ชุมชนแรกเริ่มในลุ่มน้ำท่าจีนตอนบน-พื้นที่ต่อเนื่อง

ชุมชนแรกเริ่มในลุ่มน้ำท่าจีนตอนบน-พื้นที่ต่อเนื่อง

 

พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง(แควใหญ่-แควน้อย) และท่าจีนตอนบน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีเป็นหลักนั้น เป็นบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศอันหลากหลาย กล่าวคือทางตอนบนและฟากตะวันตกของพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงต่อเนื่องกันตั้งแต่ตอนบนของจังหวัดสุพรรณบุรีไปจรดแนวเทือกเขาตะนาวศรี ป่าเขาในพื้นที่นี้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันตั้งแต่ป่าพุเตย-ตะเพินคี่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรีทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสายสำคัญหลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ในหุบเขาและที่ราบทางตอนล่าง ได้แก่ แม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ ลำตะเพิน และห้วยกระเสียวซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำท่าจีน

 

ส่วนที่ราบตอนล่างถัดลงมาจากเขตเทือกเขาอาจแยกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำกระเสียวและท่าจีน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี และฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ราบลำน้ำตะเพิน แควใหญ่ และแควน้อย ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีตอนบน ทั้งพื้นที่ป่าเขาและที่ราบเหล่านี้นอกจากจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารแล้ว ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งของป่านานาชนิด แร่ธาตุ และสัตว์ป่า อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ คนโบราณจึงเลือกเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในเขตนี้อย่างน้อยก็ตั้งแต่ก่อนสมัยหินใหม่แล้ว บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง(แควน้อย-แควใหญ่)นั้น นักวิชาการด้านโบราณคดีให้ความสำคัญเข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบมานาน จนเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่นี้ปรากฏร่องรอยของมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามถ้ำและเพิงผาตั้งแต่ราว 12,000 ปีมาแล้ว ต่อเนื่องจนถึงสมัยหินใหม่ที่ผู้คนเคลื่อนย้ายลงมาตั้งหมู่บ้านในที่ราบริมน้ำ ดังปรากฏหลักฐานให้เห็นหลายแห่ง เช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า แหล่งโบราณคดีท่ามะนาว แหล่งโบราณคดีดอนน้อย ฯลฯ จนล่วงเข้าสู่สมัยโลหะพื้นที่นี้ก็ยังปรากฏร่องรอยหลักฐานของผู้คนอย่างสืบเนื่อง เช่นที่ถ้ำองบะ(พบกลองมโหระทึก) แหล่งโบราณคดีริมน้ำแควน้อยที่ปราสาทเมืองสิงห์ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าโป๊ะใกล้กับแหล่งบ้านเก่า เป็นต้น  

 

 ส่วนฝั่งลุ่มน้ำท่าจีนตอนบนในอดีตมีการสำรวจและศึกษาร่องรอยของมนุษย์ยุคแรกๆ น้อยมาก จนกระทั่งสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้เข้ามาสำรวจและขุดค้นในโครงการศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเก่าและที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้น มาพบว่าพื้นที่ฝั่งลุ่มน้ำท่าจีนตามลำน้ำกระเสียวและสาขามีแหล่งโบราณคดีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นร่องรอยคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยหินใหม่เมื่อราว 4,000-3,000 ปีมาแล้ว หลายแห่งพบหลักฐานของคนสมัยอยุธยา (เมื่อราว 400-500 ปีมาแล้ว) เข้ามาอยู่อาศัยทำกิจกรรมซ้ำในพื้นที่เดียวกัน แหล่งโบราณคดีเหล่านี้กระจายตัวตั้งแต่เขตพื้นที่ภูเขาสูงของอำเภอด่านช้าง ไล่ต่ำลงมาตามพื้นที่ลาดเชิงเขาและที่ราบระหว่างหุบเขา จนถึงเขตที่ราบฝั่งตะวันออกของเทือกเขาในเขตอำเภอด่านช้างและบางส่วนของอำเภอหนองหญ้าไซ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำตะเพินตอนบนซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำแควใหญ่และเชื่อมต่อกับลุ่มน้ำกระเสียวพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมากเช่นกัน บรรดาข้าวของเครื่องใช้ที่พบจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองเขตลุ่มน้ำหลักมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมเดียวกัน... 

 

 

"หม้อสามขา" ที่ฝังอุทิศให้คนตาย พบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จ.สุพรรณบุรี

 

 

ภาชนะดินเผาขนาดเล็กมีกระเปาะเล็ก 4 ด้าน พบที่ถ้ำในหมู่บ้านตะเพินคี่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 

 

  ภาชนะดินเผาพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านหัวอุด อ.เมืองสุพรรณบุรี ในเขตลุ่มน้ำกระเสียวตอนล่าง 

 

ติดตามอ่านบทความ "ข้อมูลใหม่ของชุมชนแรกเริ่มในลุ่มน้ำท่าจีนตอนบนและพื้นที่ต่อเนื่อง" โดย สุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ฉบับเต็มได้ที่ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2559) 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น