เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ

เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ

 

สืบหาร่องรอยเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย  อันเป็นเส้นทางการค้าที่ใช้ติดต่อระหว่างฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ในบทความ "เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ" โดย อ. ศรีศักร วัลลิโภดม ใน วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 44.4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561)  "สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านลุไลมาน" 

 

ประเทศไทยพบหลักฐานการติดต่อจากบ้านเมืองภายนอกมากมาย ทั้งจากอินเดีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงจีน เวียดนาม ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างซีกโลกตะวันตกกับซีกโลกตะวันออก ซึ่งมีเส้นทางการค้าข้ามไปมาบนแผ่นดินภายในเพื่อลัดข้ามติดต่อระหว่างฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งทะเลอ่าวไทย เส้นทางข้ามคาบสมุทรจึงมีหลายเส้นทางในแต่ละช่วงเวลา ทว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมินั้น มีการศึกษาน้อยมาก การศึกษาครั้งนี้ของผู้เขียนได้อาศัยตามรอยหลักฐานจากลูกปัดที่พบตามแหล่งโบราณคดีสมัยสุวรรณภูมิ ซึ่งนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ได้สะสมรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ และได้นำทางออกสำรวจไปพร้อมกับผู้เขียน

 

อ่าวมะขามในเขต อ. ทุ่งตะโก จ. ชุมพร ที่พบแหล่งโบราณคดีลูกปัดสมัยสุวรรณภูมิ

 

คาบสมุทรไทยแยกออกจากคาบสมุทรมลายูโดยใช้เกณฑ์จากพื้นที่ทางวัฒนธรรมและลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนด คาบสมุทรไทยเริ่มตั้งแต่ทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดสงขลาขึ้นไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี ที่อยู่บนชายฝั่งทะเลฟากอ่าวไทย มีแนวเทือกเขาบรรทัดและเขาหลวงเป็นสันปันน้ำของบริเวณสงขลาถึงนครศรีธรรมราช ส่วนเขตอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นไปถึงจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นสันปันน้ำ ขณะที่ชายฝั่งทะเลฟากตะวันตกของคาบสมุทรไทย ตั้งแต่จังหวัดสตูลขึ้นไปยังจังหวัดตรัง กระบี่ ภูเก็ต และพังงา เต็มไปด้วยอ่าวเล็กอ่าวน้อยที่มีลำน้ำน้อยใหญ่ไหลลงมาจากสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัด แบ่งออกจากคาบสมุทรมลายูที่ปกคลุมด้วยกลุ่มเทือกเขาสันกาลาคิรี

 

แผนที่แสดงเส้นทางข้ามคาบสมุทรในสมัยสุวรรณภูมิ

 

ลูกปัดและเครื่องประดับทองคำที่พบที่เขาเสก อ. หลังสวน จ. ชุมพร

 

จากการศึกษาและสำรวจพื้นที่ พบเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยสมัยสุวรรณภูมิ คือ จากเขาขะเมายี้บนเกาะสองในเขตประเทศพม่า ตัดข้ามช่องเขาตะนาวศรีมายังอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยใช้ลำน้ำท่าตะเภามายังเขาสามแก้วในอ่าวชุมพร กับอีกเส้น จากเมืองท่าตักโกลาที่เชื่อว่าน่าจะอยู่ที่บริเวณวัดคลองท่อม (ไม่ใช่ตะกั่วป่า) ไปตามลำน้ำคลองท่อมสบกับลำน้ำตาปี ซึ่งลำน้ำที่แยกออกมาจากลำน้ำตาปีนั้นก็คือ ลำคลองจันดี ไหลผ่านวัดธาตุน้อย (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านวัดมะนาวหวาน บริษัทนาวาพาราวู้ด ไปยังบ้านนา ตำบลช้างกลาง แล้ววกขึ้นเหนือไปยังน้ำตกท่าแพ ก่อนจะไหลผ่านช่องเขาหลวงไปยังต้นน้ำคลองเขาแก้วทางฟากตะวันออก ลงสู่ที่ลาดลุ่มน้ำของเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอลานสกา วัดเกาะนางแก้ว วัดศาลาขี้เหล็ก ถ้ำน้ำวังศรีธรรมราโศกราช สู่คลองเสาธง จากวัดถลุงทองมายังวัดธงทองในเขตบ้านควนรุย ถึงแนวสันทรายตั้งแต่ตำบลท่าเรือ ขนานชายฝั่งทะเลขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอท่าศาลาไปจนถึงอำเภอสิชล บนเส้นทางทั้งสองพบแหล่งโบราณคดีที่ปรากฏลูกปัดสุวรรณภูมิหลายชนิดกระจายอยู่

 

ลูกปัดที่พบในแหล่งโบราณคดีทุ่งตะโก จ. ชุมพร

 

ติดตามอ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง "เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ" โดย อ. ศรีศักร วัลลิโภดม ใน วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 44.4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561)  "สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านลุไลมาน" 

 

 

ดูสารบัญ คลิก https://&host/bookpost/168

รายละเอียดการสั่งซื้อ / สมัครสมาชิก คลิก https://&host/สมัครสมาชิก

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น