โบราณคดีที่คาบสมุทรสทิงพระ
คลังบทความ

โบราณคดีที่คาบสมุทรสทิงพระ

 

ในช่วง 10 ปีแรกของวารสารเมืองโบราณ พบว่ามีบทความที่น่าสนใจอยู่จำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงการศึกษาทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เจริญขึ้นเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ซึ่งข้อเขียนหลายชิ้นได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในเวลาต่อมา

 

คอลัมน์ “คลังบทความ” ในครั้งนี้ จึงขอเชิญท่านผู้อ่านย้อนรอยการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ผ่านบทความของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีที่ตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2517- พ.ศ. 2527

 

 

“ศิลปในอาณาจักรภาคใต้ของไทย”

น. ณ ปากน้ำ

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2519) หน้า 45-55

 

ข้อคิดเห็นของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ หรือประยูร อุลุชาฎะ เกี่ยวกับศิลปกรรมโบราณที่พบในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย อันเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงถึงอาณาจักรโบราณที่เจริญขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งในบทความได้กล่าวถึงศิลปกรรมโบราณที่พบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่ตั้งอยู่ระหว่างระโนดถึงหัวเขาแดง ที่สำคัญคือสถูปโบราณที่พบอยู่หลายแห่ง อาทิ เจดีย์วัดสทิงพระ (วัดจะทิ้งพระ) เจดีย์วัดพะโคะ รวมถึงซากเจดีย์โบราณที่วัดศรีหยัง (วัดสีหยัง) และที่วัดเขาน้อย สันนิษฐานว่ามีความเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 11-13

อ่านบทความฉบับเต็ม  คลิก  https://www.yumpu.com/xx/document/view/67624087/-2-2

 

 

 

“จากท่าชนะ-สงขลา”

ศรีศักร วัลลิโภดม

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2519) หน้า 65-77

 

จากลักษณะทางภูมิศาสตร์และหลักฐานโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่เขตอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงไปถึงทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งที่เจริญเป็นบ้านเมืองสำคัญมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13 และมีการนับถือศาสนาฮินดูและพุทธมหายานปะปนกัน กระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองขึ้นในภาคใต้ เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ดังปรากฎหลักฐานในศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนโบราณสถานวัตถุที่พบอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าตั้งแต่ท่าชนะลงมาถึงทะเลสาบสงขลาเป็นบริเวณสำคัญของแคว้นนครศรีธรรมราช โดยบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ถือเป็นเมืองท่านานาชาติที่รุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งในคาบสมุทรภาคใต้

 

บริเวณพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา ในเขตอำเภอควนขนุน ระโนด สทิงพระ อำเภอเมืองสงขลา ปากพยูน รัตภูมิ เขาชัยสน และพัทลุง พบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจำนวนมาก เช่น เทวรูปในศาสนาฮินดู รวมถึงชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เหรียญเงิน เหรียญทอง ที่พบอยู่โดยรอบทะเลสาบสงขลานั้น ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเมืองท่าสำคัญในยุคโบราณ

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/0202-2519/65 

 

 

 

“ไปดูการขุดค้นที่ อ. สทิงพระ สงขลา”

น.พ. สุด แสงวิเชียร

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2520) หน้า 85-91

 

ข้อคิดเห็นจากการสังเกตการณ์การขุดค้นทางโบราณคดีที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ผู้ดำเนินการขุดค้นคือ ศาสตราจารย์ Jenice Stargardt ซึ่งในขณะนั้นเป็นศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ประเทศฝรั่งเศส 

 

การขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการชลประทานของอำเภอสทิงพระในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยใช้เครื่องมือเจาะลงไปในดินเพื่อเก็บตัวอย่างชั้นดิน ก่อนนำไปตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ซึ่งผลที่ได้จะสามารถวิเคราะห์ให้เห็นถึงการกำเนิดของแผ่นดิน (geological origins) ลักษณะของดิน สภาพภูมิอากาศ การชลประทาน ตลอดจนพืชพื้นเมืองและพืชที่ถูกนำเข้ามา

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67648066/-3-4

 

 

“สทิงหม้อ แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ”

อมรา ขันติสิทธิ์, ศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2523 -  มีนาคม 2524) หน้า 100-112

 

