เป็น อยู่ คือ : โบราณคดีในบางกอก
แวดวงเสวนา

เป็น อยู่ คือ : โบราณคดีในบางกอก

 

เสวนาบางกอกศึกษาครั้งที่ 7  "เป็น อยู่ คือ : โบราณคดีในบางกอก" วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมชั้น 2 หอศิลป์กรุงไทย ถนนเยาวราช และเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ กรุงเทพฯ ในภาคเช้าพูดคุยกันในหัวข้อเรื่อง “ถิ่นฐาน-ผู้คน-บนข้อมูลโบราณคดีในบางกอก” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณรณฤทธิ์ ธนโกเศศ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมี คุณสุดารา สุจฉายา จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

คุณสุดารา กล่าวเปิดประเด็นเรื่องโบราณคดีในพื้นที่เมืองว่า เป็นเรื่องเฉพาะทางและเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่ทั่วไปจะกว้างขวางมากกว่า อาจารย์กรรณิการ์ เสริมในเรื่องนี้ว่าโบราณคดีเมืองนั้น ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ต่างจากการศึกษาทางโบราณคดีที่มีมานาน และเราคุ้นเคยกันมากกว่า โบราณคดีหมายถึงการศึกษาเพื่อให้รู้ถึงเรื่องราวของมนุษย์ในอดีต ซึ่งนักโบราณคดีจะเป็นผู้ศึกษา โดยอาศัยการขุดค้นเพื่อดูว่าในชั้นดินลึกลงไปมีสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต เช่น ภาชนะดินเผา เครื่องถ้วย และสิ่งของ เครื่องใช้อื่นๆ อยู่หรือไม่ แล้วนำเอามาตีความ เพื่ออธิบายถึงเรื่องราวต่างๆ ของผู้คนในอดีต

 

สำหรับการศึกษาโบราณคดีเมือง จะเป็นการทำงานในพื้นที่เมือง ซึ่งมีความยากกว่า เพราะเวลาไปขุดค้นจะต้องเจอกับสิ่งก่อสร้างขวางกั้นมากมาย และมีผู้คนสัญจรไปมาอยู่ตลอด โดยจะต้องทำป้ายและแนวกั้นเอาไว้ต่างจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่โล่ง เช่น ในทุ่งกว้าง ป่าเขา จะไม่มีปัญหาหรือกระทบกับผู้คนมากนัก ดังนั้นการศึกษาโบราณคดีใน 2 ลักษณะ จึงมีความต่างกันในรายละเอียดและเทคนิควิธีการ

 

 

คุณรณฤทธิ์ อธิบายถึงโบราณคดีเมืองในต่างประเทศว่า มีความก้าวหน้ามาก เช่น ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ งานโบราณคดีจะมีความสำคัญต่อการออกแบบและการพัฒนาเมืองในอนาคต โดยการขุดค้นโบราณคดีเมืองของที่นั่น จะมีนักธรณีวิทยามาทำการศึกษาชั้นดินที่ลึกลงไปจนถึงชั้นดินธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ต่างจากในประเทศไทยที่ศึกษาเพียงชั้นดินทางวัฒนธรรมที่มีการอยู่อาศัยของมนุษย์เท่านั้น เมื่อถึงชั้นดินธรรมชาติก็จะหยุดทำการขุดค้น สำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศจะมีหน่วยงานทางโบราณคดีเมืองที่ขึ้นตรงกับเทศบาลนครนั้นๆ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ ต่างจากบ้านเราที่ขึ้นตรงกับกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ที่จะต้องดูแล รับผิดชอบงานโบราณคดีทั่วทั้งประเทศ

 

อาจารย์กรรณิการ์ ย้อนอธิบายความเป็นมาของงานโบราณคดีเมืองในประเทศไทยว่า มีการศึกษาอย่างจริงจังเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมานี้ โดยพื้นที่แรกที่ได้รับการขุดค้นอย่างเป็นระบบคือ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2537-2540  เวลานั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังจะก่อสร้างอาคารคณะรัฐศาสตร์ และอาคารอเนกประสงค์ จึงตั้งเป็นโครงการเพื่อขุดค้น รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ก่อนจะทำการก่อสร้างอาคาร  จากนั้นเป็นต้นมา งานโบราณคดีเมืองจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่กับการก่อสร้างมาโดยตลอด เช่น ช่วงที่ศาลเจ้าพ่อเสือเกิดไฟไหม้ เมื่อราวปี พ.ศ. 2545 ก็ได้มีการปรับปรุงตัวอาคารเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นใหม่ และได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีเข้ามาร่วมด้วย

 

