กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ : กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ
แวดวงเสวนา

กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ : กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ

 

ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 250 ปี กรุงธนบุรี หน่วยงานและองค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนชาวย่านต่างๆ ในฝั่งธนฯ ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายจัด “งานรฦกธนบุรี 250+” เพื่อทำการรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าและองค์ความรู้ในท้องถิ่น และจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ตลอดปีนี้ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมแรกคือ “เปิดบ้านหลังคาแดง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน

 

ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง“กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ : กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ” เพื่อบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปงเมืองของกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ วิทยากรโดย อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และคุณสุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ

อ.ศรีศักร กล่าวว่า กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ เป็นเมืองเดียวกันที่มีอยู่ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ อันเป็นคลองลัดที่ขุดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช ซึ่งธนบุรีที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีความเป็นบ้านเมืองมาก่อน ด้วยเป็นที่ดินดอนอันอุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำคดเคี้ยว จึงเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่มีพื้นฐานเป็นสังคมชาวสวนที่มีบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำ ใช้การสัญจรทางน้ำ และมีการสร้างวัดวาอารามขึ้นจำนวนมาก 

 

 

‘บางกอก’ มีลักษณะเป็นเกาะ เพราะมีการขุดคลองลัดบางกอก...ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ย่านพระประแดงขึ้นไปเป็นย่านสวนทั้งนั้น เพราะว่าเป็นพื้นที่สูง มีลำน้ำคดเคี้ยว เหมาะกับการสร้างบ้านแปงเมือง...ที่ฝั่งธนฯ คนจะตั้งบ้านอยู่ที่ริมแม่น้ำ ส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นพื้นที่สวน บริเวณริมแม่น้ำเต็มไปด้วยบ้านเรือนและมีเรือนแพอยู่นับไม่ถ้วน จนกระทั่งในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เริ่มมีเรือกลไฟวิ่ง ทำให้แพจม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความนิยมอยู่เรือนแพค่อยๆ ลดจำนวนลง เหลือแต่บ้านเสาสูง”

 

เมื่อรัชกาลที่ 1 ย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2325 ได้ขยายเมืองโดยการขุดคลองคูเมืองขึ้นใหม่ มีชื่อเรียกในแต่ละช่วงต่างกันคือ คลองบางลำพู คลองรอบกรุง และคลองโอ่งอ่าง มีการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมือง ซึ่งด้านนอกกำแพงเมืองนั้น มีชุมชนชานพระนครตั้งอยู่โดยตลอดตามริมคลองคูเมือง เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและท่าเรือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การย้ายราชธานีมาที่กรุงเทพฯ นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจเท่านั้น แต่วิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ฝั่งธนบุรี รัชกาลที่ 1-4 ล้วนเคยประทับอยู่ที่ฝั่งธนบุรี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สวนอันอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ส่วนใหญ่จึงยังเป็นทุ่งนา

 

“พื้นที่ฝั่งธนบุรีมีลักษณะพิเศษคือ ดินลักจืดลักเค็ม ส่วนที่อยู่ติดชายทะเลเป็นทะเลตม มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา และส่งผลให้มีลักษณะดินลักจืดลักเค็มที่เหมาะกับการทำสวน ตั้งแต่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และธนบุรี... รูปแบบการทำสวนที่มีการยกร่อง อาจได้รับอิทธิพลมาจากจีนทางตอนใต้ แถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี ด้วยเพราะการติดต่อค้าขายทางทะเล ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนเข้ามา เช่นเดียวกับคติความเชื่อเรื่องปุนเถ้ากงที่เข้ามาจากทางทะเลทั้งนั้น”  

 

 

การศึกษาเรื่องถิ่นฐานบ้านเมืองนั้น อ.ศรีศักร กล่าวว่า ควรใช้ “ภูมิวัฒนธรรม” (Cultural Landscape) เพื่อทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือชื่อบ้านนามเมือง ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน หนอง บึง แม่น้ำ ฯลฯ ล้วนแต่มีชื่อที่คนในท้องถิ่นใช้เรียกร่วมกัน ปัจจุบันฝั่งธนบุรียังรักษาสภาพบ้านเมืองแบบเดิมไว้ได้ดีกว่ากรุงเทพฯ เพราะมีผู้คนที่อยู่สืบเนื่องกันมายาวนาน อย่างเช่นย่านคลองสานจะเห็นว่ายังมีชุมชนเก่า แต่นับวันสิ่งเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากการพัฒนาเมืองและการออกแบบผังเมืองโดยคนรุ่นใหม่ที่ขาดความเข้าใจ เช่นโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลกระทบต่อบริเวณริมน้ำที่เป็นแหล่งชุมชนที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น แถบคลองบางหลวงที่มีทั้งวัดและมัสยิดนอกจากนี้จุดหมายตา(Landmark) ที่มักปรากฏอยู่เสมอในบันทึกของชาวต่างชาติ อย่างเจดีย์ทรงปรางค์วัดอรุณราชวราราม อันเป็นมหาธาตุของกรุงเทพฯ – กรุงธนฯ ก็ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกด้วยเช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของฝั่งธนบุรีที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มักปรากฏอยู่เสมอในบันทึกของชาวต่างชาติ

 

 

ส่วนทางด้านคุณสุดาราได้ให้ข้อคิดเห็นเรื่องการเก็บรวบรวมและรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นฝั่งธนบุรีว่า คนส่วนใหญ่ยังเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ติดพื้นที่ จึงควรมีการบันทึกรวบรวมเรื่องราวฝั่งธนบุรีขึ้นมา เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นปัจจัยให้คนโยกย้ายถิ่นฐานกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เรื่องราวของคนฝั่งธนฯ เลือนหายไปด้วย

 

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา อ.ศรีศักร ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การศึกษาที่มองเฉพาะแง่มุมประวัติศาสตร์การเมืองนั้น อาจทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกความเป็นกรุงเทพฯ-กรุงธนฯ ออกจากกัน การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เข้าใจรากเหง้าความเป็นมาของชุมชนบ้านเมือง ซึ่งคนในท้องถิ่นสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาหรือเป็นเครื่องต่อรองยามเกิดวิกฤตต่อท้องถิ่นของตนเองได้ 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น