบวรเดชนั้น ถูกสร้างเพื่อใช้ข้ามคลองสอง เชื่อมพื้นที่ฝั่งสะพานใหม่กับกองทัพอากาศ สะพานใหม่ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งบางเขน แวดล้อมไปด้วยทุ่งนากว้างไกล แต่หลังจากราวปี พ.ศ. 2493 ลงมา เมื่อมีการตัดขยายถนนพหลโยธิน พื้นที่ย่านสะพานใหม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมสู่ย่านการค้า มีตลาดเกิดขึ้นหลายแห่ง มีผู้คนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้วิถีชีวิตและสภาพพื้นที่ย่านสะพานใหม่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากเดิมจนไม่เหลือภาพความเป็นท้องทุ่งอีกต่อไป..

 

[10]

พิพิธภัณฑ์บ้านส่วยใน แหล่งเรียนรู้ในชุมชนโดยภาคีอนุรักษ์พิมาย

/อภิญญา นนท์นาท

พิพิธภัณฑ์บ้านส่วยใน ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย บริเวณชานเรือนชั้นล่างของนางประชุม รั้วชัย หรือคุณยายโอ๋ ซึ่งเป็นเรือนไม้เก่าแก่ของชุมชน ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนบ้านส่วย ทั้งข้อมูลการขุดค้นทางโบราณคดี พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563เป็นต้นมา จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าบริเวณที่ตั้งชุมชนแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือการพบภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ ส่วนชื่อเรียกบ้านส่วย มีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าบริเวณนี้เป็นที่โนนอุดมสมบูรณ์ ชาวกูยหรือส่วยจากบุรีรัมย์ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ปัจจุบันร่องรอยที่แสดงถึงความเป็นชาวกูยคงเหลือเพียงความทรงจำเบาบางและชื่อบ้านนามเมืองเท่านั้น

 

[11]

ไก่แก้วหอมฮู ตำนานปรางค์กู่สีดา

/ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

วรรณกรรมลาวเรื่องไก่แก้วหอมฮู หรือท้าวกำพร้าไก่แก้ว เป็นตำนานประจำถิ่นว่าด้วยเรื่องราวของท้าวกำพร้า ชายกำพร้าขอทานเข็ญใจผู้ออกเดินทางค้นหาไก่แก้ว ในบ่อไก่แก้ว ลึกลงไปจนถึงเมืองบาดาล ซึ่งไก่แก้วนั้นก็คือ “นางสีดา” ลูกสาวเจ้าเมืองบาดาล ในที่สุดทั้งสองได้แต่งงานอยู่กินกันที่เมืองบาดาล แต่ก็มีเหตุให้ต้องคลาดแคล้วพลัดพราก เกิดเป็นเรื่องราวการผจญภัยที่คนสมัยก่อนใช้เป็นเรื่องเล่าสำหรับอธิบายที่มาของปราสาทหินหลายแห่ง ได้แก่ปรางค์กู่สีดา บ้านดอนโก่ย ปรางค์กู่ ตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ และปราสาทนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา โดยเล่าต่อกันมาว่าบริเวณที่ตั้งของปราสาทหินทั้งหมดนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองจาตุม อาณาจักรโบราณที่ปกครองโดย พญาจาตุมนั่นเอง

 

 

[12]

หัวนะโมและโควิด จากวัตถุมงคลของแผ่นดินสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์พกพา 

/อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

เมื่อหัวนะโม เครื่องรางของขลังประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งท่ามกลางกระแสการระบาดไม่รู้จบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้เขียนจึงหยิบยกเป็นประเด็นชวนคิดวิเคราะห์และทบทวนถึงความสำคัญของหัวนะโมซึ่งแรกเริ่มถูกใช้ต่างเงินตราแลกเปลี่ยน กระทั่งต่อมาได้รับการยกฐานะสู่เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองด้วยมีสรรพคุณไล่ภัยร้ายและไข้ห่าได้ชะงัด ขณะที่ในปัจจุบันผู้คนนิยมซื้อหาเช่าบูชาหัวนะโมมาติดประดับประจำกายดั่งเครื่องรางพกพาส่วนบุคคล นับเป็นเครื่องส่องสะท้อนถึงโลกทัศน์และวิธีคิดที่คนไทยมีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