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า งานโบราณคดีเมืองมักถูกผนวกรวมเข้ากับงานก่อสร้างมาโดยตลอด ยังไม่มีงานวิจัยบริสุทธิ์ที่เกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองที่ตอบโจทย์ด้านวิถีชีวิตชาวกรุงโดยตรง อย่างไรก็ตาม การทำงานโบราณคดีเมืองที่ผ่านมา ได้ดำเนินการขุดค้นไปหลายพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวนนคราภิรมย์ มิวเซียมสยาม โรงเรียนราชินี วังสราญรมย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครหรือวังหน้า รวมถึงบริเวณโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการว่าจ้างบริษัทเอกชนหรือให้ทางคณะโบราณคดีเข้าไปศึกษา ขุดค้น เก็บข้อมูล โดยเป็นโครงการขุดค้นทางโบราณคดีที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างและการปรับปรุงอาคารสถานที่ทั้งสิ้น

 

คุณรณฤทธิ์ อธิบายให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเจอข้อมูลต่างๆ เป็นองค์ความรู้มาประกอบกันได้ว่า ที่นั่นเป็นเขตวังหน้าต่อเนื่องไปจนถึงบริเวณสนามหลวง ทำให้เห็นภาพวังหน้าสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังทำให้ทราบว่า พื้นที่ริมน้ำ นอกจากจะบอกถึงการมีอยู่ของชุมชนริมน้ำในอดีตแล้ว ยังพบข้อมูลเกี่ยวกับฐานรากของกำแพงวังหน้า กำแพงวังหลวง และกำแพงเมือง ว่าแยกส่วนกัน รวมถึงยังพบข้อมูลเกี่ยวกับป้อมปราการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง สถานการณ์ของการเมืองในเวลานั้นว่า ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องศึกสงครามอยู่ แม้สงครามจะยังมาไม่ถึงพระนครก็ตาม

 

สำหรับบริเวณวังหลังซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันนั้น อาจารย์กรรณิการ์ อธิบายว่า ได้มีการขุดค้นในพื้นที่นี้ด้วย โดยในปี พ.ศ. 2551 เมื่อมีการสร้างโรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ จึงเกิดโครงการขุดค้นทางโบราณคดีขึ้นที่นี่ สิ่งหนึ่งที่ได้คือ ตำแหน่งของวังหลัง โดยก่อนหน้านี้เราทราบจาก ตำนานวังเก่าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพียงว่า วังหลังสมัยกรุงธนบุรีนั้น ตั้งอยู่บริเวณตำบลสวนลิ้นจี่ ปากคลองบางกอกน้อย เมื่อดูในแผนที่เก่าจะเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม สะท้อนว่าเคยมีตัวอาคารมาก่อน ที่บริเวณปากคลองจะเห็นเป็นมุมเหลี่ยม คล้ายป้อมปราการ เราจึงนำเอาแผนที่โบราณมาเทียบเคียงกับสภาพพื้นที่ปัจจุบัน ทำให้ทราบเบื้องต้นว่า เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีแล้วจะเจออะไร

 

สิ่งที่งานโบราณคดีต้องการพิสูจน์ก็คือ ป้อมดังกล่าวสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวเอาไว้จริงหรือไม่? ทีมนักโบราณคดีจึงทำการขุดค้นบริเวณด้านหลังของอาคารสถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งตรงกับช่วงปากคลองพอดี ทำให้พบหลักฐานที่น่าสนใจคือ เสาไม้ทองหลางจำนวนหนึ่ง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า เป็นเสาไม้ระเนียดปักรอบค่ายมาแต่สมัยกรุงธนบุรี ก่อนที่จะมีการสร้างกำแพงเมือง นับเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันได้ว่า ป้อมค่ายแห่งนี้ น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจริงดังที่มีกล่าวถึงในหน้าเอกสาร ดังนั้น งานโบราณคดีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพิสูจน์ให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏผ่านเอกสาร และบันทึกต่างๆ มีความแจ่มชัดมากขึ้น

 

อาจารย์กรรณิการ์ ยังได้ทำงานโบราณคดีเมืองในพื้นที่ “ชุมชนเลื่อนฤทธิ์” อีกด้วย ถือเป็นการทำงานทางโบราณคดีเมืองควบคู่ไปกับการบูรณะปรับปรุงอาคารเก่าแก่ภายในเวิ้งฯ โดยใช้งบประมาณของทางชุมชนเอง การขุดค้นที่นี่ทำให้พบหลักฐานสำคัญมากมาย ทั้งถนนโบราณในสมัยที่มีโรงละคร บ้านของคุณหญิงเลื่อน และโบราณวัตถุจำพวกสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายรายการ เช่น ภาชนะดินเผาเศษ กระเบื้องเคลือบ เหรียญโบราณ เหรียญที่ใช้ในโรงบ่อนซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางเอกสารว่า ที่นี่เคยมีโรงบ่อนเบี้ย นอกจากนั้น ยังพบขวดน้ำหอมจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของกลุ่มชนชั้นสูงที่อาศัยในพื้นที่นี้

