สืบรอยประวัติศาสตร์บ้านนาเก็นผ่านเครื่องถ้วย

สืบรอยประวัติศาสตร์บ้านนาเก็นผ่านเครื่องถ้วย

 

อำเภอน้ำโสมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ราบในหุบเขาขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า แร่ธาตุ และแหล่งน้ำสมบูรณ์เพียงพอต่อการตั้งถิ่นฐาน สามารถดำรงชีพค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า โดยมีเส้นทางตามช่องเขาที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งชุมชนโบราณอื่นๆ  

 

การศึกษาเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอำเภอน้ำโสมพบโบราณสถานก่ออิฐสมัยล้านช้าง ใบเสมา โบราณวัตถุประเภทต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือหิน เครื่องมือเหล็ก ชิ้นส่วนสำริด เงินฮาง เงินเหรียญทองแดง (เหรียญ จปร.) ก้อนแร่ กล้องยาสูบดินเผา ภาชนะดินเผาเนื้อดิน ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ภาชนะเคลือบสีเขียวผิวแตกราน เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยเวียดนาม (อันนัม)  และเครื่องถ้วยจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องถ้วยจีนลายคราม เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty) ซึ่งมีตัวอักษรและรูปแบบลวดลายเป็นหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน ในบ้านนาเก็นพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยแบบเขียนลายใต้เคลือบเป็นจำนวนมาก เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีการใช้เครื่องถ้วยนี้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่มาพร้อมกับสินค้าอื่นๆ ในกองคาราวานพ่อค้าสมัยล้านช้าง แสดงว่าบ้านเมืองในบริเวณนี้เป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน  ประเภทถ้วยข้าว (Rice Bowl)  พบมากที่สุดที่บ้านนาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี

 

นักเรียนกำลังวิเคราะห์ลวดลายบนเครื่องถ้วยจีน

 

คุณครูครับผมเจอถ้วยจีนลายนี้อีกแล้วครับ...” 

เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านนาเก็นกำลังปะติดปะต่อเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของบ้านตนเอง ที่ได้การสำรวจ สังเกต และฝึกหัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทำงานภาคสนาม เพื่อมุ่งมั่นค้นหาคำตอบบนเนินดินประวัติศาสตร์ของชุมชน นับเป็นเรื่องสนุกท้าทายสำหรับเด็กๆ บ่อยครั้งที่พวกเขามุ่งสนใจเศษเครื่องถ้วยจีนแตกหักที่พบปะปนอยู่กับโบราณวัตถุสมัยล้านช้างชิ้นอื่นๆ โดยปริมาณชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่พบมากที่สุดคือภาชนะประเภทถ้วยข้าว จึงเป็นประเด็นที่น่าสืบค้นต่อไปว่าถ้วยเหล่านี้เป็นของใครกัน?

 

 

นักเรียนกำลังวิเคราะห์ลวดลายบนเครื่องถ้วยจีนจากหนังสือและฐานข้อมูลออนไลน์

 

เมื่อตั้งประเด็นสงสัย จึงมีการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบเพื่อสืบค้นหาข้อเท็จจริง ก่อนนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง และนำไปจัดแสดงไว้ในศูนย์นาเก็นศึกษา (NAKEN Study Centre) ให้รุ่นน้องได้ศึกษา ทำให้นักเรียนเริ่มสนุกกับการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง ทั้งยังเป็นเรื่องท้าทายของนักเรียนรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์เดินสำรวจร่วมกับคุณครูและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ซึ่งการศึกษาในยุคปัจจุบันนักเรียนสามารถสืบค้นข้อมูลจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากความสนุกสนานในการเรียนรู้แล้ว เด็กๆ ยังรู้สึกภาคภูมิใจในเรื่องราวของท้องถิ่นตนเองและสามารถนิยามความเป็นมาของชาติไทย พร้อมกับทำความเข้าใจท้องถิ่นของตนเองได้

 

นักเรียนกำลังศึกษาสำรวจโบราณวัตถุ

 

 

เศษเครื่องถ้วยจีนพบอยู่ทั่วไปในเนินดินที่บ้านนาเก็น

 

เรื่องราวบ้านนาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ยังรอคอยการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ให้สมบูรณ์ เพื่อหาคำตอบให้ชัดเจนว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ดังเช่นเครื่องถ้วยจีนเหล่านี้เป็นของใคร? มาจากไหน? นำเข้ามาในพื้นที่นี้ได้อย่างไร? ทั้งที่อยู่ในภูมิประเทศอันล้อมรอบด้วยภูเขาซึ่งห่างไกลจากเส้นทางน้ำหลักอย่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำเจ้าพระยา 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น