[13]

เงาอดีตที่เมืองพิมาย 

/ดร. รังสิมา กุลพัฒน์

ภาพชุดเมืองพิมาย ที่ได้นำเสนอในบทความนี้ มีทั้งสิ้น 3 ชุด ทั้งหมดล้วนเป็นภาพที่ทำให้เรารู้จักเมืองพิมายและคนพิมายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพสมัยที่พิมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีแห่งแรกๆ ของสยาม หรือภาพบันทึกเหตุการณ์คราวบูรณะซ่อมแซมปราสาทหินพิมายเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา รวมถึงภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองพิมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้พื้นที่ในเมืองเก่าพิมายทับซ้อนกันมาหลายยุคสมัย โดยมี “ปราสาทหินพิมาย” เป็นศูนย์กลางของเมืองนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ชาวพิมายนิยมไปเที่ยวชมการบูรณะปราสาทหินพิมาย

ในภาพเป็นครอบครัวและเพื่อนบ้านของคุณคงภพ (พรศักดิ์) ศักดิ์แดนไพร  บันทึกภาพเมื่อราวปี พ.ศ. 2507  

 

[14]

แหวนเพชร 2,000 ปี ริมฝั่งอันดามัน บอกอะไรเรา ? 

/นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

ในทางโบราณคดีอัญมณีหินมีค่า เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการติดต่อทางทะเลที่เชื่อมระหว่างศูนย์กลางการค้าสำคัญ โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2561-2562 มีการค้นพบแหวนทองคำหัวเพชร จำนวน 3 วง ที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ และบางกล้วย จังหวัดระนอง แหวนทองคำหัวเพชรที่พบในครั้งนั้นมีลักษณะแบบเดียวกับแหวนที่พบในสุสานหวังอี้ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก และที่พบบริเวณออกแอว ปากแม่น้ำโขง จึงนับเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองต่างๆ บนดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยสุวรรณภูมิเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี

 

แหวนทองคำหัวเพชรอายุ 2,000 ปีที่พบในไทย


[15]

คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพคนแขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา 

/สามารถ สาเร็ม

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องตาย” และเรามีวิธีปฏิบัติต่อร่างผู้ตายแตกต่างกัน หากเป็นมุสลิม เมื่อเสียชีวิตจะต้องนำร่างไปฝัง เราเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า กุโบร์ แต่ละหลุมศพจะมีเครื่องหมายปักไว้ด้านบนเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่ง เครื่องหมายบนหลุมฝังศพถูกเรียกด้วยชื่อต่างกันหลายชื่อแต่ทั้งหมดดูคล้ายว่าจะมาจากรากศัพท์เดียวกัน การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยถิ่นใต้กับวัฒนธรรมชวา-มลายู และวัฒนธรรมคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาดูเหมือนจะเป็นเพียงส่วนต่อขยายของวัฒนธรรมมลายูปตานี ผสมกับวัฒนธรรมมลายูเคดะห์ จนกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะตนของกลุ่มชาวมุสลิมในลุ่มทะเลสาบสงขลาและในจังหวัดภาคใต้ของไทย

 

[16]

พระอุปัธยาจารย์ของพญาลิไท พ.ศ. 1904 ศึกษาใหม่จากกรณีนครพัน-เมาะตะมะ 

/ม.ล. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์

ปัจจุบันมีความเห็นจากนักวิชาการแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอุปัธยาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ของพญาลิไท คือพระอุทุมพรบุบผามหาสวามีจากนครพัน อาจารย์ของพระสุมนเถรและอโนมทัสสีเถร ขณะที่อีกฝ่ายก็เห็นว่าน่าจะได้แก่ พระสังฆราชเมธังกร ชาวเมาะตะมะ ผู้รจนาโลกทีปกสาร บทความนี้จึงต้องการศึกษาว่าพระอุปัธยาจารย์ของพญาลิไทคือท่านใด โดยพิจารณาจากความเป็นมาของเมืองทั้ง 2 และการให้ความหมายว่านครพันคือเมาะตะมะ หรือคือเมืองพะอันกันแน่..

 

สนใจสั่งซื้อ

 

สมัครสมาชิก

วารสารเมืองโบราณ 1 ปี 4 ฉบับ ราคา 600 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น