 

สำหรับชุมชนเลื่อนฤทธิ์นั้น เป็นชุมชนการค้าเก่าแก่ จำนวน 225 คูหา ตั้งอยู่ริมถนนเยาวราช ชื่อเรียก “เวิ้งเลื่อนฤทธิ์” สันนิษฐานว่ามีที่มาจากชื่อเจ้าของที่ดินเดิม คือ “คุณหญิงเลื่อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา” (สกุลเดิม : คฤหเดช) ภรรยาของ “หลวงฤทธิ์นายเวร (พุด) เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ก่อนเป็นอาคารตึกที่เราคุ้นตา พื้นที่บริเวณนี้ เคยมีเรือนแถวไม้ ตลาด โรงละคร และบ้านของคุณหญิงเลื่อนตั้งอยู่ แต่ภายหลัง เมื่อคุณหญิงเลื่อนขายที่ดินให้กับพระคลังข้างที่แล้ว จึงได้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิม และก่อสร้างตึกแถวให้ประชาชนเช่าเป็นที่อาศัยและทำการค้าขาย ผู้เช่ามีทั้งชาวอินเดียและชาวจีนที่ทำธุรกิจค้าผ้าซึ่งขยายวงออกมาจากการค้าผ้าย่านสำเพ็งที่อยู่ไม่ไกลกัน

 

โดยสรุปแล้ว งานโบราณเมืองในอดีตที่ผ่านมา มักทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงอาคารสถานที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต่างจากที่เวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งถือเป็นกรณีแรกที่ชุมชนเป็นฝ่ายร้องขอ ให้การสนับสนุน และร่วมศึกษางานด้านโบราณคดีเมืองไปด้วยกัน นับเป็นต้นแบบของการทำงานโบราณคดีเมืองที่เกิดจากความต้องการของคนในชุมชน

 

 

กิจกรรมภาคบ่าย เป็นการนำชมพื้นที่ภายในเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะปรับปรุงตามหลักทางวิชาการ มี คุณศุเรนทร์ ฐปนางกูร กรรมการบริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์ และคุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกผู้ดูแลโครงการ เป็นวิทยากรนำชม ทั้ง 2 ท่าน เริ่มด้วยการบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน ก่อนจะเปลี่ยนมาอยู่ในความดูแลของพระคลังข้างที่ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามลำดับ

 

 

 

 

สิ่งปลูกสร้างสำคัญภายในเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ได้แก่ อาคารโบราณซึ่งสร้างขึ้นปลายรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6-7 แบ่งออกเป็น หมู่อาคาร 6 กลุ่ม จำนวน 225 คูหา เป็นอาคารสูง 2-4 ชั้น มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส มีทั้งกลุ่มอาคารที่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว และหลังคาเป็นเฉลียงมีลูกกรง ระเบียงปูน ที่ชั้นบนมีหน้าต่าง 2 ช่อง มีกันสาด และช่องลม ส่วนชั้นล่างแต่เดิมเป็นประตูบานเฟี้ยม 6 บาน มีลวดลายปูนปั้นประดับตามซุ้มประตู โครงสร้างของอาคารเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก ไม่ใช้เสาเข็ม แต่จะใช้ท่อนซุงจำนวนมากวางเรียงตัวอยู่ใต้พื้นดินแทน

 

 

 

สำหรับการบูรณะปรับปรุงตัวอาคารทั้งหมดนั้น ทางชุมชนได้ทำการตกลงกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่า จะบูรณะซ่อมเสริมอาคารตามรูปแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้าง และรื้อส่วนก่อสร้างใหม่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในสมัยหลัง โดยจะมีการปรับปรุงฐานรากของอาคาร ด้วยการลงเสาเข็มใหม่ วางแนวท่อกำจัดปลวก ใช้คานเหล็กเพื่อรับน้ำหนักพื้นอาคารชั้นบน และโครงสร้างหลังคาแทนการใช้ผนังรับน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา ประตู หน้าต่าง รวมถึง “อิฐ” ให้ตรงตามขนาดและรูปแบบดั้งเดิมทั้งหมดด้วย

 

 

 

“เวิ้งเลื่อนฤทธิ์” นับเป็นกรณีตัวอย่างของชุมชนเมืองที่พยายามรักษาความเป็นย่าน ความเป็นชุมชนของตนเองให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาที่ดินในเขตเมือง เป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็งที่ลุกขึ้นมาร่วมกันรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตนให้คงอยู่เป็นความภาคภูมิใจสู่คนรุ่นหลัง

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น