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ. 2521- พ.ศ. 2522 พบว่าทางภาคใต้ของประเทศไทยมีแหล่งทำภาชนะดินเผาแหล่งใหญ่อยู่ด้วยเช่นกัน ในบริเวณที่เรียกว่า “แหล่งผลิตภาชนะดินเผาเตาบ้านปะโอ” ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ไม่ห่างจากแหล่งที่พบเตาเผาโบราณมีชุมชนเล็กๆ ชื่อว่า “สทิงหม้อ” เป็นหมู่บ้านที่มีการสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณอยู่ด้วย

 

ในบทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจชุมชนปั้นหม้อดินเผาที่หมู่บ้านสทิงหม้อ เพื่อดูกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ ซึ่งเป็นร่องรอยงานหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในพื้นที่แห่งนี้ รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชุมชนในช่วงเวลานั้น

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/0701-2524/102

 

 

 

“สทิงพระและลังกาสุกะ”

ศรีศักร วัลลิโภดม

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) หน้า 23 - 32

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้หยิบยกพื้นที่เมืองโบราณที่สำคัญสองแห่งในคาบสมุทรภาคใต้ขึ้นมานำเสนออีกครั้ง ได้แก่ “สทิงพระ” ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงมาถึงพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะในเขตอำเภอระโนดและอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และ “ลังกาสุกะ” ในเขตลุ่มน้ำปัตตานีจนถึงจังหวัดยะลา โดยได้นำเสนอข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของชุมชนโบราณ ด้วยการวิเคราะห์จากสภาพภูมิประเทศ เอกสารประวัติศาสตร์ และความก้าวหน้าทางการศึกษาทางด้านโบราณคดีในช่วงเวลานั้น

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/1001-2527/25

 

 

 

“จิตรกรรมวัดโพธิ์ปฐมาวาส”

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย, สุดารา สุจฉายา

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) หน้า 88 - 94

 

วัดโพธิ์ปฐมาวาสตั้งอยู่ในตัวเมืองสงขลา ริมถนนไทรบุรี ใกล้ๆ กับวัดมัชฌิมาวาส ภายในพระอุโบสถมีงานจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรื่องราวที่ปรากฏในภาพจิตรกรรม นอกจากเรื่องคติไตรภูมิ เทพชุมนุม และภาพปริศนาธรรมต่างๆ แล้ว ยังได้สอดแทรกภาพพิธีกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นอีกด้วย ที่น่าสนใจคือ ภาพพิธีแห่เจ้าเซ็น ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/1001-2527/90 

 

 

 

“ข้อคิดในแง่ศิลปะของวัดโพธิ์ปฐมาวาส”

น. ณ ปากน้ำ

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) หน้า 100-102

 

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้แสดงข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ปฐมาวาส จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการขยายความเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “จิตรกรรมวัดโพธิ์ปฐมาวาส”  โดย แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และ สุดารา สุจฉายา โดยเน้นที่การศึกษารูปแบบทางศิลปกรรมและการเปรียบเทียบกับงานจิตรกรรมแห่งอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกัน

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก  https://issuu.com/muangboranjournal/docs/1001-2527/101

 

 

 

 

“หม้อกุณฑีในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย”

ผาสุข อินทราวุธ

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) หน้า 103 - 111

 

“กุณฑี” เป็นคำเรียกหม้อมีพวยที่พบในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตลอดจนในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย จากการสำรวจพบกุณฑีหรือหม้อน้ำมีพวยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นภาชนะประเภทเนื้อดินธรรมดา (earthenware) เนื้อไม่แกร่งและไม่มีการเคลือบผิว ลักษณะของเนื้อดินยังแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อค่อนข้างหยาบ พบมากในเขตไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลุ่มเนื้อละเอียด พบมากในเขตนครศรีธรรมราชและคาบสมุทรสทิงพระ สงขลา

 

หม้อกุณฑีที่ขุดพบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระน่าจะถูกผลิตขึ้นภายในท้องถิ่น เนื่องจากการสำรวจพบแหล่งเตาเผาหลายแห่งในบริเวณริมคลองปะโอและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น แหล่งเตาโคกไพ เป็นต้น สันนิษฐานว่าการผลิตภาชนะเนื้อดีประเภทหม้อกุณฑีที่คาบสมุทรสทิงพระเจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งออกไปยังดินแดนใกล้เคียง

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/1001-2527/105 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น